Skip to main content
sharethis

ประชาชนรวมตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เปลือยจนเหลือแค่กางเกงในสีดำตัวเดียว ยืนประท้วงหน้าศาลอาญา รัชดา เรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้เห็นต่างทางการเมือง

 

21 เม.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (21 เม.ย.) ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายไพศาล จันปาน คนขับแท็กซี่ พร้อมด้วยประชาชนอีก 4 คน ร่วมทำกิจกรรม ‘ตามตะวันกลับบ้าน’ โดยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เปลือยเหลือแค่กางเกงในสีดำเพียงตัวเดียว เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิการประกันตัวให้นักกิจกรรมอิสระ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี ซึ่งวานนี้ (20 เม.ย.) เธอถูกศาลอาญาสั่งเพิกถอนสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวในคดี ม.112 จากการไลฟ์สดขบวนเสด็จ เมื่อ 5 มี.ค. 65 

เวลา 16.15 น. ที่เกาะกลางถนนหน้าศาลอาญา รัชดาฯ นักกิจกรรมทั้ง 5 คน เริ่มทำกิจกรรมโดยการถอดเสื้อและกางเกงจนเหลือกางเกงในเพียงตัวเดียว และผู้ร่วมกิจกรรมแต่ละคนถือป้ายปรากฏข้อความ ได้แก่ ‘สิทธิพื้นฐาน ทุกคนต้องได้ประกันตัว’ ‘ตามตะวันกลับบ้าน’ และ ‘ปล่อยตัวตะวัน’ นอกจากนี้ มีการชูภาพ ‘ทานตะวัน’ ตัวตุลานนท์ ด้วย 

ผู้สื่อข่าวระบุว่า เหตุที่ประชาชนเลือกแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะนี้ เนื่องจากเพื่อสื่อความหมายว่า ประชาชนเป็นคนตัวเปล่า ไม่มีอะไร เป็นการประท้วงสันติวิธี ใช้ร่างกายสื่อสาร เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และทำให้สังคมเห็นใจ และตระหนักถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในตอนนี้

(ขวา) นายไพศาล จันปาน เปลือยหน้าศาล เรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้นักกิจกรรม

‘กัน’ นักกิจกรรม กล่าวผ่านโทรโข่งว่า พวกเขาผิดหวังต่อคำวินิจฉัยของศาลในกรณีเพิกถอนการประกันตัวทานตะวัน และการเปลือยร่างกายนี้เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ เพื่อกดดันศาลปล่อยตัวทานตะวัน 

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับทานตะวัน เป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับประเทศนี้ ไม่มีประเทศไหนคุกคามเยาวชนไม่เหมือนประเทศกะลาแลนด์นี้” กัน กล่าว  

นักกิจกรรมคนเดิม กล่าวอีกว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นี้เพราะเขาต้องการยกเลิก ม.112 เพื่อให้ทุกคนมีความเท่าเทียม ทุกคนมีสิทธิที่จะสะท้อนและวิจารณ์ปัญหาต่างๆ 

ตัวแทนนักกิจกรรมกล่าวเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรม โดยการแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว 

เวลา 16.26 น. ผู้ร่วมกิจกรรมเดินจากเกาะกลางข้ามไปที่หน้าสำนักงานศาลสถิตยุติธรรม รัชดาฝั่งศาลอาญา รัชดาฯ พร้อมตะโกนซ้ำๆ ว่า ‘ปล่อยตะวัน ’  

ผู้ร่วมกิจกรรมเดินจากสำนักงานศาลสถิตยุติธรรม รัชดา เป็นระยะทางราว 100 เมตร ไปที่ป้ายศาลอาญา รัชดาฯ จากนั้น ไพศาล กล่าวผ่านโทรโข่งขนาดเล็ก ขอให้ประชาชนรอบๆ ชูสามนิ้ว ก่อนตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” “ยกเลิก 112” และ “คืนสิทธิการประกันตัว” จำนวน 3 รอบ และตะโกนซ้ำๆ ว่า “ปล่อยตะวัน” “ปล่อยเวหา” และ “คืนสิทธิการประกันตัว” ก่อนประกาศยุติกิจกรรมวันนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คุยกับม็อบ

แซม สาแมท นักกิจกรรมอิสระ และเป็นผู้ร่วมกิจกรรมวันนี้ (21 เม.ย.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตั้งใจมาทำตามคำสัญญาของเพื่อน มาเพื่อแสดงจุดยืนเคียงข้างนักกิจกรรม

แซม กล่าวว่า การตัดสินเพิกถอนการประกันตัวของศาลวานนี้เป็นสิ่งที่อำมหิต และแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบยุติธรรมไทย

“มันอำมหิต ไม่มีคำที่จะพูดแล้ว … จับเด็กผู้หญิงขังในเรือนจำ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิ์ของเขา เขาออกมาเรียกร้องในส่วนของเขา แต่ศาลทำแบบนี้ มันทำให้รู้สึกว่าระบบยุติธรรมมันพังไปแล้ว ไม่มีเหลือแล้ว” แซม กล่าว

แซม กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ศาลหยิบยกขึ้นมาประกอบการเพิกถอนการประกันตัวนั้นยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากการใส่เสื้อสีใดไปรับเสด็จนั้น เป็นสิทธิของคนๆ นั้น และบางคนอาจไม่มีเงินเพียงพอซื้อเสื้อเหลืองก็ได้ 

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ศาลใช้ยกพิจารณาการถอนประกันตัวเรื่องการทำโพลขบวนเสด็จ แซม มองว่า มันเป็นเรื่องที่ถามได้ และผู้มีอำนาจต้องยอมรับว่าขบวนเสด็จมันทำให้เดือดร้อนจริงๆ 

แซม ทิ้งท้ายว่า ถ้าเกิดออกมาเรียกร้องวันนี้แล้วถูกดำเนินคดีเพิ่ม ก็ไม่เสียใจ และตั้งใจจะออกมาสู้เหมือนเดิม 

แซม สาแมท นักกิจกรรม และผู้เข้าร่วมกิจกรรม

กัน จากกลุ่มภาคีปฏิวัติการศึกษาไทย และเป็นเพื่อนกับทานตะวัน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนมาร่วมกิจกรรมวันนี้ เนื่องจากไม่พอใจคำวินิจฉัยของศาลอาญาเพิกถอนสิทธิการประกันตัวทานตะวัน โดยเขามองว่าเหตุผลที่ศาลยกขึ้นมาที่บอกว่าใส่เสื้อสีดำ หรือขับรถเข้าใกล้ขบวนเสด็จ ยังไม่เพียงพอ และไม่ได้ตัดสินตามตัวบทกฎหมาย

กัน มองว่า วันนี้ที่มาร่วมกิจกรรมถือเป็นการสานต่ออุดมการณ์ของทานตะวัน ข้างนอกเราก็สู้ และข้างในเรือนจำ ทานตะวัน ก็สู้โดยการประกาศอดอาหาร

“เรายังสู้ร่วมกันอยู่ เรายังยืนยันว่า กรงขังตะวันได้ แต่กรงจะขังแสงตะวันไม่ได้” กัน ทิ้งท้าย 

กัน นักกิจกรรมจากกลุ่มภาคีปฏิวัติการศึกษาไทย

น้ำใส ประชาชนวัย 54 ปี และหนึ่งในผู้ร่วมทำกิจกรรม ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ตนมาร่วมกิจกรรมยืนถอดเสื้อ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว 

น้ำใส กล่าวต่อว่า นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย เนื่องจากศาลไม่ได้ตัดสินตามบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ตัดสินจากโวหาร และคำพูดในการพิพากษา 

น้ำใส กล่าวต่อว่า วันนี้ตนเลือกใช้การเปลือยร่างกายต่อสู้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนตัวเปล่า ไม่มีอาวุธ และใช้ร่างกายต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม 

“อยากสื่อให้สังคมรับรู้ว่า ปัญหาของความอยุติธรรม เราไม่รู้จะใช้อะไรเรียกร้อง ก็ใช้ร่างกาย อยากให้มันไปตามกระบวนการตามกฎหมาย ไม่อยากให้ใช้คำพูดโวหารพิพากษา อยากให้มีการปล่อยตัว ให้ประกันตัว ว่าไปตามกฎหมาย ให้ประกันตัวทุกคน คดีของเยาวชนเกี่ยวกับการเมือง ความคิดเห็นต่าง รวมถึงน้องๆ ตะวัน … เพราะเขาไม่ได้ทำอะไร แค่เห็นต่าง” น้ำใส กล่าว พร้อมระบุว่า การมาเปลือยกลางถนน ทำให้เราอาย แต่อยากให้สังคมได้รู้บ้างว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเยาวชนที่เห็นต่างทางการเมือง 

  

น้ำใส ประชาชนวัย 54 ปี ผู้ร่วมกิจกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net