Skip to main content
sharethis

60 องค์กรประชาชน ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  และการกระจายอำนาจตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง

24 เม.ย. 2565 ภาคประชาชนจากทั่วประเทศ 60 องค์กร ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  และการกระจายอำนาจตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

แถลงการณ์สนับสนุนการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
และการกระจายอำนาจตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง

การรณรงค์เรียกร้องสิทธิที่จะได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ของพี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างแข็งขันและกว้างขวางในขณะนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและคุณูปการอย่างสูงต่อการจัดการประเทศไทยในอนาคตเกินกว่าที่จะปล่อยวางให้เป็นภาระโดยลำพังของพี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่ได้ แต่ควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาคประชาชนที่สนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจที่ชอบด้วยหลักการและมีคุณภาพ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่จัดโครงสร้างอำนาจและออกแบบระบบบริหารราชการตามหลักการรวมอำนาจที่ทำให้เกิดการรวมศูนย์เข้าสู่ราชการส่วนกลางที่เข้มข้นมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกแม้ว่าความพยายามกระจายอำนาจการปกครองที่ชอบด้วยหลักการและมีคุณภาพจะเกิดขึ้นมานานและประเทศไทยได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมานานถึง 90 ปีแล้ว

โครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์เข้มข้นเช่นนี้เองคือต้นตอของความมั่งคั่งอย่างมหาศาลของอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของคนจำนวนน้อยนิดในภาครัฐ – ภาคเอกชนโดยเฉพาะที่อยู่ในโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทย อำนาจที่กระจุกตัวอยู่ในระบบราชการส่วนกลางที่ถูกใช้โดยคณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานสังกัดราชการส่วนภูมิภาคเป็นกลไกทำงานภายใต้การบังคับบัญชาคือ “มือ” ที่จัดสรร “ประโยชน์ในทรัพยากร” ทุกลักษณะที่มีอยู่ในประเทศนี้ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณแผ่นดิน ทรัพยากรธรรมชาติ โอกาส สิทธิ เสรีภาพ ตำแหน่ง หน้าที่ อำนาจ ฯลฯ  

ขณะเดียวกัน มือที่ว่านี้ก็เป็นตัวกำหนดว่าจะ “ผลักภาระ” อย่างไรให้แก่คนกลุ่มใด พื้นที่ใด เช่น ภาระด้านภาษี ความเสี่ยงภัยจากมลภาวะ ความอ่อนแอของสุขภาวะ ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชุมชน ฯลฯ  เพื่อให้การเข้าถึงประโยชน์เช่นนั้นของคนกลุ่มน้อยเป็นไปได้ให้มากที่สุดแม้ว่ามันจะเป้นการได้เปรียบแบบอภิสิทธิ์ชนเหนือคนส่วนมากทั่วประเทศ

โครงสร้างของอำนาจรวมศูนย์เข้มข้นเช่นนี้จึงทำให้เกิดระบบการจัดสรรประโยชน์และภาระที่ลำเอียงอยู่ในตัวว่ามันมีอยู่เพื่อผลประโยชน์แก่กลุ่มคนที่เข้าครอบครองหรือเข้าถึงมันได้ ระบบที่ลำเอียงในตัวเองแบบนี้จึงทำให้เกิดการจัดสรรที่ไม่เป็นธรรมแก่คนส่วนใหญ่ทั่วประเทศให้ได้รับประโยชน์ที่จำกัด แต่ต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้ง ในขณะที่มีกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียวที่ได้เปรียบคนทั้งประเทศอย่างมหาศาล

สิ่งที่น่าเสียดายและห่วงกังวลอย่างยิ่งมีว่า ความเหลื่อมล้ำของประโยชน์และภาระดังกล่าวนิ้เกิดขึ้นแล้วและจะดำรงอยู่ต่อไป ในขณะที่คนในพื้นที่ทั่วประเทศซึ่งล้วนมีความชอบธรรมที่จะได้และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทั้งปวงเหล่านั้น ไม่มีโอกาสได้ยื่น “มือของตัวเอง” นำศักยภาพในตัวเองออกมาใช้จัดสรรทรัพยากรต่างๆ  จัดการพื้นที่และสังคมของตนเองให้ประชาชนในพื้นที่ของตนเองและทั้งประเทศได้รับทั้งประโยชน์และภาระอย่างเป็นธรรม โดยสอดคล้องกับความต้องการของตนเองและของประเทศไปพร้อมกัน

ตราบใดที่โครงสร้างอำนาจรวมศูนย์เข้มข้นยังคงดำรงอยู่ ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจะยังดำรงอยู่ ศักยภาพและพลังของคนและทรัพยากรต่างๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศจะกดทับไว้ให้รอความหวังอย่างเลื่อนลอยต่อไปว่าจะมีมือที่ดีๆ เข้ามาทำหน้าที่กำหนดจัดสรรสิ่งเหล่านี้ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่เป็นปัญหาในตัวเองเช่นนี้ (ซึ่งไม่เคยเป็นจริง)

ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทยจึงเป็นปัญหาโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์และการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดถึงต้นตอคือการกระจายอำนาจที่เพียงพอและมีคุณภาพด้วยการปรับโครงสร้างให้ประชาชนในท้องถิ่นได้จัดการหรือปกครองตนเอง ถ่ายโอนอำนาจของกระทรวง ทบวง กรมมายังท้องถิ่น ค่อยๆ ลดและในที่สุดยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคตามแบบอย่างอารยะประเทศมากมายที่มีความเจริญก้าวหน้าด้วยการปรับโครงสร้างอำนาจให้ความสมดุลยิ่งขึ้นตามแนวทางนี้  

ในโอกาสนี้ เราจึงขอแสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อเสียงเรียกร้องของพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ที่ขอมีสิทธิเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เองเช่นเดียวกับกับที่ชาวกรุงเทพมหานครมีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ ของตนเอง และขอสนับสนุนเช่นเดียวกันนี้หากจะมีประชาชนชาวจังหวัดอื่นๆ ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเดียวกันนี้

เราเห็นว่าเสียงเรียกร้องเช่นนี้คือส่วนหนึ่งของความพยายามอันชอบธรรมที่จะลดทอนผลร้ายของโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์เข้มข้นดังกล่าวและเป็นการแสวงหาโอกาสของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ที่จะได้ใช้ศักยภาพของตนเองและทรัพยากรของจังหวัดเชียงใหม่มาจัดการให้เกิดความผาสุขและเติบโตในมิติต่างๆ อย่างสมดุลและยั่งยืนทั้งในระดับเฉพาะพื้นที่จังหวัด ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ และขอสนับสนุนการรณรงค์เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างจริงจังโดยเฉพาะตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์เข้มข้นนี้ไปยังประชาชน - ชุมชนท้องถิ่นทั่วไปประเทศต่อไป 

“ไม่กระจายอำนาจ – ไม่ใช่การปฏิรูปประเทศ”
ด้วยความเชื่อมั่นในเจตจำนงของประชาชน
24 เมษายน 2565

เครือข่ายองค์กรร่วมสนับสนุน (จากภายนอกจังหวัดเชียงใหม่)
องค์กรหรือเครือข่ายในส่วนกลางหรือมีบทบาทไม่จำกัดพื้นที่ภูมิภาค

1. สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
2. เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง
3. สถาบันนโยบายศึกษา
4. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
5. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
6. ขบวนประชาชน 5 ภาค
7. เครือข่ายสภาองค์ชุมชน (ทั่วประเทศ)
8. สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
9. มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P – Net)
10. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
11. มูลนิธิชุมชนไท
12. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
13. ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
14. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
15. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
16. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การประปานครหลวง
17. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การประปาส่วนภูมิภาค
18. ศูนย์ศึกษากฎหมายการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ภาคเหนือ

19. สมาคมเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา
20. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดพะเยา
21. เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดพะเยา
22. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
23. สถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดพะเยา
24. เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดพะเยา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

26. สภาฮักแพงมหาสารคาม
27. อำนาจเจริญเมืองธรรมะเกษตร
28. มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า
29. ศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนาจังหวัดขอนแก่น
30. สภาพลเมืองสุรินทร์
31. มูลนิธิชุมชนอีสาน
32. สมาคมพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน
33. มูลนิธิพัฒนาอีสาน
34. เครือข่ายลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำห้วยเสนง
35. ศูนย์ประสานภาคีพัฒนาจังหวัดสุรินทร์
36. ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุรินทร์
37. ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสุรินทร์
38. สมาคมสานพลังอาสาพัฒนาภูสิงห์
39. เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
40. สภาคนเมืองศรีอยู่ดีมีแฮง

ภาคกลาง - ตะวันออก

41. กลุ่มเพื่อนตะวันออก
42. มูลนิธิศูนย์ประสานงานชุมชน จ.ระยอง (ศปจ.)

ภาคใต้

43. สภาประชาชนภาคใต้
44. เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดกระบี่
45. สมัชชาคนสตูล
46. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
47. เครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล
48. สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)
49. Patani Baru
50. เครือข่ายคนเมืองเทศบาลนครยะลา
51. สมาคมดับบ้านดับเมือง
52. สมาคมประชาสังคมชุมพร
53. สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
54. สมาคมสร้างสุขชุมชนคนเมืองลุง
55. เครือข่ายชุมชนเป็นสุขพัทลุง
56. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
57. สมัชชาพังงาแห่งความสุข
58.เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ต
59. สมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ต
60. ศูนย์พัฒนาการเมืองจังหวัดภูเก็ต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net