Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายนำหน่วยงานด้านเหมืองแร่ลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึมตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 หลังบริษัท ทรีมาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด ยื่นขอประทานบัตร เลขที่ 2/2559 ในพื้นที่ตำบลคำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ชี้การกำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมโดยไม่ลงตรวจสอบพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการสร้างปัญหาในภายหลังให้แก่ชาวบ้าน เห็นควรยกเลิกประกาศแหล่งหินทั่วประเทศและสำรวจใหม่ เพื่อให้เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 อย่างแท้จริง

28 เม.ย. 2565 เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายนำหน่วยงานด้านเหมืองแร่ อาทิ กรมอุตสาหกรรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,กรมทรัพยากรธรณี ,กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 อุดรธานี, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร, นายอำเภอเมืองมุกดาหาร, สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดมุกดาหาร, สำนักงานที่ดินจัวหวัดมุกดาหาร, เทศบาลตำบลคำป่าหลาย, กำนันตำบลคำป่าหลาย, ผู้ใหญ่บ้านหมู 6 บ้านนาคำน้อย ฯลฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึมตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 หลังบริษัท ทรีมาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด ยื่นขอประทานบัตร เลขที่ 2/2559 ในพื้นที่ตำบลคำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบ แหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม จำนวน 3 บ่อ อยู่ในพื้นที่บริเวณยื่นคำขอประทานบัตรเนื้อที่ 215 ไร่ และพบแหล่งน้ำซับซึมอีก 3 แหล่ง ในพื้นที่ประกาศกำหนดเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม 300 ไร่ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงในพื้นที่คำขอประทานบัตร

 

เวลา 13.00 น. หลังลงพื้นที่ร่วมกันกลุ่มอนุรักษ์ซับคำป่าหลายนำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือเพื่อมาสรุปข้อเท็จจริงที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลคำป่าหลาย เอกราช มณีกรรณ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหาร กล่าว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารต้องการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนประเด็นเหมืองแร่คำป่าหลาย จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาลงพื้นที่ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการแก้ไขปัญหา ได้ลงมาตรวจสอบพื้นที่แล้วเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 พบแหล่งน้ำซับซึมตามที่กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายระบุ แต่ยังไม่มีข้อชัดเจนเรื่องกฎหมาย พรบ.แร่ โดยเฉพาะกรณีแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม ดังนั้น จึงเรียนเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาดูพื้นที่และให้ความเห็น

ด้านกรมทรัพยากรธรณีในฐานะเป็นคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) กล่าวว่า

“คำว่าแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึมปัจจุบันยังไม่มีนิยาม” และ คนร. กำลังจะมีการประชุมหารือเพื่อกำหนดแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ของปี 2566-2570

ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 อุดรธานี ยืนยันว่า กรณีแหล่งน้ำซับซึมทั้ง 3 บ่อ เป็นน้ำผุดจากรอยแตกแยกของหิน จึงถือว่าเป็นแหล่งต้นน้ำและแหล่งน้ำซับซึมทั้ง 3 บ่อ ส่วนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.มุกดาหาร ชี้แจ้งว่า กรณีการยื่นคำขอเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของบริษัท ทรีมาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด คำขอดังกล่าวได้ตกไปแล้ว เนื่องจากไม่ได้ยื่นขอตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ หากจะมีการยื่นคำขอต้องเริ่มกระบวนการขอใหม่ทั้งหมด

 

กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายยันข้อมูลพื้นที่ต้นน้ำไม่เหมาะสมต่อการทำเหมือง

 

ตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายได้ให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พร้อมทั้งแสดงแผนที่จุดที่พบแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม ตลอดจนกระบวนการยื่นคำขอประทานบัตรที่ไม่ถูกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ดังนี้

1. พบแหล่งน้ำซับซึม 5 จุด ในบริเวณยื่นคำขอประทานบัตร และในรัศมี 500 เมตร ประกอบด้วยจุดน้ำซับซึมด่านกระรอม, จุดน้ำซับซึมกกคำเม็ก, จุดน้ำซับซึมกกตะแบง, จุดน้ำซับซึมป่าเตยหรือกกไฮ, จุดน้ำซับซึมกกเจียง (จุดกำเนิดที่ใช้น้ำประปาภูเขา หมู่ 13, หมู่ 5 ในปัจจุบัน)

2. ข้อกังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษภาวะทางเสียง ฝุ่นละออง ปัญหาการสัญจร และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนและสุขภาพอนามัย

3. นอกจากนี้ยังพบการทำประชาคมหมู่บ้านนาคำน้อย หมู่ที่ 6 เป็นเท็จ ในข้อเท็จจริงประเด็นดังกล่าว คณะทำงานกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย เห็นว่ามิได้เป็นประเด็นอันเป็นสาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นอยู่ในขั้นตอน การตรวจสอบข้อเท็จจริงจากองค์กรอิสระ (ป.ป.ท.) แต่หลังจากคณะทำงานได้ทำการตรวจสอบพบรายชื่อ ประชาชน ปรากฏว่ามีรายชื่อ สาร ไชยบัน ชาวบ้านที่ไม่ได้รวมประชาคมอยู่ด้วย นอกจากนี้การจัดประชาคมดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง

4. การยื่นคำขอรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ บริษัท ทรีมาเธอร์ เทรด ดิ้ง จำกัด คำขอที่ 2/2559 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรม ชนิด หินทรายเพื่ออุตสาหกรรม ตั้งอยู่ในเขตปกครองพื้นที่หมู่ 6 บ้านนาคำน้อย ต.ตำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร มีการยื่นคำขอก่อนประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องกำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ 7 เพื่อกำหนดแหล่งหินตำบลคำป่าหลาย ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ประกาศ ณ วันที่ 25 พ.ย. 2559 ถือเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบวิธีการในขั้นตอนการยื่นคำขอประทานบัตร

5. พื้นที่การยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ เลขที่ 2/2559 บริษัท ทรีมาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่พิพาทที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิสูจน์สิทธิ หลังเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีต่อชาวบ้านฐานบุกรุกป่าฯ มีการแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ. คำป่าหลาย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2559

 

จากข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กล่าวมา กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายยืนยันว่า พื้นที่บ้านนาคำน้อย ต.ตำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ไม่เหมาะสมที่จะเป็นเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมือง เนื่องจากเป็นพื้นที่อ่อนไหวและเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำที่สำคัญของชาวบ้านบ้านคำป่าหลาย ที่สำคัญคือกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายเห็นควรว่าการกำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมโดยไม่ลงตรวจสอบพื้นที่ ภูมินิเวศ หรือข้อเท็จจริงในพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการสร้างปัญหาในภายหลังให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นจึงควรยกเลิกประกาศแหล่งหินทั่วประเทศและสำรวจใหม่ เพื่อให้เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 อย่างแท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net