Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายร่วมประชุม กสม. พร้อมหน่วยงาน จ.มุกดาหาร หามาตรการคุ้มครองความปลอดภัย หลังถูกข่มขู่คุกคามจากกรณีติดตามโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 

8 ก.ค. 2566 จากกรณีที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ได้รวมตัวกันคัดค้านโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ของบริษัท 555 กรีนเอ็นเนอร์จี้ จำกัด ทำให้เกิดกระแสของการคุกคามปรากฏขึ้นในพื้นที่ ทั้งจากฝั่งบริษัทฯ และ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้ทางชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้ประสานและหามาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยของชาวบ้านที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในขณะนี้ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารโดยด่วน โดยเฉพาะกรณี นายอดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน ที่ปรึกษากลุ่มฯ โดยในวันที่ 6 ก.ค. 2566 กสม. ได้ลงพื้นที่รับฟังประเด็นเหตุการณ์ที่ชาวบ้านได้ถูกข่มขู่คุกคามจากออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว ที่ขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลงที่สอง ซึ่งการคุกคามที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. 2566 นั้น เป็นการถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อ้างตัวว่าเป็นคนของผู้ว่าฯ มุกดาหาร

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2566 กลุ่มชาวบ้านกว่า 30 คน พร้อมด้วย นายอดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน ได้เข้าประชุมร่วมกับ นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษา กสม. นายสุโข สืบสุข และนายนิทิพย์ ลานุตุน เจ้าหน้าที่ กสม. นายบุญเรือง เมฆฉิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายพรภิรมณ์ อุระแสง ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้มุกดาหาร (แทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดมุกดาหาร) นายญาณ  ปาหลา รองนายกเทศบาลคำป่าหลาย นางนภัสวรรณ เจษฎาพงษธร รองปลัดเทศบาลตำบลคำป่าหลาย พันเอกสุรัช จันทร์พวง หัวหน้างานนโยบายแผนและการข่าวกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดมุกดาหาร (กอ.รมน.มุกดาหาร)  พันโทศักดิ์ดา บุญพิณ หัวหน้าการข่าว กอ.รมน.มุกดาหาร พันตำรวจโทประกร เรือนแสน สารวัตรหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรคำป่าหลาย พันตำรวจโทเกียรติศักดิ์ ศิลา สารวัตรฝ่ายอำนวยการตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร (แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร) และนายวิรัตน์ สีมงคล เจ้าหน้าที่ยุติธรรมจังหวัดมุกดาหาร ที่ห้องประชุมสำนักงานสหกรณ์จังหวัดมุกดาหาร ชั้น 5 ณ ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร
    
แต่ก่อนที่จะเริ่มการประชุมกลับมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น เมื่อนายอนุสรณ์ โพธิ์ศิริ ทนายความบริษัท ๕๕๕ กรีนเอ็นเนอร์จี้ จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลที่ทำการข่มขู่คุกคามชาวบ้าน พร้อมด้วยนายโน จันทร์เต็ม ประธานอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดมุกดาหารมวลชนสนับสนุนโครงการดังกล่าวและพวกอีก 3-4 คน  ได้มาเข้ามานั่งรอที่ห้องประชุมโดยอ้างว่าต้องการเข้ามาชี้แจงข้อมูล ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการประชุมครั้งนี้ กสม. ได้ทำการตรวจสอบเรื่องที่ชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงกรณีการถูกข่มขู่คุกคามและขอให้หามาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยของชาวบ้านซึ่งเป็นการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ชาวบ้าน กสม. และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้ต้องเชิญกลุ่มคนดังกล่าวออกจากห้องประชุม โดยผู้ว่าฯต้องโทรศัพท์ถึงนายอนุสรณ์โดยตรงเพื่อขอให้กลับไปก่อน เหตุการณ์จึงเข้าสู่ภาวะปกติ จะเห็นได้ว่าการกระทำของของนายอนุสรณ์ที่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการในครั้งถือว่าเป็นการคุกคามชาวบ้านแบบโจ่งแจ้งและเป็นการประกาศว่าตนมีอำนาจมากพอที่จะฟังแค่ผู้ว่าฯ มุกดาหารเท่านั้น 
    
ในเวลา 09.30 น. นายไพโรจน์ พลเพชร ได้เริ่มประชุมด้วยการแนะนำถึงที่มาและบทบาทหน้าที่ของ กสม. แนะนำว่ากลุ่มชาวบานคือใคร และนายสุโข สืบสุข ได้กล่าวถึงที่มาของการประชุมเกิดจากชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงกรณีการถูกข่มขู่คุกคาม จึงต้องประชุมเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนักปกป้องสิทธิฯ
    
โดยตัวแทนชาวบ้าน ได้เล่าถึงเหตุการณ์การข่มขู่คุกคามต่อที่ประชุมว่า การออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการดังกล่าวได้ถูกนายอนุสรณ์เข้ามาข่มขู่คุกคามถึงบ้านพักตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 รวมถึงยังมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตโครงการ นักข่าวท้องถิ่น ตำรวจตระเวนชายแดน และนักการเมืองท้องถิ่น ทำการโทรศัพท์มาคุกคามและเสนอผลประโยชน์แลกกับการยุติการคัดค้าน และได้ทราบข่าวจากแหล่งข่าวในจังหวัด ว่าบริษัทฯได้ทำการยื่นหนังสื่อถึง กอ.รมน. ว่าที่ปรึกษาของกลุ่มฯเป็นบุคคลที่ยุยงปลุกปั่นและขัดขวางการพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งหลังจากนั้นได้มีชายฉกรรจ์ 2 คน เข้าไปในพื้นที่ถามชาวบ้านว่า “รู้จักคนชื่อกอล์ฟหรือไม่ เพราะเป็นคนเข้ามายุยงปลุกปั่น” และล่าสุดได้ทราบข้อมูลว่าผู้ว่าฯมุกดาหารได้สั่งการให้ กอ.รมน.มุกดาหาร ลงพื้นที่หาตัวที่ปรึกษากลุ่มฯ แม้จะยังไม่ทราบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงรู้สึกห่วงกังวลในเรื่องความปลอดภัยของกลุ่มฯ และที่ปรึกษากลุ่มฯ 
    
ด้านพันเอกสุรัช จันทร์พวง หัวหน้างานนโยบายแผนและการข่าว กอ.รมน.มุกดาหาร ชี้แจงว่า บริษัทเคยเข้ามา พบ กอ.รมน. จริง โดยร้องว่าตนได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการเนื่องจากมีความขัดแย้ง ซึ่งผู้บังคับบัญชา กอ.รมน. ได้มีคำสั่งให้ไปหาสาเหตุของความขัดแย้งว่ามาจากอะไร โดยขอยืนยันว่าไม่ใช่คำสั่งจากผู้ว่าฯมุกดาหาร แต่เป็นเรื่องที่จะต้องหาข้อมูลเพื่อตอบผู้บังคับบัญชา ซึ่งตนอยากพูดคุยกับคุณอดิศักดิ์เป็นอย่างมากเพราะอยากทราบถึงที่มาที่ไป แต่ยังไม่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ก็มีข่าวออกมาก่อน
    
ซึ่งตัวแทนชาวบ้าน ได้กล่าวตอบว่า เหตุผลที่กลุ่มได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการดังกล่าวกลุ่มสามารถชี้แจงให้ทราบได้ แต่ข้อมูลส่วนนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานระดับจังหวัดทราบกันดี การสั่งการในทางลับโดยให้เจ้าหน้าที่ลงไปแบบไม่เปิดเผยตัวตนทำให้เรารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาสถานการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้นเกิดทั้งจากบริษัทและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น นายปรีชา สิงคเสลิต ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงาน ทสจ.มุกดาหาร ทำการโทรหาชาวบ้านโดยที่นั่งอยู่กับนายอนุสรณ์และยื่นสายให้นายอนุสรณ์พูดคุยกับชาวบ้าน ประเด็นสำคัญของการออกมาคัดค้านว่าได้มาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่บริษัทฯจะต้องร้อนเรียนต่อ กอ.รมน.
    
ขณะที่นายบุญเรือง เมฆฉิม รองผู้ว่าฯ ได้กล่าวว่า กระบวนการทั้งเรื่องการขออนุญาตและเรื่องการคัดค้าน ทั้ง 2 เรื่องจังหวัดได้ส่งให้กรมป่าไม้พิจารณาไปพร้อมกัน และความกังวลของชาวบ้านที่ว่าโดนข่มขู่คุกคาม เข้าใจในความกังวลของพี่น้อง ในส่วนของความไม่สบายใจหรือถ้าคิดว่าตัวเองไม่ปลอดภัยหรือถูกคุกคามสามารถแจ้งทาง สภ.คำป่าหลาย ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐหรือ กอ.รมน. หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ถ้าจำเป็นจะต้องลงไปในพื้นที่ก็ขอให้แจ้งผู้นำท้องที่ได้รับรู้รับทราบ 
    
ทั้งนี้ก่อนปิดประชุม กสม. ได้ทำการสรุปถึงมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของชาวบ้าน ดังนี้ (1) สภ.คำป่าหลายพร้อมรับเรื่องราวร้องทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง และตั้งสายตรวจเพื่ออำนวยความปลอดภัยให้กับพี่น้อง (2) หาก กอ.รมน. ต้องการลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงต้องแจ้งอย่างเป็นทางการ และ (3) เรื่องกระบวนการอนุมัติอนุญาตโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งมีข้อสงสัยในกระบวนการว่าเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาคม  การสำรวจพื้นที่  หรือมติของเทศบาลคำป่าหลายที่ตั้งเงื่อนไขไว้สามข้อนั้น เป็นเรื่องต่อไปที่ต้องทำการตรวจสอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระยะยาว ต้องทำการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ขอเอกสารจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และนำมาประกอบเพื่อทำความเห็น นอกจากนี้ กสม. จะทำบันทึกข้อสรุปนี้เพื่อส่งให้กับผู้ว่าฯมุกดาหาร 
    
หลังจากการประชุมครั้งนี้นักป้องสิทธิฯคาดว่าจะไม่มีสถานการณ์การข่มขู่คุกคามเกิดขึ้นในพื้นที่อีก และหวังว่า กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐจะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของบริษัทฯในการข่มขู่คุกคามชาวบ้านในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net