Skip to main content
sharethis

ไฮไลต์งานบุญสืบชะตาน้ำซับคำป่าหลาย ครั้งที่ 4 ที่ป่าต้นน้ำซับคำป่าหลาย บ้านแก้ง-โนนคำ จ.มุกดาหาร พร้อมเปิดตัวงานวิจัยสำรวจผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า "ป่าดงหมูแปลง 2" ประเมิน 300 ครอบครัวสูญเสียที่ดินเกือบ 2,000 ไร่ เสียศักยภาพในการบริหารจัดการครัวเรือนและสูญเสียความสัมพันธ์ภายในชุมชน

ย้อนชมไฮไลต์งานบุญสืบชะตาน้ำซับคำป่าหลาย ครั้งที่ 4 ทบทวนการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากร โดยมีการเปิดตัวงานวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหารคสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลง 2” และวงเสวนา "พลังงานสะอาดแบบไหนที่จะไม่ซ้ำเติมประชาชน (ความยากจน)"

ทั้งนี้บุญสืบชะตาน้ำซับคำป่าหลาย ครั้งที่ 4 จัดขึ้นบริเวณป่าต้นน้ำซับคำป่าหลาย บ้านแก้ง-โนนคำ ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 66

โดนตอนหนึ่งมีเสวนาเปิดงานวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหารคสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง: กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลง 2”  ของกิติมา ขุนทอง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ภายใต้สนับสนุนของ Protection International มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และ Greenpeace Thailand โดยการนำเสนอในครั้งนี้ตัวแทนกลุ่มฯ ได้ร่วมบอกเล่าถึงรายละเอียดข้อมูลของตนเองที่ใช้ประกอบในงานวิจัยด้วย

ไทม์ไลน์การแย่งยึดที่ดินป่าดงหมูแปลง 2 (ที่มา: งานวิจัยการแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหารคสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง: กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลง 2)

6 รูปแบบปฏิบัติการแย่งยึดที่ดินของเจ้าหน้าที่ (ที่มา: งานวิจัยการแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหารคสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง: กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลง 2)

ส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นสำรวจจาก 50 ครัวเรือน (ที่มา: งานวิจัยการแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหารคสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง: กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลง 2)

โดย กิติมา ขุนทอง นักวิจัย กล่าวว่าจากการศึกษาข้อมูลในงานวิจัยพบว่าชาวบ้านที่ต่อสู้มาในรอบ 1 ปี มีการทำกิจกรรมกว่า 100 ครั้ง ถ้าเอาค่าแรงขั้นต่ำของ 300 บาทไปคูณ ปีหนึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายกว่า 3-4 หมื่นบาท ดังนั้นนโยบายทวงคืนผืนป่าจึงเป็นกับดักความยากจนหลุมแรก และหลุมที่สองก็คือการที่ต้องต่อสู้ภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่าที่มีราคาที่ต้องจ่าย หากนโยบายทวงคืนผืนป่าบอกว่าเป้าหมายหลักคือการทวงคืนเพื่อแก้ไขปัญหาป่าไม้และลดความยากจน แต่การศึกษาจากงานวิจัย นโยบายทวงคืนผืนป่าได้เป็นกับดักความจนของคนที่นี่ ซึ่งจากงานวิจัยคำป่าหลายจาก 50 ครัวเรือนในพื้นที่คำป่าหลายได้รับผลกระทบจากการแย่งยึดที่ดิน ผ่านนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. โดยถูกแย่งยึดที่ดินไป 507ไร่ 26 งาน 30 ตารางวา และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยประมาณการ คือการเสียที่ดิน เสียสิทธิในที่ดิน เสียโอกาสในการทำธุรกรรมทางการเงิน สูญเลียศักยภาพในการบริหารจัดการเงินครัวเรือนและหนี้สิน เสียโอกาสในการทำธุรกิจ สูญเสียรายได้ 7,000 - 250,000 ต่อรอบการผลิต และยังสูญเสียความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย

นอกจากนี้รูปแบบปฏิบัติการแย่งยึดที่ดินของเจ้าหน้าที่ยังสร้างความสูญเสีย และความเจ็บปวดให้กับชาวบ้านคำป่าหลาย เช่น บังคับให้รื้อถอน ยึดทำลายทรัพย์สิน และพืชผล ทำลายพืชผลและติดป้ายห้ามเข้าพื้นที่ทำกิน ยึดพื้นที่หรือถูกให้ออกจากพื้นที่ และปิดป้ายปลูกป่าทับ รวมทั้งปักแนวเสา ข่มขู่ด้วยวาจา หรือกำลังอาวุธให้ออกจากพื้นที่ รวมทั้งบังคับให้ลงลายมือชื่อยินยอมออกจากพื้นที่ทำกิน ถ่ายรูปยืนแปลง จับกุมดำเนินคดีและกักขังหน่วงเหนี่ยว รวมถึงยึดสิทธิในที่ดินแต่ไม่ดำเนินคดี

พันมหา พันธโคตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายบอกเล่าข้อมูลว่า ตนอยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็ก บรรพบุรุษได้มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจับจองพื้นที่ทำกินไว้ ซึ่งตนก็ได้สิทธิในที่ดินทำกินจากการจับจองของพ่อแม่ โดยมีการมาจับจองตั้งถิ่นฐานทำสวน ปลูกข้าว ล่าสัตว์ ซึ่งที่ดินแถวนี้แต่ก่อนอุดมสมบูรณ์มาก หลังจากที่พวกเราทำกินกันมานานแล้ว รัฐบาลก็เริ่มเข้ามาประกาศให้พื้นที่ที่พวกเราทำกินตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งในขณะที่รัฐประกาศเราก็ทำตามหมดทุกอย่าง ทั้งปลูกมัน ปลูกยาง แต่พอช่วงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา เป็นรัฐมนตรี ได้มีการใช้นโยบายแย่งยึดที่ดิน ทำให้พวกเราเดือดร้อนและได้รับผลกระทบมาก

เราต้องสู้ทวงที่ดินของเรากลับคืนมาเพราะเป็นที่ดินที่เป็นมรดกของบรรพบุรุษ เราอยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การเข้ามาของการประกาศนโยบายป่าสงวนทับพื้นที่ของเราทำให้พวกเราจึงจำเป็นที่จะต้องทวงคืนพื้นที่ของบรรพบุรุษเรากลับคืนมา เราสู้เพื่อมูลพ่อแม่ สู้เพื่อสิทธิทำกิน หากไม่สู้ก็จะไม่มีพื้นที่ทำกิน

ขณะที่จิราวรรณ  ชัยยิ่ง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า เมื่อปี 2559 เราถูกยึดที่ดินจำนวน 12 ไร่ ซึ่งที่ดินดังกล่าวได้รับมรดกมาจากบรรพบุรุษของสามี ตอนนั้นเราถูกข่มขู่จากผู้นำชุมชนด้วย หลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ยึดพื้นที่ของเราไป รัฐได้นำป้ายห้ามทำกินมาปัก หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำกล้าไม้เข้ามาปลูกทับพื้นที่ ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่ของเราได้ แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ ลุกขึ้นสู้โดยการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เพื่อยื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เราต้องสู้เพราะที่ดินตรงนั้นเป็นที่ดินของเรา เราต้องทวงคืน รัฐจะมาแย่งยึดไปจากเราไม่ได้

ด้านปราณี เพียงดี ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า พื้นที่ที่ตนโดนยึดไปนั้นเป็นที่ที่มีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. จากที่มี 19 ไร่ เหลือเพียง 1 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเป็นที่ทับป่าสงวนฯ ที่ตรงนั้นเป็นที่ที่ตนได้รับมาจากบรรพบุรุษเช่นเดียวกัน “การสูญเสียที่ดินจึงหมายถึงการสูญเสียโอกาสที่จะประคับประครองชีวิตได้”

เปิดตัวงานวิจัย 'การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net