5 ปี จากรัฐธรรมนูญชนชั้นนำ สู่รัฐธรรมนูญประชาชน

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และ ขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (People’s Democracy Movement of Thailand; PDMT) ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดงานสัมมนา “5 ปี จากรัฐธรรมนูญชนชั้นนำ สู่รัฐธรรมนูญประชาชน” ในวาระครบรอบ 5 ปี รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 

28 เม.ย. 2565 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และ ขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (People’s Democracy Movement of Thailand; PDMT) ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง จัดงานสัมมนาขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง “5 ปี จากรัฐธรรมนูญชนชั้นนำ สู่รัฐธรรมนูญประชาชน” ในวาระครบรอบ 5 ปี ที่รัฐบาลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560  

ภายในงานมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในหัวข้อ “5 ปี รัฐธรรมนูญ 60 : สิทธิเสรีภาพที่หายไป ภายใต้โครงสร้างรัฐใหม่ที่รวมศูนย์” โดย อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน ครช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนได้เห็นพิษสงของรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วว่า เมื่อประกาศใช้มา 5 ปีผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลอกคราบหรือเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจด้วยรถถัง และใช้กระบวนการตามรัฐสภาผ่านการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาเอง

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

“สุดท้ายผมคิดว่า 5 ปี ที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีพิษสงอย่างไร แผลงฤทธิ์แบบไหน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและสร้างปัญหาให้พวกเราอย่างไร ในขณะเดียวกันเราก็มีบทเรียนแล้วว่าที่ผ่านมาเราได้พยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญ พยายามเขียนใหม่ จึงเป็นจังหวะดีที่เราจะได้มาร่วมกันถอดบทเรียน และประสบการณ์ว่าที่ผ่านมาเราเจออะไรและได้ทำอะไรไปบ้าง อุปสรรคขวากหนามอยู่ตรงไหน และถ้าเราอยากขยับให้มีพลังร่วมกันจะร่วมมือกันอย่างไร เพื่อทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้นจริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งย้อนกลับไปเราจะเอาวันที่ 6 เม.ย. วันที่นายทองด้วงปราบดาภิเษก และตั้งราชวงศ์จักรีขึ้นมา เราก็จะเอาวันที่ 6 เม.ย.  ครบรอบ 240 ปี เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งในการที่ประชาชนคนสามัญจะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นก้าวสำคัญเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตัวเองในประเทศนี้จริง ๆ”อนุสรณ์ กล่าว

 

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ขอเขียน รธน. ใหม่ให้ประชาชนมีสิทธิในการสร้างชุมชนใหม่และบริหารจัดการชุมชนตนเองได้

ชูศรี โอฬารกิจ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ 

ชูศรี โอฬารกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ที่ร่างหลังการรัฐประหารเป็นรัฐธรรมที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม และควบคุมเกษตรกรในการเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนในรูปแบบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีคำสั่งและนโยบายในการกีดกันลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงที่ดินที่เพียงพอในการทำการเกษตร ทำให้เศรฐกิจครอบครัวอ่อนแอประชาชนเป็นเหมือนบอนไซไม่ให้ตายแต่ก็ไม่ให้โต ส่งผลกระทบกับหลายองค์กร  

“นอกจากนี้เป็นกรณีการแย่งยึดที่ดินที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาก่อน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในครัวเรือน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ขอคัดค้านถ้ารัฐบาลยังออกกฎหมายมาควบคุมประชาชนไปทีละเล็กละน้อยเหมือนที่ทำอยู่ ถ้ารัฐบาลยังทำแบบนี้คือการกดหัวประชาชนไปเรื่อยๆ เราถึงต้องดิ้นรนออกมาเรียกร้องออกมาต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ดังนั้นหากทำให้เกิดรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนได้จริง เราอยากให้เขียนในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีสิทธิเกษตรกรในการสร้างชุมชนใหม่ และสิทธิในการบริหารจัดการชุมชนด้วยตนเอง และจะต้องให้สิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเองได้ด้วย”

 

ตัวแทนแรงงานแนะแก้นิยามค่าจ้างแรงงาน ชี้ รธน.ต้องกินได้ไม่ใช่แค่กระดาษเปื้อนหมึก อัด “มีชัย” คือปีศาจร้ายของประชาชน

ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

ธนพร วิจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงาน คือนิยามของค่าจ้างเปลี่ยนไปมาก โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 นิยามค่าจ้างว่าเป็นค่าจ้างที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ ซึ่งหมายถึงการกำหนดให้ประชาชนกินข้าวแค่วันละ 3 มื้อ เพื่อการดำรงชีพแทนการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ธนพรเห็นวิธีคิดของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญว่ามองชีวิตแรงงานเป็นเช่นไร ซึ่งในความเป็นจริงแรงงานถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในความเป็นจริงรัฐธรรมนูญต้องเขียนให้กินได้ ไม่ใช่เขียนกันเป็นกระดาษเปื้อนหมึกแล้วให้พวกตัวเองกินอย่างเดียว  

ธนพรกล่าวอีกว่า ในประเด็นเรื่องสิทธิการรวมตัวตั้งแต่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น คณะรัฐประหารพยายามที่จะสลายการรวมตัวทุกครั้งที่มีการัฐประหาร ตั้งแต่ช่วงปี 2535 ก็มีความพยายามแยกสหภาพแรงงานออกจากรัฐวิสาหกิจ  ทั้งที่เมื่อก่อนการรวมกลุ่มคืออำนาจในการต่อรองของประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดถึงสิทธิในการรวมตัวแค่ 5 รูปแบบ คือ 1. สมาคม 2.สหภาพแรงงาน 3.สหกรณ์ 4.องค์กร 5.ชุมชน แต่รัฐธรรมนูญเดิมเขียนไว้ครอบคลุมทั้งหมด จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจะมีการออกกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และมีชัย ฤชุพันธุ์ ถือเป็นปีศาจร้ายของพวกเรา เรื่องสิทธิการรวมกลุ่มเป็นปัญหาสำคัญของโครงสร้างรัฐธรรมนูญ

ธนพร กล่าวต่อว่า ขบวนการแรงงานพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 84 เรื่องเสรีภาพในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ในเรื่องเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นเสรีภาพของคนในประเทศ แม้แต่แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศก็มีสิทธิในการรวมกลุ่มเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

“สุดท้ายถ้าเราอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่เราเขียนเองและเป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้ สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชนหรือราษฎรทุกคนได้ รัฐธรรมนูญต้องเชื่อมโยงกันทั้งเรื่องความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารอย่างเดียว ไม่มีใครมารบกับคุณนอกจากรบกันเอง นอกจากนั้นเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราไม่ต้องการกฎหมายควบคุมการร่วมกลุ่มประชาชน” ธนพรกล่าว

 

เครือข่ายสลัม 4 ภาคระบุหากมีการแก้ รธน. ขอให้สิทธิการเข้าถึงที่อยู่อาศัยถูกระบุใน รธน. และให้มีกฎหมายรองรับให้ทุกคนได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมจากรัฐ โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี

หนูเกณฑ์ อินทรจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ขณะที่หนูเกณฑ์ อินทรจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ตอนที่มีการรัฐประหารใหม่ๆ เครือข่ายสลัม 4 ภาคได้ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวทำสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารและโดนเรียกตัวไปพบ รัฐบาลชุดนี้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกกลุ่มใครมีความเห็นต่างหรือมีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลก็จะถูกยัดข้อหาและดำเนินคดี โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย

หนูเกณฑ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนแออัดไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และเมื่อประชาชนออกไปเรียกร้องเรื่องที่ดินก็โดนหมายจับเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดนบังคับจับกุม ประชาชนขอเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยในราคาถูกแต่กลับไม่ให้ประชาชนเช่า บังคับให้ประชาชนย้ายออก รัฐบาลกลับเอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุน ดังนั้นหากจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ก็อยากให้เขียนบรรจุเลยว่าให้คนจนเมืองสามารถมีที่อยู่ในเมืองได้ให้สิทธิการเข้าถึงที่อยู่อาศัยระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ และอยากให้มีกฎหมายรองรับให้ทุกคนได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมจากรัฐ โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดถึงหกปีจะต้องได้รับสวัสดิการจากรัฐในส่วนนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัวเด็กและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กด้วย

 

กลุ่มคนทำทางระบุอยากเห็น รธน. ใหม่ที่ไม่นำความเชื่อหรือจริยธรรมทางทางศาสนามาใช้ในการเขียนกฎหมาย

นิศารัตน์ จงวิศาล ตัวแทนจากกลุ่มทำทาง

ด้านนิศารัตน์ จงวิศาล ตัวแทนจากกลุ่มทำทางกล่าวว่า  ฉายภาพให้เห็นถึงความยากลำบากในการแก้ไขกฎหมายเรื่องการทำแท้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางกลุ่มได้ทำการณรงค์อยู่ กลุ่มทำทางได้ใช้กลไกมากมายในการเคลื่อนไหวในการแก้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นกลไกของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา จนไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการตีความประเด็นที่ยื่นไปถึง 1 ปี 4 เดือน และวินิจฉัยโดยหยิบยกมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับศีลธรรมและศาสนาที่รัฐธรรมนูญของปี พ.ศ. 2560 มีข้อที่บัญญัติให้คุ้มครองศาสนาด้วย จึงกลายเป็นการนำศีลธรรมมาตัดสินชีวิตของคน รัฐควรแยกศาสนาออกจากกฎหมาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับอ้างศีลธรรมมาตัดสินการทำแท้งของประชาชน สุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญที่กลุ่มทำทางอยากเห็นคือไม่ให้นำความเชื่อ ศีลธรรมธรรมทางศาสนามาใช้ในการเขียนกฎหมาย หรือถ้าจะใช้ก็ขอให้มีความหลากหลายทางศาสนาของผู้นำทางศาสนาทุกศาสนา

 

ขอรัฐสวัสดิการสนับสนุนคนทำงานทั้งใน-นอกระบบ

กศิดิษ และ มารุต ตัวแทนจากสหภาพคนทำงาน

กศิดิษ และ มารุต ตัวแทนจากสหภาพคนทำงาน กล่าวว่า รายได้เวลานี้สวนทางกับค่าครองชีพ  สวัสดิการของคนทำงานทั้งในและนอกระบบ สวัสดิการรัฐกลายเป็นเศษเงินที่ตกมาถึงประชาชน คนทำงานบางอาชีพรัฐไม่เคยส่งเสริม เช่น “sex worker” ซึ่งมองว่าอาชีพพวกนี้เป็นอาชีพที่ไร้ศีลธรรม นอกจากนี้ระบบขนส่งสาธารณะก็มีค่าโดยสารที่แพงเกินกว่าที่คนทำงานทั้งในและนอกระบบจะรับไหว  สภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ของไทยจึงย่ำแย่มาก คนทำงานในอาชีพไรเดอร์ตามแพลทฟอร์มต่างๆ เองก็มีรายได้ไม่มั่นคง ไม่มีสวัสดิการ และไม่มีการคุ้มครองจากรัฐ ทุกครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการทำงานรัฐไม่เคยเข้ามาดูแลคนทำงานเหล่านี้ สหภาพคนทำงานจึงมองว่าการจัดรัฐสวัสดิการจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนและให้ความสำคัญ

 

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ชี้ รธน. ต้องมีองค์กรอิสระดูแลสิ่งแวดล้อม ยึดหลักผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหัวหน้าพรรคสามัญชนและที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่และรัฐธรรมนูญ ทางเครือข่ายกำลังผลักดันให้เกิดหลักการอะไรบางอย่างในตัวกฎหมายแร่ หรือกฎหมายสิ่งแวดล้อม คือผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย เพราะปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมแร่ไทยยังไม่มีหลักตรงนี้ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่นอกจากแร่ด้วยที่ต้องยึดหลักการนี้ ซึ่งยังมีความบกพร่องอีกมากในกฎหมายแร่ที่ยังไม่มีในเรื่องการฟื้นฟู หลังหมดสัมปทาน มีเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับที่ชัดเจน ทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างสกปรก และก่อผลกระทบสูงมาก

นอกจากนี้ในเรื่องเหมืองแร่กับรัฐธรรมนูญ ต้องมีการพูดถึงหน่วยงานอิสระในการพิจารณา EIA เป็นต้น ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 เคยมีหลักการตรงนี้ไว้ เกี่ยวกับเรื่องความพยายามในการสร้างองค์กรอิสระในการพิจารณา EIA และพัฒนาจนเป็นมาตรา 67 วรรคสอง ในรัฐธรรมนูญ 50 แต่ก็ถูกล้มไปโดยรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งประเทศไทยเคยมีองค์กรอิสระเพื่อพิจารณา EIA อยู่ช่วงเวลาหนึ่งก่อนถูกล้มไปจากการรัฐประหาร

 

วิกฤตโควิด-19 บททดสอบความอัปยศของ รธน. 60

บุษบงก์ วิเศษพลชัย บุคลากรทางด้านสาธารณะสุขและนักวิจัยอิสระกล่าวว่า  รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าเป็นข้าราชการหรือชนชั้นกลางจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ทำให้เห็นชัดเจนว่าการรวมศูนย์สร้างความเสียหายได้มากขนาดไหน โควิด-19 เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2562 แต่วัคซีนล็อตแรกที่มาถึงเมืองไทยคือวัคซีนซิโนแวค เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 ถือว่าช้ามาก และโควิด-19 จะไม่ใช่โรคระบาดสุดท้ายที่ประเทศไทยเผชิญในอนาคตอาจมีโรคระบาดหนักว่านี้ หากประเทศไทยยังไม่สามารถออกแบบระบบรับมือที่เป็นโครงสร้างจริงๆ จะไม่สามารถรับมือกับโรคระบาดครั้งต่อไปได้

นอกจากนี้ พ.ร.บ.คุมกำเนิดเอ็นจีโอ ที่กำลังจะออกมา ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เม.ย. 2564 หากไม่มีภาคประชาชนออกมาช่วยกันเองกรุงเทพจะเสียหายและมีคนตายมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะว่าระบบสาธารณสุขไม่สามารถใช้การได้ และรัฐบาลเองก็ไม่อาจรับมือได้ในช่วงภาวะวิกฤต

 

รัฐธรรมนูญต้องเคารพเสรีภาพ-เสรีภาพประชาชน

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)  กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญถูกเขียนให้เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน หรือเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มจึงตัดเรื่องมาตรฐานและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนออกจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วเพิ่มในเรื่องความมั่นคงเข้ามาอย่างมาก  แต่เรื่องความมั่นคงนั้นเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชน ส่วนสำคัญที่อยากพูดถึงคือว่าในเมื่ออำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากร อำนาจในการบริหารจัดการบริการต่าง ๆ อยู่ในมือของรัฐ ไม่ได้เป็นสวัสดิการที่ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม กลายเป็นการเอื้ออำนาจให้กับบางกลุ่ม  

สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า เมื่ออำนาจบริหารรัฐบาลบวกทุน รวมทั้งอำนาจตุลาการในการตีความกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกโดยที่ตุลาการไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน จึงกลายเป็นการรวบอำนาจของการบริหาร และอำนาจตุลาการให้อยู่ในมือของรัฐบาลภายใต้โครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 2560 นำมาสู่การบริหารประเทศอย่างยึดกุมอำนาจและการตีความกฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ อยู่ภายใต้กรอบของคนกลุ่มหนึ่งที่เขียนรัฐธรรมนูญและบริหารประเทศเท่านั้น

ดังนั้นสิ่งที่เป็นข้อเสนอของทุกคนคืออยากเห็นรัฐธรรมนูญที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง และสิ่งสำคัญคือประชาชนทุกคนจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้มาตรฐานที่เป็นสากล ไม่ใช่วาทกรรมที่บอกว่าให้อยู่อย่างพอเพียง ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่อย่างเกินพอ ยึดกุมทรัพยากรธรรมชาติที่เกินพอ แต่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้เลย อีกกลุ่มหนึ่งมีสวัสดิการที่ดีจนตัวเองคิดว่าไม่มีผลกระทบจากวิกฤตโควิด แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งมีชีวิตอยู่ในความเสี่ยงทุกวัน สิ่งเหล่านี้อยู่ในโครงสร้างอำนาจที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนโครงสร้างใหม่ที่เอื้อต่อการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เห็นความเป็นมนุษย์เท่ากันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคมที่เห็นทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน หรือมีความเป็นคนเท่ากัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท