Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประวิตร ประธานประชุมติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาแก้ปมพีมูฟ เดินหน้าโฉนดชุมชน ต่ออายุธนาคารที่ดิน คดีชุมนุมพีมูฟ 15 คน ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ดำเนินการตามกฎหมาย

9 พ.ค.2565 เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือ พีมูฟ) ครั้งทื่ 2/2565 โดยใช้ระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (VTC) ใน 3 ห้องประชุม ได้แก่ ห้องประชุมมูลนิธิป่ารอยต่อ และห้องประชุม อาคารสำนักงาน ก.พ.ร. (เดิม) รวมทั้งมีการเชื่อมโยงระบบ Zoom  โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

ที่ประชุมมีการติดตามการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จำนวน 15 กรณีปัญหา โดยผลการประชุมมีความคืบหน้า ดังนี้ (1) กรณีโฉนดชุมชน ซึ่งมีการยกระดับให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดที่ดินตามมาตรา 10 (4) ของ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) จะจัดทำระเบียบให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ ให้มีการประชุมคณะทำงาน ซึ่งมี นายอนุชา นาคาสัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 31 พ.ค. 65 โดยจะมีการตรวจสอบความพร้อมของพื้นที่โฉนดชุมชน 196 ชุมชน ซึ่ง ขปส. ได้เสนอให้มีการประกาศรับรองเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน รวมถึงตรวจสอบพื้นที่โฉนดชุมชนทั้งหมด จำนวน 486 ชุมชน และจะมีการทำหนังสือแจ้งเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันว่ายังมีการดำเนินงานโฉนดชุมชน ไม่ได้ยกเลิกโฉนดชุมชน

(2) กรณีธนาคารที่ดิน ให้มีการต่ออายุสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เป็นระยะเวลา 3 ปี จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการดำเนินการกระจายการถือครองที่ดิน และให้ปรับโครงสร้างการบริหารให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น  (3) กรณีคดีคนจนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. และนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ซึ่งจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดี มีการกำหนดเวลาออกกฎหมายภายในรัฐบาลนี้  (4) กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่ง รฟท. จะใช้มติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 43 มาเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท. ทั่วประเทศ ชุมชนสามารถเช่าที่ดินได้เพิ่มเติม จากเดิมมีจำนวน 61 ชุมชน ให้มีการนำรายชื่อชุมชนทั่วประเทศเข้าบอร์ดการรถไฟ และจะมีการชะลอบังคับคดีในระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 35 จังหวัด 345 ชุมชน 26,153 ครัวเรือน

(5) กรณีชุมชนที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาที่ดินให้เข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้าน และปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้ ให้กระทรวงทรัพยากร ฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคม ฯ เร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน (6) ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เร่งรัดการประชุม เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม โดยจัดประชุมทุก 2 เดือน และรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

(7) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย ดังนี้  (7.1) กรณีชาติพันธุ์ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง โดยมี นายอนุชา นาคาสัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  (7.2) กรณี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 รวมถึงร่างกฎหมายลำดับรอง ซึ่ง ขปส. เสนอให้ทบทวนกฎหมาย 3 ฉบับ ดังกล่าว และชะลอการนำร่างกฎหมายลำดับรองเข้า ครม. จนกว่าการศึกษาทบทวนจะแล้วเสร็จ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ ดังกล่าว และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงร่างกฎหมายลำดับรอง โดยมี นายอนุชา นาคาสัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  (7.3) กรณีรัฐสวัสดิการ ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ เพื่อศึกษาและออกแบบการขับเคลื่อนทางนโยบาย ได้แก่ คณะอนุกรรมการรัฐสวัสดิการ ด้านเงินอุดหนุนเด็กและเยาวชน ที่อยู่อาศัย ระบบบำนาญประชาชน สวัสดิการคนพิการ และสวัสดิการสตรี และคณะอนุกรรมการรัฐสวัสดิการ ด้านการศึกษา สุขภาพ งานและรายได้ ประกันสังคม และสิทธิทางสังคม

นอกจากนั้น กรณีการจัดการภัยพิบัติ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ขปส. เพื่อพิจารณากรอบแนวทางการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า ผลการประชุมมีความคืบหน้าไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นการรับปาก และสั่งการให้หน่วยงานราชการดำเนินการต่อ โดยให้ประชุม ทุก 2 เดือน เรื่องโฉนดชุมชนมีการยืนยันว่าให้ดำเนินการต่ออย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ยกเลิก เรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีคนจนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากฎหมายนโยบายรัฐ วางกรอบเวลา 90 วัน หากสามารถทำได้จะมีคนจนได้รับประโยชน์ทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพีมูฟ พีมูฟต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าจะเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร จนกว่ารัฐบาลจะครบวาระ หรือยุบสภา บรรยากาศการประชุมไม่มีการถกเถียงเรื่องข้อมูล เนื่องจากมีการปรับข้อมูลให้ตรงกันก่อนแล้ว

“ส่วนเรื่องคดีความจากการชุมนุมติดตามให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาพีมูฟ ข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวน 15 คน ซึ่งผมถูกดำเนินคดีด้วย ตอนนี้คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน เขาบอกว่ายกเลิกการออกหมายเรียกและยกเลิกคดีไม่ได้ ต้องปล่อยไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ไม่สามารถก้าวล่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือสกัดกั้นการชุมนุม มีการเลือกดำเนินคดีกับบางกลุ่ม กลุ่มที่เชียร์รัฐบาล ไม่ด่า ไม่ท้วงติง ไม่ถูกดำเนินคดี” จำนงค์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net