Skip to main content
sharethis

P-move แถลงกรณีศาล รธน.ยุบพรรคก้าวไกล มองเป็นการปิดกั้น ปชต. มองการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง ยืนยันหลักการฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ต้องยึดโยงประชาชน ตรวจสอบถ่วงดุล ไม่ทำให้ฝ่ายนิติบัญัตติที่มาจากตัวแทนประชาชนอ่อนแอ ทำลายระบอบรัฐสภา

 

8 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (8 ส.ค.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง กรณียุบพรรคก้าวไกล ปิดกั้นประชาธิปไตย ไม่แก้ปัญหาคนจน แก้ 112 ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง 

รายละเอียดแถลงการณ์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ด้วยเหตุผลเกี่ยวข้องกับการหาเสียงของพรรคเรื่องการแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น จะถูกจารึกเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ศาลรัฐธรรมนูญตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตั้งคำถามและสร้างความเคลือบแคลงสงสัยต่อประชาชนว่า ถูกใช้เพื่อจัดการฝ่ายเห็นต่างทางการเมืองหรือไม่

แน่นอนว่าผลกระทบมิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคอีก 11 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเท่านั้น การตัดสินเช่นนี้กำลังสะท้อนความถดถอยทางการเมืองของไทย ทำลายเสียงของประชาชนมากกว่า 14 ล้านเสียงที่ได้ตัดสินใจเลือกพรรคก้าวไกลให้ได้ขึ้นมาบริหารประเทศ พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) มีความเห็นต่อสถานการณ์นี้ ดังนี้

1. ศาลรัฐธรรมนูญได้ปิดกั้นประชาธิปไตยของประชาชนเจ้าของประเทศ กล่าวคือ การเลือกตั้งแต่ละครั้งที่ประชาชนได้ติดตามการแถลงนโยบายของหลายพรรคการเมือง และพิจารณาว่าสอดคล้องต่อปัญหาปากท้องและปัญหาเชิงโครงสร้างหรือไม่ก่อนตัดสินใจเลือก วิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ถูกทำให้ไร้ความหมาย เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหลังจากนี้การใช้สิทธิ์ ใช้เสียงของเราผ่านระบบการเลือกตั้งจะนำไปสู่การได้พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตามที่เราปรารถนาอย่างแท้จริง

2. การรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง แต่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งหรือขอฉันทานุมัติจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย โดยการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมือง อันนำมาซึ่งชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคก้าวไกล ย่อมสะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเจ้าของประเทศ การรณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลผ่านการเลือกตั้งดังกล่าว จึงไม่น่าจะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ควรนำมาเป็นเหตุแห่งกากระทำผิดซึ่งนำมาสู่การยุบพรรคการเมืองได้

3. ระบอบการเมืองไทยไม่ยินดีให้การแก้ไขปัญหาคนจนดำเนินต่อไปด้วยหรือไม่ แม้ข้อวินิจฉัยต้นเหตุแห่งการยุบพรรคก้าวไกลคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่จะเห็นว่าส่วนหนึ่งที่พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้นก็ด้วยนโยบายที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาคนจน อาทิ การจัดการที่ดิน-ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ การกระจายอำนาจ ชาติพันธุ์ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รัฐสวัสดิการ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน การใช้ศาลรัฐธรรมนูญทำลายพรรคก้าวไกลครั้งนี้ จึงเท่ากับการทำลายกลไกนิติบัญญัติซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนเช่นกัน

พีมูฟ ขอยืนยันว่า หลักอำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านสถาบันนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ตุลาการนั้น อำนาจทั้งสามจะต้องยึดโยงกับประชาชน ดำรงอยู่อย่างสมดุลและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ไม่แทรกแซงจนเกิดอำนาจรัฐซ้อนรัฐ จนเป็นเหตุให้อาจให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะสถาบันนิติบัญญัติอ่อนแอไร้อำนาจ ซึ่งเท่ากับเป็นการบ่อนไซอำนาจประชาชนและทำลายระบบรัฐสภา

 

ทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง

ในวันเดียวกัน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) และ Land Watch Thai ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับข้อครหาทำลายประชาธิปไตย กรณียุบพรรคก้าวไกล 

โดยทางเครือข่ายรณรงค์ด้านสิทธิที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ มองว่าการยุบพรรคก้าวไกล เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน 14 ล้านเสียง ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศ และไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญเอง ทางแถลงการณ์ย้ำเตือนว่าพัฒนาการทางการเมืองไม่ก้าวหน้าส่วนหนึ่งมาจากกระทำของพวกเขาเอง แต่จะไม่ใครขัดขวางสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์ร่วมสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) และ Land Watch Thai

เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับข้อครหาทำลายประชาธิปไตย กรณียุบพรรคก้าวไกล

เป็นอีกครั้งที่กระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ นำโดยศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงความเป็นอนารยประเทศของราชอาณาจักรไทยด้วยการวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง

การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวานนี้ (7 สิงหาคม 2567) โดยใช้เหตุผลเกี่ยวกับการหาเสียงของพรรคก้าวไกลในประเด็นแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้พรรคถูกยุบโดยทันที และมีกรรมการบริหารของพรรคต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองมากถึง 11 คน เรามองว่าคำวินิจฉัยนี้สวนทางกับความรู้สึกของสังคมโดยรวม และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกครหาว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ และคำตัดสินเช่นนี้มิใช่เพียงการทำลายพรรคการเมืองหนึ่งพรรค แต่คือการทำลายเสียงของประชาชนมากกว่า 14 ล้านเสียงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นการทำลายความหวังและเจตจำนงของประชาชนจำนวนมหาศาลที่ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงหลังต้องทุกข์ทนกับระบอบการเมืองหลังรัฐประหารร่วม 10 ปี

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (สกน.) และ Land Watch Thai เป็นขบวนการภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มิได้ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด แต่เราเห็นว่าหลายนโยบายของพรรคก้าวไกลนั้นเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนห่างหายไปจากสังคมไทยมาอย่างยาวนานภายใต้การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ แน่นอนว่า 14 ล้านเสียงนั้นคือเสียงสะท้อนว่าประชาชนมิอาจยอมจำนน และคูหาเลือกตั้งคือสถานที่ต้นทางที่สุดที่พวกเขาจะมีอำนาจสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยมือและจิตใจอันแน่วแน่ของตนได้ เราจึงเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการกระทำการอันขัดต่อความปรารถนาของคนไทยที่มีต่ออนาคตของเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เราขอย้ำเตือนว่า การยุบพรรคการเมืองครั้งนี้จะไม่เป็นคุณต่อใคร โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญเอง ขอให้ผู้เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่าหากการเมืองไทยไม่สามารถขยับต่อไปข้างหน้าได้ ส่วนหนึ่งย่อมเกิดจากการกระทำของท่าน และแน่นอนว่าไม่มีใครอาจฉุดรั้งสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานได้อีกต่อไป

อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
8 สิงหาคม 2567

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net