Skip to main content
sharethis

ใน change.org มีผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์นี้ร้องเรียนต่อกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในการจัดหา-ลดภาษีนำเข้าคาร์ซีท ด้านนครบาลยันยังไม่บังคับใช้กฎหมายในขณะนี้ โดยรอครบ 120 วัน หลังประกาศจึงจะมีผลบังคับใช้ ระหว่างนี้หากพบจะเป็นการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าว และจะไม่มีการตั้งด่านเพื่อจับผิดกรณีดังกล่าว

 

11 พ.ค.2565 จากกรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 7 พ.ค. 2565 มีสาระสำคัญระบุให้ เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือคาร์ซีทในระหว่างการโดยสารทางรถยนต์ และจะมีโทษปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืนนั้น

ล่าสุด ในเว็บไซต์ change.org ผู้ใช้ชื่อ 'Patcharee Sae-eaw' สร้างแคมเปญรณรงค์นี้ร้องเรียนต่อกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในการจัดหา-ลดภาษีนำเข้าคาร์ซีท (URL : https://www.change.org/p/ขอให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในการจัดหา-ลดภาษีนําเข้าคาร์ซีท)

ผู้สร้างแคมเปญรณรงค์ ระบุว่า ตนในฐานะแม่คนหนึ่ง เห็นด้วยว่าคาร์ซีทเป็นสิ่งจำเป็น สมควรเป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เด็กควรได้รับ แต่ในขณะเดียวกันด้วยสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ไม่ใช่ทุกบ้านหรือทุกครอบครัวจะตระหนักถึงและเข้าถึงที่นั่งนิรภัยดังกล่าว เป็นหน้าที่ของภาครัฐในฐานะผู้ตราและบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องเข้าให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้พ่อแม่ผู้ปกครองหันมาใช้คาร์ซีทคือเรื่องราคา ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาของคาร์ซีทที่ขายในท้องตลาดปัจจุบันยังถือว่ามีราคาที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้และค่าครองชีพของคนไทยจำนวนมาก รัฐควรเข้ามาให้การสนับสนุนทางด้านราคา ไม่ว่าจะด้วยการปรับหมวดสินค้าของคาร์ซีทเป็นสินค้าจำเป็น เพื่อลดอัตราภาษีนำเข้า หรือแจกคูปองอุดหนุนสำหรับเด็กแต่ละคนเพื่อให้ผู้ปกครองนำคูปองดังกล่าวไปแลกซื้อคาร์ซีท หรือช่วยเหลือจัดหาคาร์ซีทที่มีคุณภาพดี แข็งแรง ปลอดภัย ในราคาที่เข้าถึงได้ให้กับแต่ละครอบครัว เพื่อที่ประชาชนที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอจะได้ไม่ต้องพึ่งพาคาร์ซีทราคาถูกที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน เพียงเพื่อป้องกันการถูกตำรวจจับ แต่ไม่ได้การันตีความปลอดภัยของเด็ก

นอกจากนี้อีกสิ่งที่สำคัญและควรทำควบคู่กันไปก็คือการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้คาร์ซีทที่ถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัยจากหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย จำเป็นต้องมีการให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนัก

รวมถึงต้องมีทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมในการใช้คาร์ซีท เช่น กรณีที่มีเพียงรถกระบะตอนเดียว ไม่สามารถติดตั้งคาร์ซีทได้ จะต้องมีแนวทางว่าครอบครัวนั้นจะต้องปฏิบัติเช่นไรเพื่อความปลอดภัยของเด็ก

อีกทั้งต้องมีการออกมาตรฐานรับรองสินค้าว่าคาร์ซีทที่ได้มาตรฐานผ่านเกณฑ์การทดสอบนั้นเป็นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจยามซื้อหาคาร์ซีตมาใช้งาน

ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ได้เสนอไปนี้ นอกจากช่วยให้แต่ละครอบครัวเข้าถึงการใช้งานคาร์ซีทได้มากขึ้น เป็นการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของเด็กแล้ว ยังช่วยอุดช่องโหว่ไม่ให้ข้อกำหนดเรื่องการใช้คาร์ซีทในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ กลายมาเป็นช่องทางในการรีดไถหรือทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มได้อีกด้วย

"ดิฉันเชื่อว่าหากทำได้ พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ล้วนแต่อยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุตรหลาน สิ่งใดที่ทำแล้วลูกปลอดภัย หลานปลอดภัย ทุกคนก็คงอยากที่จะทำกัน แต่ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นปัญหา ดังนั้นนี่จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะเป็นผู้สนับสนุนให้เด็กๆ ของพวกเรา ได้รับการคุ้มครอง ได้รับความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในยามเดินทาง" ผู้สร้างแคมเปญรณรงค์ ระบุ

นครบาลยันยังไม่บังคับใช้กฎหมาย ระหว่างนี้หากพบจะเป็นการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าว และจะไม่มีการตั้งด่านเพื่อจับผิด

ขณะที่ มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยถึงการประกาศบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ให้รถยนต์ที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี โดยสารต้องมีที่นั่งนิรภัย หรือคาร์ซีท เพื่อความปลอดภัยว่า ตรวจสอบพบว่าข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับล่าสุดที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น จะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน หรือในวันที่ 5 กันยายนนี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีใจความสำคัญ คือ ป้องกันไม่ให้เด็กได้รับบาดเจ็บ หรือเป็นอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุทางถนนโดยการจัดที่นั่งที่เหมาะสมให้ โดยระบุใจความสำคัญในการป้องกันไว้ 3 รูปแบบ คือ ผู้ปกครองต้องจัดที่นั่งนิรภัย หรือคาร์ซีท สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ หรือต้องจัดหาที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก อายุไม่เกิน 6 ขวบ หรือหาวิธีป้องกันสำหรับเด็กที่โดยสารบนรถ

พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวว่า หากตีความข้อกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่ได้บังคับตายตัวว่า จะต้องใช้เพียงที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือคาร์ซีท เพียงอย่างเดียว แต่ยังระบุว่า หรือ จัดหาที่นั่งสำหรับเด็ก เช่นการจัดให้เด็กนั่งและคาดเข็มขัดนิรภัยให้ หรืออาจใช้วิธีการป้องกันอื่นๆ เช่น การนำเด็กมานั่งตักและคาดเข็มขัดนิรภัยให้ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งลักษณะและวิธีการป้องกันดังกล่าวต้องรอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่างข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าการติดตั้งหรือจัดหาที่นั่งแต่ละแบบนั้น จะมีรูปแบบอย่างไร แบบไหนที่สามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ได้

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะใช้เวลาในช่วงระหว่างก่อนกฎหมายบังคับใช้ 120 วัน ร่างข้อกำหนดดังกล่าวให้เสร็จสิ้น และหากยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อยก็ยังมีเวลาอีก 90 วัน ที่สามารถร่างข้อกำหนดให้เสร็จสิ้นได้ ซึ่งคาดว่าหากใช้เวลาเต็มที่ กฎหมายดังกล่าวก็จะบังคับใช้ หรือมีการจับปรับได้ในวันที่ 5 ธ.ค. 2565

พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวว่า ในช่วงแรกนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาล จะเน้นรูปแบบการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองทราบ และหาวิธีการป้องกันตามข้อกฎหมายดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในเบื้องต้น แต่จะไม่ได้เป็นรูปแบบของการตั้งด่านตรวจหรือจับปรับในกรณีดังกล่าวโดยเฉพาะ แต่หากเป็นเหตุซึ่งหน้า เช่น มีการตั้งด่านตรวจในกรณีอื่นๆ แล้วพบว่าผู้ปกครองไม่ได้จัดที่นั่งที่ปลอดภัยให้ ก็จะทำการตักเตือนประชาสัมพันธ์ให้แก้ไขให้ถูกต้องเท่านั้น

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า หากเป็นรถโดยสาร รถแท็กซี่ รถประจำทาง หรือรถโรงเรียน กฎหมายดังกล่าวจะถูกบังคับใช้ไปด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ตามข้อกำหนดแล้ว เป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกที่จะต้องออกประกาศว่า รถชนิดใดที่จะถูกบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ และรถประเภทใดที่ได้รับข้อยกเว้น ซึ่งกรอบเวลาจะอยู่ในห้วงเดียวกันกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ 120 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา และบวกเพิ่มอีก 90 วัน หากไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อยหลังกฎหมายบังคับใช้ นอกจากนี้ตามประกาศกฎหมายใหม่นี้ยังบังคับให้เด็กโตกว่า 6 ปี ขึ้นไปต้องคาดเข็มขัดนิรภัยอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net