Skip to main content
sharethis
  • 'ประยุทธ์' แถลง ร่าง งบฯ 66 ต่อสภาฯ ดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ย้ำเป็นไปตามกรอบของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ วาง 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ โต้ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวหาตั้งงงบส่อโกง ท้าให้ฟ้องถ้ามีหลักฐาน ชี้ ตั้งวงเงินในงบลงทุน แต่ถูกกมธ.ตัดทอนลง 
  • ผู้นำฝ่ายค้านลั่นไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบฯ หวังเปลี่ยนผู้นำ ยัน 'เพื่อไทย' พร้อมบริหารและเสนอร่างที่มีประสิทธิภาพ-พาออกจากวิกฤตได้
  • ‘พิธา’ เปรียบงบ 66 เหมือน ‘ช้างป่วยที่เต้นระบำไม่ได้’ ยัน ต้องทำให้ดีเพราะเป็นจุดตัดชี้ชะตาประเทศไปอีก 10 ปีข้างหน้า
  • 'จิรายุ' ชี้นายก ได้ฉายา 'พระบิดานักกู้แห่งมหาเอเชียบูรพา'

 

31 พ.ค.2565 ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดย เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าร่วม แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรถึงเป้าหมายและแนวทางร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยมีหลักการและเหตุผลตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,185,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,185,000,000,000 บาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ซึ่งเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้ดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติ  แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนย่อย (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายรัฐบาล ให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม  เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน  โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศและภายนอกประเทศ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วไปซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงาน ณ วันที่ 21 ก.พ. 2565 เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจากการผ่อนคลายลงของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวภายใต้มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ได้แก่ ผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ การกลายพันธุ์และการระบาดของเชื้อไวรัส และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5  ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565 อัตราการขยายตัวของ GDP ปี 2565 อยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 4.2 - 5.2  ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.2 – 4.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลายโดยประมาณการว่าจะจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิจำนวน  2,614,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 124,100 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,490,000 ล้านบาท ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จึงเป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,490,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 695,000  ล้านบาท รวมเป็นรายรับ จำนวน 3,185,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงฐานะการคลังว่า รัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด  ส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 9,951,962.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70

สำหรับฐานะและนโยบายการเงินนั้น รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมายังคงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีความต่อเนื่อง  อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินกรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นมาก และจะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นในปี 2565 รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่จะบรรเทาลง ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย และระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ขณะที่ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 22 เมษายน 2565 มีจำนวน 233,926.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงนโยบายการจัดทำงบประมาณร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายให้ประเทศได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพตลอดช่วงชีวิต มีหลักประกันและความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส อาทิ ผู้สูงวัย ผู้พิการ และเด็ก ได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากสวัสดิการภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกระจายประโยชน์สู่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สามารถยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลุดพ้นจากปัญหาความยากจน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อลดภาระทางการคลังและสนับสนุนให้เศรษฐกิจในภาพรวมมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ย้ำเป็นไปตามกรอบของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยได้กำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่สำคัญ ดังนี้ (1) ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนย่อย (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นโยบายของรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการ  เพื่อให้บรรลุ 13 หมุดหมายตาม (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และโครงการสำคัญประจำปี 2566 ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 406 โครงการ  ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (2) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า โดยใช้งบประมาณของหน่วยรับงบประมาณทั้งในส่วนของแผนงานยุทธศาสตร์ แผนงานพื้นฐาน และแผนงานบูรณาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่  การจัดสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ตลอดจนมีการกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม ไม่ซ้ำซ้อน และเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อประชาชน  (3)  ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผล การใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเป็นลำดับแรก  รวมทั้งต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการลงทุน เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณ และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ (5) ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561  รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง



นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีวงเงินงบประมาณ จำนวน 3,185,000 ล้านบาท  จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,396,942.2 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 75.26  รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,077.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82  และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.14 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7,019.6 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย 1) งบประมาณรายจ่ายงบกลาง จำนวน 590,470.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.6 ของวงเงินงบประมาณ 2) งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,090,329.6 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 34.2 ของวงเงินงบประมาณ 3) งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 218,477.7 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 6.9 ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 11 เรื่อง ได้แก่ (1) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2) พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (3) ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (4) เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (5) บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (6) ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (7) พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (8) พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก (9) พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (10) รัฐบาลดิจิทัล และ (11) สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 4) งบประมาณรายจ่ายบุคลากร  จำนวน 772,119.1 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของวงเงินงบประมาณ 5) งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 206,985.6 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 6.5 ของวงเงินงบประมาณ และ 6) งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 306,618.0 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของวงเงินงบประมาณ

6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ

2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ โดยได้กำหนดไว้ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ โดยได้นำยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดเป็นกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน  296,003.6 ล้านบาท เพื่อให้บ้านเมืองมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข ทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศ  และได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ  จำแนกตามแผนงาน ดังนี้  (1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ  (2) การรักษาความสงบภายในประเทศ (3) การพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (4) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  (5) การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด  (6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง (7) การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (8) การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ (9) การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ (10) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (11) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม  (12) การสนับสนุนด้านความมั่นคง และ (13) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 396,125.5 ล้านบาท  เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ (1) การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (เช่น ทางถนน ทางราง ทางน้ำทางอากาศ) (2) การเกษตรสร้างมูลค่า (3)  การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  (4) การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (5) การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว (6) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (7) การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ (8) การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (9) การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน (10) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (11) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (12) การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (13) การสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และ (14) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 549,514.0 ล้านบาท  เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีความรู้ คุณธรรม จิตสาธารณะ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง  สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและทั่วถึง  รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น  พัฒนาศักยภาพทางการกีฬา และพัฒนาทักษะแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและวางรากฐานเศรษฐกิจในอนาคต จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ (1)  การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี (2)    การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต (3) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ (4) การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา (5) การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม (6) การสนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (7) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน  และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ  

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 759,861.3  ล้านบาท  เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม  สร้างหลักประกันทางสังคมให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน  รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการสำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ (1) การสร้างหลักประกันทางสังคม (2) การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา (3) การส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (5) การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก (6)มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม (7) การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ ประกอบไปด้วย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสภาพแวดล้อม และด้านสุขภาพ (8) การเสริมสร้างพลังทางสังคม (9) การสนับสนุนด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และ (10) การดำเนินภารกิจพื้นฐาน  และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 122,964.9 ล้านบาท เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว และบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ (1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ (3) การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (4) การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม  (5) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล (6) การยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (7) การสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (8) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 658,012.7 ล้านบาท เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม จำแนกตามแผนงาน ดังนี้ (1) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (2) รัฐบาลดิจิทัล (3) การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ (4) การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (5) การสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (6) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ารัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 402,518.0  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ดังนี้ (1) รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 95,900 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และ (2)  การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 306,618.0 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 206,618.0 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงินรวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลัง

โต้ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวหาตั้งงงบส่อโกง ท้าให้ฟ้องถ้ามีหลักฐาน ชี้ ตั้งวงเงินในงบลงทุน แต่ถูกกมธ.ตัดทอนลง 

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ลุกขึ้นอภิปรายว่าการเสนองบประมาณของรัฐบาลส่อโกง เอื้อประโยชน์ และเป็นงบประมาณที่ถูกพรรคร่วมรัฐบาลเรียกค่าไถ่ เพื่อต้องการรักษาและยื้อเวลาให้รัฐบาลอยู่ยาวใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นชี้แจงถึงการปรับลดงบประมาณในส่วนของงบลงทุน ว่า รัฐบาลเสนองบประมาณลงทุนไว้ที่ 624,399 ล้านบาท แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดทอนลง 12,466 ล้านบาท เหลือ 611,933 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.74 ของเงินงบประมาณ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องย้อนถามว่าใครตัดงบประมาณ เนื่องจากรัฐบาลตั้งไว้แล้ว แต่ถูกใครตัด  เมื่อมากล่าวว่าถูกตัดงบลงทุนแล้วนำไปใช้ในงบกลาง ซึ่งงบกลางนายกรัฐมนตรีไม่ได้ตัดสินใจอะไรได้เองทั้งหมด ต้องเสนอโครงการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และต้องปรับให้สอดคล้องกับพื้นที่ด้วย  

“ไม่ใช่นึกว่าจะให้ใครก็ให้  ไม่เหมือนสมัยก่อนบางคนประกาศไว้ว่า ถ้าไม่เลือกก็ไม่ให้  ไปดูว่าแผนงานโครงการของเราลงทุกจังหวัดหรือไม่ และเรื่องส่อโกงอะไรต่าง ๆ ก็ไปพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมไป ถ้ามีหลักฐานก็ฟ้องร้องกันไป กรุณาย้อนกลับไปดูด้วยว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการยุติธรรม มีติดคุก หนีคดีหรือไม่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านลั่นไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบฯ หวังเปลี่ยนผู้นำ ยัน 'เพื่อไทย' พร้อมบริหารและเสนอร่างที่มีประสิทธิภาพ-พาออกจากวิกฤตได้

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ชลน่าน ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายนั้น เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พรรคเพื่อไทย' รายงานสรุปไว้ว่า ผู้นำฝ่ายค้านอภิปราย ชำแหละรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลที่หมดสภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศได้ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก็ไม่แก้โจทย์วิกฤตประเทศ ทำให้ถึงทางตันทุกมิติ สินหวัง ส่อโกง และเอื้อประโยนช์พวกพ้อง ไม่สมควรที่รัฐบาลชุดนี้จะบริหารประเทศและงบประมาณประเทศต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผู้นำประเทศ เพื่อพาประเทศพ้นวิกฤต และยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะบริหารประเทศและนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่มีประสิทธิภาพและสามารถพาออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้

ผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายชี้ว่า รัฐบาลหมดสภาพ บริหารประเทศผิดพลาด โดยเฉพาะวิกฤตด้านสาธารณสุขผิดพลาด นำมาสู่การหยุดชะงักด้านเศรษฐกิจ กลายเป็นมหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เกิดภาวะรายได้ทรุด รายจ่ายพุ่ง หนี้สินขยาย คนมากมายตกงาน และยังถูกกระหน่ำด้วยวิกฤตจากสงคราม น้ำมัน วิกฤตด้านต้นทุน อุปสรรคทางการค้า และวิกฤตด้านอาหารโลก ประเทศจึงอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก แต่กลับมีรัฐบาลหมดสภาพ ไร้ศักยภาพ ไร้ความเข้มแข็ง ผู้นำประเทศไร้สมรรถนะ ขาดวุฒิภาวะ ไม่มีผลงานและล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการบริหารประเทศ แล้วยังมีกระบวนการที่จะสืบทอดอำนาจ อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย ใช้เล่ห์กลฉกฉวยโอกาสหลอกลวงประชาชน ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ประเทศที่เคยเต็มเปี่ยมด้วยอนาคต กลับกลายเป็นประเทศแห่งความอับจน สิ้นหวัง รั้งท้ายโลก และการฟื้นตัวก็ช้าสุด

ชลน่าน ระบุว่า ความล้มเหลวในการบริหาร ทำประชาชนจน ประเทศเจ๊ง ทิ้ง ‘มรดกหนี้’ ไว้ให้คนไทยมหาศาล

  • ‘หนี้สาธารณะทะลุเพดาน’ จากการกู้เงินก้อนใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ชาติครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กลับนำมาใช้ไม่ก่อให้เกิดผลต่อการพยุงเศรษฐกิจ ใช้จ่ายเงินกู้ไร้ประสิทธิภาพ
  • ‘หนี้ครัวเรือน’ กระโดดขึ้นจากร้อยละ 70 ตอนยึดอำนาจ สู่ระดับร้อยละ 90 สูงสุดในประวัติศาสตร์ ประชาชนคนไทย รายได้หด รายจ่ายพุ่ง จนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว
  • ‘หนี้เสีย (NPL) ที่ถูกซ่อนไว้ คือระเบิดทางเศรษฐกิจ

ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายต่อว่า ตลอด 8 ปี รัฐบาลนี้ทำให้ประเทศมีคนจนเพิ่มขึ้นแบบไม่เคยปรากฎมาก่อน เกิดภาวะตกงานครั้งใหญ่ มาตรการที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้ภาคเอกชนต้องล้มตาย ภาคเอกชนต้องปิดตัว นายจ้าง ลูกจ้าง แรงงานในระบบและนอกระบบ ทุกข์ระทม ไม่เห็นความหวัง ไม่เห็นทางออก และรัฐบาลที่ขาด Rule of Law ส่งผลให้ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ ในที่สุดเราก็ถูกแย่งชิงฐานการผลิตไป ตลอด 8 ปีนำพาประเทศมาสู่จุดเสื่อมที่สุด ทรุดโทรมที่สุดและตกต่ำที่สุด

ทางออกของประเทศขณะนี้ ผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายย้ำว่า จะต้องเปลี่ยนผู้นำ วันนี้รัฐบาลที่ล้มเหลว กำลังจะมาขอสภาให้อนุมัติงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท แต่ 8 ปีแห่งความล้มเหลวเป็นที่ประจักษ์ต่อการรับรู้ของคนไทยทั้งประเทศ จึงไม่เห็นว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนนี้จะสามารถใช้งบก้อนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการจัดงบประมาณ 66 นี้ก็ยังไม่แยแสต่อสถานการณ์ประเทศ ไม่ตอบโจทย์ ไม่ทันสถานการณ์ และส่อไปในทางทุจริต เป็นการจัดทำงบฯ ที่เจอทางตันในทุกมิติ สร้างหนี้เป็นภาระเพิ่มของคนไทยทั้งประเทศ งบลงทุนก็ต่ำ กลายเป็นงบฯ ที่สิ้นหวัง จากรัฐบาลที่ล้มเหลว ขณะที่งบประมาณในด้านที่จำเป็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศหลายด้านถูกตัดออกไป กลับมีการนำไปใช้ในงบประมาณด้านความมั่นคง ถูกซ่อนอยู่ในความมั่นคงแฝง ในหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ขณะที่งบฯ ด้านบุคลากรกลาโหมกลับโป่งขึ้น สวนทางกับความต้องการประเทศที่คนส่วนมากขาดความมั่นคงในชีวิต งบประมาณก้อนนี้ไม่ตอบโจทย์วิกฤตประเทศ และแทบจะไม่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ชลน่าน อภิปรายด้วยว่า อีกทั้งยังส่อทุจริต เอื้อพวกพ้อง อาทิ งบฯ คมนาคม ทั้งในส่วนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทพุ่งสูงขึ้น และยังถูกซ่อนในแผนบูรณาการด้านโลจิสติกส์อีกกว่า 130,000 ล้านบาท แม้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็น แต่นี่เป็น ‘งบประมาณที่ถูกเรียกค่าไถ่’ จากพรรคร่วมรัฐบาล ขูดรีดประชาชน เพื่อสืบทอดอำนาจหรือไม่ รัฐบาลที่สิ้นหวัง จัดงบฯ แบบสิ้นคิด จัดงบส่อโกง เอื้อพวกพ้อง เราจึงไม่สามารถรับหลักการร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ได้ เพราะมองไม่เห็นหนทางว่า รัฐบาลที่สิ้นสภาพจะบริหารจัดการงบประมาณประเทศให้เหมาะสมกับการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศได้อย่างไร เพราะฉะนั้นท่านไม่ต้องนำกลับไปแก้ไข ไม่ต้องนำกลับไปปรับปรุง และขอให้งบฉบับนี้ ตกไปพร้อมกับรัฐบาลชุดนี้

‘พิธา’ เปรียบงบ 66 เหมือน ‘ช้างป่วยที่เต้นระบำไม่ได้’ ยัน ต้องทำให้ดีเพราะเป็นจุดตัดชี้ชะตาประเทศไปอีก 10 ปีข้างหน้า

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนด้วยว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินงบประมาณ 3,185,000 ล้านบาท ว่า ครั้งนี้คือการอภิปรายงบประมาณครั้งสุดท้ายของการจัดสรรงบประมาณ โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งงบประมาณคือภาพสะท้อนว่า ประเทศของเราให้ความสำคัญกับอะไร ทุ่มทรัพยากรลงทุนไปกับเรื่องไหน และจากการลงทุนในวันนี้ อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

“พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณอย่างมาก เรานำเทคโนโลยีมาใช้แปลงเล่มงบประมาณ 2 ลัง 20,000 หน้า ให้กลายเป็นไฟล์ CSV เพื่อง่ายต่อการนำข้อมูลมาใช้ เราใช้การมีส่วนร่วมจากประชาชนมาร่วมกันวิเคราะห์ มีตั้งแต่ข้าราชการไปจนถึงน้อง ม.5 ที่มาช่วยกันถอดงบตั้งแต่ในด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ทำให้พบว่าประเทศไทยนี้เป็นประเทศเจ้ายศเจ้าอย่าง เป็นประเทศแห่งการประชุม หากลองใส่ keyword ลงไปในไฟล์ คำว่า ‘รับรอง’ ขึ้นมา 380 ล้านบาท ใส่คำว่า ‘เบี้ยประชุม’ ขึ้นมา 940 ล้านบาท ใส่คำว่า ‘สัมมนา’ ขึ้นมา 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศไทยยังเป็นรัฐของผู้รับเหมาด้วย ซึ่งสะท้อนจากงบก่อสร้างที่มีอยู่ในงบประมาณหลายแสนล้านบาท”

พิธา ยังย้ำว่า ปีนี้คือจุดตัดสำคัญและเป็นปีแห่งการฟื้นฟู เพราะวิกฤต Covid ทั่วโลกกำลังคลี่คลาย เราเพิ่งมีการเลือกตั้งที่กรุงเทพมหานครที่ทำให้ประชาชนมีความหวังผ่านการเลือกตั้ง และที่สำคัญก็คือกำลังจะครบ 8 ปีการดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจจะทำให้ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป การจัดงบประมาณในปีนี้จึงมีความสำคัญมาก ต้องมียุทธศาสตร์มากกว่าปกติ ต้องสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูประเทศ เพราะถ้าเราจัดได้ดีประเทศก็จะไปได้ดีในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเราไม่ปรับตัวอีกหลังจากทศวรรษที่สูญหายเพราะการมีผู้นำประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และระบอบ คสช. แล้วยังจัดงบประมาณแบบเดิมๆ ความหายนะที่เกิดขึ้นกับประชาชนจะตามมาและลูกหลานอนาคตก็จะพัฒนาไม่ได้

พิธา กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมของงบประมาณปี 66 เป็นเหมือน ‘ช้างป่วยที่เต้นระบำไม่ได้’ ในขณะที่เรากำลังเจอสถานการณ์รายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว การกู้ที่จะมีต้นทุนมากขึ้น ในเรื่องของรายจ่าย ส่วนใหญ่ยังใช้งบไปเพื่อเป็นรายจ่ายบุคลากรที่สูงถึง 40% อีกส่วนเป็นงบที่เอาไว้ชำระหนี้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นงบบุคลากร ใช้หนี้สาธารณะ ใช้หนี้นโยบาย หนี้ ธกส. สุดท้ายเหลือจริงๆแค่ 1 ใน 3 เพื่อเอาไว้รับมือกับปัญหาปีต่อปีและความท้าทายในอนาคต

ต่อมา เรื่องรายได้ มีปัญหาว่าเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 2-3 แสนล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเค้าโครงเศรษฐกิจของเราเน้นแต่การท่องเที่ยวในเชิงปริมาณไม่ใช่เชิงคุณภาพ และเน้นอุตสาหกรรมส่งออกรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบการเก็บภาษีสูงถึง 40% และระบบภาษีแบบ 1 คนเลี้ยง 9 คน มีจำนวนผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคนจากแรงงาน 40 ล้านคน

“เมื่อรายได้ผันผวนลดลงได้แต่รายจ่ายแข็งตัว ก็ต้องกู้มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีวิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลก ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วต่างขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถึงธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้รัฐบาลก็ต้องกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น” พิธา ระบุ

พิธา ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาของรัฐบาลนี้ที่จัดทำงบประมาณมาแล้ว 4 ปี คือ ไม่ว่าจะเจอวิกฤตแบบไหน เคยจัดอย่างไรก็จัดอย่างนั้น ปีแรกมีวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลก็จัดงบแบบนี้  ปีที่ 2 มีวิกฤตโควิดระลอกแรกรัฐบาลก็จัดงบมาแบบนี้ ถัดมาปีที่ 3 มีโควิดระลอกอัลฟาและเดลตา รัฐบาลจัดงบมาแบบนี้ และปีที่ 4 ประเทศต้องฟื้นฟูจากโควิดซ้อนด้วยวิกฤตเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง และวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลก็จัดงบมาแบบนี้ ไม่ได้ต่างกันเลย

“สภาปีแรกเหมือนฝนเริ่มตกปรอยๆ ปีที่สองโควิดเหมือนฝนตก ปีที่สามเป็นพายุ เจอลมฟ้าลมฝนแบบไหนก็จัดงบแบบนี้ ปีนี้ปีสุดท้ายเป็นฟ้าหลังฝน คิดว่าน้ำขึ้นต้องรีบตัก เราต้องขยายกระบวยของประเทศให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ตักเอาผลประโยชน์จากสถานการณ์โลกในช่วงฟ้าหลังฝนให้ได้ ไม่ว่าในเรื่องการท่องเที่ยว ผมพึ่งคุยกับ CEO ของ Agoda บอกว่าห้องพักที่สิงคโปร์เต็มหมดแล้ว ยอดจองทั่วโลกมากกว่าก่อนโควิดซะอีก แต่เราก็จัดงบเหมือนเดิม กระบวยอันเดิม ตอนวิกฤตก็แก้ไม่ได้ ตอนโอกาสมาก็คว้าโอกาสไว้ไม่ได้ ตัวอย่างที่กล่าวมานี้คือ 4 ปีของสภานี้ ที่โครงสร้างงบประมาณไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงมา 8 ปีแล้ว” 

พิธา ยกตัวอย่างว่า อย่างในเรื่องของ Creativity หรือความสร้างสรรค์ เมื่อไปดูงบกลับพบว่าไม่มีความหวังเลยที่จะสามารถสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาโอบรับความฝันของคนรุ่นใหม่ได้ ที่ชัดที่สุด ไปดูกระทรวงวัฒนธรรม ที่ในอนาคตควรจะเป็นกระทรวงเกรด A ไม่ต่างจากกระทรวงการคลังหรือกระทรวงคมนาคม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ กลับได้งบ 6,700 ล้านบาท เพื่อไปตอบโจทย์ตัวชี้วัดเรื่องการทำให้ประชาชนมีคุณธรรมจริยธรรมทั้งหมด 5,000 ล้านบาท ส่วนงบที่เกี่ยวกับ Soft Power ที่พูดๆกันมีแค่ 60 ล้านบาท พอมาชำแหละรายโครงการ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมีโครงการส่งเสริมภาพยนต์เพื่อสร้าง Soft Power มีงบประมาณ 40 ล้านบาท โดย KPI ของหนังมีแค่ มีคนรับชม 50,000 คน จึงเป็น KPI ที่ไร้ความหวัง เหมือนรู้ว่าสร้างหนังออกมาแล้วจะไม่มีใครดู

พิธา ทิ้งท้ายว่า งบประมาณแห่งความหวังแบบพรรคก้าวไกล คือการจัดงบแบบต้องกระจายและไม่กระจุก กระจายจากบนลงล่าง เพื่อขับเคลื่อนสร้างเศรษฐกิจทั่วประเทศ เพิ่มเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจจาก 3 เครื่องยนต์ คือ กรุงเทพฯ แหลมฉบัง มาบตาพุด ไปยังท้องถิ่นเพื่อให้มีเครื่องยนต์ใหม่ 7,850 เครื่องยนต์ ขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งแผ่นดินของประเทศไทย ที่จะทำให้ความเจริญกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า

ประการต่อมา ต้องเปลี่ยนเป็นล่างขึ้นบน สร้างเศรษฐกิจจากฐานราก SME และแรงงาน ไม่ใช่เอื้อนายทุนใหญ่ หรือคิดแต่โครงการแบบ EEC ที่ไม่ตอบโจทย์ปัจจุบันอีกแล้ว เพื่อจะได้เพิ่มเครื่องยนตร์ทางเศรษฐกิจ จากเจ้าสัว 10 เครื่องยนต์ เป็นเครื่องยนตร์ SME ไทย 3 ล้านเครื่องยนตร์ เพิ่มงานให้แรงงานไทย 40 ล้านคน เพื่อให้มี 40 ล้านเครื่องยนตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

สามคือคือต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากข้างในออกไปข้างนอก เป็นข้างนอกเข้ามาข้างใน เริ่มจากกระดุมเม็ดแรกคือการยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณเลยสักบาท เมื่อมีเสรีภาพในการแสดงออก เราจะลงทุนสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Soft Power ให้เกิดขึ้นจริงได้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเดิมที่มีแต่การอนุรักษ์ของเก่า ให้มีทั้งอนุรักษ์ของเก่าไปพร้อมส่งเสริมของใหม่ได้ การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาโอบรับความหวังและความฝันของคนรุ่นใหม่ๆ งบประมาณต้องไม่ใช่แค่เรื่องการเงินการคลังของข้าราชการเทคโนแครต แต่เป็นเรื่องความหวังและความฝันที่พี่น้องประชาชนเข้าถึงได้

“ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่สามารถรับหลักการวาระเเรกของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566 ในวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาทได้ “ พิธา กล่าวยืนยันต่อสภาผู้แทนราษฎร

'จิรายุ' ชี้นายก ได้ฉายา 'พระบิดานักกู้แห่งมหาเอเชียบูรพา'

ขณะที่วานนี้ (30 พ.ค.) ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า จิรายุ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ว่าตนอยู่สภามาไม่เคยเห็นการจัดทำงบประมาณได้น่าเกลียด เหยียบย่ำ กระเป๋าสตางค์คนไทย ที่เสียภาษี ทำประเทศไร้อนาคต ย่ำยี คนไทยให้ด้อยค่า ในเวทีโลกเสียเหลือเกิน จนครั้งนี้ นายกฯ มีฉายาว่า “พระบิดานักกู้แห่งมหาเอเชียบูรพา “ทั้งนี้ตนขอเตือนไปยังนายกรัฐมนตรีว่าถ้าหากยังลอยตัว ชูตนเองว่าซื่อสัตย์สุจริตแต่บริวารว่านเครือสวาปามกันเป็นว่าเล่นไม่เจาะลึกหรือสอบถามราย กระทรวงว่าแต่ละกระทรวงวางแผนงาบงบกันอย่างไร ชาตินี้นายกรัฐมนตรีก็จะถูกตราหน้าว่า เป็นบุรุษผู้ไร้น้ำยาในการปราบโกง แต่มีน้ำยาในเรื่องการกู้เพราะอยู่มา8ปี กู้มากจนติดอันดับท้อปไฟว์ของโลก

จิรายุกล่าวอีกว่า พรรคได้มอบหมายให้ตนเกาะติดการใช้งบรายกระทรวง โดยพบว่า หลายกระทรวง มีปลัด และอธิบดีที่เตรียมตัวจะเกษียณในเดือนกันยายนนี้จัดทำงบประมาณไว้หาเงินทอน 40-50% โดยวางแผนกับเอกชนเตรียมรับงาน ชนิดสวาปามงาบงบ โดยเตรียมฟาดงบไว้ เพื่อตุนสเบียงไว้ไปลงเลือกตั้งเป็นการใช้เงินประชาชน แบบไม่ลงทุน ใช้เงินหลวง ใช้ของหลวง โดยเตรียมจะไปเล่นการเมืองอย่างน่าเกลียด ซึ่งตนได้รับข้อมูลจำนวนมากและจะนำมาแฉเพื่อให้องค์กรอิสระได้ดำเนินการเอาผิดต่ออธิบดีหลายคน”อย่าคิดว่าชีวิตหลังเกษียณจะเอาเงินทอนไปเสวยสุขได้ หากเริ่มต้นด้วยการเบียดบังทรัพยากรของรัฐและภาษีของประชาชนรับรองได้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองจะลงทัณฑ์”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net