Skip to main content
sharethis

เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ยื่นร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉ. ภาคปชช. ให้ พิธา พร้อมยันหนุนปลดล็อกอย่างเสรีหวั่น ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยถูกผูกขาดเอื้อนายทุนเหมือนสุรา ส.ส.ชาติพันธุ์ ก้าวไกล อัด 'วีระกร' ให้ข้อมูลเท็จกลางสภา เพื่ออวยโครงการผันน้ำยวม

 

1 มิ.ย.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล รับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับภาคประชาชน จากเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ที่มีเนื้อหาสำคัญคือ การขอให้รัฐบาลรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงการปลูก การผลิต การใช้ กัญชาและกัญชงอย่างเสรีภาพ 

พิธา กล่าวว่า ขอขอบคุณภาคประชาชนที่มีความไว้วางใจให้พรรคก้าวไกลได้เป็นส่วนหนึ่งในการยื่นร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับภาคประชาชน ส่วนตัวมีความกังวลแบบเดียวกันว่า ร่างกฎหมายกัญชาของรัฐบาลอาจออกมาในรูปแบบของสุราที่เสรีในหลักการเเต่ผูกขาดในเรื่องของกลไก ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถใช้กัญชาได้อย่างเสรี หรือการกำหนดสาร THC ที่ทำให้กัญชาไทยหลายสายพันธุ์ที่ค่า THC สูงไม่สามารถใช้งานได้จนเกิดการนำเข้ากัญชาเข้ามาแทนที่

“เกรงว่าอาจมีเงื่อนไขในร่างกฎหมายของรัฐบาลที่จะได้ผลประโยชน์เพียงคนไม่กี่กลุ่ม หากประชาชนได้ฟังการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของพรรคก้าวไกลเราต้องการให้เค้าโครงเศรษฐกิจกระจาย แต่ไม่กระจุก กระจายจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่บนลงล่าง กระจายในส่วนภูมิภาคให้มีการบริหารจัดการได้ เรื่องกัญชาก็เช่นเดียวกัน หากเราสามารถทำให้การใช้ประโยชน์ เเละเศรษฐกิจของกัญชาไม่ถูกตัดทอน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่สามารถกระจายไปที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง การใช้ประโยชน์จากกัญชาไม่ว่าเพื่อการแพทย์หรือเศรษฐกิจก็จะกระจาย เราไม่ต้องการให้มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยการผูกขาดโดยรัฐส่วนกลางเหมือนที่เกิดกับธุรกิจสุราในช่วง 30- 40 ปีที่ผ่านมา”

พิธา ยังเปิดเผยว่า ส่วนตัวมีประสบการณ์จากการใช้กัญชาในการเเพทย์ ในการช่วยใช้รักษาอาการลมชักตั้งแต่อายุ 15 ปี ในระหว่างอยู่ต่างประเทศ ในด้านสันทนาการ คิดว่าสามารถใช้ช่วยเหลือการท่องเที่ยวในช่วงหลังวิกฤติโควิดได้ จากประสบการณ์ที่เคยไปเที่ยวที่ประเทศจาไมกา บ้านเกิดของ บ๊อบ มาร์เลย์ ก็มีการใช้กัญชาเพื่อดึงดูดเเละสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือเราต้องกระจายงบประมาณไปที่ท้องถิ่น เพื่อให้เศรษฐกิจได้กระจายสู่ภูมิภาค ไม่ใช่กระจุกอยู่เพียงในเมืองหลวง

อัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ระบุว่า ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการนำเสนอหลักการของร่างกฎหมายที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้กัญชาอย่างเสรีภาพ เเละฝากพรรคก้าวไกลเพื่อสร้างกฎหมายที่ดีเพื่อประโยชน์ให้กับประชาชนเเละประเทศต่อไป

จับโกหก 'วีระกร' ส.ส.ชาติพันธุ์ ซัด ให้ข้อมูลเท็จกลางสภา เพื่ออวยโครงการผันน้ำยวม

มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พร้อมด้วย ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ คำพอง เทพาคำ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เเถลงต่อสื่อมวลชน ถึงข้อเท็จจริงจากกรณีโครงการผันน้ำยวม หลังจากที่ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สนับสนุนโครงการผันแม่น้ำยวม โดยไม่ได้พูดความจริงต่อประชาชนเเละที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

มานพ กล่าวว่า จากการที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้อภิปรายถึงโครงการผันน้ำยวม โดยระบุว่า ได้ลงพื้นที่บ้านท่าเรือ อยู่ในตำบลแม่สามเเลบ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่มีชื่อตำบลนี้ แต่อยู่ที่ตำบลสบเมย ซึ่งตรงบริเวณที่นายวีระกร ลงพื้นที่ น่าจะเป็นจุดเเม่น้ำสองสี เเละประเด็นต่อมาเนื้อหาที่อภิปรายนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในหลายประเด็น ทั้งเรื่องพื้นที่การก่อสร้างโครงการ การอ้างว่าชาวกะเหรี่ยง 30 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบให้การสนับสนุน แต่ในความเป็นจริงโครงการผันน้ำ ซึ่งจะมีการสร้างเขื่อนที่มีความสูงกว่า 70 เมตร เกี่ยวข้องกับประชาชน 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก รวม 46 หมู่บ้าน ตลอดจนพื้นที่ต้นน้ำที่จะก่อสร้างอุโมงค์และตลอดเส้นทาง 70 กิโลเมตรนั้น ยังไม่ได้มีการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตต่อรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งพบว่าประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่มีกระบวนการทางเวที อีกทั้งโครงการนี้ยังเป็นหนึ่งในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รายงานผลต่อสภาฯ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นนี้ไปแล้ว 

มานพ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ป่า ต้นไม้ สังคม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ และยังมีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ว่าการทุ่มงบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท ในการผันน้ำในฤดูฝน มีความคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งหากเอาทุนจากต่างชาติมาก็จะส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระจ่ายค่าน้ำในอนาคต ทั้งนี้ คิดว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมฝนแล้ง และการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหลักในการบริหารจัดการน้ำ จะทำให้เกิดแนวทางการบริหารจัดการจากล่างขึ้นบน ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ประเสริฐพงษ์ ระบุว่า ประเด็นวิธีคิดที่จะสร้างโครงการใหญ่เเละกระทบกับวิถีชีวิตคนในพื้นที่ ต้องมีการสำรวจอย่างละเอียด ซึ่งกรณีแบบนี้ในต่างประเทศเขาไม่ทำเเล้ว และต้องไม่กระทบต่อธรรมชาติ ต้องทำให้แม่น้ำมีชีวิต  การนำเสนอของนายวีระกร เป็นหลักคิดของวิศกวกรเก่าๆ ที่จะมาอ้างความผิดให้ NGO และไปสมคบคิดกับคนที่ได้ผลประโยชน์กับโครงการเพียงไม่กี่คน ขอให้ท่านเลิกคิดเเนวคิดเเบบนี้ เพราะเเม่น้ำคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังเห็นว่า สิทธิของประชาชนที่จะได้อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีการให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย

มานพ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอฝากไปยังนายวีระกร คำประกอบ ถ้าต้องการไปเจอประชาชนจริงๆ ทั้ง 46 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ตนพร้อมจะพานายวีระกร ไปเจอประชานด้วยตัวเอง ไปสำรวจพื้นที่ไปหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริงด้วยกัน ขอย้ำอีกครั้งว่าจงอย่าให้ข้อมูลเท็จต่อประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net