Skip to main content
sharethis

ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ อาจเสนอบริษัททบทวนวิชาการ 'โครงการผันน้ำยวม' ใหม่ เหตุข้อกังวลทางด้านเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และความครอบคลุมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แนะทาง ชป.อาจเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน ลดการสูญเสียน้ำ แทนการลงทุนโครงการ 7 หมื่นล้าน สคร.-อัยการติงโครงการมีความไม่ชัดเจนมาก

 

29 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (29 ก.ค.) ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (โครงการผันน้ำยวม) ของกรมชลประทาน (ชป.) ว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามสถานะโครงการ และรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาเรื่องสืบเนื่องด้านวิศวกรรมและอุทกวิทยา เศรษฐศาสตร์ และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยล่าสุด โครงการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่กำลังพิจารณา และยังไม่คืบหน้า โดยโครงการชะลออยู่ ซึ่งกรมชลประทานต้องทำตามเงื่อนไขของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.)

สิตางศุ์ พิลัยหล้า

สิตางศุ์ กล่าวว่า มติของคณะทำงานตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่ได้สอบถาม ชป.ถึงเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม ตนได้ท้วงติง ชป.ว่าจะทำกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างไร เนื่องจากข้อมูลที่ยังมีข้อท้วงติงจากนักวิชาการหลายท่าน สิ่งที่ ชป.ต้องทำก็คือ หลังจากการประชุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีข้อหารือว่าควรเอาข้อมูลเหล่านั้นมาถกทางวิชาการก่อน เมื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว จึงนำข้อมูลนั้นไปทำกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมก็มีปัญหาอีก โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ ชป.เคยทำไปนั้นครบแล้วหรือไม่ ทั้งข้อมูลที่ยังไม่ถูกต้อง หรืออาจจะถูกก็ไม่รู้ แต่นักวิชาการยังมีข้อกังวล เพราะยังไม่ชัดเจน

นักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากการประชุมอภิปรายทางวิชาการครั้งแรก ซึ่งหารือกันเรื่องวิศวกรรมน้ำ ต่อเนื่องมาในการประชุมครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 แต่บริษัทที่ปรึกษาโครงการนี้ของ ชป.ยังตอบไม่ได้ และในคำตอบไม่ได้นี้มีความไม่ตรงกันระหว่างสิ่งที่พูดกับสิ่งที่อยู่ในรายงานอีไอเอ (รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม) หรือจริงๆ อาจเป็นความประสงค์ของเขาที่จะทำในอนาคต ยิ่งทำให้ข้อมูลทางวิชาการยิ่งดูไม่ถูกต้อง หากบริษัทที่ปรึกษาจะแก้ไขก็ต้องไปย้อนทำรายละเอียดในอีไอเอใหม่ ประเมินใหม่หมดเลย เช่น ที่มีข้อสอบถามเรื่อปริมาณน้ำที่จะผันข้ามลุ่ม เกินร้อยลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำขนาดนั้นคือเยอะมาก

สิตางศุ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณามาตรการป้องกันการปนเปื้อนของปลาต่างสายพันธุ์ต่างๆ หากมีการผันน้ำข้ามลุ่ม ซึ่งในรายงานอีไอเอ กล่าวว่าใช้ตะแกรง แต่เมื่อดูรายละเอียดทางวิศวกรรมก็ต้องคิดเรื่องการสูญเสียของพลังงาน เมื่อไปดูที่เขียนในรายงาน เป็นตะแกรงซี่ๆ เป็นการออกแบบเพื่อการดักขยะ ไม่ใช่ตะแกรงที่ใช้ป้องกันปลาหรือกันสัตว์น้ำข้ามถิ่น ซึ่งต้องเป็นตะแกรงที่เป็นตาข่าย กันไข่ปลาขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร แต่พบว่าบริษัทไม่ได้คำนวณการสูญเสียพลังงาน เนื่องจากตะแกรงป้องกันไข่ปลา ก็มีข้อสงสัยมาถามนอกรอบว่าให้ทำอย่างไรให้ถูกต้อง ก็แปลว่าต้องกลับไปแก้ตั้งแต่ตอนคิดทางวิศวกรรม หากทางวิศวกรรมใช้ตาข่ายเล็กแบบนั้น ก็จะไม่ได้น้ำตามที่เขียน เช่นเดียวกับผลประโยชน์จากโครงการ ดังนั้น การคำนวณอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C ratio) หรืออัตราผลตอบแทน (IRR) คือมันผิดหมดเลย

"สุดท้ายอาจนำไปสู่การให้บริษัทที่ปรึกษานำไปทบทวนทางวิชาการทั้งหมด เพราะที่ทำมาผิดหมด เมื่อพิจารณาในประเด็นเศรษฐศาสตร์ บริษัทที่ปรึกษาก็ตอบไม่ได้อีกเช่นกัน ในการประชุมครั้งต่อไปจะหารือเรื่องความหลากหลายทางนิเวศ ปลา สัตว์น้ำ ต่อเนื่องมาจากวิศวกรรม ข้อสังเกตในกระบวนการมีส่วนร่วมว่า สิ่งที่ทำมาครอบคลุมหรือไม่ ครบทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่" ประธานอนุกรรมการฯ กล่าว

รายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องที่กลุ่มผู้ใช้น้ำบางกลุ่มจัดประชุมที่ จ.พิจิตร และเชิญผู้แทน ชป. ไปร่วมโดยเรียกร้องให้ผลักดันโครงการผันน้ำยวม สิตางศุ์ กล่าวว่า การมีหรือไม่มีโครงการผันน้ำยวม ไม่ควรให้พวกมากลากไป ไม่ควรเป็นการปะทะของคนที่อยากได้น้ำ และผู้ที่กังวลเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่ได้ขัดขวาง แต่เป็นห่วงว่าหากลงทุนขนาดนั้น แต่ไม่ได้ผลประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างในรายงาน และยังมีผลเสียหายด้านอื่นๆ ตามมาอีก ประเด็นสำคัญคือการปนเปื้อนของเอเลียนสปีชีส์ ขณะนี้เราเห็นตัวอย่างของกรณีปลาหมอคางดำ ยิ่งน่ากลัวไปใหญ่ การตัดสินใจนี้จึงไม่ใช่เรื่องของการยกมือโหวต ว่าอยากได้หรือไม่อยากได้ การตัดสินใจว่าจะมีหรือไม่มีโครงการผันน้ำยวม ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางวิชาการ ความคุ้มค่า ความคุ้มทุน

"พูดถึงเรื่องน้ำ ใครๆ ก็อยากได้ แต่ทำแล้วอาจจะไม่ได้แบบนั้น จริงๆ แล้วหากกลับไปถามพี่น้องเกษตรกรผู้ใช้น้ำว่า ถ้าต้องลงทุนก่อสร้าง 70,000 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 5 ปี ถึง 8 ปี ถามว่ารอน้ำได้จริงๆ หรือ แต่สมมุติว่าทำโครงการอย่างอื่น เพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานด้วยน้ำที่มีอยู่ ทำคลองซอยย่อย เดินน้ำทางท่อให้น้ำถึงนา ลดการสูญเสียน้ำลงจากปัจจุบัน ระบบชลประทานมีน้ำสูญเสียประมาณ 50% ลดการสูญเสียลง 5-10% ด้วยปริมาณน้ำที่เท่าเดิมก็ทำนาได้มากขึ้น ให้เงินงบประมาณน้อยลง และไม่จำเป็นต้องรอถึง 5 ปี 10 ปี ถามว่าหากทำแบบนี้เอามั้ย ไม่เคยมีใครพูดถึงข้อเสนอเหล่านี้ว่าใช้น้ำที่มีอยู่ให้ทำเกษตรได้มากขึ้น ปีเดียวก็ได้ท่อได้น้ำแล้ว ไม่ต้องรอ ส่วนตัวเชื่อว่าหากมีข้อเสนอแบบนี้พวกเอาด้วย เป้าหมายคืออยากได้น้ำ และควรได้น้ำให้เร็วที่สุด หากให้รอ 5-8 ปีถือว่าใจร้ายกับชาวนามาก" ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าว

สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ ติงโครงการมีความไม่ชัดเจนหลายเรื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งธนวรรณ ช้างเผือก นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวในที่ประชุมว่า กระบวนการเมื่อได้รับหลักการและรายงานการศึกษาแล้วจะมีการจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการประชุมแล้ว 2 ครั้ง โดยที่ประชุมมีข้อสังเกต 3 ประเด็นหลัก คือ 1. กรณีที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องได้รับความเห็นของคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำก่อน และความพร้อมของพื้นที่ในการดำเนินโครงการ 2. โครงการผันน้ำยวม จะใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ คืออุทยานแห่งชาติและป่าสงวน กรมชลประทานได้ประสานกับหน่วยงานที่จะอนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้วหรือไม่ 3. รายได้ของโครงการส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณรายได้จากการผลิตไฟฟ้า และรายได้มาจากการประปา สคร. ยังไม่มีความชัดเจนจากหน่วยงานคือ กฟผ. การประปาฯ และประเด็นเพิ่มเติมทางกฎหมายของอัยการ ในส่วนความเห็นของหน่วยงาน หนังสือที่ สคล.ส่งมาถึง ชป.เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ในเดือน ก.ค. 2566

ผู้แทน สคร. กล่าวอีกว่า สคร.มีหนังสือความเห็นของอัยการประมาณ 8 ข้อส่งถึงกรมชลประทาน คือ กรณีการร่วมลงทุนมีอำนาจหน้าที่ในการร่วมลงทุนหรือไม่ ประเด็นทางด้านภาษี การใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ การได้รับความเห็นชอบจากนโยบายระดับชาติ รายงานการศึกษาระบุว่า เอกชนจัดหาแหล่งเงินและบำรุงรักษาจะเข้าข่ายการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ การจะให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างและโอนสิทธิ์ให้กับกรมชลฯ เลยจะทำให้เอกชนไม่มีหน้าที่ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะว่า กรมชลประทานจะต้องหารือกับกรมสรรพากรให้เรียบร้อย และยังไม่ได้ความชัดเจนจากกรมชลประทาน

อัพเดทคดีประชาชนฟ้องศาลปกครอง EIA โครงการผันน้ำยวมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาค 'International Rivers' ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของคดีกรณีที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ได้ฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่า โครงการผันน้ำยวมเป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการจัดทำรายงาน EIA ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยกรมชลประทาน และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้อง

เพียรพร กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นคำให้การมาแล้วที่ศาล ซึ่งหากได้รับคำให้การดังกล่าวเครือข่ายฯ จะประชุมร่วมกัน โดยขณะนี้ทั้งประชาชนผู้ได้รับผลกระทบใน 3 จังหวัด และนักวิชาการต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า โครงการนี้ไม่มีความเหมาะสม ไม่คุ้มค่าต่องบประมาณ และทรัพยากรสาธารณะ และควรยกเลิกทันที


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net