Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มีคำถามมาตลอดว่า การที่เสรีนิยม (liberalism) อ้าง “ความเป็นกลางทางคุณค่า” (value neutral) ท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลายทางความคิด ความเชื่อแบบศาสนา แบบไม่มีศาสนา และวัฒนธรรมต่างๆ ในสังคมประชาธิปไตยนั้น เป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลสนับสนุน (justification) หรือไม่ บทความนี้จะลองยกเคส “สมรสเท่าทียม” มาเป็นตัวอย่างของการถกเถียง

1. ทำไมรัฐจึงต้องออกกฎหมายรับรองสมรสเท่าเทียม? 

คำตอบหนึ่งของเสรีนิยมคือ ในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่พลเมืองมีความแตกต่างและหลากหลายทางความคิด ความเชื่อเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีบนโลกทัศน์ทางศาสนาต่างๆ วัฒนธรรมต่างๆ หรือบนความเชื่อแบบไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาต่างๆ รัฐต้อง “เป็นกลางทางคุณค่า” หรือเป็นกลางต่อความคิด ความเชื่อที่แตกต่าง และหลากหลายเหล่านั้น

การสมรสเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อเกี่ยวกับการมี “ชีวิตที่ดี” (good life) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักสัมพันธ์กับวัฒนธรรมศาสนา เพราะศาสนาใหญ่ๆ ไม่เพียงแต่กำหนดอุดมการณ์ และระเบียบทางการเมืองใช้ปกครองประชาชนเท่านั้น ยังกำกับควบคุมชีวิตส่วนตัวของประชาชน ตั้งแต่การกิน การแต่งกาย การแต่งงาน การตาย ลึกลงไปถึงจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี อันเป็น “พื้นที่มโนธรรมสำนึก” (conscience) ของบุคคล หรือโดยทั่วไปแล้วชีวิตที่ดีในรูปแบบการแต่งงานสัมพันธ์กับ “วัฒนธรรมปิตาธิปไตย” หรือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่มีพัฒนาการมายาวนาน ทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก 

แต่ในรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย คุณค่าการมีชีวิตที่ดีในรูปแบบชีวิตสมรสไม่ได้ถูกกำหนดโดยความเชื่อทางศาสนา หรือกรอบคุณค่าของวัฒนธรรมหนึ่งใดโดยเฉพาะเท่านั้น เพราะการสมรสถูกทำให้สัมพันธ์กับ “ความดีสาธารณะ” (public good) อื่นๆ เช่น การมีสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิง ชาย และคนหลากหลายทางเพศ และการมี “ความยุติธรรม” ต่อคนทุกเพศ เพราะคนหลากหลายทางเพศก็ทำงานและจ่ายภาษีเท่ากับเพศหญิง ชาย เหตุใดพวกเขาจึงถูกปฏิเสธสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้จากกฎหมายรับรองการสมรสที่เพศหญิงและชายได้รับ

การอ้างความเชื่อทางศาสนา หรือการใช้ตรรกะเหตุผลที่อิงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่มาคัดค้านการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม จึงขัดแย้งกับหลักความดีสาธารณะ และหลักความยุติธรรมดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง 

ดังนั้น เพื่อปกป้องความดีสาธารณะและความยุติธรรมต่อพลเมืองทุกคน รัฐจึงต้องออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม

2. ถ้ารัฐออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะถือว่ารัฐ “เป็นกลางทางคุณค่า” ได้จริงหรือ? 

เราต้องนิยาม “ความเป็นกลาง” ก่อนว่าเป็นกลางในที่นี้ หมายถึง รัฐรับรอง “สิทธิเท่าเทียมในการเลือก” ของพลเมืองทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไร อยู่ในกลุ่มศาสนาอะไร วัฒนธรรมอะไร หรือไม่มีศาสนา กฎหมายสมรสเท่าเทียมก็คือกฎหมาย “รับรองสิทธิให้ทุกคนเลือกได้เท่าเทียมกัน” ว่า คุณจะสมรสเพศเดียวกันหรือไม่ก็ได้ ถ้าคุณเห็นว่าการแต่งงานเพศเดียวกันขัดกับความเชื่อทางศาสนา หรือวัฒนธรรมที่คุณยึดถือ หรือขัดกับค่านิยม อุดมคติใดๆ ของตน คุณก็ไม่แต่งงานเพศเดียวกันแค่นั้นเอง ส่วนคนอื่นที่เขาโอเคเขาก็มีสิทธิ์เลือกจะสมรสเพศเดียวกัน และได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามมาจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมกับเพศหญิง ชาย แค่นั้นเอง 

ข้อโต้แย้ง 1 : บางคนแย้งว่าการที่รัฐรับรองสิทธิสมรสเท่าเทียมไม่ใช่การ “เป็นกลางทางคุณคุณค่า” จริง

เพราะรัฐได้เลือก “คุณค่าแบบเสรีนิยม” (liberal values) แล้ว นั่นคือ เลือกคุณค่าสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมทางเพศในเซ็นส์ของเสรีนิยมมาบัญญัติเป็นกฎหมาย ซึ่งคุณค่าแบบเสรีนิยมก็ขัดแย้งกับคุณค่าอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น คุณค่าตามความเชื่อทางศาสนาที่ปฏิเสธการคุมกำเนิด การทำแท้ง รักร่วมเพศ เป็นต้น 

แต่คำถามต่อข้อโต้แย้งแบบนี้คือ ในรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยพลเมืองที่มีความคิด ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลาย รวมทั้งมีความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนาอีกมาก การปฏิเสธกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยเหตุผลของความเชื่อศาสนาใดศาสนาหนึ่ง วัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง มันจะ “ยุติธรรม” ต่อคนในศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่นๆ หรือคนไม่มีศาสนาอย่างไรหรือ พูดอีกอย่างคือ ทำไมคนที่ไม่ได้เชื่อว่าสมรสเพศเดียวกันผิดศีลธรรม จึงสมควรถูกตัดสิทธิที่พึงมีพึงได้อย่างเท่าเทียมกับเพศหญิง ชายจากกฎหมายสมรส ซึ่งคนที่โต้แย้งไม่มีคำตอบชัดเจน

ข้อโต้แย้ง 2: บางคนแย้งว่าความเป็นกลางแบบเสรีนิยมเป็นความหลอกลวง และเป็นท่าทีอำนาจนิยม

เพราะแม้เสรีนิยมจะยืนยันว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมให้ “สิทธิเลือกได้อย่างเท่าเทียม” แก่ “ทุกคน” ว่าจะสมรสเพศเดียวกันหรือไม่ ซึ่งดูเหมือนว่า “เป็นกลางทางคุณค่า” แต่นอกจากจะไม่เป็นกลางทางคุณค่าจริง เพราะรัฐได้เลือกคุณค่าแบบเสรีนิยมมาบัญญัติเป็นกฎหมายไปแล้ว และยังมี “นัยแฝง” ด้วยว่ารัฐได้เลือกเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาที่ถือว่ารักร่วมเพศผิดศีลธรรม เพราะการออกกฎหมายรับรองสมรสเท่าเทียมเท่ากับบอกโดยปริยายว่า “รักร่วมเพศไม่ผิดศีลธรรม” เป็นสิ่งที่ทำได้หรือควรทำ ซึ่งเท่ากับรัฐได้ชี้นำและเปิดทางให้มีการทำผิดศีลธรรมของบางศาสนา บางวัฒนธรรมได้โดยชอบธรรมตามกฎหมาย นี่คือ “จุดยืน” หรือ “ท่าทีอำนาจนิยมแบบเสรีนิยม” ที่จำกัด ครอบงำ และละเมิดเสรีภาพของวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ขัดกับวัฒนธรรมเสรีนิยม

เสรีนิยมจะเถียงข้อโต้แย้งนี้ว่า รัฐเสรีประชาธิปไตยไม่ใช่รัฐใน “ระบอบคุณพ่อรู้ดี” (paternalism) เกี่ยวกับศีลธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคล เช่น ชีวิตสมรสเป็นชีวิตส่วนตัวที่อาจสัมพันธ์กับความเชื่อส่วนตัวทางศาสนา วัฒนธรรม และอื่นๆ ที่มีอยู่จริงอย่างหลากหลาย รัฐไม่มีหน้าที่ตัดสินว่าความเชื่อส่วนตัวแบบไหนถูกหรือผิด เป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคลแต่ละคนที่เชื่อและไม่เชื่อต้องตัดสินด้วยตัวเขาเอง รัฐเพียงแต่ทำหน้าที่รักษา “กติกากลาง” หรือ “คุณค่าแกนกลาง” (core values) อันเป็นกติกาหรือคุณค่าที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ของระบอบประชาธิปไตยเพื่อรองรับให้ความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อแบบไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม เคารพ และอดกลั้นต่อกันและกัน 

ดังนั้น การรับรองสมรสเท่าเทียมคือการที่รัฐรักษากติกากลาง/คุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตย อันได้แก่ การรักษาสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลเมืองทุกคน รวมทั้ง “ความยุติธรรม” และผลประโยชน์อื่นๆ ที่พลเมืองทุกคนไม่ว่าเพศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม เชื้อชาติ สีผิวอะไรต้องได้รับเฉกเช่นกัน เพราะถ้ารัฐไม่รักษาคุณค่าแกนกลางดังกล่าว ก็ย่อมเกิด “การเลือกปฏิบัติ” บนอคติทางเพศ ศาสนา วัฒนธรรมและอื่นๆ แล้วฝ่ายที่โต้แย้งเสรีนิยมจะมีข้อเสนอที่ดีกว่าในการแก้ปัญหาดังกล่างอย่างไรหรือ

ผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เวลานักวิชาการ “บางคน” วิจารณ์เสรีนิยมเรื่องอ้างคุณค่า/ความจริงสากล ที่จริงแล้วเขาก็วิจารณ์บนจุดยืนสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม (cultural relativism) และหลังสมัยใหม่นิยม (postmodernism) เป็นต้น ซึ่งบางทีเขาได้ทำให้มุมมองแบบสัมพันธนิยมและหลังสมัยใหม่นิยมกลายเป็น “ความจริงแบบภาววิสัย” และเป็น “สากล” แทนเสรีนิยม (ตามความหมายที่เขาวิจารณ์) ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เพราะการอ้างข้อเท็จจริงทางวัฒนธรรมของสังคมต่างๆ ในโลกว่ามีความแตกต่างและหลากหลายเป็น “ความจริงทั่วไป” เพื่อหักล้างว่าความจริงและคุณค่าแบบเสรีนิยมไม่สากล อีกอย่างเขายืนยันว่าความจริงและคุณค่าต่างๆ ในทุกวัฒนธรรมมี “สถานะเท่าเทียมกัน” ซึ่งนี่ก็คือการยืนยันในเชิง “เป็นหลักการการทั่วไป” หรือเป็นสากลในความหมายหนึ่งอีกเช่นกัน

พูดอีกอย่างคือ เมื่อคุณยืนยันว่าไม่มีทัศนะไหนจริงกว่าและมีคุณค่ามากกว่าทัศนะอื่นๆ ที่เหลือ มันเท่ากับคุณกำลังยืนยันอยู่หรือไม่ว่า “ทัศนะนี้” ของคุณจริงกว่าและมีคุณค่ามากกว่า หรือ “ควรยอมรับ” มากกว่าทัศนะอื่นๆ ที่เหลือ หรือเมื่อคุณบอกว่าไม่มีทัศนะแบบเสรีนิยมหรือทัศนะใดๆ เป็นสากล คุณกำลังยืนยันอยู่หรือไม่ว่าทัศนะของคุณที่ใช้ตัดสินทั่วไปเช่นนั้นเป็นทัศนะที่เป็นสากล หรือเป็นความจริงทั่วไปมากกว่า

อันที่จริงปัญหาของเสรีนิยมมีมาก ถ้าดูจากคำวิจารณ์ โจมตีเสรีนิยมก็มีมากกว่ากว่าไตรปิฎก 45 เล่มเกวียน และเสรีนิยมเองก็มีหลายเฉด อีกอย่างพวกเสรีนิยมก็เถียงกันเองในประเด็นพื้นฐานต่างๆ บางครั้งก็เถียงกันว่าใครคือ “เสรีนิยมแท้” หรือ “เสรีนิยมเทียม” ไม่ต่างจากพวกมาร์กซิสต์เองที่ทั้งเถียงกันเองและถูกวิจารณ์โจมตีจากทัศนะอื่นๆ เช่นเดียวกับพวกฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม ที่ไม่เพียงแต่เถียงกันเอง แตกนิกายต่างๆ จำนวนมากเท่านั้น หากยังทำสงครามฆ่ากันเองระหว่างนิกาย และทำสงครามระหว่างศาสนา ฆ่ากันตายเป็นเบืออย่างที่เราทราบกัน

บางคนที่ปกป้อง “อัตลักษณ์ทางศาสนา” แบบฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลามในปัจจุบันอย่างโรแมนติก ก็เสแสร้งมองไม่เห็นว่า ศาสนาใหญ่ๆ พวกนี้เคยสร้าง “วีรกรรม” ในการทำลายความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางศาสนา “พหุเทวนิยม” (polytheism) ในสังคมโบราณและยุคกลาง ยุคสังคมจารีตไว้อย่างไรบ้าง เพียงแค่ศาสนาใหญ่ๆ พวกนี้เชิดชูอำนาจสูงสุดของพระเจ้าองค์เดียวในฐานะผู้สร้างมนุษย์ โลก จักรวาล สร้างกฎธรรมชาติควบคุมสรรพสิ่ง สร้างกฎศีลธรรมกำกับชีวิตบุคคลตั้งแต่เกิดไปจนตาย และกำหนดระเบียบทางการเมืองปกครองรัฐต่างๆ ศาสนาพวกนี้ก็มองการบูชาเทพอื่นๆ เป็นความงมงาย นอกรีต และเป็นความชั่วร้ายที่ต้องขจัดทิ้งไป หรือไม่ก็กลืนความหลากหลายทางความเชื่อแบบศาสนาพหุนิยมมาอยู่ใต้ตีนของตนเอง 

แล้วอะไรล่ะคืออัตลักษณ์ทางศาสนาที่จริงแท้ เป็นเนื้อเดียว ไม่เปลี่ยนแปลง อัตลักษณ์ทางศาสนาแบบฮินดูโบราณ แบบสมัยพุทธะ เยซู มูฮัมหมัดกับปัจจุบันมีอะไรเหมือนกันแท้ๆ เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีหรอกครับ ไม่มีอัตลักษณ์ทางศาสนา/วัฒนธรรมอะไรที่เป็นแก่นแท้ เป็นเนื้อเดียว และไม่เปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความคิดอุดมการณ์แบบเสรีนิยม มาร์กซิสต์เป็นต้นก็ถูกตีความปรับเปลี่ยนตามบริบทสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ผ่าน “การต่อสู้-ต่อรอง” ในยุคสมัยหรือในบริบทประวัติศาสตร์ของสังคมหนึ่งๆ

ถ้าพูดตามประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นของเสรีนิยมในแง่สำคัญหนึ่ง ก็เพื่อหาทางออกให้กับความขัดแย้งทางศาสนา หรือหาทางให้ความต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมในสังคมประชาธิปไตยอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม มีเสรีภาพ เคารพ และอดกลั้นต่อกันและกัน โดยที่รัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อพลเมืองบนอคติหรือเหตุผลเรื่องความเชื่อ ศาสนา ความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา และวัฒนธรรมต่างๆ 

แน่นอนว่า ใน “ทางปฏิบัติ” จะเป็นไปตามอุดมคติได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา เช่น ปัญหาการสมรสเท่าเทียมของคนหลากหลายทางเพศ ก็ไม่ใช่ประเด็นที่เสรีนิยมคลาสสิกเคยถกเถียงมาก่อน นักปรัชญาคนแรกที่เสนอว่าผู้หญิงควรมีสิทธิเลือกตั้งคือจอห์น สจ๊วต มิลล์ คนอื่นๆ ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ และความคิดมิลล์เองก็มีหลายประเด็นที่ล้าสมัยไปแล้ว 

การรณรงค์เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมด้านต่างๆ ของคนหลากหลายทางเพศ และสมรสเท่าเทียม ก็คือปรากฏการณ์หนึ่งในปรากฏการณ์จำนวนมากในสายธารประวัติศาสตร์ยาวนานที่สะท้อนการใช้แนวทางประชาธิปไตย “ต่อสู้-ต่อรอง” ในการตีความ/ขยายความแนวคิดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความดีสาธารณะ ความยุติธรรมสาธารณะ (เป็นต้น) แบบเสรีนิยมมาปรับใช้ใน “โลกของความเป็นจริง” ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

ซึ่งไม่ใช่โลกในฝันที่มีอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมอันดีงามดั้งเดิมสถิตสถาพรอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่โลกที่เอาแต่อ้าง “ศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม” โดยที่พวกที่อ้างเช่นนั้นประพฤติตรงข้ามกับความดีงามที่พวกตนกล่าวอ้าง หรือไม่ใช่โลกที่จะมี “แผ่นดินอันงดงามจะหวนคืนกลับมา” ดังที่เผด็จการอำนาจนิยมแต่งเพลงลวงโลกที่ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษิยมไม่เคยคิดจะเปิดโปง แต่จะเปิดโปงเสรีนิยมที่ตั้งคำถามกับเผด็จการอำนาจนิยม!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net