สัปปายสภาสถาน: การสวนทางกับเสรีนิยมโลกวิสัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมชอบอ่านงานแปลของเกษียร เตชะพีระ โดยเฉพาะเล่ม “เสรีนิยม: ความรู้ฉบับพกพา” (Liberalism: A Very Short Introduction) ของ Michael Freeden ผมอ่านช้าๆ ใคร่ครวญหลายรอบ หากได้อ่านเล่มนี้ก่อนอาจทำให้ผมเขียนหนังสือ “มนุษย์กับเสรีภาพ: มุมมองทางปรัชญา คานท์ มิลล์ รอลส์” ได้คมชัดขึ้น แต่การได้อ่านเล่มนี้ทีหลังก็ช่วยให้มั่นใจมากขึ้นว่าที่ผมเขียนไปก่อนแล้วถูกต้องในประเด็นความคิดพื้นฐานสำคัญๆ ของเสรีนิยม 

เกษียรเขียนไว้ในคำนำหนังสือเล่มนี้ว่าปี 2551 เขาวิเคราะห์ว่าในแง่แนวคิดทางการเมือง “เสื้อเหลืองเป็นเสรีนิยม” ซึ่งบังเอิญตรงกับการวิเคราะห์ของ Walden Bello และ Elliot Norton จนเมื่อได้อ่านงานเล่มนี้ของ Freeden แล้วจึงรู้สึก “เสียดาย” ว่าถ้าได้อ่านเล่มนี้ก่อนคงมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ได้ดีกว่าที่ทำไปแล้ว 

อันที่จริง เราไม่อาจบอกได้ว่าเสื้อเหลืองเป็นเสรีนิยม ด้วยการพิจารณา “วาทกรรมทางการเมือง” บางส่วนของพวกเขาที่ดูเหมือนสอดคล้องกับประชาธิปไตย เช่นว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่ต้องเน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ หรือเน้นการถ่วงดุลตรวจสอบ ภาคประชาสังคม การกระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ 

ถ้าจับความตามนั้นก็อาจเห็นว่าเสื้อเหลืองเป็นเสรีนิยม แต่เมื่อดู “วาทกรรมหลัก” ในการต่อสู้ทางการเมืองที่ทำให้เสื้อเหลืองเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ในทางการเมือง เช่น วาทกรรมปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์, เราจะสู้เพื่อในหลวง, ทหารของพระราชา, ข้าราชการของพระราชา, ประชาชนของพระราชา, และวาทกรรมทางศีลธรรม เช่น ประชาธิปไตยต้องมีธรรมาธิปไตยกำกับ ต้องได้คนดีมาเป็นผู้ปกครอง กระทั่งการที่เสื้อเหลืองใช้ 112 ล่าแม่มดคนคิดต่าง ก็ล้วนแต่สวนทางกับ “ความคิดพื้นฐาน” ของเสรีนิยมที่แจกแจกไว้อย่างละเอียดในหนังสือของ Freeden เล่มดังกล่าว

เมื่อดู “ชื่อ” อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในภาษาบาลีว่า “สัปปายสภาสถาน” ที่แปลว่า “สถานที่ประกอบความดี” อันมีที่มาจาก “เรื่องเล่า” ในคัมภีร์พุทธศาสนาว่า เวลาที่นักบวชพุทธแสวงหาที่ภาวนา (หรือฆราวาสแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม) พุทธะก็จะแนะนำให้หาที่ “สัปปายะ” คือ สถานที่สงบสบายร่มรื่นเอื้อแก่การปฏิบัติธรรม ยังมีคำสอนพุทธศาสนาอีกว่า “สภาคือที่ประชุมของคนดี (สัตบุรุษ)” ยิ่งเห็นได้ชัดว่าชื่อดังกล่าวมีความหมายเชื่อมโยงกับวาทกรรมการเมืองเชิงศีลธรรมของเสื้อเหลืองอย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งเมื่อดู “หน้าตา” ของสัปปายสภาสถานก็ยิ่งสะท้อน “ความเป็นรัฐศาสนา” ภายใต้อุดมการณ์ “พุทธราชาชาตินิยม” ชัดเจน นั่นคือ รัฐที่มีราชายึดคติการปกครองโดยธรรมตามความเชื่อพุทธเถรวาท ผมไม่ได้บอกว่ารัฐไทยปัจจุบันเป็นรัฐศาสนาเต็มรูปแบบ แต่กำลังบอกว่าหน้าตา แนวคิด อุดมการณ์ที่สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมอาคารรัฐสภาแห่งใหม่สะท้อนความเป็นรัฐศาสนามากขึ้น

บางคนว่าก็ไม่ได้มีแต่สัญลักษณ์ของพุทธ เขาพระสุเมรุก็เป็นของพราหมณ์ฮินดู ซึ่งก็จริง เพราะสถานะ อำนาจชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์อิงคติพุทธผสมพราหมณ์ฮินดูอยู่แล้ว เช่น สถานะและอำนาจเด็ดขาด ศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้เป็นสถานะ อำนาจตามคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของพราหมณ์ฮินดู ขณะที่การปกครองโดยทศพิธราชธรรมเป็นคติพุทธ 

จะว่าไปก็ไม่มีสถาบันไหนเป็น “พุทธแท้” ที่ไม่ปนเปื้อนอยู่แล้ว แม้แต่สถาบันสงฆ์ก็มีความเป็นพุทธผสมพราหมณ์ เช่น พระสงฆ์ประกอบพิธีกรรมต่างๆ แบบพราหมณ์ แม้แต่พิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ก็มีพราหมณ์ทำพิธีเจิม “พระสุพรรณบัตร” หรือป้ายชื่อสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น การโยนอะไรที่เห็นว่าเป็นความงมงายให้พราหมณ์จึงเป็นเรื่องตลก

ส่วนที่ว่าวาทกรรมทางการเมืองและวาทกรรมทางศีลธรรมของเสื้อเหลืองสวนทางกับเสรีนิยม ก็เพราะว่า เสรีนิยมยืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง (political freedom) โดยถือว่าอย่างหลังให้หลักประกันแก่อย่างแรก แต่เสื้อเหลืองทำลายเสรีภาพทางการเมือง 

พูดอีกอย่างคือ การยืนยันเสรีภาพทางการเมืองแบบเสรีนิยมทำให้การอภิปรายสาธารณะ และการตรวจสอบบุคคลสาธารณะใน “มาตรฐานเดียวกัน” เป็นไปได้ แต่สังคมไทย “ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง” ไม่ว่าในการเมืองบนท้องถนนหรือในสภา เพราะมีกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ทำให้ไม่สามารถวิจารณ์ตรวจสอบ และอภิปรายประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยในสภาได้ เมื่อปราศรัยหรือแสดงออกในการเมืองบนท้องถนนก็โดน 112 ดังนั้น ที่เสื้อเหลืองเน้นการตรวจสอบเฉพาะรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นักการเมือง ข้าราชการ แต่ “ยกเว้นสถาบันกษัตริย์” จึงไม่ใช่การยืนยันเสรีภาพทางการเมืองตามกรอบคิดเสรีนิยม

ในแง่ปรัชญาศีลธรรมหรือจริยศาสตร์ นักปรัชญาเสรีนิยมเสนอจริยศาสตร์เสรีนิยม (liberal ethics) ที่เป็นรากฐานของจริยธรรมโลกวิสัย (secular ethics) ซึ่งเป็น “จริยธรรมสมัยใหม่” ที่ถือเป็นจริยธรรมสาธารณะ เช่น จริยศาสตร์เสรีนิยมสายคานท์ (Kantian ethics) ได้แยกศีลธรรมออกจากศาสนา ถือว่าศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคลหรือเป็นความเชื่อเชิงวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งๆ แต่ศีลธรรมเป็นหลักการสากลหรือกฎสากลที่กำหนดขึ้นจากเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์ ศีลธรรมจึงเป็นเรื่องของการกระทำใดๆ ที่ต้องเป็นไปตามกฎของการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน

ขณะที่จริยศาสตร์ประโยชนิยมแบบจอห์น สจ๊วต มิลล์ ถือว่าการกระทำที่ดีคือการกระทำที่ก่อประโยชน์สุขส่วนรวม ซึ่งถือว่าอิสรภาพ ปัจเจกภาพ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมืองเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่ขาดไม่ได้ของประโยชน์สุขส่วนรวม, ความก้าวหน้าของปัจเจกบุคคลและมนุษยชาติ

ส่วนเสรีนิยมในแง่ปรัชญาการเมืองเน้นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล, เสรีภาพทางการเมือง, การจำกัดอำนาจรัฐหรือจำกัดสิ่งที่รัฐและรัฐบาลมีสิทธิ์กระทำต่อปัจเจกบุคคล, หลักนิติรัฐ, การจัดวางประโยชน์สุขของปัจเจกบุคคลและส่วนรวมไว้เหนือประโยชน์สุขของผู้ปกครอง ทั้งยังมีแนวคิดเสรีนิยมทางสังคม (social liberalism) ที่มุ่งวางระบบให้ปัจเจกบุคคลได้เติบโตภายใต้การพึ่งพากันและกันในสังคมที่ยุติธรรม, เป็นธรรม และรัฐสวัสดิการ

ในอีกด้านหนึ่ง ปรัชญาศีลธรรมและปรัชญาการเมืองแบบเสรีนิยมคือรากฐานของแนวคิดโลกวิสัย (secularism) อันเป็นแนวคิดที่แยกปริมณฑลทางศาสนากับการเมืองในรัฐสมัยใหม่ออกจากกัน จนเกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา ความรู้ จริยธรรมและอื่นๆ ให้เป็นโลกวิสัยที่เรียกกันว่าขบวนการ secularization ในศตวรรษที่ 17, 18 เป็นต้นมา

รูปธรรมของขบวนการทำให้เป็นโลกวิสัย หรือ secularization ที่พัฒนามาจนปัจจุบันคือ การยกเลิกรัฐศาสนาแบบยุคกลางที่กษัตริย์และศาสนจักรมีอำนาจเผด็จการเทวสิทธิ์ (หรืออำนาจเผด็จการตามหลักความเชื่อทางศาสนาอื่นใด) และอำนาจรัฐเผด็จการทุกรูปแบบ แทนที่ด้วยรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย, ระบบการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม, อำนาจรัฐและรัฐบาลที่ถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญและความพร้อมรับผิดชอบ, หลักนิติรัฐ, สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง และการจัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของปัจเจกบุคคลให้สามารถดำรงชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

พูดให้เห็นภาพคือ รัฐศาสนาแบบยุคกลาง ศาสนาเป็นทั้งอุดมการณ์ทางการเมือง ให้อำนาจชอบธรรมแก่ชนชั้นปกครอง, ระบบชนชั้นวรรณะ และการบัญญัติกฎหมาย ศาสนาจึงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในฐานะเป็นฝ่ายถือครองอำนาจรัฐและการจัดระเบียบควบคุมสังคมและการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจทางการเมืองแบบเผด็จการ 

แต่ในรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย ศาสนาถูกควบคุมด้วยหลักการโลกวิสัย องค์กรศาสนามีวัฒนธรรมรักษาระยะห่างทางการเมือง แต่ปัจเจกบุคคทางศาสนาอาจเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ในวิถีทางที่สอดคล้องกับหลักสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ แต่จะเกี่ยวข้องการเมืองเพื่ออำนาจและอภิสิทธิ์ขององค์กรศาสนาใดๆ ไม่ได้ เพราะองค์กรทางศาสนาทุกศาสนาเป็นเอกชนทั้งหมด รัฐเป็นกลางทางศาสนา ไม่อุปถัมภ์และสนับสนุนศาสนาใดๆ และห้ามบัญญัติศาสนาประจำชาติ ขณะเดียวกันผู้ปกครองหรือรัฐบาลจะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนสถานะและอำนาจทางการเมืองของตนแบบในรัฐศาสนายุคกลางไม่ได้ 

ข้อแตกต่างชัดเจนคือ ขณะที่การเกิดขึ้นและขยายตัวของเสรีนิยมก่อให้เกิดแนวคิดโลกวิสัยและขบวนการทำให้เป็นโลกวิสัย ยกเลิกรัฐศาสนา และแยกศาสนาจากรัฐ แทนที่ด้วยรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยที่ยึดหลักนิติรัฐและสิทธิมนุษยชนสากล ทว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสื้อเหลืองกลับขัดแย้งกับแนวคิดโลกวิสัย และสวนทางกับขบวนการทำให้เป็นโลกวิสัย ขัดกับหลักการของรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย ทำลายหลักนิติรัฐ และหลักสิทธิมนุษยชนสากล ด้วยการเพิ่มความเป็นรัฐศาสนาภายใต้อุดมการณ์พุทธราชาชาตินิยมให้เข้มข้นมากขึ้นผ่านวาทกรรมการเมืองเชิงศีลธรรม จนก่อเกิดสัปปายสภาสถานเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานต่างๆ

ดังนั้น เสื้อเหลืองไม่ใช่เสรีนิยม พวกเขาอาจให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกบุคค แต่ได้ทำลายเสรีภาพทางการเมือง อันเป็นหลักการสำคัญสูงสุดของเสรีนิยมทางศีลธรรมและทางการเมืองสมัยใหม่ พูดให้ชัดผลงานเชิงประจักษ์ของเสื้อเหลืองคือ การทำลายหลักการเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย แทนที่ด้วยการเพิ่มความเป็นรัฐศาสนาภายใต้อุดมการณ์พุทธราชาชาตินิยมที่มีเครือข่ายกลุ่มทุนผูกขาดในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ให้มีอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้มข้นมากขึ้น

หากจะมีการต่อสู้ทางการเมืองในเกือบสองทศวรรษมานี้ที่สอดคล้องกับเสรีนิยม เราอาจเห็นได้ชัดเจนในข้อเสนอหลักของ “ราษฎร” คือ ให้ประยุทธ์ จันทร์โอชาออกไป ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน และ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ซึ่งแยกย่อยเป็น 10 ข้อ ดังที่ทราบกัน ข้อเสนอเหล่านี้อยู่ในกรอบความคิดหลักของเสรีนิยมส่วนที่เน้นเสรีภาพทางการเมืองและนิติรัฐ ส่วนข้อเสนอรัฐสวัสดิการที่เน้นสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้า ก็ยังอยู่ในกรอบ social liberalism ที่ยืนยันเสรีภาพทางการเมืองแบบเสรีนิยม (ซึ่งอาจแชร์ไอเดียบางอย่างกับสังคมประชาธิปไตยหรือ social democracy) แม้ว่าผู้เสนอบางส่วนจะเป็นมาร์กซิสต์ก็ตาม    

ความซับซ้อนของปัญหาการเมืองในบ้านเราคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือเสื้อเหลืองที่สวนทางเสรีนิยมได้ชัยชนะเชิงรูปธรรม ผ่านกระบวนการชุมนุมแบบ “ม็อบมีเส้น” และรัฐประหาร จนกลายเป็นฝ่ายกุมอำนาจนำในการออกแบบรัฐธรรมนูญและออกแบบสถาปัตยกรรมอาคารรัฐสภาใหม่ แต่ความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองที่เพิ่มความเป็นรัฐศาสนามากขึ้น กลับถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในสังคมปัจจุบันที่มีวัฒนธรรมการเสื่อสารเสรีมากขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้คนเสื่อมศรัทธาลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ฝ่ายที่ต่อสู้สอดคล้องกับแนวทางเสรีนิยม ดูเหมือนจะได้ชัยชนะทางความคิด โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ยังไม่มีพลังอำนาจมากพอว่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐให้เป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยได้เมื่อใด 

สภาวะของการเผชิญหน้าเช่นนี้ จะยังดำเนินต่อไป แต่ประวัติศาสตร์ของสังคมส่วนใหญ่ในโลกสมัยใหม่ยืนยันว่า ฝ่ายที่ยึดเป้าหมายและวิธีการต่อสู้สอดคล้องกับแนวคิดเสรีนิยมทางศีลธรรมและทางการเมือง มักเป็นฝ่ายชนะ เพราะแนวทางนี้สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์และพัฒนาการทางสังคม ที่ต้องการเสรีภาพและความก้าวหน้ามากกว่าแนวทางของฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่เน้นศีลธรรมแบบศาสนาและอำนาจเผด็จการทางการเมืองแบบโบราณ อันเป็นศีลธรรมและอำนาจผูกขาดที่ขัดขวางความก้าวหน้าของปัจเจกบุคคล, สังคม และมนุษยชาติ 

 

 

BFacbook Unseen Tour Thailand

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท