Skip to main content
sharethis

‘ยูน ซอก-ยอล’ จากพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ เฉือนคู่แข่งตัวเต็งจากพรรครัฐบาลเพียง 0.8% เท่านั้น โดยว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้คนนี้มีนโยบายสายแข็ง และขวาเกือบจัดในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีน-เกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ และนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเขาประกาศกร้าว เตรียมยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว

10 มี.ค. 2565 สำนักข่าวเกาหลีใต้รายงานผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้ (9 มี.ค. 2565) ทั่วประเทศเกาหลีใต้ โดย ‘ยูน ซอก-ยอล’ จากพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 48.6% เฉือน ‘อี แจ-มย็อง’ คู่แข่งตัวเต็งจากพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยม เพียง 0.8% เท่านั้นจากการนับคะแนน 98% อย่างไม่เป็นทางการ โดยอีแจมย็องแถลงข่าวยอมรับความผ่ายแพ้ ขอโทษและขอบคุณทุกคะแนนเสียงรวมถึงทีมงานพรรคการเมืองทุกคนที่ร่วมทำงานด้วยกันมา พร้อมกล่าวแสดงความยินดีกับยูนซอกยอล ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้

ประชาชนชาวเกาหลีใต้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 44.2 ล้านคนออกมาใช้สิทธิมากกว่า 34 ล้านคน คิดเป็น 77.1% เกือบครึ่งจากจำนวนนี้เป็นการลงคะแนนเสียงล่วงหน้า สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงที่สุด 81.5% คือเมืองกวางจูในจังหวัดจอลลาใต้ ส่วนที่เกาะเจจูมีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ 72% ขณะที่กรุงโซลมีผู้มาใช้สิทธิรวม 77.9% โดยภาพรวมการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้สูสีกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน พ.ศ.2560 ซึ่งมีผู้ออกมาใช้สิทธิอยู่ที่ 77.2%

การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เกาหลีใต้มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงเฉลี่ยกว่า 200,000 ราย/วัน มาเป็นเวลาเกือบ 1 สัปดาห์ โดยในวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 324,427 คน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ผ่อนปรนกฎบางอย่างเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างกักตัวหรือผู้ป่วยโควิด-19 สามารถมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เช่น เปิดให้กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยมาเลือกตั้งในเวลา 18.00-19.30 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังปิดหีบเลือกตั้งตามปกติ รวมถึงเพิ่มจุดเลือกตั้งให้กระจายตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เพื่อลดความแออัด และอนุญาตให้ใช้สถานที่เปิดของเอกชนอย่างร้านกาแฟเป็นคูหาเลือกตั้ง โดยในปีนี้มีจุดเลือกตั้งทั้งสิ้น 14,464 แห่งทั่วประเทศเกาหลีใต้

การแข่งขันระหว่างตัวเต็งจาก 2 พรรคใหญ่

การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในครั้งนี้มีผู้สมัครท้าชิงทั้งสิ้น 14 คนซึ่งปรากฎชื่อในบัตรเลือกตั้ง แต่ถอนตัวออกไป 2 คนในโค้งสุดท้าย ทำให้เหลือผู้สมัครจริงๆ เพียง 12 คนเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อ นั่นคือ ‘อี แจ-มย็อง’ จากพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน ‘ยูน ซอก-ยอล’ จากพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ซึ่งเป็นพรรคผู้นำฝ่ายค้าน โดยผลสำรวจคะแนนความนิยมจากสถานีโทรทัศน์หลักของเกาหลีใต้อย่าง KBS, MBC และ SBS ระบุว่ายูนซอกยอลมีคะแนนนำอีแจมย็องที่ 48.4% ต่อ 47.8% ขณะที่ผลสำรวจจากสถานีโทรทัศน์ JTBC ระบุว่าอีแจมย็องมีคะแนนนิยมนำยูนซอกยอลอยู่ที่ 48.4% ต่อ 47.7%

อีแจมย็อง วัย 57 ปีจากพรรคประชาธิปไตย เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดคย็องกี ซึ่งเป็นจังหวัดปริมณฑล มีพื้นที่ล้อมรอบกรุงโซลและเมืองอินชอน เขาใช้ประสบการณ์ส่วนนี้มาเป็นจุดขาย สร้างสโลแกนหาเสียงแบบ ‘ทำแล้วและทำได้จริง’ โดยนโยบายหลักคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นโยบายเด่นของอีแจมย็องคือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากผลงานในปี 2559 ขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศบาลเมืองซองนัม จังหวัดคย็องกี ที่เขาทำโครงการ ‘เงินปันผลคนรุ่นใหม่’ ที่มอบเงินช่วยเหลือทุกไตรมาสจำนวน 250,000 วอน (ประมาณ 7,500 บาท) ให้แก่คนวัยเริ่มทำงานเพื่อสร้างรากฐานทางการเงินที่มั่นคง และขยายนโยบายดังกล่าวไปทั่วจังหวัดคย็องกีเมื่อเขาขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ นอกจากนี้ อีแจมย็องยังตั้งเป้าปฏิรูปวงการอสังหาริมทรัพย์เกาหลีใต้ที่ราคาพุ่งสูงจนประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเตรียมทำนโยบายลดราคาบ้านและที่อยู่อาศัย รวมถึงจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยโดยรัฐ (Public Housing) เพื่อให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ในราคาที่ถูกลง

อี แจ-มย็อง (Lee Jae-myung)
(ภาพจากเฟซบุ๊กทางการ 이재명의 페이지)
 

ขณะที่ยูนซอกยอล วัย 61 ปีจากพรรคพลังประชาชน เคยเป็นอดีตอัยการสูงสุดมาก่อน และเป็นผู้มีส่วนช่วยชี้มูลความผิดในกระบวนการถอดถอนพัคกึนเฮ อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ จนถูกเรียกว่าเป็นอัยการหัวก้าวหน้า ยูนซอกยอลใช้วิธีการหาเสียงโดยอาศัยคลื่นความโกรธแค้นของประชาชนที่มีต่อการบริหารประเทศของมุนแจอิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันซึ่งมาจากพรรคประชาธิปไตย นโยบายหลักของยูนซอกยอลคือการสร้างความเป็นธรรม สามัญสำนัก หลักการทางกฎหมาย และหลักนิติธรรม

ยูน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol)
(ภาพจากเฟซบุ๊กทางการ 윤석열)
 

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองเกาหลีใต้ไปอีก 5 ปี ทั้งเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ เช่น สวัสดิการ และการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตัวเต็งทั้ง 2 พรรคมีจุดยืนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องเกาหลีเหนือ ซึ่งยูนซอกยอลมีนโยบายใช้ไม้แข็งด้านความมั่นคงแห่งชาติ เขากล่าวว่าการจู่โจมล่วงหน้าอาจจำเป็นต้องใช้เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่ใกล้เข้ามาจากเกาหลีเหนือ และเขาจะเดินหน้าติดตั้งระบบป้องกันในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง (THAAD) เพิ่มเติม เพื่อใช้ป้องกันและตรวจจับขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ โดยระบบดังกล่าว รัฐบาลเกาหลีใต้ทำข้อตกลงกับกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาช่วงกลางปี 2559 และติดตั้งในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่มุนแจอินเพิ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และส่งผลให้จีนลดระดับความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ เพราะระบบตรวจจับขีปนาวุธดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของจีนด้วยเช่นกัน

ขณะที่อีแจมย็องมีนโยบายด้านการต่างประเทศที่ฟังดูค่อนข้างเป็นมิตรกับเกาหลีเหนือมากกว่า โดยเขาบอกว่าการบรรลุเป้าหมายด้านการต่างประเทศภายใต้รัฐบาลของเขานั้น คือการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีอีก อีแจมย็องเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยทันทีและจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร พร้อมกล่าวว่านโยบายของยูนซอกยอลนั้นมีแต่จะเพิ่มความตึงเครียดให้กับทั้งเกาหลีเหนือและจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ แม้ว่าอีแจมย็องจะพยายามดำเนินนโยบายในการวางตัวเป็นกลางระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่เขาบอกว่าต้องการขยายความสัมพันธ์กับกลุ่ม QUAD ซึ่งเป็นพันธมิตรในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งการขยายความสัมพันธ์กับ QUAD ถือเป็นจุดยืนร่วมของอีแจมย็องและยูนซอกยอล

สื่อเกาหลีใต้ ชี้ การเลือกตั้งครั้งนี้เลวร้ายสุด

สื่อเกาหลีใต้และนักวิเคราะห์การเมือง รวมถึงประชาชนจำนวนไม่น้อยมีความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่เลวร้ายที่สุด เพราะการหาเสียงที่กล่าวหาว่าร้ายและมุ่งโจมตีฝ่ายตรงข้าม ทำให้เกิด สวิงโหวต (Swing Vote) หรือกลุ่มคะแนนเสียงที่คาดเดาได้ยากขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพราะคนกลุ่มนี้จะยังไม่ตัดสินใจจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย

นอกจากสวิงโหวตแล้ว ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ยังมีข่าวฉาวที่กลายเป็นเงาตามตัว เมื่อปี 2558 อีแจมย็องเคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนพัวพันกับคดีทุจริตครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้ เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างศูนย์รวมที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียมในเมืองซองนัม จังหวัดคย็องกี โดยในขณะนั้น เขาดำรงตำแหน่งนายกเทศบาลเมืองซองนัม นอกจากนี้ ‘คิม เฮ-กย็อง’ ภรรยาของอีแจมย็องยังเคยถูกกล่าวหาว่าใช้พนักงานรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและใช้บัตรเครดิตของรัฐบาลเพื่อใช้จ่ายส่วนตนในขณะที่สามีของเธอยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคย็องกี

ด้านยูนซอลกยองเผชิญหน้ากับข้อครหาว่าเขาเกี่ยวข้องกับลัทธิร่างทรงและพึ่งพาบุคคลจากลัทธิเหล่านี้ในฐานะที่ปรึกษา อีกทั้ง ‘คิมกอนฮี’ ภรรยาของเขาซึ่งเป็นเรี่ยวแรงหลักในการหาเสียงครั้งนี้ยังถูกกล่าวหาว่ารับสินบนและปั่นหุ้นมาเป็นเวลานานก่อนที่สามีของเธอจะลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี อีกทั้งเมื่อปีที่แล้ว คิมกอนฮีตกเป็นประเด็นทางสังคมเพราะถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงประวัติเพื่อใช้สมัครงานที่มหาวิทยาลัย 2 แห่งในปี 2550 และ 2556

คิมกอนฮี ภรรยาของยูนซอกยอล และว่าที่สตรีหมายเลข 1 ของเกาหลีใต้
(ภาพจาก NamuWiki)
 

ประธานาธิบดีคนใหม่กับหายนะด้านความเท่าเทียมทางเพศ

วานนี้ (9 มี.ค. 2565) ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดี ประชาชนชาวเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งที่สนับสนุนสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ หรือกลุ่มเฟมินิสต์ ออกมาเดินขบวนในกรุงโซล เพื่อเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีการชูป้ายที่เขียนข้อความว่า “Vote for Women” หรือ “ลงคะแนนเพื่อผู้หญิง” พร้อมตะโกนขับไล่ยูนซอกยอลว่าไม่เหมาะสมที่จะลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี

การเดินขบวนของกลุ่มเฟมินิสต์ในเกาหลีใตครั้งนี้สืบเนื่องมาจากความไม่พอใจต่อยูนซอกยอล ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของเกาหลีใต้ ที่มีนโยบายและแสดงออกว่าไม่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในช่วงหาเสียง และถูกมองว่าเป็น Ani-feminist หรือกลุ่มคนที่ต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศ โดยหนึ่งในนโยบายหลักหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาคือการยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศครอบครัว ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาเคยกล่าวหารัฐมนตรีกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศฯ ว่าปฏิบัติต่อผู้ชายราวกับเป็น “อาชญากรทางเพศ” รวมถึงเตรียมเสนอเพิ่มโทษที่รุนแรงขึ้นในกฎหมายแจ้งความเท็จในประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งนักวิเคราะห์นโยบายการเมืองมองว่าเป็นการกดทับสิทธิทางเพศให้ล้าหลังมากกว่าเดิมโดยอ้างหลักประชาธิปไตย

นอกจากนโยบายด้านเพศที่เป็นปัญหาของยูนซอกยอลแล้ว คิมกอนฮี ภรรยาของเขายังเคยออกมาพูดว่าเธอไม่เชื่อเรื่องกระแส #MeToo ซึ่งเป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศให้แก่เพศหญิงจากคดีที่หญิงชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งฟ้องร้องว่าถูกพนักงานกระทรวงยุติธรรมลวนลาม โดยคิมกอนฮีกล่าวว่า “#MeToo เกิดขึ้นเพราะ[ผู้ชาย]ไม่ได้จ่ายเงิน พวกผู้ชายแค่อยากเล่นสนุกแต่ไม่มีเงิน ฉันเข้าใจ”

เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สถานีโทรทัศน์ MBC ซึ่งเป็นฟรีทีวีของเกาหลีใต้เผยแพร่คลิปเสียงบทสนทนาทางโทรศัพท์ของคิมกอนฮีกับแบคอึนจง นักข่าวของสำนักข่าวโซรี ความยาวรวม 70 นาที ซึ่งบันทึกไว้ระหว่างเดือน ก.ค.-ธ.ค. ปีที่แล้ว หนึ่งในบทสนทนามีการกล่าวถึงกรณีของอันฮีจอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชุงชองใต้ที่ถูกศาลสั่งจำคุก 42 เดือนข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ โดยเธอบอกว่าพรรคพลังประชาชนของสามีเธอ “จะทำให้ผู้ชายเหล่านั้นมีเงินจ่าย” พร้อมบอกว่าเธอและสามีเธอสนับสนุนอันฮีจอง

ด้านแบคอึนจง นักข่าวผู้เผยแพร่คลิปนี้ระบุว่าเขาไม่สนใจว่าจะถูกแจ้งความข้อหาละเมิดกฎหมายความลับด้านการสื่อสารหรือกฎหมายเลือกตั้ง โดยเขาให้สัมภาษณ์กับทาง MBC ถึงเหตุผลที่ปล่อยคลิปเสียงนี้ออกมาว่าต้องการสื่อสารให้เป็นประเด็นสาธารณะ เพราะบทสนทนาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความเห็นในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่องเพศ ซึ่งเขาและสำนักข่าวโซรีมองว่าเป็นประเด็นสาธารณะและประชาชนควรได้รับรู้ความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง

“ไม่ใช่อำนาจของประชาชนหรอกเหรอที่จะตั้งข้อกล่าวหา[กับบุคคลสาธารณะ] เพราะเนื้อหาในสายโทรศัพท์เป็นการพูดคุยของคนที่มีอำนาจทำลายล้าง ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวโซรีแนะนำตัวตั้งแต่เริ่มสายและพูดคุยกันจนจบ ผมว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาใช่ไหม ที่ผมบอกไปว่าผมเป็นนักข่าว” แบคอึนจงกล่าว พร้อมระบุว่าเขาไม่คิดว่าเรื่องนี้จะผิดกฎหมายข้อใด ด้านยูนซอกซอลตอบคำถามผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่าเขา “ไม่มีความเห็นเรื่องนี้” และขอโทษที่ทำให้หลายฝ่ายกังวล

ด้านอีแจมย็องก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ แม้ว่าเขาจะไม่ถึงขั้นประกาศยกเลิกกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศฯ แต่เขาบอกว่าจะเปลี่ยนชื่อกระทรวงในภาษาเกาหลี โดยตัดคำว่า “ผู้หญิง” ออก และบอกว่าการเลือกปฏิบัติต่อเพศชายก็เป็นเรื่องที่ผิดเช่นกัน ซึ่งสำนักข่าว CNN ระบุว่าคำกล่าวทำนองนี้เป็นลักษณะทั่วๆ ไปของบุคคลที่ต่อต้านเฟมินิสต์ อย่างไรก็ตาม อีแจมย็องยืนยันว่าหากได้เป็นรัฐบาล เขาจะทำนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านค่าแรงระหว่างเพศ และหนึ่งในนโยบายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศคือการเพิ่มบทบาทสตรีในตำแหน่งสาธารณะ รวมถึงขยายวันลาคลอดสำหรับคุณพ่อมือใหม่

*หมายเหตุ ชื่อกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวในภาษาเกาหลี คือ 여성가족부 (ยอ-ซอง คา-จก บู) หรือหรือแปลตรงตัวว่ากระทรวงผู้หญิงและครอบครัว)

ในปี 2564 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) รายงานว่าเกาหลีใต้ได้อันดับ 102 จาก 156 ประเทศในคะแนนด้านช่องว่างระหว่างเพศ โดยวัดจากอัตราการจ้างงาน การศึกษา สุขภาพ และการเมือง ส่งผลให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศสูงที่สุดในกลุ่ม OECD

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net