Skip to main content
sharethis

วงเสวนา '8 ปีสวัสดิการสังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์ กับอนาคตรัฐสวัสดิการ อนาคตประชาธิปไตยไทย' - 'สุทิน' มองเป็นไปได้ที่ไทยจะทำรัฐสวัสดิการ แต่ต้องมองที่ช่องทางการหารายได้ ซึ่งรัฐบาลนี้มีปัญหายังทำไม่ได้ - 'ศิธา' ชี้ความเหลื่อมล้ำไทยติดอันดับโลก แสดงว่า 1% แข่งกันบ้าหอบฟาง - 'ธนาธร' ระบุสังคมไทยต้องสร้างรัฐสวัสดิการ รองรับสังคมสูงวัย-ลดความเหลื่อมล้ำ

25 มิ.ย. 2565 วงเสวนา “8 ปีสวัสดิการสังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์ กับอนาคตรัฐสวัสดิการ อนาคตประชาธิปไตยไทย” ที่จัดขึ้นโดยเครือข่าย We Fair มีตัวแทนจากภาคการเมือง ประกอบด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย และสุทิน คลังแสง จากพรรคเพื่อไทย ร่วมเวทีรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาสังคมและข้อกังวล เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคมในประเทศไทย ซึ่งตัวแทนจากภาคประชาสังคมในเครือข่าย We Fair ได้ผลัดกันนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินอุดหนุนเด็กเล็ก, คนจนเมืองและการขาดแคลนพื้นที่อยู่อาศัย, การปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นตามเงินเฟ้อ, การจัดบำนาญประชาชนแบบถ้วนหน้า, การเพิ่มเบี้ยคนพิการ ฯลฯ พร้อมเรียกร้องให้พรรคการเมืองผลักดันข้อเรียกร้องเหล่านี้ให้เป็นจริง หากได้ขึ้นสู่อำนาจหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

'สุทิน' ชี้เป็นไปได้ที่ไทยจะทำรัฐสวัสดิการ แต่ต้องมองที่ช่องทางการหารายได้ ซึ่งรัฐบาลนี้มีปัญหายังทำไม่ได้

The Active รายงานว่าสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่า เป็นไปได้ที่ไทยจะทำรัฐสวัสดิการ แต่ต้องมองที่ช่องทางการหารายได้ ซึ่งรัฐบาลนี้มีปัญหายังทำไม่ได้ อีกทั้ง​สังคมไทยถูกสถานการณ์ปิดล้อมหลายด้าน เช่น 1) มิติความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นเร็วมาก 2)เด็กเกิดน้อย รายได้ขั้นต่ำไม่เพิ่ม หุ่นยนต์ทำงานแทนคน ถึงเวลาที่ต้องมีหลักประกันรายได้ขั้นต่ำ

“เศรษฐีไทย ปี 2554 มีรายได้ 3 แสนล้านบาท ปี 2562 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 แสนล้านบาท ภายในเวลา 5 ปี เกิดอะไรขึ้นยุคคุณประยุทธ์ผมไม่ได้โทษ แต่ผมอภิปรายในสภาฯว่า เขา คือ บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ” สุทิน กล่าว

สุทิน ยังระบุว่าน่าใจหาย เพราะทุกด้านมีปัญหาเหลื่อมล้ำ และมีแนวโน้มที่ทรัพยากรไหลไปอยู่ในกลุ่มทุนทั้งหมด มีการควบรวม และมีอำนาจเหนือตลาด วิธีเดียว คือ รัฐต้องมาปกป้องคนที่อ่อนแอ ถึงจุดที่จะต้องทำรัฐสวัสดิการ ปล่อยไปก็จน และตาย ขณะเดียวกันก็ต้องมีฐานข้อมูลที่ชัดเจน เป็นพื้นฐานไปสู่การมีรัฐสวัสดิการที่ดี เสนอการจัดสวัสดิการให้คน 2 กลุ่มเร่งด่วนคือ กลุ่มคนจนฉับพลัน และจนเรื้อรัง โดยเสนอให้มีการจัดทำนโยบายแจกเงินให้เปล่า เป็นหลักประกันในชีวิต (Universal Basic Income : UBI) ให้ประชาชนทุกคน โดยอิงเส้นความยากจน 2,700 บาท/เดือน ถ้วนหน้า แนะผลักดันการออกประชามติ “รัฐสวัสดิการ” เตรียมเสนอความต้องการประชาชนเข้าสู่สภาฯ

อีกรูปแบบ คือ “เงินโอนคนขยัน” โดยนำข้อมูลประชากรวัยแรงงาน 37 ล้านชีวิต อยู่ในระบบ และนอกระบบ มาดูและช่วยคนมีรายได้ต่ำกว่า 2,700 บาททั้งหมด รัฐบาลต้องเติมเงินให้คนกลุ่มนี้ (ใต้เส้นความยากจน 4.8 ล้านคน และกำลังจะตกลงมาเส้นความยากจน 5.1 ล้านคน รวม 17 ล้านคน ดันให้ถึงเส้นค่าแรงขั้นต่ำ) ดึงคนจนเข้าสู่ระบบทั้งหมด พอขยันมีรายได้สูงขึ้น พอเลยเส้นความยากจน พอช่วยคนกลุ่มนี้จบ จึงขยับไปสู่ UBI หรือ บำนาญประชาชน 3,000 บาท เป็นต้น

'ศิธา' ชี้ความเหลื่อมล้ำไทยติดอันดับโลก แสดงว่า 1% แข่งกันบ้าหอบฟาง

ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย มองว่ารัฐสวัสดิการไทยเป็นไปได้ และเป็นเรื่องของคน 99% เพราะความเหลื่อมล้ำไทยติดอันดับโลก แสดงว่า 1% แข่งกันบ้าหอบฟาง โดยหากนายทุนยังต้องการกอบโกยแบบนี้ประเทศอยู่ไม่ได้

We are the 99% พวกเราคือ 99% ของประเทศ และสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง คือ 1% จากพัฒนาการทางการเมืองที่โตมา ทำให้ 1% ชนะได้ ​ ศิธา เล่าว่า ก่อนหน้านี้ นักการเมืองทุจริต พอกฎหมายเข้มขึ้นก็ปรับเปลี่ยนเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย บางคนตอบแทนเป็นเงินทอนให้พรรคการเมือง ปัจจุบันมี นักการเมืองเอื้อทำให้กลุ่มคน 1% รวยขึ้น 3 เท่า ภายใน 10 ปี ขณะที่ประชาชนยังเดือดร้อนเท่าเดิม เราติดกับดักการขึ้นค่าแรงทำให้คนจน หมายความว่า เราได้เงินเดือนเพิ่ม และเสียเงินมากกว่าเดิม เป็นหนี้สัดส่วนเท่าเดิม แต่หนี้สูงเพราะสินค้าแพง ข้าวของเพิ่ม แต่นายทุนได้เท่าเดิม 1% กำลังเติบโตมากกว่า 3 เท่าในอีกหลายปี ขณะที่ รัฐสวัสดิการ คือทำให้คนต่ำสุดลืมตาอ้าปากและอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เราต้องใช้ยาแรง โดย ​ศิธา เห็นด้วยกับ การเก็บภาษีมั่งคั่ง ​ทำขั้นบันไดภาษีที่ชัดเจน

“พวกเรา คือ 99% ของประเทศ และสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง คือ 1% พัฒนาการทางการเมืองที่โตมาด้วยการแปรอำนาจ และนโยบายเป็นเครื่องมือเอื้อทุน ทำให้ 1% ชนะได้ รวยขึ้น 3 เท่า ภายใน 10 ปี ขณะที่ประชาชนยังเดือดร้อนเท่าเดิม.. รัฐสวัสดิการ ทำให้คนต่ำสุด ลืมตาอ้าปากได้ และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้” ศิธา กล่าว

'ธนาธร' ชี้สังคมไทยต้องสร้างรัฐสวัสดิการ รองรับสังคมสูงวัย-ลดความเหลื่อมล้ำ

ทีมสื่อคณะก้าวหน้า แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้แสดงให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่าในขณะที่ประชากร 1% สุดท้ายของประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,759 บาทต่อเดือน ประชากร 1% ตรงกลางมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 6,531 บาทต่อเดือน ส่วนประชากร 1% สุดท้าย มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 33,900 บาทต่อเดือน ไม่นับ 0.1% ส่วนบนสุดที่มีรายได้หลักล้านบาทต่อเดือน

จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนี้ถึง 99% มีรายได้น้อยกว่า 33,900 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และยิ่งน่าตกใจ คือคนไทยที่จัดอันดับได้ว่าเป็นมหาเศรษฐี หรือคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 30,000 ล้านบาท มีถึง 28 คนจาก 2,668 คนทั่วโลก หรือคิดเป็น 10.5% เมื่อเทียบขนาดของเศรษฐกิจไทยที่คิดเป็นเพียง 0.6% ของเศรษฐกิจโลก หรือเพียง 5 แสนล้านดอลลาร์ จากขนาดของเศรษฐกิจทั้งโลกที่มีมูลค่าถึง 84 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก

และหากความเหลื่อมล้ำยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้จะฉุดรั้งพลังความก้าวหน้าของประเทศไปจนหมดสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่มีอัตราส่วนประชากรอายุมากกว่า 60 ปีเกิน 20% โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการก้าวสู่สังคมสูงวัยเร็วที่สุด อนาคตของสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่คนหนุ่มสาวเต็มไปด้วยความกังวลในชีวิต ต้องดูแลคนสูงวัยมากขึ้น และหากไม่ปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ประเทศไทยจะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันในอนาคตไปอย่างมหาศาล

ธนาธรระบุว่าการจัดสรรรัฐสวัสดิการให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาสถานการณ์จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุให้เป็น 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งทั้งหมดต้องใช้งบประมาณเพิ่มประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งพวกเราทั้งอนาคตใหม่-ก้าวหน้า-ก้าวไกล มองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้โดยไม่เป็นภาระทางการคลัง นั่นคือใช้การเพิ่มแบบขั้นบันได จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือนในปี 2567 เพิ่มไปเรื่อยๆ จนเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือนในปี 2570 โดยทำไปพร้อมกับการปฏิรูประบบการหารายได้และภาษีต่างๆ ของรัฐ เช่น การเปลี่ยนเกณฑ์ BOI การปฏิรูปกองทัพ ลดงบกระทรวงกลาโหม การปฏิรูปภาษีนิติบุคคล ฯลฯ ที่จะทำให้มีรายได้มากพอจัดสวัสดิการเบี้ยคนชราเป็น 3,000 บาทต่อเดือนได้ภายในปี 2570

นอกจากนี้ ในอนาคตจะต้องมีการสร้างงานให้คนรุ่นต่อไปมีรายได้ที่มั่นคงด้วย “เศรษฐกิจสีเงิน” ซึ่งจะเป็นการสร้างห่วงโซ่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลผู้สูงอายุทั้งระบบ ซึ่งจะสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนหนุ่มสาว พร้อมกับการรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยไปได้พร้อมกันด้วย

ในช่วงท้าย ธนาธรระบุว่าทุกคนจำเป็นต้องตระหนักด้วย ว่ารัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณล้วนแต่เป็นอำนาจของรัฐทั้งสิ้น หากที่มาของอำนาจในรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชน การจัดสรรทรัพยากรก็จะไม่เป็นไปเพื่อประชาชน ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะสามารถผลักดันรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นได้ด้วยพลังของประชาชน และการกดดันต่อพรรคการเมืองให้ทำสัญญา ให้สัตยาบันกับประชาชน ว่าจะผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นในประเทศไทยให้ได้ในอนาคต

“ประเทศไทยจะมีรัฐสวัสดิการไม่ได้เลย ถ้าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย จะเกิดรัฐสวัสดิการได้หรือไม่ขึ้นกับความแข็งขันของการรณรงค์โดยภาคประชาสังคม กดดันพรรคการเมืองให้นำรัฐสวัสดิการมาเป็นนโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งให้ได้ เมื่อเสียงประชาชนเป็นใหญ่ ภาคการเมืองอย่างพวกผมจะต้องฟัง นำไปสู่การทำสัญญาประชาคมและการปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้หลังเลือกตั้ง ดังนั้น อีก 10 เดือนข้างหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ และอนาคตของประเทศไทย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net