Skip to main content
sharethis

เซเว่นฯ หนุน 'ขับขี่ให้ปลอดภัย' จัดอบรมพนักงานส่งสินค้าเดลิเวอรี่ตามมาตรฐานกรมขนส่ง

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ โดยคณะทำงานคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จัดอบรมการขับขี่ปลอดภัย ให้กับพนักงาน เตรียมความพร้อม ในการปฏิบัติงานส่งสินค้าแบบเดลิเวอรี่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะ ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการขับขี่ปลอดภัย อีกทั้งยังดำเนินการผลักดันหลักสูตรเพื่อทำใบอนุญาตขับขี่ โดยพนักงานทุกคนจะต้องผ่านการอบรมและทดสอบเกี่ยวกับข้อกฎหมายจราจร ป้าย หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ บนท้องถนน ซึ่งจะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างปลอดภัยและทำให้สังคมโดยรวมปลอดภัยด้วยเช่นกัน

เซเว่น อีเลฟเว่น มีนโยบายชัดเจน ให้พนักงานที่ใช้รถในการเดินทางมาทำงานด้วยรถยนต์หรือรถจักยานยนต์ รวมถึงพนักงานที่ต้องส่งสินค้าเดลิเวอรี่ทุกคน จะต้องมีใบขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และต้องมีพ.ร.บ.ตามกฎหมาย พร้อมสามารถทำประกันภาคสมัครใจ ที่สำคัญจะต้องเสียภาษีถูกต้อง และต้องผ่านการอบรมความปลอดภัยตามที่บริษัทกำหนด

บริษัทฯ ได้จัดโปรแกรมอบรมให้กับพนักงานในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับพนักงานแล้ว ยังสามารถให้บริการลูกค้าด้วยความสะดวกรวดเร็ว เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับลูกค้า ด้วยทีมงานที่มีความสุข

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 8/7/2565

มูลนิธิ LPN ร่วมกับ CPF ขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในองค์กรสู่ปีที่ 5

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network Foundation : LPN) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อบูรณาการทำงานขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ เดินหน้าจัดอบรมและสานต่อโครงการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน "Labour Voices Hotline by LPN" สร้างความมั่นใจว่าพนักงานของซีพีเอฟทุกคนและทุกระดับได้รับการคุ้มครองสิทธิและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ตอกย้ำองค์กรชั้นนำที่ดำเนินงานด้านความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างในทุกระดับ

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ มูลนิธิ LPN กล่าวว่า ความร่วมมือกับซีพีเอฟก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิของตนอย่างเสมอภาค โดยปีนี้ มูลนิธิ LPN จะจัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนให้กับพนักงานของซีพีเอฟ ให้มีความรู้และเข้าใจกฎหมายแรงงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และดำเนินการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน "Labour Voices Hotline by LPN" โดยมูลนิธิฯ เป็นตัวกลางรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนจากพนักงานที่มีความหลากหลายในประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นต้น เพื่อช่วยให้บริษัทฯ รับทราบปัญหาหรือข้อเสนอแนะของพนักงานเพื่อนำไปพัฒนาและจัดการกับประเด็นต่างๆ ได้ในเวลาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ความร่วมมือในปีนี้ มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินกิจกรรมกับพนักงานต่างชาติอย่างใกล้ชิด เช่น การเข้าเยี่ยมและพูดคุยกับพนักงานต่างชาติถึงหอพัก (Focus Group) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและรับรู้ถึงความคาดหวังต่าง ๆ นำไปสู่การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน รวมทั้งสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความเข้าใจด้านความแตกต่างและการเคารพซึ่งกันและกัน อีกทั้งกิจกรรมความร่วมมือยังครอบคลุมถึงการตรวจสอบกระบวนการจ้างงานอย่างมีจริยธรรม (Ethical Recruitment) และส่งเสริมให้ตัวแทนจัดหาแรงงานที่ประเทศต้นทางจัดหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบ และโปร่งใส ป้องกันปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมาย แรงงานขัดหนี้ แรงงานบังคับ และปัญหาการค้ามนุษย์

"มูลนิธิ LPN เห็นผลลัพธ์จากความร่วมมือกับซีพีเอฟ ช่วยสร้างผลดีต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานซีพีเอฟทุกคน โดยเฉพาะพนักงานต่างชาติ ดำรงชีวิตและทำงานในประเทศไทยได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี เป็นการสร้างมาตรฐานองค์กรที่สนับสนุนการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งตรงกับความมุ่งมั่นของมูลนิธิฯ ที่ต้องการสนับสนุนให้แรงงานต่างชาติทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีและได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค" นายสมพงค์ กล่าวมูลนิธิ LPN ร่วมกับ CPF ขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในองค์กรสู่ปีที่ 5

ด้าน นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพี-ซีพีเอฟ ในฐานะประธานความมุ่งมั่นด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN ซึ่งเป็นองค์กรประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิแรงงาน มีส่วนช่วยให้ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเคารพสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ โดยการอบรมพนักงานและการจัดให้มีช่องทางการรับฟังเสียงของพนักงานผ่านองค์กรกลางเป็นพื้นฐานของการส่งเสริมสิทธิในการสื่อสารตามหลักสิทธิมนุษยชน เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน ทุกสัญชาติ และทุกระดับได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ตามเป้าหมายกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)มูลนิธิ LPN ร่วมกับ CPF ขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในองค์กรสู่ปีที่ 5จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงการดำเนินงานด้านความหลากหลายและความแตกต่าง และมีการรายงานข้อมูลอย่างรอบด้านและโปร่งใส ส่งผลให้เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้รับรางวัล “รายงานความยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับภูมิภาคเอเชีย” Asia Sustainability Reporting Awards (ASRA) 2021 โดยสามารถคว้ารางวัลระดับ Gold Class ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุด ในประเภท Asia’s Best Sustainability Report (Human Rights)

ที่มา: TNN, 7/7/2565

กสม. ตรวจสอบพนักงานขับรถพ่วงถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แนะ ก.แรงงาน เพิ่มระเบียบให้นายจ้างรับฟังคำชี้แจงก่อนเลิกจ้าง เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานตามหลักสากล

7 ก.ค.2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ แถลงว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน ม.ค. 2565 ว่าลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถพ่วงของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม สืบเนื่องจากพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวซึ่งมีหน้าที่ในการขับรถขนส่งปูนซิเมนต์ให้ทันตามรอบเวลาที่บริษัทกำหนด ในบางรอบด้วยเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจดำเนินการได้ทันเวลา เช่น สภาพรถไม่พร้อมใช้งาน หรือผู้เกี่ยวข้องไม่ได้เติมน้ำมันให้เพียงพอต่อการใช้งาน แม้พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจะได้แจ้งปัญหาให้กับหัวหน้างานทราบแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ต่อมาในการขับรถส่งงานครั้งหนึ่งได้เกิดเหตุระบบคลัตช์ของรถมีกลิ่นเหม็นไหม้ พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจึงไม่ได้ขับรถต่อไปเนื่องจากต้องรอการตรวจสอบสภาพรถ เป็นเหตุให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทเอกชนผู้ถูกร้องบอกเลิกจ้างด้วยเหตุผลปฏิบัติงานล่าช้า แม้พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจะพยายามติดต่อบริษัทเพื่อชี้แจงเหตุผลแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับโอกาสให้ชี้แจงแต่อย่างใด ทั้งนี้ได้รับแจ้งว่าการเลิกจ้างระหว่างช่วงเวลาที่มีการปฏิบัติงานไม่ถึงสามเดือนไม่เป็นความผิด จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่บริษัทผู้ถูกร้องเลิกจ้างพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าว โดยไม่แจ้งล่วงหน้าหรือจ่ายค่าจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า โดยอ้างเหตุว่าพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับหรือข้อสั่งการของบริษัทอันเป็นเหตุยกเว้นในการแจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้า หรือจ่ายเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น การดำเนินการเลิกจ้างดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีการตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือแล้ว แต่จากการตรวจสอบไม่ปรากฏว่าบริษัทเคยมีหนังสือตักเตือนพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวแต่อย่างใด แม้บริษัทระบุว่าได้มีการตักเตือนด้วยวาจาโดยหัวหน้างานแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏบันทึกการตักเตือนด้วยวาจาตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับระเบียบการทำงานของบริษัทแต่อย่างใด จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ให้การรับรองไว้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังมิได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 158 ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) ซึ่งได้รับรองสิทธิในการชี้แจงเหตุผลต่อข้อกล่าวอ้างอันเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างด้วยจากการกระทำหรือผลการปฏิบัติงานของตน และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่พบว่ามีข้อบัญญัติมาตราใดที่กำหนดให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบ หรือให้ลูกจ้างได้ชี้แจงต่อการกระทำของตนอันเป็นเหตุในการถูกเลิกจ้างก่อนการพิจารณาเลิกจ้างไว้เป็นการเฉพาะ แต่การถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการตรวจสอบ หรือไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริง เหตุผล ข้อโต้แย้งจากลูกจ้าง ย่อมเป็นการพิจารณาตัดสินที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ซึ่งนอกจากลูกจ้างจะต้องรับสภาพการถูกเลิกจ้างดังกล่าวแล้ว ยังต้องได้รับผลกระทบด้านประวัติการทำงานและโอกาสในการถูกพิจารณาเข้ารับการว่าจ้างในที่ทำงานแห่งใหม่ และแม้สภาพการจ้างงานจะเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถานะของลูกจ้างย่อมมีอำนาจในการต่อรองที่ด้อยกว่านายจ้าง อันเป็นที่มาของบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างจากการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

เพื่อให้เกิดการแก้ไขและป้องกันการกระทำซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในลักษณะเดียวกันนี้กับลูกจ้างรายอื่นอีก กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงแรงงาน บริษัทผู้ถูกร้อง และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช สรุปได้ดังนี้

1.มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้บริษัทผู้ถูกร้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับระเบียบการทำงานของบริษัทอย่างเคร่งครัด รวมทั้งแจ้งสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับทั้งก่อนการว่าจ้างและเมื่อสิ้นสุดการว่าจ้าง และให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาให้บริษัทผู้ถูกร้องดำเนินการเยียวยาพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

นอกจากนี้ ให้กระทรวงแรงงานพิจารณาให้มีการเพิ่มเติมกฎ ระเบียบ หรือข้อกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีการสอบสวน หรือต้องรับฟังคำชี้แจงของลูกจ้างต่อข้อกล่าวอ้างอันเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 158 ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) อันเป็นไปตามที่แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2562 - 2565) ได้กำหนดให้กระทรวงแรงงานทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานที่ยังมีช่องว่างระหว่างกฎหมายและทางปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

2.มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงแรงงานกำชับให้สำนักงานส่วนภูมิภาคส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในพื้นที่รับผิดชอบนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice: GLP) ไปใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจของตน ตามที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2562 - 2565) และให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงานแก่นายจ้างและลูกจ้างในพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยเฉพาะสิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมรวมทั้งช่องทางการร้องเรียน และกำชับให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด

ที่มา: ไทยโพสต์, 7/7/2565

รมว.แรงงาน ขึ้นเวที GrabNEXT ผลักดัน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานนอกระบบ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “BetterLife for Riders ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” ในงาน GrabNEXT “ยกระดับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยมีคุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บประเทศไทย ร่วมต้อนรับและกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานถึงบทบาทของแกร็บประเทศไทยในการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ภายใต้การทำงานแห่งโลกยุคใหม่ ความเท่าเทียมทางดิจิทัล และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก,อะ ลักซ์ซูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

นายสุชาติกล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้บริโภคในช่วงดังกล่าวคือ ธุรกิจรับส่งอาหารหรือพัสดุ เนื่องจากพี่น้องแรงงานบางส่วนไม่นิยมออกนอกสถานที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และในบางช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีพี่น้องแรงงานหันมาสนใจเป็นพนักงานขับรถส่งสินค้าจำนวนเพิ่มมากขึ้น บางส่วนทำเป็นอาชีพหลัก บางส่วนทำเป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้อีกช่องทาง

สำหรับพี่น้องแรงงานนอกระบบในไทยที่มีมากกว่า 19.6 ล้านคน และมีหลากหลายรูปแบบ เช่น พนักงานส่งสินค้าและบริการ หาบเร่แผงลอย พนักงานขับแท็กซี่ เป็นต้น แน่นอนว่ากลุ่มแรงงานนอกระบบมีจำนวนมากและการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ยังไม่มากเท่าที่ควร กระทรวงแรงงานจึงได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นองค์กร ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดี

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แบ่งได้เป็น 3 ด้านหลัก ๆ คือ

1) fair agreement จะทำให้แรงงานมีสัญญาการทำงานที่เป็นธรรม เช่น ไม่กำหนดเงื่อนไขทำให้ต้องเร่งรีบทำงานอย่างมีความเสี่ยง หรือต้องทำงานหนักเกินปกติจนเสียสุขภาพ

2) fair reward ผลตอบแทนที่เป็นธรรม การจ่ายค่าตอบแทนตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนด

3) welfare fund สวัสดิการและหลักประกันขั้นพื้นฐาน การจัดตั้งกองทุนเพื่อแรงงานนอกระบบ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างเหมาะสม สิทธิในการอุทธรณ์ การสอบสวน การพักงาน รวมทั้งสิทธิในการรวมกลุ่มเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานแพลตฟอร์ม โดยต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อบังคับต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า พี่น้องแรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงความคุ้มครองและสิทธิประกันสังคมหากเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับการดูแลในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร ขึ้นอยู่กับทางเลือกที่พี่น้องแรงงานเลือกเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40

ปัจจุบันมีพี่น้องแรงงานนอกระบบเข้าร่วมมาตรา 40 กว่า 10.79 ล้านคน สำหรับประกันสังคมมาตรา 40 นั้นมีอยู่ 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท/เดือน ได้รับสิทธิ 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับค่าทดแทนขาดรายได้กรณีผู้ป่วยในวันละ 300 บาท กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท และกรณีเสียชีวิตได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท/เดือน ได้รับสิทธิ 4 กรณี เช่นเดียวกับกรณีที่ 1 และเพิ่มเติมคือกรณีชราภาพ ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท ได้รับสิทธิ 5 กรณี เช่นเดียวกับกรณีที่ 2 และเพิ่มเติมคือกรณีสงเคราะห์บุตรตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ คนละ 200 บาท คราวละไม่เกิน 2 คน

“ขอขอบคุณแกร็บประเทศไทย ตลอดจนธุรกิจแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยประเทศชาติและประชาชนแรงงานกลุ่มนี้จะต้องได้รับความคุ้มครองและมีหลักประกันทางสังคมเช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่น ๆ การจัดงานในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานของแกร็บประเทศไทย เป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพของคนจำนวนมากในตลาดแรงงานของประเทศไทย รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาแรงงานของประเทศ” นายสุชาติกล่าวท้ายสุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/7/2565

มิตซูบิชิ ได้ข้อยุติหลังเจรจาสหภาพแรงงาน จ่ายโบนัสกลางปี 5 เดือนครึ่ง

แหล่งข่าวจากสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิประเทศไทย บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังการเจรจาเพื่อพิจารณาโบนัสประจำปี 2565

ล่าสุดได้ข้อยุติที่ 5.5 เดือน สำหรับพนักงานประจำ พร้อมเงินพิเศษ 30,000 บาท ขึ้นเงินเดือนให้ 4% และเงินบวกเพิ่มอีกเดือนละ 50 บาท

“ส่วนพนักงานสัญญาจ้าง จะได้รับโบนัส 3.3 เดือน บวกเงินพิเศษ 18,000 บาท คิดเป็น 60% ของพนักงานประจำ ถึงแม้การทำงานสายการผลิตเดียวกัน ก็ยังมีความแตกต่าง” แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้สหภาพฯ และมิตซูบิชิไม่สามารถตกลงกันได้ และเข้าไกล่เกลี่ยข้อเรียกร้อง ณ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เนื่องจากบริษัทตกลงจ่ายโบนัสในอัตรา 4.5 เดือน ขณะที่สหภาพฯ ได้เจรจาขอ 7.5 เดือน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/7/2565

JSL ระบุไม่ได้จะให้ค่าชดเชยพนักงานแค่ 16% จากค่าชดเชยทั้งหมด แจงตอนนี้บริษัทภาวะขาดกระแสเงินสดฉับพลัน ยังหาเงินชดเชยให้ไม่ทัน

เพจเฟซบุ๊ก เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย โพสต์ข้อความ ระบุถึงเรื่องเงินชดเชยพนักงานบอกว่า บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีความตั้งใจที่จะจ่ายให้ครบจำนวนตามกฏหมายกำหนดไว้ แต่ตอนนี้ มีภาวะขาดกระแสเงินสดฉับพลัน ยังหาเงินชดเชยให้ไม่ทัน

เมื่อวันที่ 30 จึงแจ้งพนักงานว่าจะให้ 16% แต่ความจริงคือ แผนจ่ายเงินชดเชยพนักงาน JSL เงินชดเชยทั้งหมด 32 ล้านบาท วันปิดกิจการ จ่าย 16% ของยอดทั้งหมดสิ้นเดือน ก.ค. 2565 จ่าย 9% ทุกๆ สิ้นเดือน บริษัท จะพยายามหาเงินมาจ่ายให้ตามกำลังที่มี

ทางบริษัทยินดีพูดคุย เพื่อหาข้อสรุปให้เหมาะสมที่สุดที่เป็นไปตามกระบวนการของกฏหมายแรงงานทุกประการ จึงขอความร่วมมือจากพนักงานทุกคนในการเข้ามาร่วมเจรจาหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อพวกเราทุกคนจะได้เดินหน้าต่อและไม่มีความบาดหมางใจต่อกัน

บริษัทไม่เคยมีเจตนาที่จะละทิ้งความรับผิดชอบต่อพนักงานทุกคน แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ไม่สามารถเดินต่อได้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ที่ทำให้ทุกคนต้องเสียขวัญและกำลังใจ บริษัทหวังว่า ด้วยความจริงใจที่มีต่อพนักงาน และความร่วมมือระหว่างกัน เราจะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหายากลำบากนี้ให้ลุล่วงไปด้วยกันได้

ที่มา: PPTV, 5/7/2565

ก.แรงงาน ขีดเส้น 15 วัน บริษัท JSL ต้องพบสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หากไม่มาจะรวบรวมพยานหลักฐานออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย

5 ก.ค. 2565 ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มลูกจ้างบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ที่ถูกเลิกจ้าง เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอความช่วยเหลือให้กระทรวงแรงงานเร่งติดตามสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงานหลังถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม

นายสุชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยลูกจ้างและกำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลให้ความช่วยเหลือลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน ซึ่งความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 (สรพ.4) ได้มีหนังสือเชิญให้นายจ้างไปพบ โดยปิดประกาศไว้ที่บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด เรียบร้อยแล้ว

“หลังจากนี้ 15 วันตามกฎหมาย หากนายจ้างไม่ไปพบ พนักงานตรวจแรงงานจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง เมื่อพนักงานตรวจแรงงานออกคำสั่งแล้ว จะนำไปส่งให้นายจ้าง หากไม่มาพบจะใช้วิธีการปิดคำสั่ง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง พนักงานตรวจแรงงานจะดำเนินคดีทางพนักงานสอบสวน” นายสุชาติ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ส่วนของกรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้อำนวยความสะดวกรับขึ้นทะเบียนรายงานตัวการว่างงานให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งมีผู้มารายงานตัว 59 คน จากทั้งหมด 93 คน และมีบริษัทต่างๆ ยื่นมือเข้ามารับเข้าทำงาน โดยเบื้องต้นลูกจ้างได้สมัครงานใหม่ 2 คน ในตำแหน่งครีเอทีฟ และรีไรเตอร์ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ยังได้รับการประสานแจ้งความประสงค์จากบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จํากัด (มหาชน) ว่า บริษัทยินดีรับสมัครลูกจ้างเจเอสแอลที่ถูกเลิกจ้าเข้าร่วมงาน เนื่องจากขณะนี้โฮมโปรมีตำแหน่งงานว่างกว่า 90 อัตรา และบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ยังแจ้งความประสงค์ยินดีที่จะช่วยเหลือรับพนักงานในตำแหน่งสาขาการเงินการบัญชีด้วย

“ในวันนี้กระทรวงแรงงานยังได้รับการประสานจากกรมสุขภาพจิต ซึ่งต้องขอบคุณ นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ได้นำทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือลูกจ้าง คอยให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ เพื่อคลายความกังวล รวมทั้งให้กำลังใจให้ลูกจ้างสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปได้” นายสุชาติ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 5/7/2565

ครม.เห็นชอบขยายเวลาแรงงานข้ามชาติในประเทศแก้ปมขาดกำลังคน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบ เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2566 โดยหากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2568 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้สำรวจข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการพบว่ายังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน

2.เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีสถานะถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มมติ ครม. วันที่ 29 ธันวาคม 2563 มติ ครม. วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มติ ครม. วันที่ 28 กันยายน 2564 จำนวนประมาณ 1,690,000 คน อยู่และทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

“การฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 จำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนนายจ้าง/สถานประกอบการ และภาคการผลิตให้สามารถจ้างคนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะทำงานให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานต่อไปได้ เพื่อให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนอย่างมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการฟื้นฟูประเทศในมิติต่างๆ อย่างเร่งด่วน” นายสุชาติ กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name list) ต่อ กกจ. จากนั้นจะต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 60 วัน หลังยื่น Name List และชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท ให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขอดังกล่าวคู่กับใบเสร็จรับเงินเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งหลังดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นจะทำงานและอยู่ได้ถึงวันที่ 13 กุาภาพันธ์ 2566 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่วันที่ 13 ก.พ. 2568 เช่นเดียวกัน

“และในส่วนแนวทางการดำเนินการของกลุ่มคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้อง หรือแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 13 ก.พ. 2566 จะแบ่ง เป็น 2 กลุ่ม 1.กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายในวันที่ 1 ส.ค. 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการ ตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ เพื่อทำงานได้อีก 2 ปี (13 ก.พ. 2568) โดย ครม. เห็นชอบให้ ขยายระยะเวลาการตรวจลงตราจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 (จากเดิมวันที่ 1 ส.ค. 2565) และ 2.กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายหลังวันที่ 1 ส.ค. 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียน จะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568” นายสุชาติ กล่าวและว่า ทั้งนี้การดำเนินการของคนทั้ง 2 กลุ่ม จะสามารถเริ่มดำเนินการได้หลังจากประกาศกระทรวงมหาดไทย (มท.) และประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้ว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 5/7/2565

เผย กทม. ตั้ง คกก.พิจารณาเพิ่มเงินค่าตอบแทน 'พนักงานกวาดถนนทั้งลูกจ้างประจำและชั่วคราว' แล้ว

สำหรับความคืบหน้าการพิจารณาเพิ่มเงินค่าตอบแทนสำหรับพนักงานกวาด กทม.ได้จัดตั้งคณะกรรมการยกร่าง ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย และเงินพิเศษรายเดือนสำหรับพนักงานกวาด

เพื่อยกเลิกข้อบัญญัติฉบับเดิม คือ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่เก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยและเอกชนที่รับชำระค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยแทนกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2546 ที่ให้ค่าตอบแทนแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยเท่านั้น

โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) ข้อบัญญัติกทม. เรื่อง ค่าตอบแทนฯ พ.ศ .... คือ เพื่อให้ค่าตอบแทนแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย และพนักงานกวาด

โดยจะมีการปรับสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยให้สอดคล้องกับค่าธรรมเนียมเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2562 รวมถึงจะมีการกำหนดเงินพิเศษรายเดือนสำหรับพนักงานกวาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสม แล้วจึงเสนอร่างเพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป

ปัจจุบัน กทม.มีลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวทั้งสิ้น 28,122 ราย โดยเป็นลูกจ้างประจำ รวม 17,901 ราย แบ่งเป็นด้านเก็บขนมูลฝอย 7,489 ราย กวาด 6,029 ราย สวนสาธารณะ 3,492 ราย และสิ่งปฏิกูล 891 ราย และลูกจ้างชั่วคราว รวม 10,221 ราย แบ่งเป็นด้านเก็บขนมูลฝอย 3,710 ราย กวาด 3,811 ราย สวนสาธารณะ 2,096 ราย และสิ่งปฏิกูล 604 ราย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 4/7/2565

สสส. กระทรวงแรงงาน มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม มอบรางวัลองค์กรจ้างคนพิการทำงาน

4 ก.ค. 2565 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนาคุณค่าและความยั่งยืน พร้อมมอบเกียรติบัตรเชิดชูหน่วยงานที่สนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้คนพิการ

นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน (กกจ.) เป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ได้แก่ การบริการจัดหางานแก่คนพิการ รับแจ้งการให้สิทธิตามมาตรา 35 แก่สถานประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ คนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ รวมถึงตรวจสอบเกณฑ์การให้สิทธิตามที่กฎหมาย โดยหลังการออกกฎหมายการจ้างงานคนพิการ กระทรวงแรงงานได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคเอกชน ทำให้การจ้างงานมีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับ กกจ.ได้ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล นโยบาย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ทำโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม โดยประชาสัมพันธ์เชิญชวนนายจ้าง/สถานประกอบการที่เคยใช้สิทธิตามมาตรา 34 ในการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้เปลี่ยนมาให้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภทการจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับคนพิการโดยตรง เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

“ยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานพิธีมอบเกียรติบัตรเชิดชูหน่วยงานที่สนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมแก่สถานประกอบการที่ได้สนับสนุนให้คนพิการมีอาชีพมีงานทำ สร้างโอกาสให้คนพิการทั่วประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี และขอขอบคุณสถานประกอบการ/บริษัทที่ให้การสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสถานประกอบการอื่นๆ ต่อไป” นายวรรณรัตน์ กล่าว

ด้าน ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาโดยตลอด ช่วงโควิด-19 พบแรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก สถานประกอบการบางแห่งต้องปิดตัวลง ส่งผลให้คนพิการจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต จากข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (วันที่ 31 มีนาคม 2565) พบคนพิการวัยทำงานที่มีงานทำ จำนวน 314,127 คน คิดเป็นร้อยละ 36.87 ของจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด จำนวน 852,033 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 ถึง ปัจจุบัน สสส.และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมได้ดำเนินการขับเคลื่อนการจ้างงานเชิงสังคมให้กับคนพิการและมีคนพิการที่ได้รับประโยชน์จากการมีงานทำงานกว่า 7,000 อัตรา สร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานกว่า 20,000 งาน รวมเป็นรายได้ที่ส่งตรงจากสถานประกอบการถึงมือคนพิการรวมกว่า 2 พันล้านบาท มีภาคีเครือข่ายกว่า 3,000 แห่ง ที่ร่วมขับเคลื่อนการจ้างงานเชิงสังคม

“สสส. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันทำให้เห็นว่า คนพิการไม่ได้เป็นภาระ แต่เป็นพลัง และมีเป้าหมายร่วมกันขยายโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทำให้คนพิการสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี” ทพ.สุปรีดา กล่าว

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการผ่านการมีงานทำ จนเกิดเป็นนวัตกรรมระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมขึ้นมาผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจทางสังคมระดับชุมชนทุกจังหวัด เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์กรคนพิการในพื้นที่ ขณะที่นวัตกรรมการจ้างงานเชิงสังคมได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมาจากการสนับสนุนของ สสส. ที่มีเป้าหมายสร้างคุณค่าและศักดิ์ให้คนทุกกลุ่มเท่าเทียมกัน ผ่านการบูรณาการกับกระทรวงแรงงาน กกจ. และสำนักงานจัดหางานทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงานประกาศนโยบายขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมตั้งแต่ปี 2564 ตอกย้ำถึงคุณค่าและความสำคัญ ที่เอื้อให้คนพิการมีรายได้จากการมีงานทำในภูมิลำเนาของตนเอง และเป็นงานที่มี “คุณค่า” สร้างประโยชน์โดยตรงให้กับชุมชนของตนเอง และเพื่อให้เกิดกลไกดำเนินการ “ยั่งยืน” โดยผลักดันให้เกิดการรวมตัวจัดตั้งองค์กรขับเคลื่อนที่เป็นของคนพิการ โดยคนพิการ เพื่อคนพิการ เพื่อเป็นเจ้าของภารกิจในระยะยาว จนเกิดการจัดตั้ง สมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย (ส.อ.ค.) ในปี 2564 รวมทั้งนำเสนอกลไกระดมทุน “โมเดลวันละ 10 บาท” เพื่อให้เกิดเป็นระบบที่คนพิการที่ได้รับการจ้างงานร่วมกันสนับสนุนทุนดำเนินการด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

“ความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ยังมีคนพิการวัยทำงานทั่วประเทศกว่า 350,000 คน ต้องการโอกาสมีอาชีพ และมีงานทำใกล้บ้าน เพราะไม่มีความพร้อมที่จะเข้ามาทำงานในเมืองซึ่งเป็นแหล่งงาน ด้วยข้อจำกัดทางกายภาพ การเดินทาง และทักษะความรู้ ขณะที่มีคนพิการประมาณ 90% หลุดจากระบบการศึกษา หรือได้รับการศึกษาเพียงชั้นประถม อาศัยอยู่ในชนบทไม่ใช่แหล่งงาน แต่มูลนิธิฯ ยังยึดมั่นเจตนารมณ์ คือ ต้องการเปลี่ยนชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น งานพิธีมอบเกียรติบัตร เชิดชูหน่วยงานที่สนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมในวันนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย ขอเป็นตัวแทนคนพิการที่ได้รับการจ้างงานเชิงสังคมทั่วประเทศ ร่วมกันแสดงความขอบพระคุณต่อสำนักงานจัดหางานทุกพื้นที่และสถานประกอบการทุกแห่งที่ได้สนับสนุนให้คนพิการได้เข้าถึงโอกาสงานและอาชีพมาโดยต่อเนื่องทุกปี” นายอภิชาติ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 4/7/2565

ซีพีเอฟ รับรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง และรางวัลคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการดีเด่น ประจำปีพ.ศ.2565 แก่โรงเพาะฟักลูกกุ้ง JR2-3 จังหวัดตราด ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จากการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยมี นายบุญธรรม กังแฮ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และ นางสาวบุศรินทร์ เลอเลิศภักดี รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ เป็นผู้แทนรับมอบ ณ กระทรวงแรงงาน

นายบุญธรรม กังแฮ เปิดเผยว่า รางวัลทั้ง 2 ที่ ได้รับสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้บริหารและเพื่อนพนักงานทุกคนเป็นอย่างยิ่ง รางวัลดังกล่าวสะท้อนว่าโรงเพาะฟักลูกกุ้ง JR2-3 จังหวัดตราด เป็นสถานประกอบกิจการต้นแบบแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง และมีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการดีเด่น ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่ มุ่งเน้นส่งเสริมให้พนักงานใช้ชีวิตอย่างพอเพียง “เดินตามรอยเท้าพ่ออย่างพอเพียง” ด้วยการรณรงค์ให้พนักงานใช้พื้นในสถานประกอบการทำการเกษตร ปลูกผัก ทำปุ๋ย ตลอดจนจัดทำสหกรณ์ร้านค้าเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าที่พนักงานเป็นผู้ผลิต อาทิ ผัก น้ำพริก และอาหารจากฝีมือพนักงาน มาฝากขายเพื่อระดมทุนและมีเงินปันผลในทุกๆ ปี

ขณะเดียวกัน โรงเพาะฟักลูกกุ้ง JR2-3 จังหวัดตราด ยังมุ่งส่งเสริมการคัดแยกขยะ เพื่อนำไปรีไซเคิลใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทั้งในพื้นที่สถานประกอบการและต่อยอดสู่ชุมชน โดยคณะผู้บริหารและพนักงาน ยังร่วมผนึกกำลัง กับกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง และชาวชุมชน ร่วมกันเก็บขยะทะเลในโครงการ "Waste to Value" บริเวณชายหาดทรายแดงบ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำขยะทะเลที่ได้มาทำเป็นอิฐบล็อคทางเท้าในแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของซีพีเอฟ ในการลดขยะพลาสติก ยกระดับการดูแลระบบนิเวศชายฝั่งและร่วมแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน

ที่มา: TNN, 4/7/2565

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ออกแถลงการณ์ ปมดราม่า ทำงานกองถ่ายฯ 16 ชั่วโมง/วัน

แถลงการณ์ของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เรื่องปัญหาสวัสดิภาพแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย

สืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวของช่องไนน์เอ็นเตอร์เทนโดย คุณบัณฑิต ทองดี และ คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ถึงประเด็นชั่วโมงการทำงานและสวัสดิภาพแรงงานในกองถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร และซีรี่ส์ โดยมีพาดหัวข่าวที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ทั้งสองสนับสนุนการทำงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้ตระหนักถึงปัญหาสวัสดิภาพแรงงานว่าเป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังที่ฉุดรั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนท์ของไทยและขอชี้แจงว่า คุณบัณฑิต ทองดี และคุณปรัชญา ปิ่นแก้ว มิได้สนับสนุนแนวคิดการทำงานเกินมาตรฐานสากลและยังได้พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด โดยได้เข้าร่วมปรึกษาหารือกับ หน่วยงานราชการ คณะกรรมาธิการของรัฐสภา พรรคการเมือง บริษัทผู้ผลิต และองค์กรต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้สำเร็จ โดยหนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือ การขาดอำนาจต่อรองของแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิง

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจึงขอสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และสมาคมสาขาอาชีพอื่นๆ ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เพิ่มมากขึ้นและนำไปสู่การพูดคุยเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

หากแรงงานในทุกภาคส่วนได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีสวัสดิภาพที่ดีย่อมจะส่งผลให้การทำงานในภาพรวมดีขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาภาพยนตร์ ละคร และซีรี่ส์ของไทยได้ในระยะยาว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/7/2565

พนักงาน JSL รวมตัวยื่นขอรับค่าชดเชยผ่าน ก.แรงงาน

4 ก.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด (JSL) ที่ถูกเลิกจ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลช่วยเหลือให้ลูกจ้าง JSL ได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างใกล้ชิด

“ผมได้ขานรับข้อสั่งการดังกล่าว และให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตรวจสอบและเร่งให้ความช่วยเหลือในทันที ซึ่งจากการตรวจสอบของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 พบว่า JSL มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 154 ซอยลาดพร้าว 107 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการ ประเภทผลิตรายการโทรทัศน์

ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมดประมาณ 130 คน เป็นชาย 70 คน และหญิง 60 คน ซึ่งบริษัทได้แจ้งเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 89 คน เป็นลูกจ้างรายเดือนทั้งหมดให้มีผลการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สาเหตุการเลิกจ้างเนื่องจากบริษัทขาดทุนสะสมมาโดยตลอด และในวันนี้ลูกจ้างได้รวมตัวกันเพื่อมายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามขั้นตอนของกฎหมาย” นายสุชาติกล่าว

ด้านนางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ตนได้รับมอบหมายจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ลงพื้นที่มาเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้าง JSL ที่มายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4

ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ส่งเจ้าหน้าที่มาชี้แจงอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้าง ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับคำร้อง (คร.7) สำนักงานประกันสังคมชี้แจงขั้นตอนการขึ้นทะเบียนขอรับเงินประกันการว่างงาน กรมการจัดหางานมาตั้งโต๊ะรับสมัครงาน โดยมีตำแหน่งงานว่างจากสถานประกอบกิจการต่าง ๆ ที่มีความใกล้เคียงกับตำแหน่งงานเดิม อาทิ นักโฆษณา นักออกแบบเสื้อผ้า ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผู้จัดการฝ่ายบุคคล พนักงานขับรถ เป็นต้น รวมจำนวน 72 อัตรา

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานว่างที่ลูกจ้างสามารถสมัครด้วยตนเองที่เว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th ซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งงาน 161,895 อัตราไว้ให้บริการ โดยพนักงานของบริษัท JSL สามารถเลือกสมัครงานทางออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินทาง ซึ่งรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แนะนำหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะฝีมือตามความประสงค์ของลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างได้สมัครงานและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นด้วย

ทั้งนี้ ในวันที่ 5 ก.ค. 2565 เวลา 15.30 น. ลูกจ้าง JSL จะนัดรวมตัวกันเพื่อไปยื่นหนังสือต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือติดตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของลูกจ้างที่กระทรวงแรงงานอีกด้วย

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้มอบหมายให้ นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ตรวจราชการกรม พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 เข้าร่วมประชุมชี้แจง ให้คำปรึกษาแนะนำข้อกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ ให้กับกลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง

การเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างบางส่วน ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจะได้รับสิทธิประโยชน์เงินทดแทน การขาดรายได้กรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และยังคงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 38 กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย ต่อไปอีก 6 เดือน โดยไม่ต้องนำส่งเงินสมทบ

สำหรับลูกจ้างที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพได้ หรือหากต้องการใช้สิทธิประกันสังคมต่อ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะผู้ประกันตนคือครอบครัวประกันสังคม

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/7/2565

โรงแรมขอรัฐปลดล็อกดึงแรงงานข้ามชาติทำงาน หลังขาดแคลนแรงงานมากขึ้น

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะภาคโรงแรม ขณะนี้เริ่มมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่จะกระจุกตัวตามจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ เท่านั้น อาทิ ภูเก็ต กรุงเทพฯ ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ยังขาดแคลนแรงงานสูงมาก จึงต้องการเสนอให้รัฐบาลช่วยปลดล็อกแรงงานต่างด้าว ให้สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงแรงงานที่มีทักษะ มีความเชี่ยวชาญในสายอาชีพ โดยอยากให้พัฒนาแรงงานกลุ่มนี้ออกมาป้อนธุรกิจที่กำลังมีความต้องการสูง อาทิ เซฟ เป็นต้น

นางมาริสา กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งรัดนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาให้มากที่สุด เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ ผ่านซอฟท์พาวเวอร์ของไทย ที่มีโอกาสสูงคือ เมดิคัล แอนด์ เวลล์เนส หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม ที่ได้รับความนิยมสูงมากจากต่างชาติ รวมถึงธุรกิจไมซ์ หรือการท่องเที่ยวเชิงจัดประชุม อีเวนต์ โดยซอฟท์พาวเวอร์ของไทย จัดอยู่ในอันดับที่ 35 จากทั่วโลก มีอาหาร แฟชั่น ภาพยนตร์ มวยไทย และงานประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ อาทิ งานวันสงกรานต์ ทำให้เราสามารถชูจุดขายเหล่านี้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้

“การดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย ไม่ใช่เพียงนอนอาบแดดอย่างเดียว แต่อยากให้เดินทางท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการชิมอาหารไทย หรือชื่นชมกับประเพณีวัฒนธรรมไทยด้วย” นางมาริสา กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 2/7/2565

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net