Skip to main content
sharethis

มองพื้นที่บางเขนด้วยประวัติศาสตร์คณะราษฏร จากอนุสาวรีย์ปราบกบฏ วัดพระศรีมหาธาตุ สู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านสายตาของนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมและนักประวัติศาสตร์

 

 

3 มี.ค. 2563 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ชุมนุมภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อเรื่อง "คณะราษฎรกับพื้นที่บางเขน" ณ ห้อง 601 อาคาร 3 ชั้น 6 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวิทยากรคือ ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศรัญญู เทพสงเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระ

 

ศึกษาคณะราษฏรจากวัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวัน

ชาตรี กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับคณะราษฏรส่วนใหญ่เน้นไปที่การเมือง แต่ยังไม่ค่อยมีด้านวัฒนธรรม ขณะนี้ศิลปะแบบคณะราษฎร์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ทั้งจากกลุ่มคนที่อยากอนุรักษ์ไว้และกลุ่มคนที่อยากรื้อถอน

ความเปลี่ยนแปลงเมื่อ พ.ศ.2475 มีคำพูดประเภทว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” ซึ่งทั้งสองฝ่ายใช้ข้อมูลต่อสู้กัน ทั้งเอกสาร จดหมายเหตุ สิ่งพิมพ์ ซึ่งแม้เอกสารจะมีคุณค่ามากทางประวัติศาสตร์ แต่หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าตั้งคำถามคือ การปฏิวัติส่งผลต่อคนมากน้อยแค่ไหน ได้รับการตอบรับมาน้อยแค่ไหน 

มีชุดหลักฐานขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครศึกษา นั่นคือวัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวัน รวมถึงงานศิลปกรรมที่คนระดมสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น วัตถุเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญในการสืบค้นว่า คนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมการจดบันทึก เขาตอบสนองต่อเหตุการณ์ 2475 นั้นอย่างไร มีวัตถุสิ่งของเขาผลิตขึ้น และใช้สอยในชีวิตประจำวันอย่างไร

แน่นอนว่าการพูดถึงสิ่งของมีข้อจำกัด วัตถุไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่สร้างหรือใช้คิดอย่างไร แต่วัตถุเหล่านี้มีวิธีการอ่านและทำความเข้าใจผ่านการตีความว่าคนที่ผลิต ใช้ มีความคิดเบื้องหลังอย่างไร

ชาตรี ยกตัวอย่างวัตถุของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ มีการประกวดถักนิตติ้ง ภาพที่ชนะเลิศก็มีพานรัฐธรรมนูญอยู่ หรือโอ่งอาบน้ำ ปัจจุบันอยู่หอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการขุดลายบนโอ่งเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ ซึ่งอันนี้เห็นชัดว่าเป็นของใช้ในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ได้ผลิตโดยรัฐ ไม่ได้ทำเพื่ออวดหรือเอาใจใคร 


ภาพโอ่งที่มีลายพานรัฐธรรมนูญ

ชาตรีกล่าวมีงานวิชาการยุคหลังๆ มีการตีความว่า สิ่งที่คณะราษฎรทำไม่ต่างจากในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือสร้างสิ่งของเพื่อบังคับให้ผู้คนกราบไหว้บูชา ยึดแบบแผนประเพณีเดิม สร้างวัตถุบูชาใหม่แทนอันเดิมเท่านั้น ดีเบตอันนี้ตอบได้ด้วยภาพวัตถุสิ่งของเช่นกัน

 
ภาพที่เขี่ยบุหรี่รูปพานรัฐธรรมนูญ

ภาพที่เขี่ยบุหรี่รูปพานรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเซ้นส์ในลักษณะเชิดชู พูดง่ายๆ ว่านี่คือถังขยะรองก้นบุหรี่ ดังนั้นสัญลักษณ์ภาพรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกทรีตเป็นพระพุทธที่ต้องกราบไหว้บูชา แต่มีลักษณะของสิ่งทั่วไปในชีวิตประจำวัน 

ดังนั้นการตีความดังกล่าวจึงเป็นการตีความเกินจริง ใช้เพียงหลักฐานจากเอกสารราชการซึ่งมีการพูดถึงว่า ในสังคมใช้พานรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งของประจำวัน คณะราษฎร์บางคนบอกว่าไม่ควร ควรออกกฎเพื่อให้สัญลักษณ์พานศักดิ์สิทธิ์ แต่ความคิดนี้ถูกนำไปปฏิบัติจริงหรือไม่ ไม่แน่นัก เพราะวัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวันก็ยังถูกค้นพบ


วัดที่มีรูปพานรัฐธรรมนูญ

ในวัดเองก็มีรูปพานรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะวัดของชาวบ้านในต่างจังหวัดที่ไม่ได้ผูกโยงกับส่วนกลาง มีการสร้างวัตถุ แสดงให้เห็นว่าเจ้าอาวาสสมัยนั้นมีไอเดียสนับสนุนการปฏิวัติ 2475

"ดังนั้นเอกสารลายลักษณ์เป็นเพียงหนึ่งในหลายสิ่งที่ใช้ในการทำความเข้าใจความคิดของคนในยุคนั้น ซึ่งสิ่งที่ปรากฎในชีวิตจริงไม่ได้แบบนั้น การศึกษาวัตถุสิ่งของเหล่านี้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยตอบคำถามดีเบตททางวิชาการได้" ชาตรีระบุ

 

แผนที่ชี้พื้นที่บางเขนเจริญขึ้นหลังเหตุปราบกบฏบวรเดช

ชาตรีชี้ว่า วัตถุหลักฐานอีกชิ้นที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรคือแผนที่ โดยปี ร.ศ.120 ก่อนเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ไม่มีความเจริญมาก มีเพียงททางรถไฟวิ่งผ่าน บริเวณทุ่งบางเขนเป็นชุมชนเล็กๆ ไม่มีนัยสำคัญ แต่พอมีเหตุการณ์ปรราบกบฏ พื้นที่ตรงนี้จึงกลายเป็นจุดสำคัญ และมีความเจริญ ดังนั้นเราไม่อาจอธิบายพื้นที่บริเวณนี้ได้โดยปราศจากคณะราษฎร์และเหตุการณ์ปราบกบฏ

"พื้นที่บริเวณบางเขนมีวัดประชาธิปไตยที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระศรีมหาธาตุอยู่ และมีความสัมพันธ์เชื่อมกับจุดเริ่มต้นที่ถนนราชดำเนินกลาง มีการตัดถนนประชาธิปัตย์ ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนนพหลโยธินที่เชื่อมกับถนนราชดำเนินกลาง โดยมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่ตรงกลาง มีถนนสะพานวันชาติ ถนนประชาธิปไตย ถนนประชาธิปัตย์ มีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (สร้างและเปิดในปี 2485) อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ต่อขึ้นไปเรื่อยๆจะไปเจอพระนครศรีอยุธยา ตัดแยกเข้าไปจะเจอเกาะเมือง มีสะพานปรีดี-ธำรง เข้าสู่แนวศาลากลางเก่าของอยุธยา ซึ่งสร้างในยุคคณะราษฎร ต่อขึ้นไปอีกจะเจอทางแยกเข้าพระพุทธบาทสระบุรี เป็นถนนที่ตัดในช่วงจอมพล ป. เหมือนกัน ถ้าไปอีกก็จะไปถึงลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ในสมัยคณะราษฎร และไปจบที่เชียงราย ดังนั้นการศึกษาถนนก็นำไปสู่การเข้าใจประวัติศาสตร์เมืองใหม่เยอะมาก" ชาตรีกล่าว


ภาพอนุสาวรีย์ฯ ก่อนถูกรื้อ (ที่มาภาพ: สารคดี)

อนุสาวรีย์ปราบกบฏ สถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ไร้ลวดลาย

ชาตรีเสนอว่าตัวสถาปัตกรรมของอนุสาวรีย์ปราบกบฏแม้จะถูกพูดว่าสร้างเป็นรูปปลอกกระสุน แต่ตนเห็นว่ามีความคล้ายกับเมรุของทหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชที่สนามหลวงก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นแบบสมัยใหม่ เรียบเกลี้ยงไม่มีลวดลายและน่าจะเป็นไอเดียเริ่มแรกของการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ  

"อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เกิดภาพประติมากรรมนูนสูงที่เป็นชาวบ้านธรรมดาในฐานะเป็นองค์ประกอบหลัก เป็นที่แรกในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งโดยตัวของมันเองเป็นวัตถุของการเคารพบูชาหรือระลึกถึง  มีการนำแบบอนุสารีย์ปราบกบฎไปจำลองสร้างที่อื่นๆ เช่น ชลบุรี การจำลองคือปฏิบัติการของสังคม ที่สำคัญมากในการให้เห็นว่าเขานึกคิดอะไรถึงจำลองวัตถุเหล่านั้นมาใช้" ชาตรีกล่าว 

ชาตรีระบุว่า ปี 2483 มีการสร้างที่ว่าการอำเภอบางเขนใหม่ แบบทันสมัย เรียบเกลี้ยงไม่มีลาย ราชภัฏพระนครก็เป็นผลพวงจากความเจริญของคณะราษฎรในบริเวณบางเขน ตึกบางตึกของราชภัฏก็เป็นตึกที่เก่าแก่ที่น่าศึกษา

รวมทั้งวัดประชาธิปไตยหรือวัดพระศรีมหาธาตุ ก็มีเจดีย์ หอระฆัง หน้าบัน (เหมือนกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ซึ่งเป็นสมัยใหม่ที่เรียบเกลี้ยง เป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบยุคคณะราษฎร เป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่เป็นศิลปะแบบคณะราษฎร

นอกจากนี้พระพุทธศรีถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของคณะราษฎร ไม่ซ้ำกับพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช ของระบอบเดิม

"ช่วงสองสามปีที่ผ่านมามีการเผยแพร่วัถตุสิ่งของของคณะราษฎร ที่มีคนไปถ่ายรูป น่าศึกษาถึงความทรงจำส่วนบุคคลที่มีต่อคณะราษฎร 

"ใครควบคุมอดีต ควบคุมอนาคตได้ ใครควบคุมปัจจุบัน ควบคุมอดีตได้ ดังนั้นอดีตควรมีหลายเวอร์ชั่น ไม่ควรมีอันไหนทำหน้าที่ควบคุมอนาคตอยู่อันเดียวทั้งหมด ควรมีประวัติศาสตร์จากคนธรรมดา จากท้องถิ่น จากนักวิชาการ เป็นหนทางเดียวที่การควบคุมอนาคตจะมีสุขภาพดี ไม่เป็นอนาคตที่ควบคุมโดยคนกลุ่มเดียวทั้งหมด" ชาตรีกล่าว


คณะราษฏรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รวมมรดกคณะราษฎรบนพื้นที่บางเขน ซึ่งได้แก่ แผนกหอวิทยาศาสตร์ พธ.ทบ. สร้างขึ้นในปี 2476, อนุสาวรีย์ปราบกบฏ สร้างขึ้นในปี 2479, สถานีทดลองเกษตรกลางบางเขน สร้างขึ้นในปี 2481, วัดประชาธิปไตย สร้างขึ้นในปี 2483,อำเภอบางเขนใหม่ สร้างขึ้นในปี 2484 มีทั้งที่ว่าการ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างขึ้นในปี 2486

ศรัญญูระบุว่า เรื่องเล่าปัจจุบันมองว่าการศึกษาวิชาการเกษตรเป็นพัฒนาการมาตั้งแต่สมัย ร.5 ซึ่งเงื่อนไขการพัฒนาและจัดการศึกษาเกษตร เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตข้าราชการเข้าไปอยู่ในส่วนราชการ เรื่องเล่าแบบนี้เป็นปัญหา เพราะการมองว่ามันเป็นพัฒนาการต่อเนื่องทำให้ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อนและหลัง 2475 และพัฒนาการองค์ความรู้มีการเปลี่ยนไปหลัง 2475

ศรัญญูชี้ว่า การศึกษาการเกษตรหลัง 2475 นั้นคณะราษฎรได้เข้ามาปฏิรูปตามหลักเศรษฐกิจในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร  รัฐเข้ามาดำเนินจริงจัง จัดโครงสร้างหน่วยงานใหม่ มีนโยบายส่งเสริมอาชีพราษฎร ทั้งการเพาะปลูก การประมง การเลี้ยงสัตว์ จัดกาศึกษาทดลองทำกสิกรรมรูปแบบใหม่ เผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปรับปรุงเกษตรให้เจริญ ตั้งสถานีวิจัย ส่งเสริมให้พลเมืองเลี้ยงไก่และใช้ไข่เป็นอาหาร ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติการกินของราษฏรในด้านโภชนาการ

นอกจากนี้ศรัญญูยังได้เล่าถึงไทม์ไลน์ของจุดกำเนิดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้

2481 โอนโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมจากกระทรวงธรรมการมาอยู่กระทรวงเกษตราธิการ แล้วรวมจัดการศึกษาที่แม่โจ้เพียงแห่งเดียว พร้อมกับยกฐานะเป็น “วิทยาลัยเกษตรศาสตร์”

2482 กระทรวงเกษตราธิการ ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งที่สถานีเกษตรกลางบางเขน เพื่อจัดการศึกษาร่วมกับการทดลองทางการเกษตร 

2484-2486 วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผลิตบุคคลากรเข้ารับราชการในกรมเกษตร กรมสหกรณ์ และกรมป่าไม้

2485 พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน เสนอให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นชอบและสนับสนุนให้ตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลักดัน “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2486

2 ก.พ. 2486 สถาปนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการเรียนการสอน 4 คณะ หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี และอนุปริญญา 3 ปี มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ ให้รมว.เกษตรฯ เป็นอธิการบดีและนายกสภาโดยตำแหน่ง

จอมพล ป. กลับมามีอำนาจอีกครั้งภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ปรับปรุงกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขนานใหญ่ภายใต้บริบทสงครามเย็น

4 มกราคม 2491 กระทรวงเกษตรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมมือจัดงานจัดงานตลาดนัดเกษตรกลางบางเขนครั้งแรก เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนมีความสนใจต่ออาชีพการเกษตรและเผยแพร่ผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการเกษตรสาขาต่างๆ

2491 จัดตั้งห้องสมุดกลางบางเขน

2492 ม.ยูท่าห์สเตท ช่วยพัฒนาบุคลากรระดับสูงของมหาวิทยาลัย

2494 ส่งผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงไก่มาช่วยงานม.เกษตรศาสตร์ และส่งบุคคลากรมหาวิทยาลัยไปศึกษาดูงานที่สหรัฐอเมริกา

2495 ม.ออรีกอนช่วยปรับปรุงม.เกษตรศาสตร์ภายใต้ความช่วยเหลือทางการเงินขององค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (FOA)

ทศวรรษ 2490 จอมพล ป. สนับสนุนและจัดสรรทุนหมุนเวียนให้โครงการอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ของหลวงสุวรรณฯ รวมถึงจัดตั้งสหกรณ์นิคมไก่ในพื้นที่ใกล้ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงไก่ทั้งการจัดหาพันธุ์ อาหาร และมีตลาดรับซื้อ

นับตั้งแต่ พ.ศ.2496 ม.เกษตรศาสตร์จัดอบรมวิชาชีพฤดูร้อนแก่ประชาชนทั่วไป “โรงเรียนไก่ฤดูร้อน”

2491 โอนร.ร.เตรียมอุดมศึกษาเกษตรศาสตร์แม่โจ้ ไปสังกัดกรมอาชีวศึกษา

2495 ปรับปรุงม.เกษตรศาสตร์เป็น “กรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” สังกัดกระทรวงเกษตร

2497 โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และร.ร.ช่างชลประทานเข้ามาไว้ในกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จัดซื้อที่ดินที่เกษตรกลางบางเขน รวม 423 ไร่

18 เมษายน 2497 จอมพล ป. พิบูลสงคราม วางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารหอประชุมใหญ่ ม.เกษตรศาสตร์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net