Skip to main content
sharethis

ปธ.กก. บริษัท ทรู ยัน ตามพ.ร.บ.ปี 61 การควบรวม 'ทรู-ดีแทค' สามารถทำได้เลยไม่ต้องขออนุมัติ และไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่กสทช.มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไขที่จะลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มผลกระทบทางบวก 

22 ก.ค.2565 จากที่อนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จำนวน 4 คณะ จากการแต่งตั้งของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีกรอบเวลาให้หาข้อสรุปเพื่อทำรายงานเสนอมายังบอร์ด กสทช.เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะ"อนุญาต" หรือ" ไม่อนุญาต" ให้ดำเนินการหรือไม่ 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า หลังจากที่อนุกรรมการได้ประชุมกันในชั้นของตัวเองเป็นเวลากว่า 2 เดือน ผลสรุปที่เสนอส่งเป็นรายงานให้แก่คณะทำงานประสานงานคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจของทรูและดีแทคที่มี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช.และรักษาการเลขาธิการกสทช.นั้น จะถูกนำเสนอไปยังบอร์ดกสทช.พิจารณาในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ตามกรอบเวลาที่สำนักงานฯได้ขอขยายเวลาต่อบอร์ด 15 วัน โดยขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลรายงานจากอนุกรรมการฯทั้ง 4 ชุด โดยอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ไม่ได้มีการลงความเห็นสรุปแนบท้ายแต่อย่างใด เพียงแต่เสนอรายงานเป็นแนวทางให้บอร์ดพิจารณาเองว่า หากอนุญาตให้ควบรวมจะเป็นอย่างไร และหากไม่อนุญาตให้ควบรวมจะเป็นอย่างไร 

วันนี้ (22 ก.ค.) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่าว่า ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวภายในงาน แถลงร่วมกับ บริษัทเทเลนอร์ กรุ๊ป ย้ำว่า  ตามพ.ร.บ.ปี 61 การควบรวมสามารถทำได้เลยไม่ต้องขออนุมัติ และไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่กสทช.มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไขที่จะลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มผลกระทบทางบวก ซึ่งทางเราพร้อมทำงานกับกสทช. เพื่อผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์สูง 

หากจะมีข้อโต้แย้งที่จะไม่อนุมัติต้องไปที่ศาลปกครอง ซึ่งไม่มีผู้ให้บริการรายไหนอยากจะไปถึงจุดนั้น ดังนั้นหวังให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อเวิร์คออนเรื่องเงื่อนไขต่างๆ เพื่อทำให้อุตสาหกรรมและประเทศชาติดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนเรื่องราคาไม่ต้องกังวลไป เพราะมีกสทช.คอยควบคุมอยู่แล้ว

ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยากให้ดำเนินการไปตามครรลองของกฎหมาย กรอบเวลา และเงื่อนไขต่างๆ ที่กฎหมายที่ได้ร่างไว้ เข้าใจว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านและต้องให้เวลา ซึ่งเราเองก็ยอมรับว่ามีความกดดัน เมื่อรวมกันแล้วสัดส่วนการถือหุ้นก็จะใกล้เคียงกันที่ราวๆ 30% ส่วนว่าจะเท่าไรบ้างต้องรอดูตอนกระบวนการเทนเดอร์หุ้น ความกังวลว่ารวมกันแล้วลูกค้าเกิน 50% ซึ่งไม่จริง เนื่องจากแต่ละปีมีลูกค้าข้ามค่ายกว่า 30% เมื่อรวมแล้วการทับซ้อนจะหายไป จำนวนลูกค้าจะลดลงและน่าจะใกล้เคียงกับเอไอเอสที่มีอยู่กว่า 40%

 

ทั้งนี้เดิมมีรายงานข่าวออกมาว่าอนุกรรมการ 4 คณะที่แต่งตั้งโดย กสทช.เพื่อศึกษากรณีนี้ได้ลงมติคัดค้านการรวมกิจการครั้งนี้ 3 : 1 ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ นั้น 23 ก.ค.65 สำนักงาน กสทช. ขอแจ้งให้ทราบว่าข่าวดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากการสรุปผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ทั้งสี่ชุดยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานฯ ซึ่งจำเป็นต้องประมวลข้อมูลจำนวนมากทั้งจากการประชุมของคณะอนุกรรมการทั้งสี่ชุด การจัดทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆและรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาทางวิชาการที่สำนักงาน กสทช.ได้มีการจัดจ้างไป

“กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ระหว่างนี้สำนักงาน กสทช.กำลังรวบรวมข้อมูลรายงานความเห็นของคณะอนุกรรมการทั้งสี่คณะตลอดจนความเห็นของที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานความเห็นของสำนักงานฯ เสนอที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 3 ส.ค.2565” ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าว

หมายเหตุ : 23.30 น. วันที่ 23 ก.ค.65 ประชาไทมีการปรับแก้เนื้อหาและพาดหัว ในประเด็น มติอนุกรรมการ 4 คณะที่แต่งตั้งโดย กสทช. 3 : 1 ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ เนื่องจากภายหลัง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ที่นำมาอ้างอิงปรับแก้ รวมทั้ง สำนักงาน กสทช. ออกมาชี้แจ้งในวันที่ 23 ก.ค.65 ว่า กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net