Skip to main content
sharethis

ระบบการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่เป็นไปตามหลักสากลและบิดเบือน สังคมไทยรับรู้ผลลัพธ์เป็นอย่างดี แต่ระบบเลือกตั้งแบบไหนจึงจะเหมาะกับสังคมไทย ประจักษ์มีคำตอบของตน อย่างไรก็ตาม การที่สังคมจะเลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบไหน เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเช่นที่ผ่านมา

  • ระบบเลือกตั้งเป็นการออกแบบเชิงสถาบันที่เหตุที่มีความสำคัญเป็นเพราะส่งผลต่อคุณภาพของประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนในการมีส่วนร่วมถกเถียงเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่เรื่องเฉพาะผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีอำนาจ
  • ไม่มีระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุด มีเพียงระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับปัจจัยและเป้าหมายของสังคมนั้นๆ ว่าต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ใด
  • ระบบการเลือกตั้งที่ใช้ในปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ประจักษ์ชี้ว่าเป็นระบบที่ไม่มีความเป็นสากลและเป็นระบบผสมที่บิดเบือน
  • ประจักษ์ทดลองเสนอว่าระบบเลือกตั้งที่เหมาะกับสังคมไทยเวลานี้คือระบบผสมในสัดส่วน ส.ส.เขต 300 ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 200 โดยมีเพดานขั้นต่ำของคะแนนพรรคการเมืองที่ร้อยละ 3 เขาเชื่อว่าจะตอบโจทย์ความหลากหลาย ลดความขัดแย้ง และการกระจายอำนาจในสังคมไทยได้

คลิปนาทีที่ 2.53.50 เป็นต้นไป ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอหัวข้อ ‘การเมืองของการออกแบบระบบเลือกตั้งของไทย: จาก 2540 ถึงปัจจุบัน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ระบบเลือกตั้งในปี 2562 ที่เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญปี 2560 เผยให้เห็นความเป็นพิษได้จะแจ้ง ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “เป็นระบบที่ไม่มีความเป็นสากลและเป็นระบบผสมที่บิดเบือน”

แต่ถ้ากำลังถามหาระบบการเลือกตั้งที่ดีที่สุดก็ยังเป็นคำถามที่ผิดอยู่ดี ประจักษ์ผู้กำลังทำงานวิจัยประเด็นระบบเลือกตั้งระบุว่า ไม่มีระบบเลือกตั้งใดที่ดีที่สุดและใช้ได้เหมาะกับทุกประเทศในโลก มีก็แต่ระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมนั้นๆ และ-ซึ่งสำคัญมาก-ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการถกเถียงหาระบบเลือกตั้งที่ว่า มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครหรือกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ

ร่วมถกเถียงกับเขาว่าระบบเลือกตั้งแบบไหนที่คุณคิดว่าควรจะเป็นจากเนื้อหาต่อไปนี้

ระบบเลือกตั้งต้องเป็นเรื่องของทุกคน

ประจักษ์กล่าวว่างานวิจัยชิ้นที่นำเสนอนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า จุดมุ่งหมายของโจทย์วิจัยก็เพื่อทบทวนจุดอ่อนจุดแข็งของระบบเลือกตั้งที่เคยใช้มาตั้งแต่ก่อนปี 2540 จนถึงภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อค้นหาระบบที่อาจดีกว่าที่เคยใช้มาทั้งหมดหรือจะปรับปรุงระบบที่เคยใช้ให้เหมาะสมกับสังคมไทยได้อย่างไร โดยมีโจทย์สำคัญ 2 ประการคือควรเป็นระบบเลือกตั้งที่ส่งเสริมคุณภาพของประชาธิปไตย เนื่องจากปัจจุบันเราไม่ได้สนใจแค่ปริมาณ แต่สนใจถึงคุณภาพของประชาธิปไตย ประการที่ 2 คือระบบเลือกตั้งควรมีส่วนลดความขัดแย้งมากกว่าที่ขยายความขัดแย้ง

“ผมคิดว่าปัญหาที่ผ่านมาอย่างหนึ่งของสังคมไทยคือระบบเลือกตั้งถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเทคนิค เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คน คุณต้องจบรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงจะเข้าใจ ส่วนประชาชนแค่รอรับสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจมาให้ วันนี้ผมอยากจะเปลี่ยนทัศนคตินั้นและอยากให้เราเข้าใจว่าระบบเลือกตั้งไม่ได้ยากมาก แล้วก็อยากให้ทุกคนสนใจเพราะมันจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน”

เหตุที่ระบบเลือกตั้งมีความสำคัญเป็นเพราะมันส่งผลต่อคุณภาพของประชาธิปไตย ระบบเลือกตั้งที่ไม่เหมาะสมสามารถลดทอนคุณภาพของประชาธิปไตยได้ ทั้งยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล เนื่องจากเป็นตัวกำหนดหน้าตาของพรรคการเมือง การจะมีระบบการเมืองแบบ 2 พรรคหรือพรรคเดียว ครอบงำ หรือหลายพรรคแบบทำงานด้วยกันหรือหลายพรรคแบบเบี้ยหัวแตก ล้วนเป็นผลผลิตของระบบเลือกตั้ง การที่ผู้คนพอใจหรือไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่รัฐบาลทำอะไรติดขัดไปหมด แต่เกิดจากการมีรัฐบาลผสมถึง 19 พรรค ซึ่งก็เป็นผลจากระบบเลือกตั้งที่เลือกใช้ในปี 2560

ระบบเลือกตั้งที่ดียังช่วยลดความขัดแย้งในสังคม แม้ว่าแค่ระบบเลือกตั้งอย่างเดียวไม่สามารถเป็นยาวิเศษที่ทำให้ความขัดแย้งหายไปได้หมด เพราะแต่ละสังคมมีความขัดแย้งสะสมมาตั้งแต่อดีตและมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาก แต่มันจะช่วยบรรเทาความขัดแย้งได้

“เวลาเราพูดถึงระบบเลือกตั้งในทางรัฐศาสตร์ เรากำลังพูดถึงการออกแบบสถาบัน ถ้าออกแบบได้เหมาะสม มันจะอยู่ได้ยาว คงทน ในทุกสังคม ปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีการออกแบบเชิงสถาบันหรือ institutional design เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตย เพื่อผลิตรัฐบาลที่จะมาทำงานตอบสนองเราได้อย่างดี และมีส่วนในการช่วยสร้างสันติภาพในสังคม รัฐธรรมนูญก็เป็นสถาบันการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งมันไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า มันมีมนุษย์โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอำนาจเป็นคนออกแบบ จงใจเลือกให้มันมีหน้าตาแบบใดแบบหนึ่ง

“อย่างที่ท่านอาจเคยได้ยินวรรคทองวรรคหนึ่งที่หลุดออกมาจากปากของนักการเมืองท่านหนึ่งในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 บอกว่าพี่น้องไม่ต้องห่วง พรรคเราชนะอยู่แล้วเพราะว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา อันนี้เขากำลังพูดถึง institutional design แต่อันนี้เป็นตัวอย่างของการออกแบบสถาบันที่ไม่พึงปรารถนา เราไม่อยากได้รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายร่วมของสังคม มันควรดีไซน์โดยไม่ได้ตั้งต้นจากให้ใครได้เปรียบหรือพรรคใดเสียเปรียบ ผมคิดว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเรามีปัญหาเรื่องนี้ เวลาออกแบบระบบเลือกตั้ง กลุ่มพรรคที่มีอำนาจในขณะนั้นจะอยากเลือกระบบที่ตัวเองได้เปรียบมากที่สุดและสร้างความเสียเปรียบให้คู่แข่งขันมากที่สุด อันนี้เป็นการออกแบบเชิงสถาบันที่ถือว่าเลวร้าย”

การออกแบบระบบเลือกตั้งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบสถาบันทางการเมือง เหตุนี้มันจึงควรเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนควรเข้าไปมีส่วนร่วม ประจักษ์กล่าวว่าหากปล่อยให้เป็นเรื่องทางเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญก็จะเหลือคนที่เป็นเนติบริกรหรือรัฐศาสตร์บริการไม่กี่คนในประเทศนี้ จึงจำเป็นต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบระบบเลือกตั้ง

“ประเด็นที่อยากหมายเหตุไว้คือบรรดาสถาบันการเมืองทั้งหมด ระบบเลือกตั้งเป็นสถาบันการเมืองที่ถูกบิดเบือนได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับการออกแบบสถาบันการเมืองอื่นๆ เพราะแค่เปลี่ยนกลไกนิดเดียว  ยกตัวอย่างเปลี่ยนเขตเลือกตั้ง เปลี่ยนวิธีการคำนวณคะแนน แค่นี้เปลี่ยนเลยนะครับ หมายความว่าผลการเลือกตั้งยังเป็นเหมือนเดิมทั้งหมด การตัดสินใจเลือกของประชาชนเขาเลือกมาแล้วด้วยปัจจัยที่ซับซ้อนของเขา แค่คุณไปเปลี่ยนสูตรคำนวณอย่างเดียว อันนี้เปลี่ยนเลย เปลี่ยนที่นั่งที่แต่ละพรรคจะได้ เปลี่ยนเลยว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล พรรคไหนจะอันดับหนึ่ง อันนี้ที่มันอันตรายถ้าเราไม่สนใจประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้ง”

ไม่มีระบบเลือกตั้งใดที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประจักษ์แสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ว่าการตั้งโจทย์ว่าระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทยคืออะไรนั้นกลับเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด มันเหมือนเชื่อว่ามีระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุดอันหนึ่งบนโลกนี้และเรามีหน้าที่ไปลอกมาใช้ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีระบบเลือกตั้งใดที่ดีที่สุดในโลกที่เหมาะสมกับทุกประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีสภาพปัญหาต่างกัน ระบบเลือกตั้งแต่ละระบบจึงมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ละระบบเลือกตั้งจึงตอบวัตถุประสงค์ที่ต่างกันออกไป จุดนี้เองที่ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญยิ่ง

ประจักษ์กล่าวต่อว่าเป้าหมายของการออกแบบระบบการเลือกตั้งมีความแตกต่างกันอยู่ 5 ประการ ต้องตอบให้ได้ก่อนว่าจะให้ความสำคัญการเป้าหมายไหนมากที่สุด ถ้าเป็นเป้าหมายเรื่องความเป็นสัดส่วนระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่ง ซึ่งตอนหลังสังคมไทยเน้นประเด็นนี้มาก

“รัฐธรรมนูญ 60 ดีที่สุดเพราะพูดภาษาชาวบ้านคือไม่มีคะแนนตกน้ำ หมายความว่าเขาเชื่อว่าระบบเลือกตั้งที่ดี พรรคไหนได้คะแนนเสียงมา รวมทั้งประเทศได้กี่เปอร์เซ็นต์ ก็ควรได้ที่นั่งไปตามสัดส่วนนั้น สมมติมีคนเลือกพรรค ก. อาจารย์เด่นเป็นหัวหน้าพรรค 40 เปอร์เซ็นต์ พรรคนี้ก็ควรได้ที่นั่ง 40 เปอร์เซ็นต์ของในสภา ไม่ใช่ว่าได้เสียงรวมกันแล้วแค่ 40 เปอร์เซ็นต์แต่ได้ที่นั่งถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของในสภา อันนี้เรียกว่าเกิดความไม่เป็นสัดส่วน

“พรรคที่แพ้ในเขตเลือกตั้งแต่ได้คะแนนมาพอสมควร แต่ไม่ได้ ส.ส. เลยหรือได้ ส.ส. น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ที่เราเรียกว่าคะแนนตกน้ำ เรากำลังพูดถึงเป้าหมายว่าระบบเลือกตั้งควรสร้างความยุติธรรม ความเป็นสัดส่วนระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่ง แต่ต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่เป้าหมายประการเดียวหรือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดเสมอไป เรื่องคะแนนตกน้ำหรือไม่หรือต้องแคร์เรื่องความเป็นสัดส่วนหรือไม่

“ตอนหลังผมเห็นสังคมไทยดีเบตหรือผู้ออกแบบระบบเลือกตั้งปี 60 ออกมาดีเฟนด์ระบบเลือกตั้งของตัวเองมักจะหยิบยกแต่เรื่องนี้เพราะมันดี คะแนนไม่ตกน้ำ แต่จริงๆ ในหลายประเทศในโลกนี้ที่เป็นประชาธิปไตยที่ทำงานได้ดี มีคุณภาพที่ดี เขาใช้ระบบเลือกตั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีความเป็นสัดส่วน มีคะแนนตกน้ำเยอะแยะ แต่เขาก็ไม่ได้สนใจว่าซีเรียสเพราะว่ามันมีเป้าหมายอื่นที่สำคัญมากกว่า โดยเฉพาะข้อที่ 3 คือเสถียรภาพของรัฐบาลและประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล ถ้าประเทศนั้นมีปัญหาเรื่องความไร้เสถียรภาพมาโดยตลอด ถ้าเป็นแบบนี้เวลาเขาเลือกระบบเลือกตั้ง เขาจะเอาเป้าหมายที่ 3 สำคัญกว่าเป้าหมายที่ 1 เขาอยากได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง เช่น พรรคไหนชนะก็ได้ที่นั่งเด็ดขาดไปเลยในสภาเพื่อที่จะบริหารประเทศได้ ไม่ต้องมีรัฐบาลผสมต่อรองวุ่นวาย ซึ่งระบบเลือกตั้งที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้มากกว่าคือระบบเสียงข้างมาก ซึ่งจริงๆ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ใช้ระบบเสียงข้างมาก”

ประจักษ์ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษที่ใช้ระบบเสียงข้างมากโดยไม่มีปาร์ตี้ลิสต์เลย ไม่มีการแจกคะแนนให้พรรคเล็ก มีแต่เขตเลือกตั้ง ผู้ชนะ ไม่ว่าจะชนะเพียงคะแนนเดียวก็ได้เป็น ส.ส. ในเขตนั้น พรรคที่แพ้ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. เลย ทำให้คะแนนตกน้ำจำนวนมาก แต่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง มีเอกภาพทางนโยบายชัดเจน

แต่ถ้าประเทศนั้นมีคนหลายกลุ่ม หลายชาติพันธุ์ มีความขัดแย้ง หรือมีชนกลุ่มน้อยที่ไม่เคยได้เสียงในสภา ระบบเลือกตั้งที่เน้นความเป็นสัดส่วนระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่งก็จะตอบโจทย์เป้าหมายแบบนี้ โดยอาจจะขัดกับเป้าหมายอื่น กล่าวคือไม่มีระบบเลือกตั้งใดที่นำมาใช้แล้วสามารถตอบสนองทุกเป้าหมายได้

ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนานแบบปี 40 ทำพรรคใหญ่ได้เปรียบ

ประจักษ์อธิบายต่อว่ามีระบบเลือกตั้งหลักๆ เพียง 3 แบบคือระบบเสียงข้างมาก ระบบสัดส่วน และระบบผสม ในกรณีของไทยยังไม่เคยใช้ระบบสัดส่วนแบบเต็มรูปมาก่อน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ เขาบอกว่าระบบเลือกตั้งที่ใช้ในปี 2560 ก็ยังไม่ใช่ระบบสัดส่วนจริงๆ

“แบบสัดส่วนจริงๆ ต้องเนเธอร์แลนด์ที่ทั้งประเทศมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดียว แล้วทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คนไปเลือกพรรคอย่างเดียว ไม่ต้องเลือกผู้สมัคร มีบัญชีเดียว อย่างพรรค ก. ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในสภา อันนี้ไม่มีคะแนนตกน้ำเลยแม้แต่นิดเดียว คือทั้งประเทศเป็นบัญชีรายชื่อทั้งหมด เราไม่ได้ใช้และไม่เคยใช้อันนี้ ช่วงหลังตั้งแต่ 40 เป็นต้นมาเราใช้ระบบผสม ปรากฎว่าเวลาพูดถึงระบบผสมบัตร 2 ใบ สังคมไทยไปเข้าใจว่าระบบผสมมีแบบเดียว คือแบบที่เราใช้ตอนปี 40 กับ 50”

ประจักษ์อธิบายว่าระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 เป็นแบบคู่ขนานหรือ Parallel System ที่เน้นความเป็นเสียงข้างมาก เน้นรัฐบาลที่เข้มแข็ง มากกว่าความเป็นสัดส่วน กล่าวคือคะแนนเขตกับคะแนนบัญชีรายชื่อเป็นอิสระจากกัน พรรคใดชนะเขตเท่าไหร่ก็ได้ ส.ส. ตามนั้น ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อได้คะแนนเท่าไหร่ก็นำมาคำนวณ ถ้าได้คะแนนมากก็ได้จำนวน ส.ส. มาก ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ

กระจายอำนาจ ให้น้ำหนักกับ ส.ส.เขต น้อยลง

แต่ระบบเลือกตั้งผสมไม่ได้มีเฉพาะแบบที่ใช้ในปี 2540 และปี 2550 เท่านั้น แต่ยังมีแบบที่เรียกว่า Mixed Member Proportional System หรือ MMP โดยประเทศหลักที่ใช้คือเยอรมนี และในเวลาต่อมาก็มีหลายประเทศนำระบบนี้ไปใช้ เช่น นิวซีแลนด์ อิตาลี เม็กซิโก เป็นต้น

“แบบเยอรมันเขาจะเอาบัตรปาร์ตี้ลิสต์เป็นตัวตั้ง คือบัตร 2 ใบเหมือนกัน ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต ใบหนึ่งเลือกพรรค เอาคะแนนพรรคเป็นตัวตั้งในการดูว่าแต่ละพรรคจะได้ ส.ส. ทั้งหมดเท่าไหร่ มีความเป็นสัดส่วนมากที่สุด ถ้าในบัตรที่คนเลือกพรรค พรรคผมได้ 50 พรรคอาจารย์วสินได้ 40 พรรคอาจารย์เด่นได้ 30 ถึง 40 พรรคผมก็ควรได้ที่นั่งในสภาทั้งหมด 50 คือ 250 จาก 500 แล้วก็ไปดูว่าพรรคผมได้คะแนนจากระบบเขตแล้วเท่าไหร่ ถ้าได้ไปแล้ว 200 ผมก็จะได้ชดเชยปาร์ตี้ลิสต์มาแค่ 50 เท่านั้น แบบนี้พรรคใหญ่ก็ยังได้ที่นั่งเป็นกอบเป็นกำเพราะคนเลือกเยอะอยู่แล้ว บัญชีรายชื่อมีฐานเสียงเยอะที่สุด แต่ที่นั่งจะมีความเป็นสัดส่วนหน่อยเพราะเอาระบบเขตกับรายชื่อมาหักลบกัน จะไม่เยอะจนเกิดความเป็นสัดส่วนขึ้น

“ทีนี้ ผมอยากจะหมายเหตุว่าในโลกนี้ ประเทศที่ใช้ระบบผสมบัตร 2 ใบ มี ส.ส. ทั้งสองประเภท ส่วนใหญ่เขาจะแบ่งสัดส่วนที่ไม่ห่างกันจนเกินไป คือประมาณ 60/40 ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับ ส.ส.เขตมากกว่าเพราะว่า ส.ส.เขตมีพื้นที่ชัดเจนในการดูแลคน มันเกิดความพร้อมรับผิดได้ง่าย ส่วนปาร์ตี้ลิสต์มาจากทั้งประเทศ แต่ไม่มีเขตของตนเอง หรือเยอรมันแบ่งสัดส่วน 50/50 ปาร์ตี้ลิสต์กับเขตเท่ากัน ของไทยใช้ระบบผสม แต่ให้น้ำหนักกับเขตมากเกินไป พูดง่ายๆ ของเราสัดส่วน 80/20 เราให้ ส.ส.เขตถึง 80 เปอร์เซ็นต์ 400  คน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แค่ 100 คน ตรงนี้ผมคิดว่าถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนเพราะเรามีการกระจายอำนาจแล้ว เรามีคนมาดูแลในเขตพื้นที่มากมาย ไม่จำเป็นต้องมี ส.ส.เขตเยอะขนาดนั้น เขตเลือกตั้งของ ส.ส. มันก็ไปซ้อนทับกับ ส.จ. นายก อบจ. เทศบาล ในกรุงเทพก็มีผู้ว่า กทม. มี ส.ก. ส.ส. มาทำงานที่ใหญ่กว่า ฉะนั้นในประเทศที่มีการกระจายอำนาจดี ส.ส.เขตไม่จำเป็นต้องเยอะ เราควรมาเพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อให้ดูนโยบายภาพรวม”

เพดานขั้นต่ำ

อีกประเด็นที่ประจักษ์เสนอว่าต้องร่วมกันคิดคือจะมีการกำหนดเพดานขั้นต่ำหรือไม่ว่าพรรคการเมืองต้องได้เสียงอย่างน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะเข้าสู่สภาได้ ในรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 เพื่อขจัดพรรคเล็กเช่นเดียวกับเยอรมนีเนื่องจากประสบการณ์จากสมัยนาซี ไม่ต้องการให้พรรคสุดโต่งเข้าสู่สภา

“การกำหนดเพดานขั้นต่ำมีเหตุผลของมันอยู่ ทีนี้ก็แล้วแต่แต่ละประเทศจะใช้ตามความเหมาะสม แต่ถึงขั้นไม่มีเพดานขั้นต่ำเลย ปล่อยฟรี พรรคไหนได้นิดๆ หน่อยๆ ก็เข้าสู่สภาได้ ผมคิดว่าอันนี้เราต้องทบทวน การมีพรรคหนึ่งที่มี ส.ส. แค่คนเดียวถึง 10 พรรคมันแทบไม่มีประโยชน์อะไรกับพรรคการเมืองเลย เพราะเราเห็นว่าพรรคเหล่านี้ไม่ได้มีทางเลือกเชิงนโยบาย ต่อให้มีนโยบายก็ผลักดันอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็เกิดปรากฏการณ์ที่พรรคเล็กมารวมกันสร้างอำนาจต่อรองเพื่อขายเสียงแลกกับตำแหน่ง มีอำนาจต่อรองมากจนเกินไปส่งผลเสียต่อเสถียรภาพรัฐบาล เราจึงต้องกำหนดเพดานขั้นต่ำให้มันเหมาะสม”

เลิกระบบเลือกตั้งบิดเบือนแบบปี 60 สร้างระบบที่ตอบโจทย์ความหลากหลาย

ในช่วงท้ายประจักษ์สรุปภาพรวมว่าก่อนปี 2540 การเลือกตั้งใช้ระบบเสียงข้างมากแบบเขตเดียวหลายคน ทำให้เกิดปัญหาการขายเสียง การแข่งขันกันเองในพรรค และความอ่อนแอของรัฐบาล นำไปสู่การเปลี่ยนเป็นระบบผสมตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2560 โดยปี 2540 และปี 2550 ใช้ระบบผสมแบบคู่ขนานเหมือนกัน แต่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในปี 2550 ซึ่งถือว่ายังมีความเป็นสากลอยู่

“ตอนปี 60 เรียกว่ามีปัญหา จะเรียกว่าระบบผสมก็ไม่ได้เต็มปาก มันเป็นระบบที่มี ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เหมือนปี 40 กับ 50 แต่เหลือบัตรใบเดียว แล้วไปเลือก ส.ส.เขตไม่มีโอกาสได้เลือกปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีประเทศไหนในโลกใช้ระบบนี้ มันจึงเป็นระบบที่ไม่มีความเป็นสากลและเป็นระบบผสมที่บิดเบือน ผมถึงไม่อยากใช้คำว่าระบบผสมกับปี 60 เท่าไหร่ คำว่าจัดสรรปันส่วนผสมก็เลยต้องแต่งขึ้นมาเองเป็นแบบไทยๆ ฉะนั้นก็ถูกแล้วที่เราเปลี่ยน ผมคงไม่พูดถึงปัญหาเพราะคนพูดไปเยอะแล้ว”

ประเด็นที่ประจักษ์ต้องการชี้คือเวลาพูดถึงการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ สังคมไทยมักพูดประหนึ่งว่ามีเพียงแบบเดียวในโลกคือแบบที่ใช้ตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งที่ยังมีระบบเลือกตั้งแบบผสมที่ใช้บัตร 2 ใบแบบในเยอรมนีและนิวซีแลนด์ที่เป็นระบบผสมแบบสัดส่วนโดยนำคะแนนมาผูกกัน ซึ่งนักวิชาการเห็นว่าเป็นระบบผสมที่ดีกว่า เนื่องจากมีข้อดี 2 ข้อ หนึ่ง-คะแนนไม่ตกน้ำ มีความเป็นสัดส่วน ให้โอกาสพรรคทางเลือก พรรคขนาดกลางและเล็กให้สามารถแข่งขันกับพรรคขนาดใหญ่ได้ และสอง-ยังคงเสถียรภาพ และประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลไว้ เพราะแม้ว่าจะยังเป็นรัฐบาลผสม แต่ส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลผสม 2–3 พรรค ไม่ใช่รัฐบาลผสม 10 กว่าพรรคแบบที่เป็นอยู่เวลานี้

“ในขณะเดียวกัน ระบบแบบนี้ก็ป้องกันไม่ให้เกิดรัฐบาลพรรคเดียวครอบงำไปเลย ซึ่งระบบผสมแบบคู่ขนานที่เราใช้ตามรัฐธรรมนูญ 40 ยังทำให้มีโอกาสเกิดรัฐบาลพรรคเดียวที่ครอบงำไปเลยได้ ซึ่งในบริบทปัจจุบันผมคิดว่ามันอาจทำให้เกิดภาวะผู้ชนะได้หมด ผู้แพ้เสียหมด แล้วไปซ้ำเติมความขัดแย้งในสังคมไทยได้”

ประจักษ์เห็นว่าระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับสังคมไทยปัจจุบันน่าจะเป็นระบบที่ตอบโจทย์เรื่องความหลากหลายของพรรคการเมือง เขาคิดว่าสังคมไทยก้าวพ้นระบบ 2 พรรคไปแล้ว ยากที่จะมีรัฐบาลพรรคเดียวได้ และหากมีพรรคเดียวโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งก็มีสูง พรรคอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าไปมีอำนาจหรือแบ่งสรรอำนาจจะรวมกันจะเกิดความไม่พอใจ การประท้วงจะเกิดขึ้นได้ง่าย รัฐบาลผสมแบบ 2-3 จึงอาจจะตอบโจทย์ความขัดแย้งในปัจจุบันได้ สามารถทำงานได้และมีประสิทธิภาพ

“บททดสอบเสนอตอนนี้เบื้องต้นจากที่ค้นคว้ามา ผมคิดว่าสัดส่วน 300/200 มีความเป็นสากล ส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบผสม ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ควรต่างกันมากเกินไป ผมเลยเสนอให้แทนที่จะปรับเป็น 400/100 ควรเป็น 300/200 เพดานขั้นต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์สูงเกินไปเมื่อกลับไปดู เลือกตั้งราวห้าหกครั้งที่ผ่านมาพรรคที่ได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ พรรคเล็กพรรคน้อยเยอะมาก แต่ไม่กำหนดเลยก็มีโอกาสที่เราจะได้พรรคแบบ 1 ที่นั่งเข้ามาสภา ผมคิดว่า 3 เปอร์เซ็นต์กำลังเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย”

หมายเหตุ เรียบเรียงจากงานเสวนา Direk Talk: สายลมแห่งรัฐ (ศาสตร์): การศึกษารัฐศาสตร์ในโลกยุคใหม่ หัวข้อ ‘การเมืองของการออกแบบระบบเลือกตั้งของไทย: จาก 2540 ถึงปัจจุบัน โดยประจักษ์ ก้องกีรติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net