Skip to main content
sharethis

14 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้ง โดยการลงมติ 5 ต่อ 4 ถอดถอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จากปมแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นำมาซึ่งคำถามต่อขอบเขตของอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จุดจบ สั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองไทย และทางแก้ไขปัญหานี้จะทำได้อย่างไร เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยกลับมาเป็นปกติ

ประชาไท สัมภาษณ์ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมาร่วมมองปัญหารัฐประหารโดยตุลาการผ่านการขยายอำนาจก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เบื้องหลังความคิดของชนชั้นนำ และวิธีการแก้ไขที่อาจอยู่ที่การกลับมาจับมือกันอีกครั้งของ 2 ขั้ว พรรคประชาชน-เพื่อไทย สร้างฉันทามติแก้ไขรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจขององค์กรอิสระ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจทำรัฐประหารเงียบ ก้าวข้ามอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ ส่งสัญญาณอันตายต่อเสถียรภาพการเมืองไทย

ประจักษ์ มองว่า ถ้าจะให้ความเห็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำแถลงวินิจฉัยถอดถอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ต้องมองต่อเนื่องกันจากการยุบพรรคการเมืองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (7 ส.ค.) ซึ่งจะเห็นว่าตอนนี้เราเห็นรัฐธรรมนูญทำรัฐประหาร 2 ครั้งภายในสัปดาห์เดียว

ประจักษ์ ระบุว่า การทำรัฐประหารครั้งแรก พรรคก้าวไกล ใช้อำนาจของตัวเอง และเป็นอำนาจที่ชอบธรรม เพื่อแก้ไขกฎหมายตามอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าทำไม่ได้ และถูกตีความว่าล้มล้างการปกครอง นำมาสู่การยุบพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญในการทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้เสียงของประชาชน 14 ล้านเสียงไม่มีความหมาย ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ว่าในประเทศไหนก็ตามทั่วโลกต้องแก้ไขกฎหมายได้ กฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าห้ามแก้ไข ในเมื่อมันไม่มีการเขียนตรงไหนว่าห้ามแก้ไข ทุกพรรคการเมืองควรมีสิทธินำมาพิจารณาว่าจะแก้ไขหรือไม่แก้ไข นี่คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญก้าวข้ามอำนาจนิติบัญญัติเข้ามา

แฟ้มภาพ เศรษฐา ทวีสิน (ที่มา: เฟซบุ๊ก เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin)

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เราเห็นอำนาจตุลาการก้าวล่วงเข้าไปในอำนาจฝ่ายบริหาร คือปกติการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของนายกรัฐมนตรี และไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่รัฐธรรมนูญระบุถึงการที่เศรษฐา ผิดจริยธรรมเข้ามา ซึ่งเป็นคำที่กำกวม และถกเถียงกันได้ ซึ่งถ้าการแต่งตั้งไม่เหมาะสมก็มีการทักท้วง หรือฝ่ายค้านหรือฝ่ายนิติบัญญัติสามารถอภิปรายคัดค้านได้ในสภาฯ สังคมก็วิพากษ์วิจารณ์ สื่อก็วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผลอาจจะทำให้นายกฯ เปลี่ยนใจไม่ตั้งเป็น รมต. แต่ไม่ควรที่จะมีอำนาจเข้าไปทำให้ฝ่ายบริหารหมดอำนาจด้วยข้อหาที่มันกำกวม

โดยอาจารย์รัฐศาสตร์ มองว่าทั้ง 2 กรณี สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า "ตุลาการธิปไตย" หรือสภาวะที่ตุลาการเป็นใหญ่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ซึ่งปกติ 3 อำนาจ ประกอบด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ (พรรคการเมือง-สภาฯ) ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) และตุลาการต้องถ่วงดุลกัน ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เป็นตุลาการทั้งหมดอย่างศาลยุติธรรมต่างๆ เฉพาะแค่ตัวศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ ไม่ได้มีที่มายึดโยงจากประชาชน แต่กลับมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ซึ่งมีที่มายึดโยงกับประชาชนมากกว่า นี่จึงเป็นสภาวะที่น่ากลัวมากของสังคมการเมืองไทย โดยเฉพาะเสถียรภาพทางการเมือง และระบอบประชาธิปไตย

มองเบื้องหลังชนชั้นนำผ่านการใช้อำนาจตุลาการธิปไตย

ประจักษ์ กล่าวว่า เบื้องต้น ศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการสร้างให้มันเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลเป็นต้นมา แต่ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน (2567) ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ หรือทางการเมืองของชนชั้นนำในการขัดขวางพัฒนาการทางประชาธิปไตย ถ้าเราเห็นแพตเทิร์นหรือแบบแผนการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดมันไม่อาจปฏิเสธได้ที่มันจะนำมาสู่ข้อสรุปนี้ 

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า ก่อนมีศาลรัฐธรรมนูญ ชนชั้นนำมีเครื่องมือเดียวในการที่จะล้มล้างประชาธิปไตยก็คือการทำรัฐประหาร แต่เมื่อการทำรัฐประหารมีต้นทุนที่สูงขึ้น และมันโจ่งแจ้งและโดนบอยคอตจากทั่วโลกเมื่อคุณทำรัฐประหาร ชนชั้นนำไทยเลยมาใช้เครื่องมืออันหนึ่งที่แนบเนียนกว่าก็คือ "เครื่องมือทางกฎหมายผ่านศาลรัฐธรรมนูญ" โดยใช้คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในการเปลี่ยนดุลอำนาจในสังคม ซึ่งมันก็คือเท่ากับการยึดอำนาจโดยไม่ต้องเอารถถังออกมา เช่น คุณยุบพรรคที่ได้เสียงถล่มทลายที่ได้ใจประชาชนมากที่สุด โดยไม่ต้องไปทำรัฐประหารยึดอำนาจ ตัดสิทธิ์นายกฯ ก็ตัดสิทธิ์มาแล้วหลายครั้งนี่ไม่ใช่ครั้งแรก มันคือการเปลี่ยนอำนาจที่มันแนบเนียนมากขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่รู้เท่าทันตรงนี้และเราไปวิเคราะห์แค่ในทางกฎหมาย ปัจจุบัน มันไม่ได้เป็นเรื่องของหลักนิติศาสตร์อีกต่อไปแล้ว แต่เรามองรัฐธรรมนูญในฐานะความสัมพันธ์ทางอำนาจ และเกมการเมืองของชนชั้นนำในการควบคุมดุลอำนาจทางการเมือง

ประจักษ์ ก้องกีรติ 

"บางทีเราอาจต้องยอมสรุปว่า ชนชั้นนำไทยไม่ค่อยมีเหตุผล"

เบื้องหลังการถอดถอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเศรษฐา และยุบพรรคก้าวไกล ประจักษ์ มองว่า เราไม่มีทางรู้ได้เลย เวลาเราเข้าสู่พรมแดนทางความคิดของชนชั้นนำไทย มันดูไม่เป็นเหตุเป็นผล ถ้าสมมติเราวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอย่างเดียวโดยอยู่บนหลักอำนาจล้วนๆ เราจะไม่เห็นประโยชน์ของการยุบพรรคก้าวไกล ทั้งที่ชนชั้นนำประสบความสำเร็จในการสกัดพรรคก้าวไกลไม่ให้ขึ้นมาเป็นฝ่ายบริหาร ความฝันอะไรที่เคยเสนอเอาไว้ก็ผลักดันไม่ได้ กฎหมายมาตรา 112 ไม่มีทางได้แก้ไขถ้าดุลอำนาจยังเป็นแบบนี้ การยุบพรรคยิ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะว่ามันยิ่งไปเพิ่มแรงโกรธแค้นให้กับประชาชน และทำให้พรรคก้าวไกล (ปัจจุบันคือพรรคประชาชน) ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า การตัดสิทธิ์นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ก็ไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วขึ้นมาระหว่างพรรคเพื่อไทย และพลเอกประยุทธ์ หรือก็คือฝ่ายคณะรัฐประหารเก่า ชนชั้นนำทางการเมืองไทยได้ประสบความสำเร็จในการตั้งรัฐบาลที่ปลอดภัยที่สุดไปแล้วเท่าที่จะเป็นไปได้ เลยไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องไป “คว่ำเรือ” เพราะเขาตั้งรัฐนาวานี้ขึ้นมาเอง มันต่อมาจาก 'เรือแป๊ะ' ถ้าใช้ภาษาของวิษณุ เครืองาม (ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน) ต่อเนื่องมาจากระบอบประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีท่าทีแตกหักหรือท้าทายโครงสร้างเดิมเลย และมันตั้งขึ้นมาได้เพราะว่าชนชั้นนำอนุญาตให้มันตั้งขึ้นมาได้ โดยการสกัดพรรคก้าวไกล เป็นรัฐบาลที่เซฟแล้วที่จะไม่ไปรื้อถอนโครงสร้างอำนาจเดิม มันเลยไม่สมเหตุสมผลว่า จะเอานายกรัฐมนตรีเศรษฐา ลงจากตำแหน่งทำไม และมันทำให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอีกตอนนี้ในการที่จะตั้งรัฐบาลรูปโฉมใหม่อย่างไรที่มันจะสนองผลประโยชน์ของชนชั้นนำได้ดีกว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐา "บางทีเราก็ต้องยอมสรุปว่าชนชั้นนำไทยไม่ค่อยมีเหตุผล"

อาจารย์รัฐศาสตร์ มองว่า ผลกระทบจากการถอดถอนเศรษฐา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขามองไม่เห็นผลดีจากเรื่องดังกล่าว ทั้งผลกกระทบในเรื่องเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นความศรัทธาของกระบวนการยุติธรรมที่สูญเสียไปในสังคมไทย  มันก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไปทำไมเพราะชนชั้นนำไทยควบคุมได้ทุกอย่างอยู่แล้ว

'ชนะเลือกตั้งมันยาก ทำรัฐประหารมันง่าย'

ต่อประเด็นที่ทำไมชนชั้นนำไทยมักใช้วิธีการทำรัฐประหารทั้งผ่านทหาร หรือผ่านตุลาการ ประจักษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งมันคือการชนะใจประชาชน และถ้าจะชนะอันดับหนึ่งต้องเอาชนะใจประชาชนเป็น 10 ล้านคน แต่ถ้าจะทำรัฐประหารคุณแค่ไปควบคุมนายพลไม่กี่คนก็พอ ถ้าจะเล่นเกมนิติสงครามก็ไปควบคุมตุลาการ 9 คน ง่ายกว่ากันเยอะ การจะชนะใจคนเป็นสิบๆ ล้านมันต้องลงทุนลงแรงเหนื่อยยากลำบาก สู้ไปหากลวิธีควบคุม 9 คน ให้มารับใช้คุณมันง่ายกว่า มันทำให้การเมืองไทยมันเลยวนเวียนอยู่อย่างนี้ เพราะว่าชนชั้นนำชนะเลือกตั้งไม่ได้ ก็ต้องมาใช้ 2 เครื่องมือนี้คือ รัฐประหารโดยทหาร หรือรัฐประหารโดยตุลาการ

หากต้องการ 'เสถียรภาพทางการเมือง' โจทย์แรกต้องจัดการขอบเขตอำนาจองค์กรอิสระ

อาจารย์รัฐศาสตร์ กล่าวว่า ชัดเจนว่าถ้าเราไม่แก้โจทย์เรื่อง "ตุลาการธิปไตย" ซึ่งมันไม่ใช่แค่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่มันคือองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) รวมถึง ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เราอย่าลืมว่ามันยังมีคดีที่ ป.ป.ช.จะตัดสินคดี สส.ก้าวไกล 44 คนที่ยื่นร่างกฎหมาย (แก้ไข/ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) อีก ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหมดเหมือนกลายเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยสูงสุดตัดสินชะตาชีวิตของประเทศได้เลยโดยไม่ต้องสนใจเสียงของประชาชน กระทั่งตีความหลักกฎหมายของตัวเองผิดๆ เพี้ยนๆ ที่ตัวเองร่างเองด้วยซ้ำ

ก็หมายความว่าถ้าไม่แก้โจทย์อันนี้เรื่องตุลาการเป็นใหญ่แล้วมีอำนาจจนล้นพ้นเกินไปสังคมไทยก็ไม่สามารถมีประชาธิปไตยได้ กระทั่งไม่สามารถมีเสถียรภาพทางการเมืองได้เพราะว่ามันยิ่งไปเพิ่มความขัดแย้ง

"มองไปข้างหน้าก็เห็นแต่ความขัดแย้งอยู่ข้างหน้า เพราะว่าเลือกตั้งกันมาพรรคที่ชนะอันดับหนึ่งไม่ได้ตั้งรัฐบาล ตอนนี้มันไม่ใช่แค่นั้น พรรคอันดับ 2 อุตส่าห์ข้ามขั้วกับฝ่ายอำนาจเก่าเพื่อตั้งรัฐบาลแล้ว พรรคเพื่อไทยก็เสียต้นทุนไปเยอะแยะ ก็ยังมาโดนกำจัดอีกก็คือมันไม่มีหลักเกณฑ์อะไรแล้ว เท่ากับการเลือกตั้งไม่มีความหมายโดยสิ้นเชิงเลยตอนนี้ทั้งพรรคอันดับ 1 อันดับ 2 ตกเป็นเหยื่อของอำนาจตุลาการที่มันควบคุมไม่ได้" ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง กล่าว

ประจักษ์ เสนอว่า ถ้าเราไม่แก้โจทย์นี้ พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลยังไม่เห็นว่ามันมีปัญหาร่วมกันแล้วมาจับมือกันเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองตรงนี้ไม่มีทางที่สังคมจะเดินหน้าไปได้ แล้วมันก็ควรมีบทเรียนแล้วว่าถ้าคุณไม่แก้โครงสร้างการเมืองคุณแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องไม่ได้

"ที่บอกว่าเศรษฐกิจปากท้องมาก่อน แก้เรื่องนี้ก่อนการเมืองค่อยมาทีหลัง มัวแต่แก้เรื่องการเมืองเดี๋ยวไม่ได้แก้เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง สิ่งที่เกิดขึ้นภายในสัปดาห์เดียวมันบอกให้เห็นว่า ความเชื่อเรื่องนี้มันไม่จริง มันต้องกลับกันถ้าคุณไม่แก้เรื่องโครงสร้างการเมืองคุณไม่มีทางได้ไปทำเรื่องอื่น" อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

ฝ่ายนิติบัญญัติถึงเวลาสร้างฉันทามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำกัดอำนาจองค์กรอิสระ 

ประจักษ์ เสนอว่า ถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งผลักดันมันไม่เพียงพอ มันต้องเป็นฉันทามติจากภาคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองหลักๆ ที่สำคัญเอาด้วยกัน เอาแค่เพื่อไทยกับพรรคประชาชนตอนนี้ที่เป็นพรรคอันดับหนึ่งกับสองจับมือกันก็มีเสียงเกินครึ่งในสภา มันก็สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ คือพูดง่ายๆ ว่ามีเอกภาพหรือเปล่า ถ้าคุณไม่มีเอกภาพจากภาคการเมืองเองคุณก็ไม่สามารถแก้ได้ ก็ถูกแบ่งแยกแล้วปกครองอย่างที่เป็นอยู่ซึ่งพอถูกแบ่งแยกแล้วมวลชนก็แตกสลายพรรคการเมืองที่เคยต่อสู้มาด้วยกันมาทะเลาะกันเอง พอเป็นแบบนี้ก็ตกเป็นเหยื่ออย่างที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7-14 ส.ค.)

พอแบ่งแยกแล้วปกครอง ชนชั้นนำจะทำยังไงก็ได้ ก็คือคุณพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ไม่มีอำนาจต่อรองทำตัวเองอ่อนแอ ถ้าอย่างน้อยกลับมามีจุดร่วมกันในเรื่องนี้ เรื่องอื่นก็เห็นต่างกันไป มันไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยต้องมีจุดร่วมกันว่าต้องแก้โครงสร้างการเมือง ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายยุบพรรคกับแก้อำนาจของศาลรัฐธรรมนญและองค์กรอิสระทั้งหลายเรื่องขอบเขตอำนาจ เพื่อให้ประชาธิปไตยกลับมาเป็นปกติ แล้วแข่งกันเองในเกมที่ยุติธรรม (Fair) กว่านี้ พรรคการเมืองต่างๆ ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อแบบที่เราเห็นช่วงที่ผ่านมา

วันแถลงตั้งรัฐบาลประชาชน ของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เมื่อ 18 พ.ค. 2566

ฝากถึงชนชั้นนำ อย่าคิดว่าประชาชนรู้ไม่ทัน

อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทิ้งท้ายถึงชนชั้นนำทางการเมืองที่กำลังใช้อำนาจตุลาการธิปไตยว่า ประชาชนรู้เท่าทันรัฐประหารโดยฝ่ายตุลาการ อย่าคิดว่าคนรู้ไม่เท่าทัน ปัจจุบันไม่มีใครเชื่ออีกแล้วว่ารัฐประหารโดยกองทัพแล้วทำให้สังคมไทยดีขึ้น ตอนนี้คนไทยกำลังมาถึงข้อสรุปอีกข้อหนึ่งแล้วเช่นกันว่าเรากำลังเผชิญกับการรัฐประหารโดยกฎหมาย คนรู้แล้ว คนรู้เท่าทันแล้ว คุณใช้บ่อยเกินไปแล้วใช้แบบไม่แนบเนียนอีกต่อไปแล้ว มันโจ่งแจ้งเกินไป

"ชนชั้นนำกำลังจะหมดเครื่องมือในการรักษาอำนาจแบบเดิมๆ และถึงเวลาที่ชนชั้นนำทางการเมืองไทยต้องปรับตัว ชนชั้นนำในหลายประเทศยังรักษาอำนาจต่อไปโดยคุณต้องปรับตัว และแบ่งผลประโยชน์ให้กับสังคม ไม่ใช่ว่ารวบทุกอย่างไว้ในฝ่ายเดียวตามอำเภอใจ ไม่ยั่งยืน เขาอาจจะรู้สึกว่ายุบใครก็ได้ ตัดสิทธิ์ใครก็ได้ ไม่ต้องสนใจผลการเลือกตั้ง ไม่ต้องสนใจเสียงประชาชน ถ้าวันหนึ่งประชาชนหมดความอดทนแบบที่เคยอดทนมาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทย พอถึงวันนั้นประชาชนจะต่อสู้ขึ้นมา" ประจักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net