มองหาบเร่แผงลอยในฐานะผู้ประกอบการรายย่อยในเมืองอย่างไร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ประเด็นเรื่อง “หาบเร่แผงลอย” ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งมีชุดนโยบายที่พร้อมสนับสนุนการค้าหาบเร่แผงลอยในหลากมิติ ทั้งด้านการบริหารจัดการ การส่งเสริมเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้าง การพัฒนาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย เช่น การส่งเสริมให้ผู้ค้าแผงลอยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ, การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ช่วยดูแลพื้นที่การค้า, การจัดทำฐานข้อมูลผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ, การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้า, การพัฒนาอาสาสมัครเทคโนโลยี รวมถึงการหาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขาย หรือศูนย์อาหาร

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ และทีมยุทธศาสตร์ที่ทำงานเรื่องหาบเร่แผงลอย ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน สะท้อนถึงมุมมอง และแนวคิดการมองหาบเร่ที่น่าสนใจ [1] [2] [3] ได้แก่

“หาบเร่แผงลอยเป็นวิถีชีวิตของคนที่มีรายได้น้อย สำหรับเป็นแหล่งซื้ออาหาร
ราคาไม่แพง และเป็นแหล่งให้ค้าขายที่พอเลี้ยงชีวิตไปได้”

“หาบเร่แผงลอย เป็นกลไกเศรษฐกิจที่สำคัญต่อคนกรุงเทพฯ ทั้งเป็นอาชีพ
และเป็นแหล่งอาหารอร่อย ราคาประหยัด ช่วยลดค่าครองชีพให้กับคนเมือง”

ทั้งนี้ แนวทางการจัดการหาบเร่แผงลอยที่คำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่

“คนต้องเดินได้สะดวก ต้องมีคณะกรรมการดูแลเป็นรายจุด ไม่ใช่รายเขต ให้พ่อค้าแม่ขาย คนเดิน ที่อยู่ในพื้นที่ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด ตักเตือนกันเอง ใช้พลังของคนในการกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ดูแลกันเอง ... อนาคตต้องตอบสังคมได้ว่าเก็บเงินไปทำอะไร และถ้าส่วนหนึ่งนำกลับมาพัฒนาพ่อค้าแม่ค้าได้ก็ดี เช่น ทำเป็นกองทุนพัฒนาหาบเร่”

“เพื่อให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอยู่ได้ในเศรษฐกิจที่ผันผวนสูงแบบนี้ กทม.จึงต้องสนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้ามีความมั่นคงในการค้าขาย ในพื้นที่ที่ไม่ขวางทางเท้า มีระบบจัดการขยะ เพื่ออาหารสะอาดและสุขอนามัยดี โดยความตั้งใจของ กทม. คือ จัดหาเงินทุน บริหารจัดการ และจัดหาพื้นที่ใหม่ให้กับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย”

“โครงการหาบเร่แผงลอยไม่ใช่โครงการสวัสดิการของรัฐ โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ขายมีงานทำที่ยั่งยืนและคิดค่าเช่าที่ยุติธรรม”

แนวคิด และแนวทางการจัดการหาบเร่แผงลอย ดังกล่าว สะท้อนมุมมองใหม่ของหน่วยงานภาครัฐที่มีต่อผู้ค้าหาบเร่แผงลอย นั่นคือ การมองเห็นว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เป็นพลังสำคัญของการพัฒนาเมือง และมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองไปพร้อมกับการพัฒนาของเมือง หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย คือ “ผู้ประกอบการรายย่อยในเมือง” อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการจัดการหาบเร่แผงลอยฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยในเมือง ยังมีข้อคำนึงถึงบางประการที่ทำให้กระบวนการจัดการต้องทำความเข้าใจบริบทแวดล้อม และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการค้าแผงลอยร่วมด้วย ได้แก่

1) การค้าแผงลอยบนพื้นที่สาธารณะแต่ละพื้นที่มีลักษณะพื้นที่ สภาพแวดล้อม ลักษณะผู้ซื้อ ผู้บริโภค รวมถึงประเภทสินค้าที่จำหน่ายมีความแตกต่างกัน แม้ในภาพรวมอาจแบ่งประเภทการค้าแผงลอยแบบกว้างๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม ตามประเภทของผู้ซื้อ คือ แผงลอยชุมชน ออฟฟิศ และท่องเที่ยว แต่รูปแบบการบริหารจัดการจำเป็นต้องคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่ สภาพแวดล้อม และผู้ซื้อเป็นสำคัญ

2) กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเดิมที่ทำการค้าขายอยู่ส่วนใหญ่มีกระบวนการจัดการ พยายามรักษามาตรฐาน ระเบียบ และความสะอาด รวมถึงตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ ผู้ใช้ทางเท้า และรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่อยู่แล้ว แม้บางครั้งอาจสร้างความไม่พอใจกับผู้คนเดินเท้าอยู่บ้าง แต่บทเรียนและประสบการณ์ของผู้ค้าดังกล่าวเป็นพื้นฐานและกลไกสำคัญสำหรับการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ของผู้ค้ากับชุมชน เจ้าของอาคาร และผู้ขายวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานของการค้าแผงลอยยังมีความสัมพันธ์ต่อชุมชน ธุรกิจการค้า และอาชีพที่เกี่ยวเนื่องนอกเหนือจากการค้าแผงลอยที่มองเห็นอยู่บนพื้นที่สาธารณะ

3) การคัดเลือกผู้มีสิทธิทำการค้าถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก การคัดเลือกโดยพิจารณาจากเกณฑ์รายได้เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงประสบการณ์การค้าขาย ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ เงินทุนหมุนเวียน จะส่งผลโดยตรงต่อผู้ค้าใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ ผู้ค้าที่ทำการค้าอยู่แต่เดิม ผู้บริโภคในฐานะลูกค้าประจำ รวมถึงส่งผลกระทบทางอ้อมต่อห่วงโซ่อุปทาน และความสัมพันธ์ในสภาพแวดล้อมรอบพื้นที่ทำการค้านั้น

4) การจัดหาพื้นที่และบริหารจัดการพื้นที่ทำการค้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ค้าทำการค้าอยู่ พื้นที่ที่เคยถูกยกเลิกการทำการค้า หรือพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยมีการทำการค้า จำเป็นต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น สร้างความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งมีกระบวนการติดตามประเมินผลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ค้า ผู้บริโภค คนเดินเท้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมจัดการทางเท้า และพื้นที่สาธารณะ

5) การส่งเสริมให้ผู้ค้าแผงลอยให้มีอาชีพที่มีศักดิ์ศรี มีความมั่นคงในอาชีพ และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม นับเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยากภายใต้ระเบียบและกฏเกณฑ์รัดกุมมากเกินไป แต่กระนั้นก็มีความเป็นไปได้มากมาย หากมองเรื่องนี้เป็นทางเลือกที่หลากหลายในการบริหารจัดการ เช่น การจัดเก็บรายได้และพัฒนากองทุนสาธารณะ สำหรับนำมาใช้บริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ พัฒนากิจกรรมสาธารณประโยชน์ และจัดสวัสดิการสังคมในพื้นที่, การพัฒนาศักยภาพผู้ค้า พัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการ ที่นำไปสู่การได้รับสิทธิประโยชน์ในการทำการค้า การเข้าถึงแหล่งทุน และการเติบโตของธุรกิจ, การเปิดโอกาสให้ผู้ค้าใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ในการค้าได้รับการฝึกอบรมและทดลองทำการค้า หรือทดลองนำสินค้ามาวางขายร่วมกับผู้ค้าเดิม, การเปิดโอกาสให้คนว่างงานในพื้นที่เข้ามาช่วยดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบ ความปลอดภัย หรือทำงานสนับสนุนการค้าบนพื้นที่สาธารณะ, การพัฒนาแนวทางกฏเกณฑ์การทำการค้าบนพื้นที่สาธารณะที่พร้อมรับความแตกต่างหลากหลายของบริบทของพื้นที่และผู้คน ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีการจัดทำพื้นที่ทดลอง สำหรับการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เข้ามาร่วมออกแบบ บริหารจัดการ และประเมินผลร่วมกันต่อไป

6) กระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติ นโยบายจะเป็นจริงได้ก็ด้วยการนำไปปฏิบัติ จำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่มีความชัดเจนในนโยบาย เป้าหมาย วิธีการ ในขณะเดียวกันฝ่ายนโยบายต้องพร้อมที่จะสนับสนุนการปฏิบัติการตามหลักธรรมาภิบาล

การก้าวเข้าสู่การมองผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในฐานะผู้ประกอบการรายย่อยในเมือง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิธีการมองผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเริ่มต้นขึ้นแล้วจากนโยบายที่เปิดกว้างมากขึ้น ในลำดับต่อไปของการมองหาบเร่แผงลอยในฐานะผู้ประกอบการรายย่อย จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถคาดหวัง และมีความหวังกับการค้าหาบเร่แผงลอยรูปแบบใหม่ๆ ที่จะพัฒนาขึ้นไปสู่การคำนึงถึงผู้บริโภค คนเดินเท้า มาตรฐานสินค้าและบริการ และสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้มีความต่อเนื่อง ยั่งยืน พยายามตอบสนองความต้องการกับผู้บริโภค คนเดินเท้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือคนที่อาจไม่ชอบหาบเร่แผงลอย จำเป็นต้องสร้างกระบวนการปรึกษาหารือและกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาทางออกของการอยู่ร่วมกันในเมืองโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

 

 

 

 

[1] https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220712125511581

[2] https://www.facebook.com/dr.yui.kessara/posts/

pfbid0FLdU5esFkCKc62DoJZjqgyEN7Xw49KNz2v2Q4XHWwyY7sMjCVjvAbH7fKG1oL4yhl

[3] https://www.bangkokpost.com/thailand/special-reports/2359334/city-hall-begins-street-cleaning?fbclid=IwAR1cbUeYBRvCcWTRQQFb2zPN4c_GD-IFr4gjBeSEbQNZwk6jcUOJ0KsOF6I

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศ. ดร. นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ 
วิชยา โกมินทร์ และ ดร. บวร ทรัพย์สิงห์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท