Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านรอบผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ราว 60 คน แห่ให้กำลังใจ ‘ทนายวราภรณ์’ รับทราบข้อหาแจ้งความเท็จ กรณี ‘ชัยวัฒน์’ เผาบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย เมื่อปี’58 ด้าน 6 องค์กรทนายความ-สิทธิมนุษยชน แถลงจุดยืนหนุนทนายความต่อสู้เพื่อชาวบ้าน

 

31 ส.ค. 2565 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (31 ส.ค.) ที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายฯ จากกรณีทนายวราภรณ์ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจแทนปู่คออี้ แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาไล่รื้อหมู่บ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เมื่อปี 2558 โดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี ซึ่งทนายวราภรณ์ ให้การปฏิเสธในเบื้องต้น และได้นัดหมายมาให้การเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 31 ตุลาคม 2565

ทนายวราภรณ์ เดินทางมาถึง สภ.แก่งกระจาน เวลา 10.00 น. พร้อมด้วยทีมทนายความ ขณะที่ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ รอบผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ประมาณ 60 คน มามอบดอกไม้ให้กำลังใจ

ชาวบ้านรอบอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้กำลังใจทนายวราภรณ์ อุทัยรังษี หน้าสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี (ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)

ทั้งนี้ ทนายวราภรณ์ เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา และให้การกับพนักงานสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนฯ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย รู้ว่ามิได้มีการกระทำความเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนฯ ว่า มีการกระทำความผิดและเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลให้ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 172 173 174 วรรคสอง และ 181 จากเหตุเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2558 คออี้ มีมิ และวราภรณ์ ผู้รับมอบอำนาจจากนายคออี้ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ และให้ดำเนินคดีอาญากับชัยวัฒน์ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับพวก ในกรณีเผาไล่รื้อหมู่บ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานเมื่อวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 ทำให้ที่อยู่อาศัย ยุ้งฉาง และทรัพย์สินของชาวบ้านได้รับความเสียหาย โดยชัยวัฒน์ กล่าวหาว่าการแจ้งความดังกล่าวเป็นการแจ้งความเท็จ เนื่องจากเพิงพักที่ได้มีการจุดไฟเผา เป็นเพิงพักร้างไม่มีผู้อยู่อาศัยแล้ว อีกทั้งยังมีพยานหลักฐานว่า การเผาเพิงพักเหล่านั้น ไม่ได้กระทำในวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 ตามที่ได้มีการกล่าวอ้าง

ทนายวราภรณ์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน นัดหมายให้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 โดยไม่มีการขอศาลฝากขังตัวผู้ต้องหา

หลังจากเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน ทนายวราภรณ์ ประกาศต่อหน้าชาวบ้านที่มาให้กำลังใจว่า คดีนี้ไม่ใช่การดำเนินคดีส่วนบุคคล แต่การรับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้ คือการได้รับภารกิจร่วมสู้กับชาวกะเหรี่ยง เป็นบทพิสูจน์การต่อสู้ โดยทนายวราภรณ์ ยืนยันว่าจะสู้เคียงข้างกับชาวบ้านต่อไป ไม่เกรงกลัวกับการดำเนินคดี ทั้งนี้ หากชัยวัฒน์ เห็นว่าการแจ้งความของปู่คออี้ เป็นการทำให้ชัยวัฒน์ เสียหาย ก็มีสิทธิที่จะแจ้งความดำเนินคดี แต่ขณะเดียวกัน ชัยวัฒน์ก็มีภาระที่จะต้องพิสูจน์กับสังคมว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับปู่คออี้ และชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ไม่เป็นความจริงอย่างไร  

นายอภิสิทธิ์ เจริญสุข ชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจเดินทางมาให้กำลังใจวราภรณ์ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีความแก่ชาวบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะในคดีของปู่คอดี้ ตนมีความรู้สึกว่าการที่ทนายถูกแจ้งความครั้งนี้สะท้อนอะไรหลายอย่างในสังคม เนื่องจากทนายวราภรณ์ต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชนในที่ดินทำกินและสิทธิในการกลับไปใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม การถูกฟ้องครั้งนี้ไม่ได้สั่นคลอนกำลังใจของชาวบ้าน การออกมาช่วยเหลือชาวบ้านในด้านกฎหมายถือเป็นความชอบธรรม ดังนั้น ชาวบ้านยืนยันว่าพร้อมต่อสู้ต่อไป

อัครินทร์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่า วันนี้ทุกคนมาให้กำลังใจทนายวราภรณ์ ที่ถูกชัยวัฒน์ฟ้อง เพราะเรื่องนี้มีผลต่อกำลังใจของชาวบ้าน เนื่องจากทนายเป็นผู้ที่ยืนเคียงข้างชาวบ้านมาโดยตลอด แต่ก็พร้อมจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนต่อไป เพราะเมื่อทนายความไม่ยอมแพ้ ชาวบ้านก็ยอมแพ้ไม่ได้

ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 13.52 น. เฟซบุ๊กเพจ 'Cross Cultural Foundation (CrCF)' ของหน่วยงานภาคประชาสังคม 'มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' โพสต์ข้อความ ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนสนับสนุน ทนายวราภรณ์ ต่อสู้เพื่อชาวบ้านบางกลอย มีข้อความดังนี้

รายละเอียด

ยืนหยัดเคียงข้างวราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความสิทธิมนุษยชน

กรณีถูกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรดำเนินคดีจากการทำหน้าที่ทนายความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน

31 สิงหาคม 2565

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจแก่งกระจาน ได้ออกหมายเรียกทนายความวราภรณ์อุทัยรังษีให้ไปพบในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 เวลา 9.00 น. ในคดีที่นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการผู้ว่าคดีพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิดแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นและกระทำความผิดตามตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า คดีนี้เงียบหายไปกว่าหนึ่งปี แต่หลังจากที่ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลทำให้นายชัยวัฒน์กลับเข้ารับราชการได้อีก พนักงานสอบสวนจึงได้มีหมายเรียกให้ทนายความวราภรณ์ไปรับทราบข้อหาดังกล่าว

มูลเหตุที่ทนายความวราภรณ์ อุทัยรังษี ถูกแจ้งความดำเนินคดีนี้เนื่องจากทนายความวราภรณ์ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความ ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยให้เป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายคออิ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง และเป็นผู้เสียหาย เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีนายชัยวัฒน์กับพวกที่ร่วมปฏิบัติการในยุทธการตะนาวศรีใช้กำลังรื้อถอนเผา ทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินรวมทั้งบ้านเรือนจำนวน98 หลังของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยทำกินในบริเวณพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายอย่างร้ายแรง โดยต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ชี้มูลว่านายชัยวัฒน์ น่าจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ส่งผลให้นายชัยวัฒน์ถูกลงโทษทางวินัยให้ออกจากราชการตามคำสั่งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่132/2564  ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 

นอกจากนี้ ก่อนที่ ป.ป.ท. จะชี้มูลความผิดนายชัยวัฒน์ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ส.660/2559 ให้กรมอุทธยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงรวม 6 คนเป็นเงินคนละประมาณ 50,000 บาทเนื่องจากการกระทำละเมิดของนายชัยวัฒน์ และพวกต่อชาวกะเหรี่ยง ในยุทธการตะนาวศรีดังกล่าวข้างต้นด้วย 

โดยคดีปกครองดังกล่าว ปู่คออี้ ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากทนายความวราภรณ์ อุทัยรังษี และทนายความอาสาคนอื่นๆ ของสภาทนายความ

ดังนั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรตามรายนามด้านล่างนี้ จึงออกแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อเสนอความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.ขอสนับสนุนการทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของทนายความ    วราภรณ์ อุทัยรังษี อย่างถึงที่สุด

2.วิชาชีพทนายความและนักกฎหมาย มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมทนายความต้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีอิสระและปราศจากความหวาดกลัวโดยไม่ถูกมองว่าเป็นคู่ความเสียเองหลักการนี้ได้รับการรับรองไว้ในคำนำของหลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยบทบาททนายความ (UN Basic Principles on the Role of Lawyers) โดยหลักการพื้นฐานนี้ได้กำหนดมาตรการป้องกันเอาไว้ว่ารัฐต้องดูแลทนายความให้ (1) สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนได้โดยปราศจากการข่มขู่ขัดขวางรังควานหรือการแทรกแซงโดยมิชอบธรรมและ (2)จะต้องไม่เผชิญกับหรือถูกข่มขู่ว่าจะถูกดำเนินคดีหรือแทรกแซงทั้งทางการบริหารทางเศรษฐกิจหรือทางอื่นใดจากการกระทำใดๆที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาชีพ

3.ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในชั้นเจ้าพนักงานและในชั้นพิจารณา ได้ตระหนักว่า  ทนายความวราภรณ์ อุทัยรังษีได้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความตามมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ และในฐานะทนายความอาสาผู้ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความ ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แต่กลับถูกแจ้งความดำเนินคดีซึ่งจะมีผลเป็นการปิดปากประชาชนไม่ให้ตรวจสอบ ร้องเรียน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่าการแจ้งความดำเนินคดีทนายความวราภรณ์อุทัยรังษีเป็นการกระทำที่สุจริตหรือกลั่นแกล้งหรือไม่

4.รัฐบาลพึงกำหนดมาตรการตรวจสอบและยุติการฟ้องคดีปิดปาก และการดำเนินคดีต่างๆที่เข้าข่ายการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก(Strategic lawsuit against public participation - SLAPPs) ต่อทนายความ นักกฎหมาย และนักปกป้องสิทธิมนุษย์ชนที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยบทบาททนายความ และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรของสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล (ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน) โดยเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมจะต้องไม่เปิดทางให้ผู้มีอิทธิพลหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ใช้กระบวนการยุติธรรมโดยไม่สุจริตโดยเด็ดขาด

5.ขอเรียกร้องให้บรรดาทนายความ โดยเฉพาะสภาทนายความ ดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมสนับสนุน ปกป้องการทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทนายความรวมทั้งสนับสนุนการต่อสู้คดีของทนายความวราภรณ์ อุทัยรังษี ครั้งนี้อย่างถึงที่สุดด้วย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้นายชัยวัฒน์ได้แจ้งความดำเนินคดีนายสมัคร ดอนนาปี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและวุฒิบุญเลิศนักวิชาการชาวกะเหรี่ยงกรณีขอให้มีการตรวจสอบการครอบครองที่ดิน “ไร่ชัยราชพฤกษ์”ของพี่ชายนายชัยวัฒน์และคดีอื่นๆ ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรตามแถลงการณ์ฉบับนี้ขอประกาศสนับสนุนและยืนหยัดเคียงข้างการต่อสู้อย่างกล้าหาญของทนายความวราภรณ์ อุทัยรังษีจนถึงที่สุด เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินและทนายความวราภรณ์ อุทัยรังษี รวมทั้งผู้คนที่เกี่ยวข้องอีกมากมายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง 

ด้วยความเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความยุติธรรม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน(TLHR)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net