Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานเอาตัวชาวกะเหรี่ยงบางกลอยออกจากบ้านบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน ชาวบ้านกังวลจะมีการดำเนินคดีและทำให้ "หน่อแอะ" ลูกปู่คออี้ฆ่าตัวตาย ยืนยันให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตาม MOU ที่ชาวบ้านกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ตกลงกันไว้เมื่อ 16 ก.พ.

5 มี.ค.2564 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือรายงานว่า ชาวบ้านบางกลอยอ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ประมาณ 50 คน ได้เดินทางมาปักหลักที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังทราบข่าวการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวชาวบ้านกว่า 10 คนที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน หนึ่งในนั้นคือหน่อแอะ มีมิ วัย 59 ปี บุตรชาวของปู่คออี้ โคอิ มีมิ

ชาวบ้านบางกลอยล่างที่ไปติดตามชาวบ้านบางกลอยที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานนำตัวกลับลงมาจากบ้านบางกลอยบน ภาพจาก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ชาวบ้านบางกลอยล่างที่ไปติดตามชาวบ้านบางกลอยที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานนำตัวกลับลงมาจากบ้านบางกลอยบน ภาพจาก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ทางมูลนิธิอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของผู้แทนชาวบ้านบางกลอยล่างคนหนึ่งว่า หลังจากได้ข่าวว่าเจ้าหน้าที่นำตัวชาวบ้านราว 10 คนจากล้านบางกลอยบนลงมาจึงมาเพื่อให้เห็นว่าจะทำอะไรกับชาวบ้านบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปข้างในและมีการติดป้ายห้ามเข้าหากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย และตัวแทนชาวบ้านดังกล่าวแสดงข้อห่วงกังวลว่าจะมีการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีโทษหนัก คือจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี ปรับ 4 แสน-2ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหน่อแอะ มีมิ จะฆ่าตัวตาย

ชาวบ้านบางกลอยล่างที่ไปติดตามชาวบ้านบางกลอยที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานนำตัวกลับลงมาจากบ้านบางกลอยบน ภาพจาก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ภาพจาก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ชาวบ้านคนดังกล่าวมีข้อเสนอว่าให้ทางเจ้าหน้าที่ยื่นยันตามบันทึกข้อตกลง(MOU) เมื่อวันที่ 16 ก.พ.และให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ลงมาเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหา

ลงนาม MOU แล้ว ชาวบางกลอยกลับจากทำเนียบฯ แต่โดนขอให้เขียนประวัติระหว่างทางขึ้น

“จริงๆ แล้วก็มีข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาแล้ว มีกรรมการแล้ว ก็คุยกันแล้วว่าจะหาทางออกร่วมกัน แต่มาออกหมาย แล้วควบคุมตัวแบบนี้มันไม่แฟร์ ไม่ใช่ทางออกที่เราตกลงกันไว้ ผมอยากให้เขาทำตามข้อตกลงเดิม อย่าทำแบบนี้ได้ไหม เรารอให้คณะทำงานฯ มาทำงานก่อน นี่อยู่ดีๆ ไม่พูด ไม่จา ไปเอาชาวบ้านลงมา จะยิ่งขัดแย้งกว่าเดิม” ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยย้ำกับมูลนิธิฯ

ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่รับหน้าที่เป็นทนายให้กับกะเหรี่ยงบางกลอยว่า ช่วงเช้าวันนี้มีชาวบ้านโทร.มาแจ้งว่า ชาวบ้านบางส่วนที่ตัดสินใจเดินเท้าขึ้นไปบนบางกลอยบน ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จับตัวลงมาด้านล่างประมาณ 10 รายแล้ว โดย 1 ในนั้นมี หน่อแอะ มีมิ ลูกชายปู่คออี้ พร้อมกับหลาน โดยถูกนำตัวมายังที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

จากนั้นเมื่อ 16.40 น. ประชาไทได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ วราภรณ์ เพิ่มเติมเธอระบุว่าสถานการณ์ล่าสุดทีมทนายความที่เดินทางล่วงหน้าไปถึงแล้วเพื่อพบตัวผู้ที่ถูกจับกุม ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าพบ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ใช่ทนายความของผู้ต้องหาไม่สามารถให้เข้าพบได้

19.10 น. วราภรณ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสรุปแล้ววันนี้มีคนที่ถูกจับทั้งหมด 87 คน เป็นเยาวชน 36 คน แต่ไม่มีการดำเนินคดีและได้รับการปล่อยตัวแล้ว มี 29 คนที่ถูกจับกุมและตำรวจได้ทำการเปรียบเทียบปรับแล้ว และมีชาวบ้านที่ถูกจับตามหมายจับทั้งหมด 22 คน โดยถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำเขากลิ้ง

ทั้งนี้วราภรณ์ระบุว่าวันนี้ทีมทนายความไม่สามารถพบตัวชาวบ้านได้เลย แม้จะพยายามขอเข้าพบตัวชาวบ้านที่ถูกจับกุมตั้งแต่บ่าย 2 โมง แต่ถูกเจ้าหน้าที่กันไว้ไม่ให้พบเลยเป็นเวลา 4 ชั่วโมงกว่าจนกระทั่งทางตำรวจมีการแถลงข่าวตอนประมาณ 6 โมงเย็นว่ามีการแจ้งข้อหาและนำตัวไปฝากขังแล้ว โดยอ้างว่าทางพนักงานสอบสวนได้ให้ทนายความจากสภาทนายความเข้าร่วมการสอบสวนโดยที่ไม่ทราบว่าทางชาวบ้านยินยอมหรือไม่ ทั้งที่ตัวแทนของชาวบ้านบางกลอยได้ทำหนังสือขอทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.2564 แล้ว

วราภรณ์แจ้งว่าวันนี้ไม่สามารถดำเนินการขอประกันตัวได้ทันแล้ว แต่จะมีการยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลในวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่าต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัวเท่าไหร่

จับตา ผวจ.เพชรบุรีเรียกประชุมด่วนแก้ปัญหาบางกลอย - พีมูฟแถลงอัด รมว.ทรัพยากรฯ ไร้ความเข้าใจ

ไทยพีบีเอสรายงานเรื่องนี้โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ได้นำพี่น้องที่ขึ้นไปบนใจแผ่นดิน ที่ยังเหลืออยู่ทยอยลงมาทั้งหมด ซึ่งอาจจะรวมนายนอแอะ มีมิ ลูกของปู่คออี้ด้วย แต่คาดว่าน่าจะนำลงมาทั้งหมด ทั้งนี้ยังยืนยันว่า เราใช้วิธีการเจรจา ไม่ได้ใช้กำลัง หรือความรุนแรง ทุกอย่างเป็นไปตามคำสั่งศาลที่ตัดสินออกมาแล้ว โดยในการปฏิบัติการมีการตรวจสุขภาพให้และเตรียมจัดหาที่ดินแหล่งน้ำเพื่อรองรับ ส่วนเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาบุกรุกป่ากับชาวบ้านจะขอตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงฉบับที่ลงนามร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ และจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ประกอบไปด้วย ข้อเสนอเร่งด่วน 3 ข้อ ได้แก่ 

1. ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด 

2. หยุดการสกัดการขนส่งเสบียง รวมถึงจุดสกัดเดิม และจุดสกัดเพิ่มเติมทั้งหมด และ 

3. ยุติคดีของสมาชิก ภาคี #SAVEบางกลอย ทั้งหมด 10 คดี กรณียื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564

และข้อเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการทำงานร่วมกับ สถาบันวิชาการเครือข่ายภาคประชาชน ตัวแทนพี่น้องกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อมูล และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่

1. ให้ชาวบ้านที่ประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียน และดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัย ทำกิน และดำเนินวิถีชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ โดยรับรองสิทธิ์ในการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม

2. ยุติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

3. ยุติการขัดขวางการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจำเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอย

4. ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการด้านการยุติการจับกุม ดำเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน

5. ในกรณีที่ชาวบ้านครอบครัวใดประสงค์จะอยู่บ้านบางกลอยล่าง ให้รัฐดำเนินการจัดสรรที่ดิน ทั้งที่อยู่อาศัยและทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคง

6. รัฐจะต้องยุติการดำเนินการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการตั้งจุดสกัดกั้น เดินลาดตระเวน และตรวจค้นสร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านบางกลอย และมีมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสมาขิกชุมชนบางกลอยทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net