Skip to main content
sharethis

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รับโอน ‘พล.ต.รวิศ' อดีต ผบ.รร. เตรียมทหาร เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร  ไม่มีชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

2 ส.ค.2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ให้รับโอนนายทหารสัญญาบัตรเป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร 

โดยระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับโอนนายทหารสัญญาบัตรเป็นข้าราชการ ในพระองค์ฝ่ายทหาร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 4 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 มาตรา 13 และมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหาร งานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ ยศทหาร พุทธศักราช 2479 มาตรา 25 มาตรา 27 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลตรีรวิศ รัชตะวรรณ ตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการกองทัพไทย (อัตรา พลตรี) ปรับย้าย มาสังกัด หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ดำรงตำแหน่ง นายทหารปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน่วยบัญชาการ ถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลตรี) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2565

ประกาศ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช 2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก 'Wassana Nanuam' วาสนา นาน่วม นักข่าวที่ติดตามประเด็นความเคลื่อนไหวของกองทัพ ระบุด้วยว่า พลตรีรวิศ รัชตะวรรณ หรือ เสธ.โจ้ เคยเป็น ผบ.รร. เตรียมทหาร เป็น แกนนำ ตท.26 เติบโตมาจาก ร.11 รอ.

อนึ่ง มาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 นั้น บัญญัติไว้ว่า

"การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตําแหน่ง ให้เป็นไปตาม พระราชอัธยาศัย

การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตาม พระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา"

พระบรมราชโองการ ประกาศให้รับโอนก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้ง 3 ฉบับไม่มีชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นกัน

ทั้งนี้หลัง 10 พ.ค. 60 ที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ ประกาศเกี่ยวกับข้าราชการในพระองค์นั้นจะไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยก่อนหน้านั้น จะออกเป็นประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี และมีนายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ตัวอย่างประกาศสํานักนายกฯ เกี่ยวกับข้าราชการในพระองค์และข้าราชการพลเรือนในพระองค์

ที่มา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ที่มา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

สำหรับประเด็นปัญหาและผลกระทบของการไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น 22 ก.ย.2564 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณาทั้งในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบบราชการ และระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะส่งผลให้เกิดคำถามและข้อสงสัยถึงปัญหาใหญ่ 3 ประการ คือ ปัญหาทางรัฐธรรมนูญมาตรา 182 การบริหารราชการแผ่นดินที่ซ้ำซ้อน และที่ทางของพระราชอำนาจในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เข้ามาเหยียบย่างพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นทุกที ทั้งหมดนี้นำไปสู่ 1 คำถามสำคัญของประเทศไทย เพราะในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ไม่ทรงใช้อำนาจโดยแท้ในทางการเมือง การบริหาร การลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจโดยแท้ในเรื่องนั้น ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ และเป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดิน ทรงใช้พระราชอำนาจโดยแท้ตราพระราชบัญญัติ ประกาศกฎหมายต่างๆ บริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง

อนึ่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา  182 เป็นหนึ่งใน 7 มาตราที่มีการแก้ไขหลังพระราชทานข้อสังเกตมีซึ่งมีการแก้ไขตามมาแม้รัฐธรรมนูญฯ จะผ่านประชามติไปแล้ว โดยมีความแตกต่างดังนี้

มาตรา  182 ที่ผ่านประชามติ

"บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ

ให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงบรรดาที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการ"

มาตรา 182 ใหม่ (ฉบับแก้ไข และประกาศใช้)

"บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ"

หมายเหตุ : มีการปรับแก้ข้อมูลเพิ่มเติมวันที่ 8 ส.ค.65

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net