Skip to main content
sharethis

'สำนักข่าวชายขอบ' รายงาน ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของเผยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แจงเหตุสร้างเขื่อนปากแบง กั้นแม่น้ำโขงเฉียดแดนไทย อ้างช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชาวบ้านริมโขง 8 จังหวัดลุ้นระทึกศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาคดีเขื่อนไซยะบุรี 17 ส.ค. 65 หลังรอมา 10 ปี ทนายความชี้สร้างมาตรฐานใหม่คุ้มครองผลกระทบข้ามแดน


ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวชายขอบ

7 ส.ค. 2565 สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่านายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และสมาชิกเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่าได้รับหนังสือด่วนที่สุดจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ที่ตอบชี้แจงกลุ่มรักษ์เชียงของ ภายหลังจาก กลุ่มรักษ์เชียงของได้ทำจดหมายถึง สนพ.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมากรณีการคัดค้านการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงและขอให้หน่วยงานรัฐไทยทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของประชาชนไทย เนื่องจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนร้ายแรงหลายประการต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงในเขตประเทศไทย ที่จะต้องกลายเป็นผู้รับภาระผลกระทบข้ามพรมแดนไปตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง

หนังสือชี้แจงจาก สนพ.ระบุว่า 1. การรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง เป็นความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภายใต้ราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมราคาไม่เกินกว่าที่ประมาณการไว้สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย พศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

2. โครงการเขื่อนปากแบง เป็นโครงการที่กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว เป็นผู้เสนอขายไฟฟ้า โดยโครงการได้ผ่านกระบวนการพิจารณาภายใน สปป.ลาว มาอย่างครบถ้วน ผ่านประบวนการแจ้งการปรึกษาหารือและข้อตกลง (PNPCA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) รวมทั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว ที่คณะอนุกรรมการประสานงานความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน กำหนด อาทิ ได้รับอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) แล้ว 

3. การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง ได้มีการพิจารณาถึงความต้องการพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในมิติอื่น ๆ เช่น ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบด้านเขตแดน รวมทั้งได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของโครงการ ฯ ตามใบตอบรับ Reply Form และ Joint Action Plan (JAP) จากกระบวนการ PNPCA มาพิจารณากำหนดเป็นเงื่อนไขในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) ให้ผู้พัฒนาโครงการรับผิดชอบในการเยียวยาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นต่อประเทศไทย และในขั้นตอนของการเจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

4. ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กฟผ.ได้เจรจาและระบุเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบงเป็นผู้รับผิดชอบการเยียวยาผลกระทบต่อประเทศไทย โดยระบุเงื่อนไขในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ผู้พัฒนาโครงการจะต้องนำส่งเอกสารด้านสิ่งแวดล้อมได้แก่ รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง จะต้องนำส่งรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนให้แก่ กฟผ.ก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง คือ บริษัท Pak Beng Power Company Limited (PBPC) เป็นบริษัทจดทะเบียนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยมีผู้ถือหุ้น ได้แก่ บริษัท China Datang Overseas Investment Company Limited สัดส่วนร้อยละ 51 และบริษัทกัลฟ์ Gulf Energy Development Public Company Limited สัดส่วนร้อยละ 49 โครงการเขื่อนจะสร้างกั้นแม่น้ำโขง ในเขตเมืองปากแบง แขวงอุดมไซ สปป. ลาว อยู่ห่างจากชายแดนไทย ด้านแก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 97 กิโลเมตร มีกำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.917 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (Mekong Energy and Ecology Network MEE-NET) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่าข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า การสร้างเขื่อนในลาว ตัวขับเคลื่อนหลักมาจากฝั่งไทย บริษัทผู้ลงทุนก็เป็นบริษัทไทย เงินกู้ก็มาจากธนาคารไทย ผู้ซื้อไฟฟ้าก็เป็นรัฐวิสาหกิจไทย กฟผ.ยังมีบทบาทอีกหลายอย่าง เป็นทั้งคู่สัญญาและซับคอนแทรค ดังนั้นจะพูดได้เต็มปากหรือว่า ทุกเรื่องเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของลาวและรัฐบาลไทยเป็นเพียงสนับสนุนนโยบายแบตเตอรี่เอเชียของลาว

“ที่อ้างว่าทุกขั้นตอนมีการรับฟังความเห็นและศึกษาผลกระทบ โดยกฟผ.ต้องได้รับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแนวทางแก้ปัญหาครบถ้วนจึงจะเซ็นสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า หากพบว่าไม่ถูกต้องสัญญาจะตกไปนั้น ที่ผ่านมายังไม่เคยเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะว่าได้มีการพิจารณาและท้วงติงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด หากกฟผ.มีความบริสุทธิ์ใจควรจะเปิดเผยข้อมูลรายงานและรับฟังความเห็นก่อนจะเซ็นสัญญาหรือให้มีกรรมการอิสระร่วมพิจารณา”นายวิฑูรย์ กล่าว

ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานฯ กล่าวว่า ส่วนข้ออ้างว่าการซื้อไฟจากลาวเป็นนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงนั้น ได้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อระบบนิเวศน์ประมงและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนใน 8 จังหวัดที่ติดแม่น้ำโขงได้เกิดขึ้นแล้ว และจะหนักหน่วงมากขึ้นจากผลกระทบโลกร้อนซ้ำเติมรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น ขณะนี้ ธารน้ำแข็งยอดเขาหิมาลัยซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่โขงละลายรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ไฟฟ้าที่ซื้อจากลาวยังรวมถึงที่ผลิตจากถ่านหินลิกไนต์เช่นเดียวกับแม่เมาะอีกด้วย

ด้าน นส. ส.รัตนมณี พลงกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้โพสต์เฟสบุค ว่า วันนี้ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นวันที่ท้าทายเพราะได้ฟ้องคดีข้ามพรมแดนเป็นคดีแรกคือ “คดีเขื่อนไซยะบุรี” แม้ว่า ผู้ฟ้องคดีจะเป็นคนไทย ชาวบ้าน 8 จังหวัดแม่น้ำโขง และผู้ถูกฟ้องคดีก็เป็นหน่วยงานในประเทศไทย แต่การกระทำเป็นการกระทำข้ามพรมแดน เพราะเขื่อนอยู่บนแม่น้ำโขง ในสปป.ลาว การทำสัญญาซื้อไฟฟ้าเป็นการทำสัญญาระหว่างไทย-ลาว การลงทุนโดยบริษัทไทย การปล่อยกู้สนับสนุนโครงการเป็นธนาคารไทยทั้งหมด เราจึงเรียกคดีนี้ว่า “เขื่อนไทยในลาว” การฟ้องคดีนี้ ทีมคณะทำงานประชุมชี้แจงเครือข่ายที่เป็นชาวบ้าน 8 จังหวัดแม่น้ำโขง อยู่นานพอสมควร เพื่อสร้างความเข้าใจว่า การฟ้องคดีนี้ไม่ง่าย เนื่องจากยังไม่มีความเสียในทางกายภาพ แม้ว่าจะมีความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิในเรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโครงการแล้วก็ตาม แต่เขื่อนตั้งอยู่ในลาว ทำให้ต้องมาดูเรื่องกฎหมายข้ามพรมแดน ซึ่งไทยมีเพียง พรบ.การขัดกันแห่งกฎหมาย แต่ตามพรบ.ดังกล่าวหากจะฟ้องก็ฟ้องละเมิดหรืออาญาได้ ซึ่งขณะนั้น การฟ้องละเมิดยังไม่ชัดเจนหากจะฟ้องผู้ลงทุนที่เป็นเอกชน

นส. ส.รัตนมณี กล่าวว่าเราจึงต้องหาช่องทางอื่น และพบว่าสัญญาซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ.จัดทำนั้นเป็นสัญญาทางปกครองที่อาจจะกระทบต่อชุมชนลุ่มน้ำโขง ในฐานะที่จะไปสนับสนุนการก่อสร้างให้เกิดเขื่อนขึ้น ซึ่งจากการศึกษาของคณะทำงานพบว่า การทำสัญญาซื้อไฟไม่น่าจะเป็นไปตามขั้นตอนแห่งกฎหมาย จึงใช้ช่องทางนี้ในการฟ้องคดี เนื่องจาก ศาลปกครองให้โอกาสในการฟ้องป้องกันความเสียหายได้ เพราะมีหลักการที่ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือ “อาจจะ” ได้รับผลกระทบจากการกระทำทางปกครอง เราจึงตัดสินใจจะฟ้องเพิกถอน “สัญญาซื้อไฟฟ้า” ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การฟ้องคดีแบบนี้ ที่เป็นเรื่องข้ามพรมแดน ไม่เคยถูกฟ้องคดีกันมาก่อน จึงต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่จะมาเป็นผู้ฟ้องคดี ว่า คดีนี้เป็นคดีแรก เป็นคดีที่มีความท้าทาย เนื่องจากกฎหมายไทยอาจจะไม่ครอบคลุมถึง แต่เราเห็นว่ามีช่องที่พอจะไปได้ และอาจจะได้รับการคุ้มครองโดยศาลปกครอง จึงต้องการสร้างบรรทัดฐานการฟ้องเพื่อคุ้มครองสิทธิในกรณี “ข้ามพรมแดน”

โดยบอกชาวบ้านและคนทำงานว่า คดีอาจจะแพ้ก็ได้ เราไม่ได้ไปขายฝันให้เค้า แต่เราอธิบายว่า การฟ้องเป็นอย่างไร คดีอาจจะแพ้เพราะอะไร อาจจะชนะเพราะอะไร แต่ทำไมจึงจำเป็นต้องฟ้องคดี ทั้งๆ ที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลคดีจะเป็นอย่างไร

ทนายความกล่าวว่า เรามองว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญ เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมไทยและภูมิภาค เพื่อให้เห็นว่า หากมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิข้ามพรมแดน ผู้กระทำละเมิดต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนอย่างไร โดยเฉพาะประเทศที่ผู้กระทำละเมิดอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ยิ่งต้องรับผิดชอบ ทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากประเทศนั้นๆ จำได้ว่า ชาวบ้านบอกว่า ฟ้องแล้วแพ้จะฟ้องทำไม แต่ก็มีชาวบ้านหลายคนเข้าใจว่า เราจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่ดี เพื่อให้รู้ไปว่า ไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองการละเมิดสิทธิในรูปแบบนี้ จึงทำให้มีผู้ฟ้องคดีถึง 32 คน และผู้สนับสนุนในการฟ้องคดีกว่า 1,500 คน จากทั้ง 8 จังหวัดแม่น้ำโขงในประเทศไทย จึงเป็นที่มาของวันนี้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว 7 ส.ค. 2555 ฟ้องคดี เขื่อนไซยะบุรี ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. และเจ้าของโครงการ และวันที่ 17 ส.ค. 2565 นี้ จะเป็นวันถึงที่สุดของคดีนี้แล้ว ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

“มาลุ้นกันว่า ศาลไทย กฎหมายไทย จะใช้ในการคุ้มครองผลกระทบข้ามพรมแดนได้หรือไม่

เราเชื่อว่า ทนายความไม่ได้เป็นเพียงคนใช้กฎหมาย แต่ทนายความสามารถเป็นผู้สร้างกฎหมายได้ (we are not only law user, but we are law maker) ทำให้เรายังคงสร้างความท้าทายในการดำเนินคดีเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม” หัวหน้าทนายความกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางได้มีหมายแจ้งกำหนดนัด คดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส.59/2556 นัดฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในวันจันทร์ที่ 17 ส.ค. 2565 เวลา 9.30 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดี 14 โดยจะมีตัวแทนผู้ฟ้องคดีและตัวแทนชาวบ้าน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงเข้าร่วม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net