Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวชายขอบ เผยทูตศรีลังกาวอนช่วย 40 คน ตกเป็นเหยื่อจีนเทาริมแม่น้ำเมย ขณะที่ 20 ชาติถูกหลอกมาทำงานในแหล่งอาชญากรรมฝั่งพม่าใช้ไทยเป็นทางผ่าน ผู้แทนสถานทูตเคนยาแฉชาวเคนยา 105 คน ถูกหลอกมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อนถูกพาตัวไปแม่สอด-ข้องใจผ่านด่านมากมายแต่ไม่สามารถสกัดกั้น


แฟ้มภาพเมืองชเวก๊กโก่

23 มิ.ย. 2567 สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่าแหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดนเปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้สถานเอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศไทยเพื่อขอให้ช่วยเหลือชาวศรีลังกา 43 คนซึ่งถูกหลอกมาทำงานในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย เมืองเมียวดี ประเทศพม่า โดยทั้งหมดเดินทางโดยข้ามผ่านประเทศไทย อย่างไรก็ตามยังไม่มีการตอบรับใด ๆ จากทางการไทย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตในหลายประเทศได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความช่วยเหลือมายังกระทรวงการต่างประเทศไทยเพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนของตนเองที่ถูกหลอกมาทำงานในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยซึ่งอยู่ติดกับชายแดนไทย ส่วนใหญ่ถูกหลอกลวงว่าทำงานที่มีรายได้ดี โดยนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นก็นั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินแม่สอด จ.ตาก หรือนั่งรถตู้โดยมีคนไทยหรือคนจีนเป็นผู้นำพา และเมื่อถึงแม่สอดแล้วก็สามารถข้ามแดนในช่องทางธรรมชาติ นั่งเรือข้ามแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นพรมแดน ข้ามไปยังแหล่งอาชญากรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นชเวโก๊กโก่ เคเคปาร์ค หรือแหล่งใหม่บริเวณตรงข้ามกับ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อเหยื่อถูกหลอกเข้าไปอยู่ในแหล่งอาชญากรรมแล้ว จะถูกบังคับให้ทำงานต้มตุ๋นออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ หากทำยอดไม่เข้าเป้าจะถูกลงโทษด้วยวิธีต่างๆ เช่น ใช้ไฟฟ้าช็อต ถูกโบยหลัง ขังห้องมืด อย่างไรก็ตามเหยื่อเหล่านี้ได้พยายามแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังองค์กรต่างๆ เช่น สถานทูตของประเทศตนเอง สถานทูตไทย แต่มักไม่ได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเมยเป็นพื้นที่อยู่ในความควบคุมของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (Karen Border Guard Force-Karen -BGF) นำโดย พ.อ.ชิตตู และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army – DKBA) ซึ่งไม่อยู่ในการบังคับบัญชาทั้งของรัฐบาลไทยและรัฐบาลทหารพม่า เพียงแต่มีการทำข้อตกลงกันไว้หลวมๆระหว่างกองกำลังเหล่านี้กับรัฐบาลทหารพม่า

“ที่ผ่านมาได้มีการให้ความช่วยเหลือเหยื่อชาวต่างชาติไปแล้วหลายกลุ่มหลายชาติ ส่วนใหญ่เป็นการติดต่อใต้ดินโดยญาติของเหยื่อเหล่านี้ยอมจ่ายเงินไถ่ตัว และมีทหารไทยหรือตำรวจที่มีสายสัมพันธ์กับผู้นำกลุ่มกองกำลังเหล่านี้ประสานงานให้ แต่เมื่อช่วยข้ามมาไทยแล้วก็ต้องรีบส่งตัวกลับประเทศต้นทางทันที เพียงแต่ถูกปรับในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากชาวศรีลังกา 43 คนที่กำลังตกเป็นเหยื่อแก็งค์จีนเทาในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยแล้ว ยังมีชาวต่างชาติอีกจำนวนมากที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นชาวไต้หวัน บราซิล โมร็อคโค เคนยา ฯลฯ โดยก่อนหน้านี้มีชาวต่างชาติอย่างน้อย 20 ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือออกมา ประกอบด้วย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว เวยดนาม อินโดนีเซีย ไต้หวัน จีน กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน เคนยา ยูเครน อุซเบกิสถาน เอธิโอเปีย สหราชอาณาจักร ยูกันดา โมร็อคโค บุรุนดี พม่า

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) ซึ่งเป็นองค์การเฉพาะทางของสหประชาชาติด้านการโยกย้ายถิ่นฐาน ได้จัดประชุมในหัวข้อการประสานความช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์จากพม่า ที่โรงแรมทีค อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตในหลายประเทศเข้าร่วม และตอนหนึ่งของการประชุม ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตเคยยาประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนชาวเคนยา จำนวน 108 คน ถูกหลอกมาทำงานในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมยฝั่งเมืองเมียวดี

รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตเคนยากล่าวในที่ประชุมว่า ชาวเคนยา 108 คน ถูกคุมขังในแหล่งอาชญากรรมประเทศพม่าและสามเหลี่ยมทองคำ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับการช่วยเหลือเหยื่อต้องเข้าสู่กลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism-NRM) ที่กรุงเทพฯ แต่ก่อนหน้านั้นเมื่อเหยื่อมาถึงแม่สอด ต้องเสียค่าปรับ 2,000 บาท แล้วส่งไป กทม. แต่กว่าจะได้กลับประเทศ บางคนต้องรอนานถึง 3 เดือนเพราะที่นั่งของสายการบินเต็มทั้งหมด  

“ชาวเคนยาที่ได้รับความช่วยมาจากพม่า พวกเขาถูกยึดหนังสือเดินทาง ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน เหยื่อบอกว่าหนังสือเดินทางถูกยึดระหว่างถูกทำงาน (กับแกงค์สแกมเมอร์) ผมได้ยินว่า แม่สอด คือ hub คือ gateway คือทางไปสู่ฐานใหญ่ (ของแหล่งอาชญากรรม) ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำข้ามพรมแดนไปยังแหล่ง (อาชญากรรม) ที่ฝั่งพม่า จากเคนยา เอธิโอเปีย บุรุนดี ฯลฯ ทุกคนต่างข้ามไปแหล่ง ทางเข้ามาคือสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วส่งขึ้นรถมาแม่สอด เข้าพักในโรงแรมต่าง ๆ ในเมืองแม่สอด และส่งข้ามไปยังพม่า คิดดูว่าจากสนามบินมาแม่สอด ถนนต้องผ่านด่านมากมาย เข้าโรงแรมที่พักที่แม่สอด และไปต่อจนถึงข้ามไปพม่า ไปยังแหล่งอาชญากรรม พอขากลับก็ข้ามกลับมาไทยโดยผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน มันเป็นไปได้อย่างไร” ผู้แทนประเทศเคนยา กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net