Skip to main content
sharethis

กรรมการสภาจุฬาฯ ขอให้มีการสอบสวนกรณีวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง ชี้ปัญหาการสอบสวนของคณะกรรมการว่ามีการใช้ข้อมูลเท็จในการเสนอต่อที่ประชุมสภาจุฬาฯ อีกทั้ง คกก.ก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดข้อกล่าวหาเรื่องที่ไชยันต์กล่าวหาว่ามีการใช้ข้อมูลเท็จในวิทยานิพนธ์ต่อณัฐพลทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริงมาก่อน

9 ส.ค.2565 เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์รายงานว่า มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ของ รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำ ถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้มีการสอบสวนอย่างรอบคอบต่อรายงานของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีวิทยาพินธ์ปริญญาเอกของ ณัฐพล ใจจริงเรื่องบทบาทสหรัฐอเมริกาต่อการเมืองไทยช่วงปี 2495-2500 ที่รู้จักกันในชื่อของหนังสือ“ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี”

อย่างไรก็ตามในจดหมายของเขมรัฐระบุว่า เขาพบว่ารายงานสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิทยาพินธ์ปริญญาเอกของณัฐพล ที่เลขานุการคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เสนอต่อนายกสภาฯ นั้น “เป็นรายงานเท็จ เพราะมีการใช้ข้อมูลปลอมมาประกอบรายงานการสอบสวนและใช้กล่าวหากับผู้ถูกสอบสวนอย่างณัฐพลอย่างผิดๆ”

นอกจากนั้นกรรมการสภาฯ รายนี้ยังระบุถึงข้อเท็จจริงที่เขาค้นพบจากเอกสารรายงานสอบข้อเท็จจริงและสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่าอาจจะมีปัญหาในของการสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้ โดยเขมรัฐระบุไว้ 4 ประเด็นดังนี้

1. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ส่งวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล และข้อร้องเรียน 31 ข้อ ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน เพื่อพิจารณาให้ความเห็น โดยในผลการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ในรอบแรก อ่านโดยรวม วิพากษ์ในแง่ลบ 3 คน แต่มีวิพากษ์เป็นคุณ 1 คน โดยส่วนวิพากษ์เป็นคุณระบุว่า ข้อร้องเรียน 31 ข้อนั้น ส่วนใหญ่เนื้อหาการเขียนในวิทยานิพนธ์และการอ้างอิงพอรับได้ และเหมาะสมดี ควรมีปรับปรุงเพียงส่วนน้อย

2. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ส่งคำวิพากษ์ของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ในข้อ 1 ให้นายณัฐพลทางไปรษณีย์เพื่อให้นายณัฐพลตอบข้อวิพากษ์หรือข้อสงสัยของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 และหลังจากที่นายณัฐพล ทำจดหมายตอบคำวิพากษ์ของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 คน ส่งมายังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ได้ส่งคำตอบของนายณัฐพลดังกล่าวไปยังผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ทางไปรษณีย์เพื่อพิจารณาคำตอบของนายณัฐพล โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเพียงคนเดียวที่มีการโต้แย้งการตอบกลับมารอบที่ 2 ซึ่งอาจแปลว่า ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน พอใจหรือเห็นด้วยกับคำตอบส่วนใหญ่ของนายณัฐพล

3. ในกรณีการอ้างอิงหนังสือพิมพ์ “เอกราช” ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ที่มีการกล่าวหาว่าณัฐพลอ้างเอกสารอ้างอิงเท็จในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงที่ส่งให้สภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ผมได้ทราบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ว่า “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหานี้ต่อนายณัฐพล และไม่มีการเรียกหลักฐานเอกสารหนังสือพิมพ์เอกราชดังกล่าวจากนายณัฐพล”

การกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเป็นการ ละเมิด (violate) สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการอธิบาย โต้แย้งหรือแก้ข้อกล่าวหา และทราบว่ากรรมการทุกท่านทราบว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนการสอบสวนที่ถูกต้อง แต่ก็ยังดำเนินการต่อ (ดูจากรายงานการประชุมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่มีมติให้ดำเนินการหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เอกราช) โดยข้อนี้ ผมถือว่าร้ายแรงมาก เป็นการละเมิดกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรม (violate due process) ของนายณัฐพลอย่างชัดเจน ควรจะมีการสอบสวนอย่างเร่งด่วนว่าทำไมถึงเกิดขึ้น เพราะอาจจะมีผลทำให้กระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นโมฆะ และต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ทั้งหมด หากต้องพิจารณาเรื่องนี้ในศาล

4. หนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 มีอยู่จริง นั้นหมายความว่า การนำเสนอของเลขานุการสอบข้อเท็จจริง ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ผ่านมา มีการนำเอาข้อมูลปลอม (fake news/misinformation) มานำเสนอในการประชุมในการกล่าวหานายณัฐพลอย่างผิดๆ ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้รับข้อมูลที่ไม่จริงมาประกอบการตัดสินใจ การนำ fake news/misinformation ในประกอบการนำเสนอในการประชุมสภามหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเรื่องใดๆ เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นและไม่ควรบันทึกในรายงานการประชุม หรือถ้าจะบันทึก ก็ควรมีหมายเหตุว่าเป็น fake news/misinformation

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นเรื่องหนังสือพิมพ์เอกราชนี้ไชยันต์เคยกล่าวหาณัฐพลว่ามีการใช้หลักฐานที่ไม่มีอยู่จริงในช่วง พ.ศ.2490 ที่จะสามารถรายงานเหตุการณ์ที่สมเด็จย่าและในหลวงรัชกาลที่ 9 รู้ถึงแผนการรัฐประหารปี 2490 ได้ โดยไชยันต์อ้างว่าหนังสือพิมพ์เอกราชนั้นเพิ่งถูกตั้งขึ้นในพ.ศ. 2500 โดยโรงพิมพ์ชื่อเอกราช

ณัฐพลกับไชยันต์ ใครบิดเบือนหลักฐานเพื่อสาดโคลนผู้อื่นกันแน่?

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์เอกราชที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของณัฐพลนั้นกลับเป็นหนังสือพิมพ์เอกราชคนละสำนักข่าวกัน ซึ่งหนังสือพิมพ์เอกราชที่ถูกอ้างอิงอยู่ในวิทยานิพนธ์นั้นคือหนังสือพิมพ์ที่ตั้งโดยอิศรา อมันตกุล ก่อตั้งก่อนปี พ.ศ.2490

จดหมายฉบับเต็มที่มติชนฯ อ้างอิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net