ณัฐพลกับไชยันต์ ใครบิดเบือนหลักฐานเพื่อสาดโคลนผู้อื่นกันแน่?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจากที่ณัฐพล ใจจริง ตกเป็นฝ่ายถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องหลายปีโดยไชยันต์ ไชยพรและทุ่นดำทุ่นแดง (เกี่ยวอะไรกับสิงห์ดำ สิงห์แดงน้า?) ล่าสุดณัฐพลได้ตัดสินใจยื่นฟ้องไชยันต์ฐานหมิ่นประมาทด้วยการใส่ร้ายตนต่างกรรมต่างวาระหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือการโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คว่า ณัฐพลจงใจใช้ข้อมูลเท็จเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวปรากฏอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรณีนี้อาจทำให้มีผู้สงสัยว่าณัฐพลใช้หลักฐานอะไรแน่ มีอยู่จริงหรือไม่ บทความสั้นๆ นี้จะขอบอกผู้อ่านว่าหลักฐานชิ้นนี้มีอยู่จริงและพิสูจน์ได้ไม่ยาก แต่ดูเหมือนได้ถูกบดบังด้วยอคติอันหนาทึบของนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไปอย่างน่าเศร้า

กรณีนี้เริ่มต้นมาจากข้อความ 2 ชิ้นในเฟสบุ๊คของไชยันต์ ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่ระบุว่า “พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดง” ได้ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ (เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) และหนังสือของณัฐพล และได้พบข้อผิดพลาดในวิทยานิพนธ์ที่ชี้ให้เห็นว่าณัฐพล “พยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์และสร้างกระแสความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์มาจนถึงปัจจุบัน” โดยหนึ่งในข้อกล่าวหาของไชยันต์คือ ณัฐพลระบุไว้ในวิทยานิพนธ์ของเขาว่า “สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490” และ “ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน” โดยพล.ท.กาจ กาจสงคราม หนึ่งในคณะรัฐประหารได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้ในหลวง ร. 9 ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร โดยบทวิเคราะห์นี้ณัฐพลอ้างหนังสือพิมพ์ “เอกราช” ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490

(ดู www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/pfbid031zXquB39jUfWwH3f4K5DTdVXRWi35Kc4SMskYVdsV6LsTbGWK8PzHJTzHYUWhPuFl และ www.facebook.com/chaiyan.chaiyaporn/posts/pfbid02WGm59VwYBkRWFSEHW5zQ8BwoLvZ9GeiWGV7smGPKw8rUHCLTZnepy1CgzV5Fepakl)

แล้วไชยันต์กับพวกก็วิเคราะห์ว่า “จะเป็นไปได้อย่างไรที่หนังสือพิมพ์เอกราชจะลงข่าวในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ.1947) เนื่องจากว่า “หนังสือพิมพ์เอกราชถือกำเนิดขึ้นโดยโรงพิมพ์เอกราช ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2500” “ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่เคยปรากฏหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นในบรรณพิภพในเวลานั้น” โดยไชยันต์และพวกอ้างว่าตนได้ข้อมูลนี้มาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของนางสาวพัชราภรณ์ ครุฑเมือง เรื่อง “การดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เอกราช ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม” (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, 2552)

ไชยันต์กล่าวหาต่อว่า แต่ในการพิมพ์หนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ณัฐพลกลับตัดประเด็นสมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490 และในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้าออก ไม่มีการอ้างอิงหนังสือพิมพ์เอกราชอีก เช่นนี้แสดงว่าณัฐพลรู้อยู่แก่ใจว่าข้อถกเถียงของตนไม่มีน้ำหนัก พูดอีกอย่างคือณัฐพลมีพิรุธ

กล่าวโดยสรุปคือ ไชยันต์และพวกกล่าวหาว่าณัฐพลจงใจเขียนวิทยานิพนธ์จากหลักฐานที่ไม่มีอยู่จริงเพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์และสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันกษัตริย์ ข้อกล่าวหาอันร้ายแรงนี้ได้ถูกแชร์ต่อไปในโลกโซเชียลมีเดียหลายร้อยครั้ง และน่าจะถูกแชร์และเชื่อในเครือข่ายขวาจัดในรั้วสีชมพูที่ต้องการร่วมเล่นงานณัฐพลด้วย

แต่อนิจจา ไชยันต์และพวกไม่ตระหนักแม้เพียงสักนิดว่า หนังสือพิมพ์เอกราชที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2500 ที่ศึกษาโดย นางสาวพัชราภรณ์ ครุฑเมือง นั้น เป็นคนละ “เอกราช” ที่ก่อตั้งขึ้นโดย อิศรา อมันตกุล นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดของสังคมไทย หนังสือพิมพ์เอกราชของอิศรา อมันตกุล ก่อตั้งก่อนปี พ.ศ.2490 ส่วนเอกราชในวิทยานิพนธ์ของพัชราภรณ์เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดลำปางที่ก่อตั้งโดยคนลำปางในปี พ.ศ.2500

หากไม่ใช่เพราะอคติอันหนาทึบที่บดบังปัญญาแล้วไซร้ การตรวจสอบการดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์เอกราชของอิศรา อมันตกุลก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงของนักวิชาการคุณภาพเท่าไรนัก เพราะเพียงแค่พิมพ์คำว่า “หนังสือพิมพ์เอกราช” ลงบนกูเกิล เราก็จะพบข้อมูลมากมายที่ชี้ว่าหนังสือพิมพ์เอกราชเป็นหนึ่งในผลงานของอิศรา อมันตกุล ดังเช่น

หนังสือพิมพ์เอกราชนี้ยังปรากฏอยู่ในประวัติของสุวัฒน์ วรดิลก หรือ “รพีพร” นักคิดนักเขียนคนสำคัญ และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ในปี 2534 เช่น “วารสารวัฒนธรรม” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้บรรยายเกี่ยวกับสุวัฒน์ไว้ว่า “ใน พ.ศ.2489 มีโอกาสได้เริ่มทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์เอกราช ของอิศรา อมันตกุล” “สุวัฒน์เป็นนักข่าวประจำโรงพักให้ นสพ.เอกราชได้ครึ่งปี อิศรา อมันตกุลเห็นว่าไม่เหมาะสมกับหน้าที่นี้ จึงได้เปลี่ยนให้เขียนเรื่องในเล่ม เรื่องสั้นที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ “ท่องไปในแดนรัฐประหาร (พ.ศ. 2490) ซึ่งเขียนก่อนเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ต่อมาสุวัฒน์ได้รับอนุญาตให้เขียนนวนิยายประจำฉบับเรื่องแรกคือ “สัญญารักของจอมพล” เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ในช่วงเวลานี้เองที่สุวัฒน์เกิดล้มป่วยด้วยวัณโรคที่ขั้วปอดอย่างรุนแรง เมื่อหายป่วยแล้ว นสพ.เอกราชถูกสั่งปิด ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ของเขาจึงสิ้นสุดลง” (ดู http://article.culture.go.th/index.php/blog/3-column-layout-3/225-2020-09-21-03-01-41?fbclid=IwAR3emVcM2Y4V2WuPGCtrbzOS31EtMfgkJGUhdFF-YZU6qWTZAzGA49EKYgw

และ

www.combangweb.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%A3-%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B8%A7%E0%B8%A3/)

ประวัติการทำงานที่หนังสือพิมพ์เอกราช ของสุวัฒน์ วรดิลก ยังถูกบันทึกไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “พัฒนาการนวนิยายของรพีพร” โดยวรรณภา ชำนาญกิจ (อักษรศาสตร์ จุฬาฯ, 2546) https://www.car.chula.ac.th/display7.php?bib=b1640249

ฉะนั้น การดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์เอกราชของอิศรา อมันตกุล จึงไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร แต่เป็นสิ่งที่รับรู้กันในหมู่ผู้ที่สนใจประวัติการหนังสือพิมพ์ของไทยมานานแล้ว น่าเสียดายที่นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์หลายคนที่สนิทสนมกับไชยันต์กลับไม่สามารถช่วยให้ความรู้ในเรื่องนี้กับไชยันต์ได้เลย

ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนักเรียนประวัติศาสตร์ที่สนใจการเมืองไทยร่วมสมัย เคยได้อ่านและจับต้องต้นฉบับหนังสือพิมพ์เอกราชมาแล้ว และได้ถ่ายสำเนาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเก็บไว้ด้วย ฉะนั้น จึงใคร่เสนอภาพถ่ายเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของการดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 อันเป็นฉบับเดียวกับที่ณัฐพลใช้อ้างอิงในวิทยานิพนธ์ ส่วนว่าหนังสือพิมพ์เอกราชในวันดังกล่าวนี้มีรายละเอียดแค่ไหนอย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่าเราน่าจะได้อ่านอย่างจุใจเมื่อคดีนี้ขึ้นสู่ชั้นการไต่สวนพยานหลักฐานในศาลแล้ว

ประการสำคัญ กรณีหนังสือพิมพ์เอกราชนี้ สะท้อน pattern การกล่าวหา 31 ข้อของไชยันต์ต่อณัฐพลได้ดี คือค้นคว้าเอกสารไม่ดีเอง อ่านไม่แตก ไม่เข้าใจแบ็กกราวน์ของตัวแสดงในประวัติศาสตร์ ใช้เอกสารไม่ครบ ผิดชิ้น ผิดหน้า ซึ่งณัฐพลก็ได้ชี้แจงเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการสอบสวนของจุฬาตั้งแต่ระดับคณะและมหาวิทยาลัยไปแล้ว แต่ไชยันต์ก็ยังยืนยันตาใสเช่นเดิม

ซึ่งการพูดซ้ำๆนี้ ก็ทำให้คนที่ขี้เกียจอ่านอะไรยาวๆ แต่อยากจะเชื่ออยู่แล้ว ก็ยิ่งเชื่ออย่างสบายใจมากขึ้น

ส่วนเรื่องที่ไชยันต์กล่าวหาว่าทำไมณัฐพลตัดประเด็นสมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490 และ ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า ออกจากหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีนั้น แหมๆๆๆๆ... ก็กระแสคลั่งเจ้ามาแรงเซี๊ยะขนาดนี้ เครือข่ายขวาจัดทั้งในและนอกรั้วสีชมพูช่วยกันเล่นงานเขาเซี๊ยะขนาดนี้ ใครไม่กลัวก็ไม่ใช่คนไทยแล้วล่ะครับ เขาก็ประนีประนอมด้วยการถอนเรื่องเด็ดๆ ออกแล้ว ก็ยังไม่พอใจ ตามฟาดเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก

มาวันนี้ณัฐพลจึงไม่ทนอีกต่อไปแล้ว ขอฟ้องไชยันต์กลับบ้าง เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่ากรรมต้องระงับด้วยการจองเวรเท่านั้น 

 

หมายเหตุ [i] เนื่องจากผู้เขียนเป็นเพียงนักวิชาการตัวเล็กๆคนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องใช้นามแฝงเพื่อป้องกันตนเองจากการคุกคามของเครือข่ายมาเฟียในวงวิชาการไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท