Skip to main content
sharethis

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ชี้กรณีร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชฯ ที่เสนอโดย ครม. ถูกตีตกแม้เคยผ่านสภา เหตุกษัตริย์วีโต้นั้นเรื่องใหญ่ ครม.ต้องรับผิดชอบ ด้วยการออกจากตำแหน่ง พร้อมทั้งย้ำจำเป็นต้องยกเลิกพระราชอำนาจในส่วนวีโต้นี้ และกำหนดให้นายกฯเป็นผู้รับผิดชอบ

 

 

7 ก.ย.2565 จากเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐสภาลงมติไม่ยืนยันร่างพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … (ร่างพ.ร.บ.เครื่องราชฯ) ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร "สามวาระรวด" ในวันเดียว เมื่อ 22 ธ.ค. 2564 และต่อมา 17 ม.ค. 2565 ก็ผ่านการพิจารณาโดยวุฒิสภาจบสามวาระรวดในวันเดียว หลังจากนายกฯ นำร่าง ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อ 31 ม.ค. 2565 แต่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน และไม่ได้พระราชทานร่างกฎหมายคืนกลับมา อาจกล่าวสั้นๆ ว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้ง (Veto) ร่างกฎหมาย โดยการไม่ลงพระปรมาภิไธยภายในกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าาวผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Piyabutr Saengkanokkul' ว่า ในที่ประชุมรัฐสภา มีสมาชิกอภิปราย 2 คน ได้แก่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล และสมชาย แสวงการ ส.ว. โดยตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำหน้าที่ชี้แจง คือ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ซึ่ง เลขาธิการคณะก้าวหน้า ชี้ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่มีสมาชิกคนใดอภิปราย ในสองประเด็น

ประเด็นแรก ความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และผ่านความเห็นชอบจากสภาสามวาระรวดในวันเดียว เมื่อกษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และรัฐสภามีมติไม่ยืนยันกลับไป เช่นนี้คณะรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบ ด้วยการออกจากตำแหน่ง

ประเด็นที่สอง การที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับจนถึงปัจจุบัน กำหนดพระราชอำนาจวีโต้กฎหมายนี้ส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไร เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์มิให้ตกอยู่ในแดนทางการเมือง เพื่อรักษาสถานะความเป็นกลางของพระมหากษัตริย์ จะได้อยู่ในสถานะเคารพสักการะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องยกเลิกพระราชอำนาจในส่วนนี้ และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบไป

ทั้งนี้ ปิยบุตร ระบุว่า ตนเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายเอาไว้กับสำนักข่าวประชาไทเมื่อเดือนกันยายน 2563 ตั้งใจจะเขียนเรื่องเหล่านี้ลงในหนังสือ “เปิดประตูปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ซึ่งกำหนดเผยแพร่ปลายปีนี้ ระหว่างนี้ ทุกท่านสามารถอ่านบทสัมภาษณ์นี้ไปพลางก่อน นอกจากเรื่องพระราชอำนาจยับยั้งการประกาศใช้กฎหมายหรือ Veto แล้ว ยังมีประเด็นเรื่องทรัพย์สินส่วนกษัตริย์และราชการส่วนพระองค์ด้วย (อ่านบทสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ที่ : พระราชอำนาจกษัตริย์ไทยและที่อื่นในโลกประชาธิปไตย แค่ไหน อย่างไร จึงเหมาะสม? https://prachatai.com/journal/2020/10/90148)

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระบุด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรสามวาระรวดในวันเดียว และผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาสามวาระรวดเช่นกัน จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 31 ม.ค. 2565 แต่ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน ทำให้ร่างดังกล่าวต้องกลับมาให้รัฐสภาพิจารณาลงมติว่าจะยืนยันกลับไปหรือไม่ ผลปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภามีมติ ไม่ยืนยัน 431 เสียง ยืนยัน 1 เสียง(เป็น ส.ว.ต่อมาออกมาชี้แจงว่ากดปุ่มลงมติผิด) งดออกเสียง 28 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง  เท่ากับว่ามติไม่ยืนยัน ทำให้ร่าง พ.ร.บ.เป็นอันตกไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net