Skip to main content
sharethis

"ปิยบุตร" โต้ "วิษณุ" ปมทูลเกล้าฯ ร่างแก้ รธน.60 -  ชี้ พระมหากษัตริย์ต้องลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เท่านั้น ไม่มีเรื่องกำหนด 90 วัน - อำนาจวีโต้

14 ต.ค.2564 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่า จากกรณี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ 91 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้นำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. โดยจะครบกำหนด 90 วันในวันที่ 2 ม.ค. 2565 นั้น ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้ตั้งคำถามต่อกรณีดังกล่าวในเฟซบุ๊กเพจล่าสุดว่า "ทำไมการให้สัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม นี้ต้องอ้างเรื่องครบกำหนด 90 วันในวันที่ 2 ม.ค. 2565?"

ปิยบุตร ระบุว่า หากวิษณุพูดเรื่อง '90 วัน' เพื่อหมายถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการวีโต้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเหมือนกับการวีโต้ร่างพระราชบัญญัตินั้น ความเห็นนี้ผิด ผิดทั้งในทางตัวบทรัฐธรรมนูญ ผิดทั้งในทางหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หลักการกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ไม่มีกรณี ส.ส. ส.ว. เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วและรอไว้ 15 วันแล้ว นายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ ให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้และกษัตริย์ต้องลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ทันที ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เลยว่าให้กษัตริย์มีอำนาจในการยับยั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือ veto  บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่พูดถึงพระราชอำนาจในการยับยั้งการประกาศใช้กฎหมายมีเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 146   คือ กรณีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติเท่านั้น ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนให้นำมาตรานี้มาใช้โดยอนุโลมกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น หากเป็นกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พระมหากษัตริย์ย่อมไม่มีพระราชอำนาจในการ “ไม่ทรงเห็นขอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา” และไม่มีพระราชอำนาจในการ “มิได้พระราชทานคืนมาเมื่อพ้นเก้าสิบวัน”

"กล่าวให้ชัดเจนก็คือ กษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในการวีโต้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม กษัตริย์ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เท่านั้น  หากจะอ้างว่าเป็นประเพณีการปกครองฯ หรือหากจะอ้างว่า เป็นการตีความกฎหมาย เทียบเคียงกฎหมาย ก็ไม่ใช่อีก หลักการของ Constitutional Monarchy กษัตริย์มีพระราชอำนาจได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์วีโต้ได้เฉพาะร่างพระราชบัญญัติ พระราชอำนาจในการวีโต้ก็มีได้เฉพาะร่างพระราชบัญญัติเท่านั้น ไม่รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หากจะให้รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วยก็ต้องเขียนไว้ให้ขัดเจน จะอ้างประเพณีการปกครองฯ ย่อมไม่ได้ เพราะตัวบทรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว ยิ่งหากลองเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็จะเห็นได้ชัดว่า หากรัฐธรรมนูญต้องการให้กษัตริย์มีอำนาจในการยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็ต้องเขียนให้ชัดว่าให้นำมาตราที่ว่าด้วยการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติมาใช้โดยอนุโลมกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 313 (7) และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 (7)" ปิยบุตร ระบุ

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระบุด้วยว่า การให้ความเห็นใดๆ ของ #เนติบริกร ของรัฐประหาร ของรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่าจะถูกต้องหรือต้องเป็นเช่นนั้น กรณีนี้ชัดเจนที่สุดว่าตามรัฐธรรมนูญ 2560 พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจวีโต้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้โดยทันที แม้โดยส่วนตัว ผมสนับสนุนระบบการเลือกตั้ง MMP แบบเยอรมนี ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ที่ “ปาหี่-ลักไก่-ไฮแจ็ค” เอาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนรณรงค์กันมาให้เหลือเป็นการแก้ระบบเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใหญ่ ไม่แตะประเด็นปัญหาโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ แต่เราต้องยืนยันตามหลักการว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ กษัตริย์ต้องทรงลงพระปรมาภิไธย ไม่ทรงมีพระราชอำนาจในการยับยั้งวีโต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net