นิธิ เอียวศรีวงศ์: ประชาธิปไตยใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ประชาธิปไตยนั้นไม่ทำงานในหลายสังคม ทั้งสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมานาน หรือสังคมที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยก็ตาม บางคนอาจกล่าวว่า ประชาธิปไตยนั้น “เสื่อม” ลง แต่ผมขอใช้คำว่า “ไม่ทำงาน” แทน เพราะมันสะท้อนความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เกิดในโลกปัจจุบันได้ดีกว่า

ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดในโลกที่มีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง หรือวัฒนธรรมอย่างปัจจุบัน เมื่อเงื่อนไขเหล่านี้เปลี่ยนไป จึงเป็นธรรมดาที่ประชาธิปไตยไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก แต่นั่นหมายความว่าเราอาจปรับแก้ประชาธิปไตยให้ทำงานได้ดีขึ้นภายใต้เงื่อนไขใหม่ๆ เหล่านี้ได้

คงมีประโยชน์ถ้าเราจะดูว่า ความเปลี่ยนแปลงอะไรในโลกปัจจุบันที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่ทำงาน หรือทำงานไม่ดีนัก

สาเหตุหนึ่งที่ปรากฏในหลายสังคมอาจสรุปดังที่ Tom Ginsburg & Aziz Z. Huq กล่าวไว้ใน How to Save a Constitutional Democracy ได้ว่า การแข่งขันทางการเมืองที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในทุกความหมายได้หายไป หรือถูกบิดเบี้ยวจนไร้ความหมาย ในบางสังคมเกิดขึ้นจากผู้นำทางการเมืองที่ดำเนินนโยบายประชานิยมได้สำเร็จ จนประชาชนเองไม่ขัดข้องที่จะเพิ่มพูนอำนาจให้เขาเสียจนไม่มีใครอาจแข่งขันทางการเมืองกับเขาได้

อีกหลายสังคมเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างกองทัพและชนชั้นนำ ในการขัดขวางมิให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้สิทธิประชาธิปไตย ทั้งทางกฎหมายและการเมือง เพื่อปกป้องหรือเพิ่มพูนผลประโยชน์ของตนเอง ลักษณะเช่นนี้มักเกิดในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากๆ สินทรัพย์กระจุกตัวอยู่ในมือของคนส่วนน้อย เช่น เจ้าที่ดินขนาดใหญ่, เจ้าของเหมืองแร่, ผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ (เช่น เจ้าของเครือข่ายสะดวกซื้อ ไม่ใช่เจ้าของร้านชำ) และเชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์สูง คนในตระกูลเหล่านี้ผูกขาดการศึกษาที่ดี ตำแหน่งราชการระดับสูง ทั้งทหารและพลเรือน, ผู้นำทางปัญญาของสังคมเช่นนักวิชาการระดับสูง, ผู้บริหารการศึกษา, เจ้าของสื่อสาธารณะ ฯลฯ ไว้ให้กับลูกหลาน

ภายใต้ความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ กระฎุมพีจำนวนไม่มากนัก ไม่มีทางเลือกของตนเอง นอกจากเป็นพันธมิตรของชนชั้นนำ เพราะจะเป็นหลักประกันผลประโยชน์ของตนได้มั่นคงกว่าวิธีอื่นใด

ประเด็นที่ผมต้องการจะเน้นย้ำเป็นพิเศษในที่นี้ก็คือ นอกจากความเหลื่อมล้ำ (ทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม ฯลฯ) จะนำมาซึ่งความไม่เป็นธรรมทางสังคมอย่างรุนแรงแล้ว ยังทำให้เกิดการครอบงำคนส่วนใหญ่ไว้ภายใต้การชี้นำทางความคิดของชนชั้นนำอย่างดิ้นไม่หลุด เพราะฉะนั้น แม้แต่ในระบอบเผด็จการที่ปล่อยให้มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนของชนชั้นนำและกองทัพซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ก็ยังอาจกำชัยชนะไว้ได้ (ทั้งโดยวิธีทุจริตและสุจริตหรืออย่างน้อยก็ไม่ผิดกฎหมาย… หลายครั้งด้วยความร่วมมือทุจริตของเหล่ากระฎุมพีใน กกต.เอง)

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอาจเป็นผลบั้นปลายของทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่ Thomas Piketty กล่าวไว้ แม้แต่ประชาธิปไตยก็ไม่อาจยับยั้งแนวโน้มไปสู่ความเหลื่อมล้ำได้ แต่ผมคิดว่าความเหลื่อมล้ำอาจบรรเทาผลกระทบลงได้มากทีเดียว หากมีโครงการรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง ชีวิตของคนเล็กๆ แม้ไม่อู้ฟู่เท่ากับคนรวยจำนวนน้อย แต่ก็ไม่ขาดสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของโลกสมัยใหม่ เช่น ปัจจัยสี่ที่มีคุณภาพ, การศึกษา, ระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุม, ความบันเทิงในชีวิตที่ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไป ฯลฯ

แต่รัฐสวัสดิการที่เข้มแข็งดำรงอยู่ได้ด้วยนโยบายภาษีที่ต้องเรียกเก็บในอัตราสูง เพื่อแลกกับความมั่นคงด้านอื่นในชีวิตซึ่งรัฐเป็นผู้จัดให้ แต่มีประเทศประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อยที่พลเมืองพากันลงคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายยกเลิกการเรียกเก็บภาษีสูงขนาดนั้น ทำให้โครงการรัฐสวัสดิการไม่อาจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ แต่อีกส่วนหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการมองประโยชน์ส่วนตนในระยะใกล้มากกว่าระยะไกล ปัญหาของประชาธิปไตยก็คือจะตอกย้ำทัศนคติที่เห็นแก่ประโยชน์ระยะไกลและความเป็นธรรมในสังคม โดยไม่ละเมิดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมืองได้อย่างไร

แม้ว่าประชาธิปไตยมีความแข็งแกร่งในหลายด้าน แต่ก็มีความเปราะบางในหลายด้านอยู่พร้อมกัน ที่สำคัญคือการแข่งขันอย่างเสรีระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ นั้น ที่จริงแล้วมีกติกาที่ไม่ได้บัญญัติเป็นกฎหมายกำกับอยู่พอสมควร เพราะการแข่งขันนั้นไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อชัยชนะของกลุ่มหรือพรรคการเมืองเท่านั้น จุดหมายปลายทางที่ลืมไม่ได้เป็นอันขาดคือ การแข่งขันจะนำมาซึ่งคำตอบที่ดีที่สุดแก่สังคมโดยรวม ถ้าลืมหรือละเลยเป้าหมายสำคัญนี้ ประชาธิปไตยอาจกลายเป็นการแข่งขันที่มุ่งจะล้มล้างฝ่ายตรงข้ามมากกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นำไปสู่ความอับจนของประชาธิปไตย ที่ไม่อาจแก้ปัญหาที่เป็นจริงในสังคมได้เลย

ดังกรณีที่ Steven Levitsky & Daniel Ziblatt กล่าวถึงประชาธิปไตยอเมริกันปัจจุบันไว้ใน How Democracies Die

บางคน โดยเฉพาะรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ชอบอ้างว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบปกครองของยุโรป (ตะวันตก) กับอเมริกาเหนือเท่านั้น ไม่ใช่ระบอบปกครองที่คนอื่นจะเอามาเลียนแบบอย่างมักง่าย ข้อนี้มีส่วนจริง แต่จริงในความหมายใดต้องเข้าใจให้ชัด

ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นสมบัติของคนผิวสีอะไรแน่ ในทุกวันนี้มีคนหลายผิวสีที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมาอย่างราบรื่นพอสมควร กระจายไปยังทุกทวีปด้วย ยิ่งถ้าคิดว่าประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีเพียงรูปแบบเดียว ตราบเท่าที่มันเอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของคนและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่เป็นธรรม ก็จะเห็นว่าประชาธิปไตยกระจายออกไปในหลายสังคมกว้างขวางกว่าที่รัฐบาลจีนพยายามจำกัดจินตนาการของประชาชนเอาไว้

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเริ่มเกิดระบอบปกครองประชาธิปไตย ประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกในยุโรปและอเมริกา จำกัดสิทธิประชาธิปไตยไว้ใช้กับพลเมืองของตนเท่านั้น ในขณะที่หวงห้ามกีดกันรวมทั้งปราบปรามประชาชนในอาณานิคมที่พยายามจะใช้สิทธิเดียวกันอย่างทารุณโหดร้าย

แม้ในระหว่างสงครามเย็น มหาอำนาจตะวันตกก็ยังพอใจให้ประเทศบริวารหลักของตนมีรัฐบาลที่มั่นคงมากกว่ามีรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลประชาธิปไตยย่อมอ่อนไหวต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายได้ง่ายกว่า ดังนั้น สหรัฐจึงเที่ยวอุดหนุนรัฐบาลเผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการทหาร ไปทั่วโลก เพื่อความได้เปรียบของตนในสงครามเย็น แม้จนทุกวันนี้ รัฐบาลสหรัฐก็ยังพอใจที่จะเห็นประเทศที่เป็นแกนหลักของการดำเนินนโยบายในภูมิภาคหนึ่งๆ ของตน เช่น อียิปต์ในตะวันออกกลาง ตกอยู่ในมือของใครก็ได้ที่สามารถรักษาความแน่นอนเชิงนโยบายกับสหรัฐได้อย่างมั่นคง แม้เป็นมือของเผด็จการทหารก็ไม่รังเกียจ

ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในโลกปัจจุบัน ทำให้อำนาจการตัดสินใจของประชาชนลดลงไปมาก เช่น โลกาภิวัตน์เพียงอย่างเดียว ก็ทำให้อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่สูญเสียไปแก่นโยบายของรัฐบาลและบริษัทข้ามชาติ มีเหตุหลายอย่างที่ทำให้การจัดองค์กรของชนชั้นล่าง เช่น แรงงาน หรือแม้แต่คนชั้นกลาง อ่อนแอลง ทำให้เสียเปรียบในการต่อรอง ทั้งในตลาดการเมืองและเศรษฐกิจ

ระบอบปกครองใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีข้อดีอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ก็ย่อมมีส่วนที่ไม่ตอบสนอง ประชาธิปไตยก็เช่นกัน ไม่ใช่ระบอบปกครองที่ตอบปัญหาได้ชั่วนิรันดร จำเป็นต้องปรับแก้ไปตามความจำเป็นของยุคสมัย โดยไม่ทิ้งหลักการสำคัญของระบอบ คือสิทธิประชาธิปไตยที่เป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

อันที่จริงประชาธิปไตยมุ่งจะสร้างความเป็นธรรมในสังคมมากกว่าความมั่งคั่ง เสรีนิยมต่างหากที่สัญญาว่าจะนำความมั่งคั่งมาให้แก่สังคมนั้นๆ แต่เสรีนิยมอาจไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมนักก็ได้

ในทุกวันนี้ คนจำนวนไม่น้อยเรียกร้องเผด็จการเพราะเชื่อว่าเผด็จการจะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เผด็จการทั่วทั้งโลกที่ประสบความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมีน้อยมาก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อยกเว้น นอกจากนี้ ประเทศที่ประสบความมั่งคั่งบางประเทศถูกเรียกว่า “เผด็จการ” ทั้งๆ ที่ปฏิบัติตามหลักการประชาธิปไตยบางเรื่องอย่างเคร่งครัด

เช่น สิงคโปร์ จริงอยู่ว่า กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสิงคโปร์อาจไม่เปิดโอกาสการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ฉะนั้น จะเรียกสิงคโปร์ว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มร้อยคงไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม สิงคโปร์ปฏิบัติ “นิติรัฐ-นิติธรรม” ด้านเศรษฐกิจและการบริหารสาธารณะอย่างเข้มงวด ตลาดสิงคโปร์เปิดการแข่งขันอย่างค่อนข้างเท่าเทียมและเป็นธรรม ยิ่งเสียกว่าประเทศประชาธิปไตยบางประเทศเสียอีก ความมั่งคั่งของสิงคโปร์ไม่ได้มาจากอำนาจเผด็จการล้วนๆ แต่อาศัยหลักการเสรีนิยมบางอย่างช่วยเสริมด้วย

จริงอยู่ เผด็จการทหารในเกาหลีใต้และไต้หวัน มีส่วนในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจพื้นฐานบางอย่างไว้ แต่ถ้าทั้งสองประเทศไม่เปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 ความไม่เป็นธรรมทางสังคมจะมีสูงมากในสองประเทศนี้ จนกระทั่งไม่อาจก้าวต่อไปได้ง่ายๆ เช่นผู้ลงทุนย่อมหลีกเลี่ยงประเทศที่เครียดมากเหมือนนั่งอยู่บนระเบิดเวลา

จีนนั้นมั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเผด็จการแน่ แต่เงื่อนไขที่ทำให้จีนมั่งคั่งนั้นมีหลากหลายกว่าระบอบปกครอง (เช่น ถ้าจีนมีประชากรเพียง 20 กว่าล้านคนเหมือนไต้หวัน) จริงอยู่ การใช้กำลังปราบการต่อต้านอย่างเหี้ยมโหดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ทำให้ทั้งโลกมั่นใจแล้วว่า จีนจะก้าวต่อไปบนเส้นทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยไม่ยอมให้ความวุ่นวายทางการเมืองใดๆ มาขัดขวางเป็นอันขาด

นั่นอาจทำให้ทุน, เทคโนโลยี และการผลิตระดับโลกาภิวัตน์หลั่งไหลเข้าสู่จีน แต่ในขณะเดียวกัน เผด็จการทำให้อำนาจต่อรองของคนอีกหลายกลุ่มสูญสิ้นไป ชาวนาถูกยึดที่ดิน, ประชากรอีกหลายร้อยล้านในชนบททำรายได้แทบไม่พอแก่การยังชีพ การคอร์รัปชั่นระบาดทั่วไป ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดโต่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จำเป็นต้องบรรเทาปัญหานี้ก่อนจะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านเดียวอีกต่อไป ไม่มีใครแน่ใจได้ว่า ประธานาธิบดีสีจะปลดชนวนระเบิดเวลาได้ทันหรือไม่

คิดถึงเผด็จการ คิดถึงพม่า, ศรีลังกา, ปากีสถาน อีกหลายประเทศในตะวันออกกลางซึ่งอาจมั่งคั่ง แต่ต้องแบกความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมไว้เต็มเมือง และอีกหลายประเทศในแอฟริกา ฯลฯ บ้าง ก่อนที่จะรีบเชื่อว่าเผด็จการนำมาซึ่งความมั่งคั่ง

ประชาธิปไตยใหม่ ที่ต้องแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันด้วย แต่ยังคงรักษาหลักการสำคัญที่ผดุงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนไว้ นี่เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด และอาจถึงขั้นทดลองร่วมกัน จนกว่าเราจะสามารถวางเค้าโครงของประชาธิปไตยใหม่ขึ้นเป็นคำตอบใหม่แก่โลกได้

ผมยอมรับว่า ระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมในสังคม ย่อมเป็นทางเลือกที่ไม่ง่ายนักสำหรับเราทุกคน

หลายสิบปีมาแล้ว เมื่อผมไปเที่ยวเมืองจีนครั้งแรก ไกด์ชาวจีน (ซึ่งพูดไทยคล่อง) ได้คุยกันส่วนตัวก่อนเข้านอนในคืนหนึ่งว่า ชีวิตในสมัยเหมากับชีวิตในสมัยเติ้ง เขาชอบอย่างไหน เขาตอบผมว่า เขาก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะในสมัยเหมา เราหุงข้าวหม้อเดียว แล้วกินร่วมกันทุกคน แต่สมัยเติ้ง ต่างบ้านต่างหุง เขาไม่รู้ว่า บ้านอื่นมีข้าวหุงหรือไม่

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_590805

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท