Skip to main content
sharethis

'ชลน่าน' ระบุพรรคเพื่อไทยไม่เสนอแก้ไข รธน.ในรัฐบาลนี้อีกแล้ว หลังสภาตีตก ชี้ต้องใช้เสียง ส.ว.หนุน ขัดหลักประชาธิปไตย เชื่อมีโอกาสสูงยุบสภาหลังเอเปค มองเป็นช่วงที่ดีที่สุด หากอยู่ครบเทอมจะเสียประโยชน์ ย้ำชัดหากได้ตั้งรัฐบาลไม่จับขั้วพรรคหนุนเผด็จการ


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)

11 ก.ย. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าสัปดาห์เป็นสัปดาห์สุดท้ายของการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรปีที่ 4 สมัยที่ 1 ในวันที่ 18 ก.ย. 2565 นี้ งานที่ค้างอยู่มีกฎหมาย สำคัญที่ต้องเร่งรัด คือ ร่าง พ.ร.บ. กัญชา และ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่19/2560 เรื่อง ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้วแต่วุฒิสภาแก้ไข ซึ่งหากดูสาระแล้ว สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันที คาดว่าจะผ่านในวันที่ 14 ก.ย. 2565 นี้ เช่นเดียวกับ ร่าง พ.ร.บ. อ้อยน้ำตาล ซึ่งทั้งสองฉบับนี้เมื่อผ่านสภาผู้แทนราษฎรก็เข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.กัญชา ที่ผ่านวาระ 2 แล้ว ว่า พรรคฝ่ายค้านจะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังว่าที่กรรมาธิการปรับแก้มาตอบโจทย์ของประเทศหรือมีประเด็น ที่ยังน่ากังวลหรือไม่ ซึ่งการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านให้การสนับสนุน ดังนั้นตัวกฎหมายที่เขียนออกมาต้องรองรับทางด้านการแพทย์จริงๆ ไม่เปิดช่องเปิดโอกาสเพื่อให้ใช้สันทนาการ หากจะมีเรื่องการพาณิชย์ก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ส่วนจะยากหรือ ซับซ้อน ส่งผลให้ ไม่ทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่าเราต้องการความรอบคอบ ซึ่งหากจะใช้เสียงข้างมากพยายามลากให้ผ่านได้ในวาระ 3 ก็ต้องส่งให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณา

เมื่อถามว่าหากมองในทางกลับกันการยืดเวลาจะเป็นช่องว่างเรื่องสูญญากาศทางกฏหมายหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่าเราต้องมองทั้งสองมุม ว่าถ้ามีกฎหมายออกมาจะส่งผลต่อสภาพบังคับในมุมที่ป้องกันความเสียหายก็น่าสนับสนุน และการที่สภารับหลักการวาระแรก เป็นเหตุผลที่รับได้แต่เนื้อในของกฎหมายวาระสองจึงผิดจารณาในรายมาตรา

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่สภาตีตก ว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภาตีตกร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ แบบไม่เห็นฝุ่น ได้เสียงสนับสนุนจากส.ว.มากที่สุด 40 เสียง รวมถึงร่างของภาคประชาชน และใน สมัยประชุมที่ 2 ปีที่ 4 พรรคเพื่อไทยคงไม่เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะดูจากเสียง ส.ว. แล้วคงไม่ได้รับการสนับสนุน การแก้ไขกฎหมายหากใช้เสียงข้างน้อยปกครองเสียงข้างมากก็จะทำได้ลำบาก ซึ่ง 84 เสียงของ ส.ว.มีผลมาก เมื่อ 600 เสียงเห็นชอบแต่ 84 เสียงไม่เห็นชอบทำให้กฎหมายไม่ผ่าน ซึ่งขัดหลักการประชาธิปไตยโดยทั่วไป ทั้งนี้จึงจะผลักดันเป็นนโยบาย หากประชาชนเห็นด้วยก็ขอให้เลือกพรรคเพื่อไทยเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยประชาชน

เชื่อมีโอกาสสูงยุบสภาหลังเอเปค มองเป็นช่วงที่ดีที่สุด หากอยู่ครบเทอมจะเสียประโยชน์

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลว่าหากยึดตามการครบวาระของสภาที่จะครบในเดือน มี.ค. 2566 มีโอกาส 80% ที่รัฐบาลจะอยู่ไม่ครบตามวาระ ไม่ว่าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ว่าประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่​ ก็มีโอกาสสูงที่จะยุบสภาหลังการประชุมเอเปค​ พรรคเพื่อไทยจึงต้องเตรียมพร้อมในการเลือกตั้ง​ พร้อมขอบคุณประชาชนที่มองว่าพรรคเพื่อไทยมีความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งมากที่สุด โดยอ้างอิงจากผลโพลต่างๆ

ส่วนสิ่งที่ทำให้เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่จะยุบสภานั้น ​นพ.ชลน่าน ระบุว่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ​ เชื่อว่าว่าจะตัดสินใจให้เป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด​ ในการยุบสภา​ เพราะหากอยู่ครบเทอมเขาจะไม่ได้ประโยชน์​ ยิ่งอยู่นานจะยิ่งแย่ ศรัทธาประชาชนเสื่อมไปเรื่อยๆ​ หรือเพื่อให้มีการเปิดช่องทำการใดๆ ​ซึ่งจังหวะที่พอจะได้ประโยชน์คือหลังการประชุมเอเปค ที่ยังสามารถจัดการ ส.ส. ในการย้ายพรรคได้​ เมื่อทำเสร็จแล้วหากยุบสภาจะมีโอกาสให้ ส.ส. สังกัดพรรคได้ดีกว่าปล่อยให้ครบเทอม​ หากครบเทอมต้อง​ 90​ วันก่อนเลือกตั้ง​ หากจัดตัวไว้เรียบร้อยเมื่อยุบสภาก็ย้ายพรรคได้ทันทีโดยไม่เสียสิทธิ์​ ทั้งนี้เงื่อนไขยุบสภาจะต้องจัดการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า​ 45 ​วัน​ ไม่เกิน​ 60​ วันจึงเป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุดในการจัดตัว ส.ส. และลดกระแสคัดค้านจากประชาชน​ ไม่ว่าจะพ้นจากตำแหน่งหรือไม่

ย้ำหากได้ตั้งรัฐบาล ไม่จับขั้วพรรคหนุนเผด็จการ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจับขั้วทางการเมืองหลังการเลือกตั้งว่ายังเร็วไป ส่วนที่ประกาศว่าพรรคเพื่อไทย ไม่มีเรื่องพรรคพี่พรรคน้องนั้น พรรคที่ใดแอบอ้างใช้หาเสียงจนประชาชนสับสน ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน เราประกาศชัดแล้วว่าเพื่อไทยไม่มีอย่างนั้น เราคือเพื่อไทยเท่านั้น ต้องเลือกให้ชนะเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ขออนุญาตไม่พูดชื่อ เดี๋ยวเสื่อมเสีย แต่ในพื้นที่ก็มีหลายพรรคพูดเช่นนั้น ใครมีพฤติกรรมเช่นนั้นก็ถือว่าเข้าข่าย

ส่วนหลังเลือกตั้งจะร่วมงานกับพรรคใดบ้างนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แนวทางสิ่งที่พูดก่อนการเลือกตั้งจะเป็นเงื่อนไขในการร่วมงานทางการเมืองกัน กรณีการแอบอ้างเพื่อคะแนนเสียงก็มองว่าอาจยังพอคุยกันได้ ไม่ร้ายแรงเท่าการสนับสนุนเผด็จการ เสมือนเป็นนั่งร้านระบอบประยุทธ์ แต่ก็ต้องดูในเนื้องานสาระสำคัญเพราะบางพรรคก็อาจรณรงค์จนทำลายกัน หรือถึงขั้นเปิดช่องยุบพรรคเพื่อไทย เช่นนั้นก็อันตราย

ส่วนโอกาสร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งอาจถูกมองว่าอยู่ข้างเผด็จการนั้น นพ.ชลน่าน ย้ำว่าไม่อยากบอกชื่อพรรค ตามหลักการคือขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและพฤติการณ์ของพรรค หากผ่านการเลือกตั้งมา ประชาชนให้ความไว้วางใจเขา และมีวิธีการและอุดมการณ์ทำงานร่วมกันได้ ก็จะมาพิจารณา แต่ถ้าสนับสนุนเผด็จการก็อาจเป็นเงื่อนไขที่ไม่เข้าร่วมด้วย

เมื่อถามว่า กระแสการปิดสวิตช์ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะเป็นผลประโยชน์ในการหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ถ้ามองว่า ส.ว. เป็นปัญหาระบบการเมืองไทย จนแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลใช้เงื่อนไขนี้ ก็เป็นปัญหาจริง ส่วนจะได้รับการตอบรับจากประชาชนหรือไม่ มองว่าไม่ใช่ประเด็นหลักประเด็นเดียวในการหาเสียง แต่พรรคเพื่อไทยชัดเจนว่าเป็นพรรคประชาธิปไตย ทำเพื่อพี่น้องประชาชน ย้ำว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] [3]

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net