Skip to main content
sharethis

เมื่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่เติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีความนิยมเพิ่มมากขึ้น องค์กรแรงงานแนะต้องจับตาการละเมิดสิทธิแรงงานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ด้วย


ที่มาภาพ: IndustriALL 

ปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้น และด้วยการสร้างงานใหม่เฉพาะในยุโรปเพียงเพียงแห่งเดียว คาดว่าการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 500,000 ตำแหน่ง เป็น 850,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2573 แม้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีสัดส่วนคนทำงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานนั้นกลับมีคนทำงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานน้อยลงลดหลั่นกันไป นอกจากนี้ยังพบการละเมิดสิทธิแรงงาน แรงงานบังคับ และการใช้แรงงานเด็กอีกด้วย

เกือบทุกภูมิภาคในโลกล้วนแต่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ มีสามเหลี่ยมลิเธียมในละตินอเมริกา การขุดส่วนใหญ่ทำในแอฟริกา ส่วนในเอเชียก็มีการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ใหม่ๆ เกิดขึ้น และในอเมริกาเหนือและยุโรปก็เป็นตลาดหลักของรถยนต์ไฟฟ้า

ข้อกังวลในอดีต


การขุดหาแร่ในทวีปแอฟริกาเมื่อหลายปีก่อน | ที่มาภาพ: RCS Global

ในอดีตก็มีข้อกังวลต่อประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยเฉพาะต้นทางอย่างเหมืองแร่ในทวีปแอฟริกา

ปี 2559 แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International) ร่วมกับองค์กรเฝ้าระวังด้านทรัพยากรของแอฟริกา (Afrewatch) ได้เผยแพร่รายงานสืบสวนที่ทำร่วมกัน ระบุว่าว่าแร่โคบอลต์ ร้อยละ 20 ที่มีการส่งออกจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) เป็นอุตสาหกรรมการคัดแยกขนาดเล็กที่ไม่มีการตรวจสอบดูแลกระบวนการเลย ทั้งนี้โคบอลต์เป็นแร่ที่ใช้ในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Li-ion) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของอุปกรณ์ไอทีที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายและการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 

รายงานสืบสวนครั้งนั้นประเมินว่าผู้ที่ทำงานในกระบวนการคัดแยกขนาดเล็กดังกล่าวมีอยู่ราว 110,000 ถึง 150,000 คน ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในจำนวนนี้องค์กรพิทักษ์เด็กยูนิเซฟระบุว่ามีเด็กอยู่ด้วยเกือบ 40,000 คน ซึ่งคนงานเหล่านี้จะทำการคัดแยกด้วยเครื่องมือง่ายๆ และนำไปขายในท้องตลาดซึ่งแอมเนสตี้ระบุว่าตลาดเหล่านี้จะนำไปขายต่อให้กับบริษัทเทคโนโลยีอย่างต่าง ๆ เช่น LG, Lenovo, HUAWEI, Microsoft และ Apple เป็นต้น

รายงานสืบสวนครั้งนั้นทำการสำรวจด้วยวิธีการสัมภาษณ์ชาวคองโกทั้งเด็กและผู้ใหญ่รวม 90 คน ซึ่งพวกเขาเปิดเผยถึงสภาพการทำงานในเหมืองแร่ที่ไม่มีการสวมหน้ากากหรือถุงมืออีกทั้งยังต้องทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันไม่เว้นวันหยุด นอกจากนี้พวกเขายังได้รับเงินค่าจ้างต่อวันเพียง 1,000 ฟรังก์คองโก (ประมาณ 40 บาท) ต่อวันเท่านั้น เด็กที่ต้องทำงานอยู่ในเหมืองก็ไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน มีรายงานว่าคนทำงานเหมืองเสียชีวิต 80 ราย ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 2557 ถึง ธ.ค. 2558

นอกจากนี้ยังพบสภาพการจ้างงานที่โหดร้าย จากการสัมภาษณ์แรงงานเด็กอายุ 14 ปีที่บอกว่าเขาต้องทำงานอยู่ในเหมือง 24 ชั่วโมงจนกระทั่งสามารถออกมาจากเหมืองได้ในวันถัดมา ขณะที่แรงงานคนอื่นๆ เล่าว่าพวกเขาถูกทุบตีและบีบบังคับให้ทำงานโดยกลุ่มยามติดอาวุธ และถูกพ่อค้าซื้อแร่โกงราคาจากการที่พวกเขารับซื้อแร่ต่อกระสอบโดยไม่ตรวจสอบน้ำหนักหรือคุณภาพของแร่แต่อย่างใด การใช้แรงงานเด็กในเหมืองแร่เหล่านี้เป็นการกดขี่แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุดในสายตาของนานาชาติ เป็นการทำงานที่เสี่ยงอันตรายและก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาวะของเด็กซึ่งรัฐบาลควรมีการสั่งห้ามและทำให้การใช้แรงงานเหล่านี้หมดไป ในขณะนั้นรัฐบาลคองโกก็จัดให้มีการตรวจสอบสภาพการทำงานของเหมืองแร่เหล่านี้น้อยมาก

รายงานสืบสวนครั้งนั้นยังระบุถึงบริษัทที่รับซื้อแร่โคบอลต์จากแหล่งของคองโกคือบริษัทเจ้อเจียงหัวโหย่ว (Zhejiang Huayou Cobalt Company Ltd) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน บริษัทนี้รับซื้อจากพ่อค้าคนกลางในคองโกแล้วนำแร่มาผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วขายต่อให้กับผู้ผลิตแบตเตอร์รี่จากนั้นถึงส่งต่อผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทเทคโนโลยีแบรนด์ใหญ่ๆ ประกอบชิ้นส่วนต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

องค์กรแรงงานชี้ต้องจับตาการละเมิดสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ทั้งระบบ

ต่อมาในปี 2563 สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมโลก (IndustriALL) ได้เผยแพร่รายงานระบุว่าอัตราการเติบโตของความต้องการใช้แบตเตอรี่และปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะสูงขึ้นในทศวรรษหน้า โดยคาดว่าการเติบโตระหว่าง ร้อยละ 15-20 จนถึงปี 2573 แต่การเติบโตนี้จะมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดตลอดห่วงโซ่อุปทาน

รายงานของ IndustriALL การผลิตแบตเตอรี่จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุด แต่การแข่งขันเพื่อให้ได้วัตถุดิบหลักอย่าง โคบอลต์ ลิเธียม ทองแดง และนิกเกิล นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรวมและสิทธิแรงงาน สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้แรงงานเด็ก การทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมือง การทำลายระบบนิเวศ หรือทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ เป็นต้น

มีบริษัทเอเชียตะวันออกเพียงไม่กี่แห่งจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ส่งไปจำหน่ายทั่วโลก และวัตถุดิบส่วนใหญ่ถูกแปรรูปในโรงงานของจีน โรงงานแปรรูปวัตถุดิบส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยบริษัทจีน ซึ่งหมายความว่าขาดความโปร่งใสอันถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของอุตสาหกรรม

รายงานของ IndustriALL ยังชี้ว่าเนื่องจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งในแง่ของตัวแสดงและปริมาณ ความซับซ้อนมากขึ้น ความต้องการแร่ธาตุเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานแบตเตอรี่ก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบสถานะธุรกิจเพื่อรักษาสิทธิของพนักงานและจัดระเบียบคนทำงานในห่วงโซ่อุปทานนี้ทั้งระบบ

ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เริ่มที่การขุดหาวัตถุดิบที่จำเป็น โดยเฉพาะโคบอลต์ ลิเธียม นิกเกิล และทองแดง ก็มีประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพแรงงาน การใช้แรงงานเด็ก สิ่งแวดล้อม สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ฯลฯ 

ต่อมาในภาคการผลิต รายงานของ IndustriALL ชี้ว่าผู้เล่นหลัก 3 รายในภาคเคมีและอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยบริษัทเพียง 3 แห่งครองตลาดการผลิตเซลล์แบตเตอรี่เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่พยายามเข้าสู่ตลาดด้วยเช่นกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ส่วนในภาคยานยนต์ ด้วยการกดดันและพยายามตรวจสอบการจัดซื้ออุปกรณ์อย่างเข้มข้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อเซลล์แบตเตอรี่มาประกอบชุดแบตเตอรี่ด้วยตนเอง

ในการเสวนาออนไลน์ที่จัดขึ้นโดย IndustriALL เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2565 ท่ามกลางความท้าทายของสหภาพแรงงาน โจโจ เนม ซิงห์ จาก International Institute of Social Studies กล่าวว่าการมุ่งเน้นที่นโยบายการทำเหมืองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการเข้าถึงวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่นี้ส่วนใหญ่อยุ่ในเขตประเทศซีกโลกใต้

ด้านอเล็กซ์ อิวาโนอู ผู้อำนวยการฝ่ายอิเล็กทรอนิกส์ของ IndustriALL ชี้ว่าจีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดของโลก แม้ว่าอาจมีสหภาพแรงงานอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทในการเจรจาต่อรองที่เป็นประโยชน์ต่อคนทำงานมากนัก นอกจากนี้กระบวนการ "Foxconnization" ของอุตสาหกรรมการผลิตในจีน ได้ทำคำทำงานมีสภาพความเป็นอยู่และการทำงานที่เลวร้าย รวมทั้งการย้ายถิ่นภายในประเทศจีนของคนทำงานจากเขตชนบทสู่เขตอุตสาหกรรม

ส่วนเคน มัตสึซากิ ผู้ช่วยเลขาธิการ IndustriALL กล่าวว่าองค์กรแรงงานต้องเพิ่มการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ ซึ่งเริ่มต้นในเหมือง สู่โรงงานสกัดแร่ ผ่านอุตสาหกรรมเคมี บรรจุภัณฑ์แบตเตอรี่ ไปจนถึงผู้ใช้ปลายทาง องค์กรแรงงานจำเป็นต้องเร่งการผลักดันเพื่อจัดระเบียบให้สอดคล้องกับการขยายตัว

"เราจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบสถานะและให้ความสำคัญกับคนทำงานหญิงและประเด็นเรื่องเพศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศด้วย" มัตสึซากิ กล่าว


มาตรฐาน 'Battery Passport Action Partnership' ที่มีความมุ่งหวังว่าจะสร้างเกณฑ์มาตรฐานระดับโลกสำหรับตลาดแบตเตอรี่ที่ยั่งยืนและโปร่งใส

อิงกา ปีเตอร์สัน จาก Global Battery Alliance (GBA) ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนระดับโลกที่ระดมกำลังเพื่อให้แน่ใจว่าการผลิตแบตเตอรี่ไม่เพียงแต่สนับสนุนพลังงานสีเขียวเท่านั้น แต่ยังต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมความยั่งยืนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม องค์กรอยู่เบื้องหลังมาตรฐาน 'Battery Passport Action Partnership' ซึ่งหากทำได้จริง อาจจะเป็นวิธีที่สร้างเกณฑ์มาตรฐานระดับโลกสำหรับตลาดแบตเตอรี่ที่ยั่งยืนและโปร่งใส

อเลจานโดร กอนซาเลซ จาก Center for Research on Multinational Corporations (SOMO) ได้พูดคุยเกี่ยวกับข้อเสนอด้านกฎระเบียบแบตเตอรี่ของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับความยั่งยืน การติดฉลากและข้อมูลเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ตลอดจนการเก็บรวบรวมแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว การบำบัด และการรีไซเคิล โดยข้อบังคับที่เสนอนี้กำหนดภาระหน้าที่ในการตรวจสอบสถานะของห่วงโซ่อุปทานซึ่งครอบคลุมสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ตลอดจนด้านสุขภาพและความปลอดภัย

ด้านอาร์เมลลี เชบี ผู้อำนวยการฝ่ายสตรีของ IndustriALL ชี้ว่าการสร้างขีดความสามารถในการบูรณาการมุมมองทางเพศเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ นั่นหมายถึงสิทธิ การปฏิบัติและโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย  

"ความท้าทายหลักประการหนึ่งของเราคือการเปลี่ยนจากหลักการไปสู่การปฏิบัติ" เชบี กล่าว

นอกจากนี้ เกลน เอ็มพูฟาเน ผู้อำนวยการฝ่ายแรงงานขุดเจาะและจอร์จ เลอูแตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายยานยนต์ของ IndustriALL เห็นพ้องร่วมกันว่าการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะที่แท้จริง ต้องฟังเสียงของคนทำงานในการเจรจาทางสังคมเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมกัน เพื่อสุขภาพ ความปลอดภัย และการทำงานที่ดี

การเสวนาออนไลน์ได้ข้อสรุปว่าในอนาคต IndustriALL จะสร้างขีดความสามารถของสหภาพแรงงานในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ผ่าน:

  • การพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบสถานะที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดระเบียบคนงาน
  • การสร้างแพลตฟอร์มร่วมกับบริษัทข้ามชาติและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
  • พัฒนาการสื่อสารกับบริษัทและคนทำงานในประเทศจีน
  • สร้างความมั่นใจว่าประเด็นความเท่าเทียมทางเพศจะถูกรวมเข้ากับกิจกรรมของสหภาพแรงงาน
  • เน้นนโยบายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition)


ที่มา:


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net