Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาการยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่มักจะสร้างความขวัญเสียให้กับผู้อำนวยการ ครู และผู้ปกครอง โดยเฉพาะโรงเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เช่น โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 40 คน อย่างไรก็ดี โรงเรียนเหล่านี้กระจายตัวตามพื้นที่ของประเทศไทยและมีข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนในหมู่บ้านเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยากต่อการเข้าถึง และอยู่ในชนบทที่มีปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจ 

จากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาวิเคราะห์จากข้อมูลสารสนเทศของจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก (ACCESS School) พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้นเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โดยร้อยละของโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561-2563 มีจำนวนที่มากขึ้น ในปี 2563 มีร้อยละของโรงเรียนขนาดเล็กถึง 50 จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จำนวนโรงเรียนในประเทศไทยมีน้อยลงเนื่องจากการยุบเลิกสถานศึกษาตามนโยบายของภาครัฐ แต่สิ่งที่สะท้อนผลคือ จำนวนของโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปี 2562 จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจำนวน 133 โรงเรียน และในปี 2563 มีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจำนวน 123 โรงเรียน สาเหตุอาจมาจากจำนวนประชากรวัยเรียนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากรายงานสถิติรายปีประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2560-2562 พบว่า ประชากรแรกเกิดมีอัตราลดในทุกปีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว ประกอบกับการแข่งขันทางศึกษาที่สูงขึ้น ผู้ปกครองที่ไม่เชื่อมั่นในคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น จึงเลือกที่จะส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรมากกว่า เช่น โรงเรียนประจำอำเภอ โรงเรียนประจำจังหวัด ทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น โรงเรียนขนาดกลางลดลงจนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีนักเรียนจนถูกควบรวมและยุบเลิกสถานศึกษาในที่สุด

โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยทั้งหมดในปี 2563 มีจำนวน 14,976 โรงเรียน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนถึง 7,214 โรงเรียน แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนโรงเรียนในแต่ละภาคแล้วจะเห็นได้ว่า ร้อยละของโรงเรียนขนาดเล็กที่สูงที่สุดคือ ภาคเหนือคือ ร้อยละ 56.6 สาเหตุมาจากโรงเรียนขนาดเล็กในภาคเหนือจะอยู่ในพื้นที่สูง ห่างไกล เดินทางลำบาก และอยู่ในพื้นที่มีความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม หลากหลายทางชาติพันธุ์ และความเชื่อ ทำให้ไม่สามารถควบรวมได้

นอกจากจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นแล้ว จำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ในปี 2563 มีจำนวนนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก ถึง 968,992 คน โดยจำแนกเป็นเพศชาย 511,702 และเพศหญิง 457,290 คน โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาประถมศึกษา คือมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ ประถมศึกษาปีที่ 1-6 โดยภาคที่มีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ 467,313 คน คิดเป็นร้อยละ 48.2 ของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด จากการดำเนินงานนโยบายยุบควบรวมสถานศึกษาจากแนวปฏิบัติในปี 2562-2563 นั้นจะมีโรงเรียนที่เข้าเกณฑ์การพิจารณาดำเนินการ (จำนวนเด็กที่น้อยกว่า 40 คน) จำนวน 3,162 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียน 75,447 คน (สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2563) ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายในการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนของภาครัฐ ยังไม่รวมถึงผู้ปกครอง ครอบครัวและชุมชนของพวกเขา

จำนวนของของโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นนั้นสอดคล้องข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ ที่มีการรวบรวมไว้โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติผ่านการรวบรวมโครงสร้างประชากรตามอายุไว้นั้น บ่งบอกได้ว่า อัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี ในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเกิดเพียง 587,368 คน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีอัตราการเกิด 618,193 คน (ลดลง 30,825 คน) จำนวนนักเรียนที่จะเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (5-14 ปี) นั้นมี 7,650,332 ซึ่งลดลดจากปี 2562 เป็นจำนวน 111,108 ซึ่งมีอยู่ 7,761,440 คน จะเห็นได้ว่า จำนวนเด็กซึ่งเป็น Input ที่สำคัญของโรงเรียนลดลงเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ววิกฤติความศรัทธาและความเชื่อมั่นของผู้ปกครองคงจะเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก คุณภาพของการจัดการเรียนรู้ซึ่งมีกลไกที่สำคัญคือครู เมื่อจำนวนครูน้อย ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพของบุตรหลาน การตัดสินใจย้ายบุตรหลานไปยังโรงเรียนอื่นจึงเกิดขึ้นในยุคที่เส้นทางการคมนาคม ไม่ได้ลำบากอย่างแต่ก่อน จึงเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นมาก ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กยากต่อการสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ปกครองและรักษาจำนวนนักเรียนในเกินจากเกณฑ์ที่ สพฐ. กำหนด ตัวอย่างของวิกฤติความศรัทธาและความเชื่อมั่นของผู้ปกครองที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีเด็กจำนวนมากสมัครเรียน จนต้องมีการสอบการแข่งขันคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับ ป.1 ทั้งที่มีโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดเล็กกระจายตัวไม่ไกลจากโรงเรียนขนาดใหญ่นั้น เป็นหลักฐานยืนยันว่า คุณภาพการจัดการเรียนรู้ของบุตรหลานเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก


คุณภาพการจัดการศึกษาที่สวนทางกับการบริหารจัดการ

เมื่อคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของบุตรหลานเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญสำหรับโรงเรียนแล้ว หากแต่เมื่อจำนวนครูที่จะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญและเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคุณภาพการศึกษา และยังส่งผลต่อ “ความคุ้มค่า” ของงบประมาณในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก การมีนวัตกรรมการทางการศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถรักษาคุณภาพด้านการจัดการเรียนรู้ นวัตกรรมที่จะเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ของโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ต้องเป็นนวัตกรรมที่โรงเรียนมีส่วนในการตัดสินใจเลือกใช้ หรือ ต้องเป็นนวัตกรรมที่โรงเรียนและครูพัฒนาขึ้นเอง เพราะจะเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการในการแก้ปัญหาและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ดังคำกล่าวที่ว่า “เป็นนวัตกรรมที่ระเบิดจากภายใน” การบริหารงานของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจจะมีนวัตกรรมตามนโยบายลงไปให้โรงเรียนใช้ ซึ่งครูก็จะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานตามนโยบาย แต่ผลลัพธ์อาจไม่นำไปสู่ความยั่งยืน เป็นเพียงการทำไปตามกระบวนการ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง แต่หากนวัตกรรมทางการศึกษามาจากการเลือกของโรงเรียนเอง หรือว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้วว่า นวัตกรรมนั้นมีความเหมาะสมกับโรงเรียนของตนเอง ผู้อำนวยการและครูจะสามารถใช้นวัตกรรมนั้นได้อย่างยั่งยืนและมีความพร้อมที่จะบูรณาการให้มีคุณภาพอย่างที่ต้นสังกัดต้องการ

โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครูผู้สอน การใช้นวัตกรรมที่มุ่งเน้นการบูรณาการนำไปสู่การพัฒนาสมรรถะของผู้เรียนนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผลที่สำคัญนั่นคือจำนวนครูซึ่งไม่ครบชั้น และไม่ครบกลุ่มสาระวิชา จึงเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนไปสู่การจัดการเรียนรู้แบบ Free Content ที่ไม่มุ่งเน้นต่อรายวิชาใด ๆ แต่มุ่งเน้นการพัฒนาสรรถนะหลักของผู้เรียน ตามนโยบายของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่กำลังจะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ การสอนแบบบูรณาการโดยใช้นวัตกรรมจึงมีความเป็นไปได้ในโรงเรียนขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น โรงเรียนบ้านฮากฮาน สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา น่าน เขต 1 โรงเรียนขนาดเล็กที่มุ่งเน้นการสอนโดยใช้เครื่องมือสอนคิด (Thinking Tools) ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี กลไกที่สำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก คือ ผู้อำนวยการ งานวิจัยข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนขนาดเล็ก กรณีศึกษา: โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา พบว่า ความเข้มแข็งทางวิชาการของผู้อำนวยการมีผลต่อการยอมรับและการใช้นวัตกรรมของครู ซึ่งมักส่งผลต่อระยะเวลาในการยอมรับนวัตกรรมของครู นอกจากนั้นแล้ว ความสามารถในการหาผู้สนับสนุนหรือเครือข่ายหนุนเสริมโรงเรียนของผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของครูในโรงเรียน

อีกปัจจัยที่ดูจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กคือ คณะกรรมการสถานศึกษา หลายโรงเรียนยังคงมีคณะกรรมการสถานศึกษาที่ไม่เข้าใจในบทบาทของตนเองว่าตามบทบาทของตนเองจะต้องทำอย่างไร คืออยู่ในโครงสร้างของโรงเรียนตามหน้าที่ แต่ไม่ได้มีบทบาทหรือมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเท่าไรนัก ทั้งที่กลไกคณะกรรมการสถานศึกษาควรเป็นจุดแข็งของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ที่ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กสามารถใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์พื้นที่ได้

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา นักวิจัยได้พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่ใช้นวัตกรรม สอดคล้องกับนโยบายการจัดการเรียนรู้ในยุค Next Normal ได้เป็นอย่างดี ในอนาคตที่เราอาจจะต้องอยู่กับโรคระบาด ที่เป็นโรคระบาดในท้องถิ่นไปแล้ว การที่เด็ก ๆ อยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ก็จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยจำนวนคนไม่เยอะ ควบคุมจำนวนเด็กที่อยู่ในโรงเรียนได้ ควบคุมปัจจัยการแพร่กระจายของโรคได้ จะเห็นได้ว่า นโยบายการจัดการเรียนการสอนในช่วงการระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 โรงเรียนขนาดเล็กแทบจะไม่เกิดผลกระทบเลย แต่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และไม่สามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับจำนวนเด็กที่จะต้องเข้ามาในโรงเรียนได้ ที่สำคัญ ถ้าปรับโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้หรือเป็นหน่วยการเรียนรู้ของชุมชนแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กก็จะสามารถจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ Next Normal ได้เป็นอย่างดี

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่หลายคนเคยคิดว่าเป็นวิกฤติที่ต้องยุบ-ควบรวม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในด้านของเศรษฐศาสตร์หรือความคุ้มค่าของงบประมาณในการบริหารจัดการนั้น เราอาจจะต้องหันกลับมามองถึงจุดแข็งของโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ตอบโจทย์คุณภาพทางการศึกษาที่ชุมชนต้องการ พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนได้อย่างสอดคล้องกับนโยบายรวมไปถึงการปรับตัวของการจัดการศึกษาให้เข้ากับยุค New และ Next Normal โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาที่สอดคล้องกับโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อความยั่งยืนในการจัดการศึกษาของชุมชนนั้น คำว่า “วิกฤติของโรงเรียนขนาดเล็ก” คงจะเปลี่ยนเป็น “โอกาสของโรงเรียนขนาดเล็ก” ที่จะพัฒนาการจัดการศึกษาของชุมชนและประเทศไทยอย่างยั่งยืนก็เป็นได้

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร.การญ์พิชชา กชกานน เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาและคณิตศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
หัวหน้าโครงการวิจัย ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนขนาดเล็ก กรณีศึกษา: โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 

ดาวน์โหลดงานวิจัย ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนขนาดเล็ก กรณีศึกษา: โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

เกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ACCESS School)

โครงการระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2563-2566) ที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานโดยสหภาพยุโรป และบริหารโครงการโดย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และสมาคมไทบ้าน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยมุ่งส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการสถานศึกษาในชุมชนของตนเอง ผ่านการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง

เกี่ยวกับสหภาพยุโรปในประเทศไทย (European Union in Thailand)

สหภาพยุโรป (อียู) เป็นการรวมตัวในลักษณะสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในทวีปยุโรป มีสมาชิกในปัจจุบันจำนวน 27 ประเทศ ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันสร้างภูมิภาคที่มีความมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก เปิดกว้างในการยอมรับซึ่งกันและกัน และเคารพเสรีภาพของประชาชน ในปี 2555 (ค.ศ. 2012) สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสมานฉันท์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในยุโรป
สหภาพยุโรปเป็นสมาคมทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นแหล่งทุนและเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่มูลค่าการให้ความช่วยเหลือรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั้งโลก

ภาพจากโครงการ Access School: https://drive.google.com/drive/folders/1jP0AzOz0olL_dgWKBdrj4bzIx0OJCXvg?usp=sharing 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บุรัสกร กิติพจน์นพรัตน์ (ผู้ช่วยฝ่ายสื่อสารโครงการ ACCESS School)  
อีเมล: burassakorn.gitipotnopparat@actionaid.org   
Facebook: https://www.facebook.com/access.school.project 
Website: https://actionaid.or.th/about-access-school

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net