Skip to main content
sharethis

กลุ่มคัดค้านยุบ รร.เล็ก ชุมนุม ศธ.จี้รอคณะกรรมการร่วมฯ มาช่วยแก้ปัญหา ด้าน ‘ชินภัทร’ เลขาฯ กพฐ.ยันยังไม่ยุบ! เผย 179 เขตฯ ส่งแผนบริหารจัดการ รร.ขนาดเล็ก เตรียมเสนอ ‘พงศ์เทพ’ พิจารณา 31 พ.ค.นี้ เผยจับตา 2,200 แห่ง เร่งเสริมคุณภาพ

 
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงไปพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับฟังปัญหา และตอบข้อซักถามต่างๆ
 
 
 
ชุมนุมหน้า ศธ.คัดค้านยุบ รร.เล็ก
 
วันนี้ (30 พ.ค.56) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนของโรงเรียนทางเลือก ประมาณ 200 คน รวมตัวกันที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณหน้าประตูกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อยื่นแถลงการณ์เรียกร้องให้ ศธ.ชะลอการยุบ-ควบรวม โรงเรียนขนาดเล็กพร้อมเปิดทางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
 
จากกรณี เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2556 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายโรงเรียนชุมชน 4 ภาค และองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศ ได้เข้าพบนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กและเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ได้ข้อสรุปให้ระงับการพิจารณาการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และให้มีการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและกลุ่มการศึกษาทางเลือก’ ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหา แต่กลับปรากฏความเคลื่อนไหวยุบโรงเรียนเล็กเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด
 
 
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก (สกล.) ระบุเหตุผลของการมาชุมนุมในครั้งนี้ว่า ต้องการให้ ศธ.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ปลดล็อคข้อจำกัดทางการศึกษา และไม่ใช้วิธีการยุบโรงเรียนเล็กเป็นทางออก ส่วนเหตุผลข้อต่อมาคือการทวงถามถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งในข้อนี้ รมว.ศธ.ได้ลงนามแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน’ ในวันนี้ แต่ส่วนตัวยังคิดว่าไว้วางใจไม่ได้ เพราะสัดส่วนตัวแทนโรงเรียนเล็กในคณะกรรมการทั้งหมด 37 คนนั้นมีจำนวนน้อยมาก
 
ชัชวาลย์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้มีกระบวนการที่พยายามนำไปสู่การยุบ-ควบรวมเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งกรณีการจัดเตรียมรถตู้เพื่อรับส่งนักเรียน ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีการอนุมัติงบสำหรับจัดซื้อรถตู้แล้วจำนวน 1,000 คัน การไม่ส่งผู้บริหารไปให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน อีกทั้งเปิดทางให้กับครูที่ต้องการย้ายไปประจำโรงเรียนอื่นได้เป็นกรณีพิเศษ จึงอยากเสนอให้ยุติกระบวนการบอนไซโรงเรียนขนาดเล็กที่เหล่านี้ โดยเฉพาะการดำเนินการของเขตการศึกษาต่างๆ ซึ่งรับหลักการจาก สพฐ.ในการตั้งธงยุบ และให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นนี้ก่อน
 
 
ตั้ง ‘สิริกร’ นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการร่วม  ‘พงศ์เทพ’ นั่งแทนที่ปรึกษา
 
 
ทั้งนี้ ‘คณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน’ ตามคำสั่ง ศธ.ที่ สพฐ.345/2556 มีหน้าที่ 1.จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน และพัฒนาการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน 2.รับฟังความคิดเห็น รวมรวมข้อมูล ข้อเสนอ และปัญหาการจัดการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน เพื่อการวางแผนแก้ปัญหา 3.ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการบริการจัดการการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีต รมช.ศธ.เป็นประธาน ส่วนนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.เป็นรองประธาน และมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ.และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศธ.เป็นที่ปรึกษา
 
ส่วนสุรพล ธรรมร่มดี สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จนั้นมี 3 ปัจจัย คือ 1.มีผู้อำนวยการและครูที่ตั้งใจพัฒนาโรงเรียน 2.ผู้อำนวยการและโรงเรียนเข้าหาชุมชน หาแนวร่วม ทั้งศาสนา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลในเรื่องเงินสนับสนุนการศึกษาและได้ครูเพิ่มมากขึ้นจากผู้รู้ในท้องถิ่น 3.การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ดังนั้นการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
 
 
ร้อง ‘คืนการศึกษาให้ชุมชนและสังคม’
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดินทางถึงหน้า ศธ.กลุ่มผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย ว่าด้วยเรื่อง ‘คืนการศึกษาให้ชุมชนและสังคม’ ระบุว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมสภาการศึกษาฯ ได้จัดเวทีเสวนารับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ 5 เวทีระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค.โดยมีผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้จัดการศึกษาประเภทต่างๆ ทั้งของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น รวมถึงการศึกษาทางเลือกเข้าร่วม และได้นำความคิดเห็นจากเวทีเสวนาดังกล่าวมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย
 
ทั้ง 5 เวที ต่างต้องการให้มีการปลดล็อกการจัดการศึกษาโดยลดข้อจำกัดและสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างหลากหลาย ได้แก่ 1.ให้รัฐเลิกผูกขาดการจัดการศึกษา แล้วส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา รัฐปรับลดบทบาทมาทำหน้าที่กำกับนโยบายและติดตามผลแทน 2.ปลดล็อกการจัดการศึกษาด้วยการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางให้ยืดหยุ่นและก่อให้เกิดหลักสูตรการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สอดคล้องกับบริบทสังคมและความแตกต่างของผู้เรียน
 
3.ปลดล็อกการวัดและประเมินผลด้วยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และการประกันคุณภาพการศึกษา สร้างระบบวัดผลที่มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของสถานศึกษา ผู้เรียนและบริบทสังคมมาแทน และ 4.ปลดล็อกอุปสรรคของการศึกษาทางเลือก ด้วยการจัดตั้งสถาบันการพัฒนาการจัดการศึกษาตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
 
ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น. นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ลงไปพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับฟังปัญหาพร้อมชี้แจงข้อซักถามต่างๆ
 
 
 
‘ชินภัทร’ เลขาฯ กพฐ.ยันยังไม่ยุบ!
 
นายชินภัทร กล่าวว่าขณะนี้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ส่งข้อมูลแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ ที่มีเด็กนักเรียนต่ำกว่า 60 คน มาแล้ว 179 เขต จากทั้งหมด 182 เขต มีโรงเรียนประมาณ 3,600 แห่ง โดยข้อมูลแผนบริหารจัดการเหล่านี้จะถูกประมวลเพื่อสรุปรายงานให้ รมว.ศธ.พิจารณา ในวันที่ 31 พ.ค.นี้
 
ทั้งนี้ ในรายงานที่เขตพื้นที่ฯ ได้เสนอมานั้นจะยังไม่มีการยุบโรงเรียน ยกเว้นโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนแล้ว ซึ่งพบว่ามีอยู่ใน 3 เขต เบื้องต้นยังไม่ทราบจำนวน โรงเรียนกลุ่มนี้เมื่อยุบเลิกแล้วจะนำอาคาร สถานที่ไปใช้ประโยชน์อื่น เพื่อการบูรณาการภารกิจในพื้นที่ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์การเรียนรู้ กศน. ฯลฯ ดังนั้น พื้นที่เหล่านี้ สพฐ.จะยังไม่ส่งคืนราชพัสดุเพราะยังสามารถใช้ประโยชน์ได้
 
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ในรายงานพบโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 2,200 แห่ง ยังไม่มีการเคลื่อนย้ายของนักเรียน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ต้องได้รับการเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ชัดเจน จากนั้นจึงค่อยติดตามสรุปผลต่อไป และไม่มีแผนอะไรที่จะเดินหน้ายุบ
 
 
เผยความคืบหน้าการบริหารจัดการ
 
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ กพฐ.ให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กที่เขตพื้นที่ฯ ได้บริหารจัดการไปแล้วตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 2,290 แห่ง ผ่านการจัดการ 4 วิธี ได้แก่ 1.โรงเรียนที่เรียนรวมทุกชั้น คือ การนำนักเรียนทุกชั้นเรียนเคลื่อนย้ายไปเรียนรวมกันที่โรงเรียนอื่น โดยการควบรวมนักเรียนยังเรียนอยู่ชั้นเรียนเดิม มีจำนวน 648 แห่ง
 
2.โรงเรียนที่เรียนรวมบางช่วงชั้น คือ การนำนักเรียนแต่ละช่วงชั้นแบ่งเป็นชั้นประถมต้นและประถมปลาย แยกไปควบรวมเรียนกับโรงเรียนอื่น โดยเฉพาะช่วงชั้นที่มีนักเรียนจำนวนน้อย มีจำนวน 484 แห่ง 3.โรงเรียนที่เรียนรวมบางชั้น คือ การนำนักเรียนบางชั้นที่มีจำนวนน้อย เคลื่อนย้ายไปเรียนกับโรงเรียนอื่น มีจำนวน 781 แห่ง และ4.โรงเรียนที่เรียนรวมบางวิชา มีจำนวน 377 แห่ง
 
นอกจากนี้รายงานยังพบโรงเรียนขนาดเล็ก 300 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษที่ไม่สามารถรวมกับใครได้ ได้แก่ โรงเรียนที่ตั้งบนภูเขา บนเกาะ ซึ่งกระจายตามภูมิภาคต่างๆ
 
โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง กลุ่มละครมะขามป้อม กับละครที่เรียกเสียงฮาและความประทับใจ "เราไม่ใช่ปลากระป๋อง... เพราะเรามีความหลากหลาย"
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net