Skip to main content
sharethis

รัฐบาลแจง กยศ.ปล่อยกู้ไปแล้ว 6,284,005 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท หากยกเลิกการเก็บดอกเบี้ยเงินต้นและเบี้ยปรับกรณีผิดชำระรายได้กองทุนฯ จะหายไป 6 พันล้านต่อปี - เผย 25 อันดับสถานศึกษาที่ชำระหนี้ดีที่สุด 'มหาวิทยาลัยพะเยา' ชำระหนี้ดีที่สุดเป็นอันดับแรก- 'ภูมิใจไทย' มั่นใจ กยศ. ดำเนินการได้ แม้ไร้ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ พร้อมชี้ภาระดอกเบี้ยเป็นเหตุผู้กู้ไม่มีกำลังจ่าย 

24 ก.ย. 2565 เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการดำเนินการปล่อยกู้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งปัจจุบันกองทุนได้ให้โอกาสนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศได้กู้ยืมไปแล้ว 6,284,005 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท ประกอบด้วย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 986,668 ราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,669,129 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,559,421 ราย และผู้กู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 68,787 ราย
 
สำหรับปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนนักศึกษาได้รับอนุมัติให้กู้ยืม 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท ส่วนการชำระหนี้คืนในปีงบประมาณ 2565 กองทุนได้รับชำระเงินคืนแล้วกว่า 27,844 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ย. 2565)
 
นอกจากนี้ ยังมี 25 อันดับ สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนที่ชำระหนี้ดีที่สุด โดยมีมหาวิทยาลัยพะเยา ชำระหนี้ดีที่สุดเป็นอันดับแรก และมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ คือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ส่วนลำดับมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด มีดังนี้
 
1. มหาวิทยาลัยพะเยา 
2. มหาวิทยาลัยศิลปากร
3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
4 มหาวิทยาลัยนเรศวร
5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
6. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
7. มหาวิทยาลัยมหิดล 
8. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
9. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
11. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 
12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 
13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
14. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
15. มหาวิทยาลัยบูรพา 
16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
17. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
18. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
19. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 
20. มหาวิทยาลัยขอนแก่น               
21. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 
22. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
23. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
24. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
25. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
 
“สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนฯ ที่สภาผู้แทนราษฏรมีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกการเก็บดอกเบี้ยเงินต้นและเบี้ยปรับกรณีผิดชำระ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพิจารณาของวุฒิสภา ทั้งนี้ แต่ละปี กยศ.จะมีสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ ประมาณ 40,000 ล้านบาท เป็นอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ 6,000 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้ก็จะหายไป” นางสาวรัชดา กล่าว

พรรคภูมิใจไทย มั่นใจ กยศ. ดำเนินการได้ แม้ไร้ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ พร้อมชี้ภาระดอกเบี้ยเป็นเหตุผู้กู้ไม่มีกำลังจ่าย 

สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 ว่านายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันนโยบายเงินกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปลอดดอกเบี้ยและไม่มีเบี้ยปรับ ว่า เรื่องนี้ ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว โดยเสียงข้างมากมีมติให้ผ่าน ซึ่งเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย ขณะนี้ต้องให้วุฒิสภาพิจารณา แต่หากมีการท้วงติงก็ต้องกลับมาตั้งคณะกรรมาธิการร่วม แล้วหาทางเดินหน้ากันต่อ แต่พรรคภูมิใจไทยทำสุดความสามารถ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข โดยนโยบาย กยศ. ของพรรค คือ ตัดผู้ค้ำ ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ ซึ่งมีการนำเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557 แต่ตอนนั้น มีปัญหาทางการเมือง จึงเว้นวรรคไป ดังนั้น กลับมาคราวนี้จึงต้องเดินหน้ากันต่อ ซึ่งเรื่องแรกผ่านไปแล้ว เหลืออีก 2 เรื่อง

ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าหากไม่มีเบี้ยปรับ จะจูงใจให้ผู้กู้ไม่จ่ายคืนหรือไม่ นายภราดร มองว่า ไม่เคยมีข้อมูลว่าหากไม่มีเบี้ยปรับแล้วผู้กู้จะไม่จ่าย แต่ข้อมูลที่มี คือ การไม่จ่าย เพราะดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ทำให้จ่ายไม่ไหว จึงตัดสินใจไม่จ่ายเลย ยกตัวอย่าง บางคนกู้มา 1 แสนบาท แต่เรียนจบมามีปัญหาครอบครัว ทำงานไปได้สักพักต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ ทำให้มีปัญหาเงินไม่เพียงพอ ขอผ่อนผันแล้ว แต่ก็ยังหาเงินมาจ่ายไม่ทัน ผ่านไประยะเวลาหนึ่ง พอจะลืมตาอ้าปากได้ แต่จากหนี้ 1 แสนบาท กลายเป็นหนี้ 3-4 แสนบาท จึงตัดสินใจไม่จ่าย ทั้งนี้ หากกฎหมายผ่าน ทาง กยศ. สามารถออกกติกาใหม่ได้อยู่แล้ว ทั้งการคุยกับนายจ้าง ธนาคาร ถึงกระบวนการติดตาม ไปจนถึงบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่มีวินัย ตั้งใจไม่ชำระหนี้

นายภราดร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กยศ. เป็นกองทุนขนาด 3-5 แสนล้านบาท มีรายได้จาก 3 ทาง คือ กำไรจากการฝากธนาคาร ประมาณ 6-8 ร้อยล้าน เบี้ยปรับ และดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ 5-6 พันล้านบาท เป็นรายได้หลัก แต่ปัญหา คือ กยศ. มีรายได้หลัก จากผู้ที่ไม่ค่อยจะมีทรัพยากรเป็นฐานทุน เพราะผู้ที่ไปกู้ กยศ. ไม่ใช่คนที่ร่ำรวย แต่จากระบบที่บิดเบี้ยว ต้องกลับไปแก้ให้ถูกต้อง ซึ่ง กยศ. เป็นกองทุนที่ถือว่ามีความมั่นคงสูง มีวิธีการนำเงินไปลงทุนอยู่แล้ว และอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ สามารถมีรายได้ โดยไม่ต้องไปเก็บดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจากผู้ยากจน ทำให้กองทุนเป็นบริการสาธารณะที่สมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองได้เสนอเรื่องการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การเรียนฟรี ซึ่งเมื่อเรื่องเกี่ยวกับ กยศ. เข้าสู่การพิจารณาแล้ว หวังว่าจะเข้าใจกันได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net