Skip to main content
sharethis

Summary

  • จากกรณีศึกษา 10 ประเทศ พบว่ามีการกำกับดูแลโดยใช้แนวทางและกฎหมายที่มีอยู่แล้วเป็นเครื่องมือ ข้อดีของแนวทางนี้คือเป็นการพิจารณาเฉพาะกรณีไป เนื่องจากรูปแบบการทำงานผ่านแพลตฟอร์มในแต่ละประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้แม้แต่ในกิจกรรมประเภทเดียวกัน แต่ละบริษัทก็มีกระบวนการในการทำงาน ข้อบังคับ และความสัมพันธ์กับคนทำงานที่แตกต่างกันออกไป จึงมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี
  • นอกจากนี้ยังพบการกำกับดูแลโดยการออกกฎหมายเฉพาะสำหรับกลุ่มอาชีพ เช่น กรณีศึกษาในประเทศสเปน อิตาลี และ รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ข้อดีของแนวทางนี้คือการมีการวางแนวทางที่ชัดเจนเฉพาะสำหรับอาชีพที่มีรูปแบบการทำงานเฉพาะ มีนิยามของความสัมพันธ์การจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานที่ชัดเจน มีความโปร่งใส

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

25 ก.ย. 2565 จากงานวิจัย 'ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19' โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.ค. 2564) โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาข้อถกเถียงด้านการกำกับดูแลกรณีต่างประเทศ พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กรณีศึกษาจากต่างประเทศ

ปัญหารูปแบบการทำงาน สภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ส่งผลต่อแรงงาน เป็นประเด็นที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของแรงงานซึ่งเป็นประชาชนที่รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครอง ยังเชื่อมโยงกับประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นธรรมอื่นๆ อื่น อาทิ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การคุ้มครองทางสังคม การจัดเก็บภาษี ฯลฯ ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนในหลายประเทศ บางกรณี หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องบริษัทแพลตฟอร์มที่ปฏิบัติต่อผู้มีอาชีพไรเดอร์อย่างไม่เป็นธรรม ในกรณีที่มีปัญหาด้านการตีความทางกฎหมาย ในหลายประเทศก็ได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายเดิมให้มีความทันสมัยและสามารถกำกับดูแลสร้างความเป็นทำให้กับรูปแบบของงานและความสัมพันธ์การจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป หลายประเทศมีการดำเนินการออกกฎหมายที่บังคับใช้กับกลุ่มอาชีพใหม่โดยเฉพาะอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะที่ยังไม่ความคืบหน้า มีเพียงการศึกษารูปแบบของปัญหา และการรับฟังปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง เช่น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ผู้วิจัยได้ค้นคว้ากรณีศึกษาในต่างประเทศที่ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาของประเทศไทย ดังนี้

ประเทศอังกฤษ

ประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่างชัดเจนของวิธีการแก้ปัญหาแบบ “ตัดสินเป็นกรณี (Case by case)” เนื่องจากแต่ละบริษัทแพลตฟอร์มมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการทำงานที่แตกต่างกันไป ศาลจึงได้มีการพิจารณาสภาพการทำงานของไรเดอร์ในแต่ละบริษัทแพลตฟอร์มและตัดสินเป็นกรณี เช่น กรณีสหภาพแรงงานอิสระแห่งสหราชอาณาจักร (Independent Workers' Union of Great Britain -IWGB) ยื่นฟ้องบริษัทแพลตฟอร์มเดลิเวอรู (Deliveroo) เรียกร้องให้บริษัทปฏิบัติต่อไรเดอร์ในฐานะลูกจ้างขณะที่บริษัทยืนยันว่าไรเดอร์มีสถานะเป็นผู้รับจ้างหรือแรงงานอิสระ ศาลตัดสินให้ เดลิเวอรูเป็นฝ่ายชนะ โดยให้ศาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากบริษัทเดลิเวอรูอนุญาตให้ไรเดอร์สามารถมีตัวแทน (Substitute) ที่จะมาช่วยทำงานให้เต็มกะเวลาทำงาน (Shift) และมีกฎในการทำงานที่ไม่เคร่งครัดมีความยืดหยุ่นสูง แม้จะพ่ายแพ้ในศาลแต่สหภาพแรงงานอิสระแห่งสหราชอาณาจักร ยังมีความพยายามพยายามที่จะผลักดันให้ไรเดอร์ของบริษัทเดลเวอรูมีความสามารถในการต่อรองที่เพิ่มมากขึ้น โดยสหภาพได้มีการเจรจาและต่อรองกับบริษัทแพลตฟอร์มว่าอาชีพไรเดอร์ควรมีสิทธิตามกฎหมายในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพภายใต้อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The European Convention on Human Rights) แต่คำร้องของสหภาพก็ถูกปัดตกโดยศาล โดยศาลให้เหตุผลว่าอาชีพไรเดอร์ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญาดังกล่าว แต่อยู่ในขอบเขตของสิทธิทั่วไปในการรวมตัวอย่างเสรี (The more general right of freedom of association) แม้สหภาพแรงงานแห่งอังกฤษจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำให้ไรเดอร์ของบริษัทเดลิเวอรูมีสถานะเป็นลูกจ้างผ่านการสู้ในชั้นศาลได้ แต่สหภาพยังคงพยายามที่จะสู้ต่อโดยการเรียงร้องให้ไรเดอร์สามารถตั้งสหภาพในบริษัทเพื่อที่จะเพิ่มความอำนาจให้กับกลุ่มไรเดอร์สามารถต่อรองกับบริษัท

ในขณะที่อีกกรณี คือบริษัทแพลตฟอร์มอูเบอร์ (Uber) ศาลได้ตัดสินให้คนขับมีสถานะเป็นคนทำงาน (Worker) ไม่ใช่ผู้รับจ้าง (Independent Contractor) สำหรับสหราชอาณาจักรได้มีการแบ่งประเภทลูกจ้าง (Employee) และคนทำงานออกจากกัน กล่าวคือคนทำงานและลูกจ้างจะได้รับสิทธิและการคุ้มครองที่ต่างกัน แตกต่างจากแรงงานอิสระที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองเลย และแม้คนทำงาน จะไม่ได้สิทธิประโยชน์และการคุ้มครองเท่ากับลูกจ้างรับเงินเดือนประจำ แต่ก็ได้รับการคุ้มครองบางส่วน ซึ่งแตกต่างจากการเป็นผู้รับจ้างหรือแรงงานอิสระที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากบริษัทแพลตฟอร์มเลย ศาลได้ให้เหตุผล 5 ประการ ดังนี้

1) บริษัทมีอำนาจในการคำนวณและกำหนดราคาค่าตอบแทน โดยที่คนขับไม่สามารถกำหนดค่าตอบแทนเองได้ ดังนั้นบริษัทจึงเป็นผู้ที่มีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดรายได้ของคนขับโดยตรง

2) บริษัทสร้างเงื่อนไขสัญญาในการทำงาน โดยที่คนขับไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง

3) คนขับไม่มีสิทธิในการเลือกรับหรือปฏิเสธงาน

4) บริษัทแพลตฟอร์มอูเบอร์มีกลไกในการควบคุมการทำงานของคนขับหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือระบบการให้คะแนนของลูกค้า ถ้าหากคนขับคนใดได้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐานจะได้รับถูกตักเตือน และถ้าคะแนนต่ำกว่ากว่าเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดไว้ สัญญาระหว่างคนขับกับบริษัทก็จะสิ้นสุดลงและไม่สามารถทำงานต่อได้ ซึ่งนับว่าบริษัทมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับคนขับ

5) บริษัทอูเบอร์ได้จำกัดการติดต่อสื่อสารระหว่างคนขับและผู้โดยสารให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้มีการติดต่อสื่อสารไปไกลกว่าการใช้บริการรับส่ง

จากเหตุผลดังกล่าว บริษัทอูเบอร์ควบคุมและเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของคนขับมากเกินกว่าแรงงานอิสระ ดังนั้นศาลจึงได้ตัดสินให้บริษัทอูเบอร์ให้สถานะคนขับเป็นคนงาน (Worker) ของบริษัท

ประเทศฝรั่งเศส

ประเทศฝรั่งเศสก็มีการพิจาณาการกำหนดสถานะของไรเดอร์แบบเป็นกรณี เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ ทำให้ไรเดอร์ของแต่ละบริษัทแพลตฟอร์ม มีสถานะที่แตกต่างกันไป ดังนี้

บริษัทแพลตฟอร์มเทคอีทอีซี่ (Take Eat Easy) ได้รับคำตัดสินจากศาลให้มีการแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มและไรเดอร์ให้อยู่ภายใต้สัญญาการจ้างงานแบบลูกจ้าง (Employment contract) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิการยน ค.ศ. 2018 หลังจากที่กลุ่มไรเดอร์ได้รวมตัวกันยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการตัดสินให้ไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้าง โดยศาลได้ให้เหตุผลประกอบคำตัดสินไว้ดังนี้

1) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้ในการทำงานมีระบบติดตามตำแหน่งของไรเดอร์ (Tracking) และบริษัทสามารถสอดส่องการทำงานของไรเดอร์ได้ตลอดเวลา (Real time) อีกทั้งยังมีการบันทึกระยะทางที่ไรเดอร์ขับขี่ นอกจากนั้นบริษัทยังจำกัดการติดต่อสื่อสารระหว่างไรเดอร์ ลูกค้า และร้านอาหารให้น้อยที่สุด โดยบริษัทจะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะการทำงานของไรเดอร์ที่ถูกบริษัทควบคุมเกือบทั้งหมด ไรเดอร์ไม่มีสิทธิในการตัดสินใจเอง

2) บริษัทแพลตฟอร์มมีอำนาจในการลงโทษทางวินัย (Discipline power) กับไรเดอร์ โดยแพลตฟอร์จะมีระบบการให้โบนัสสำหรับไรเดอร์ที่ปฏิบัติตามกฎ และระบบลงโทษสำหรับไรเดอร์ที่ทำผิดกฎ และมีการให้คำแนะนำ รวมถึงตรวจสอบการทำงานของไรเดอร์เหมือนกับนายจ้างทั่วไป

จากเหตุผลทั้งสองประการดังกล่าว ศาลจึงตัดสินว่าไรเดอร์มีความสัมพันธ์การจ้างงานเป็นลูกจ้างบริษัท ศาลจึงตัดสินให้ไรเดอร์ของบริษัทแพลตฟอร์มเทคอีทอีซี่ (Take Eat Easy) ต้องจ้างไรเดอร์ทุกคนภายใต้สัญญาการจ้างงานแบบลูกจ้าง 

บริษัทแพลตฟอร์มอูเบอร์ (Uber) ในกรณีของบริษัทอูเบอร์นั้น ศาลได้ตัดสินให้คนขับมีสถานะเป็นลูกจ้าง แม้บริษัทอูเบอร์จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล แต่ศาลอุทธรณ์ก็ได้ให้เหตุผลว่า

1) คนขับไม่สิทธิในการจัดการวางแผนการทำงานของตนเอง

2) คนขับไม่สามารถกำหนดค่าโดยสารได้

3) คนขับไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขในการทำงานเองได้

4) คนขับต้องขับขี่ตามระบบ GPS ที่แพลตฟอร์มกำหนดไว้แล้วเท่านั้น และ

5) บริษัทแพลตฟอร์มสามารถรู้ตำแหน่งของคนขับได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีระบบลงโทษโดยการปิดแอพลิเคชั่นการทำงานของคนขับเมื่อมีการฝ่าฝืนกฎเกิดขึ้น ซึ่งเหมือนกับการทำงานของบริษัทเทคอีทอีซี่ ส่วนนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศาลตัดสินว่าคนขับของอูเบอร์ทุกคนมีสถานะเป็นลูกจ้างของบริษัท (Durand-Hakim, 2019)

บริษัทเดริเวอรู (Deliveroo) ได้รับคำตัดสินจากศาลฝรั่งเศสที่แตกต่างไปจากสองกรณีที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เนื่องจากศาลได้มีการตัดสินให้ไรเดอร์ของบริษัทเดริเวอรูมีสถานะการทำงานแบบแรงงานอิสระ(independent contractor) เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 2021 โดยศาลได้ให้เหตุผลดังนี้

1) ไรเดอร์มีสิทธิที่จะเลือกรับงานตามความสะดวกของตนเอง โดยไม่มีบทลงโทษใดๆหากปฏิเสธงาน

2) ไรเดอร์สามารถทำงานร่วมกับบริษัทแพลตฟอร์มอื่นๆได้ แม้จะเป็นบริษัทคู่แข่งของเดริเวอรูก็ตาม

3) ไรเดอร์สามารถรับงานทีเดียวหลายงานได้

4) ระบบ GPS ที่มีอยู่บนแพลตฟอร์ม ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริการลูกค้า ซึ่งระหว่างไรเดอร์และบริษัทแพลตฟอร์มถือว่าเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้า (Commercial relationship) ที่บริษัทจำเป็นต้องเห็นการทำงานของไรเดอร์ เพื่อที่ลูกค้าจะได้รับการบริการที่เหมาะสม

คำตัดสินของศาลฝรั่งเศสถือว่ามีสอดคล้องกับคำสั่งของศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (The European Court of Justice) เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2020 ซึ่งมีใจความดังนี้

1) แรงงานอิสระ (Self-employed) บนแพลตฟอร์ม ไม่ถือว่าเป็นลูกจ้าง

2) ในกรณีที่ต้องการเสนอว่าไรเดอร์ชองบริษัทใดก็ตามมีสภาพการทำงานแบบลูกจ้าง ต้องแสดงหลักฐานว่าบริษัทแพลตฟอร์มและไรเดอร์มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบบังคับบัญชา

3) หลักฐานที่ว่าไรเดอร์อยู่ใต้บังคับบัญชาของไรเดอร์ ต้องเป็นหลักฐานคำสั่งที่มีผลกับไรเดอร์ทุกคน ไม่ใช่สถานการณ์ส่วนบุคคล และไม่ใช่ลักษณะการทำงานที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางการค้า (commercial relationship) (Louvet & Aunis, 2021)

จะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ศาลใช้ตัดสินความสัมพันธ์การจ้างงานของไรเดอร์และบริษัทแพลตฟอร์ม ศาลถือเอา “อำนาจของแพลตฟอร์มในการบังคับบัญชาต่อกระบวนการทำงานของไรเดอร์” เป็นสำคัญ ทำให้บริษัทเทคอีทอีซี่และอูเบอร์ต้องยินยอมปรับความสัมพันธ์การจ้างงานไรเดอร์และคนขับทั้งหมดเป็นลูกจ้างตามคำตัดสินของศาล ในขณะที่กรณีบริษัทเดลิเวอรู ศาลเห็นว่าไรเดอร์มีอิสระในการวางแผนการทำงานของตนเองมากกว่า

ประเทศสเปน

ประเทศสเปนเป็นเพียงประเทศเดียวที่เริ่มมีการกำหนดร่างกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์ (Rider law) ซึ่งเป็นกฎหมายสำหรับไรเดอร์โดยเฉพาะ (White, 2021) กฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแก้ไขประเด็นถกเถียงที่ว่าไรเดอร์ควรถูกกำหนดสถานะเป็นลูกจ้าง หรือแรงงานอิสระ ในทีแรกนั้นสำนักงานตรวจสอบแรงงานและประกันสังคมมองว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้าง แต่บริษัทแพลตฟอร์มได้บิดเบือนใส่ข้อมูลในฐานข้อมูลว่าไรเดอร์เป็นแรงงานอิสระถึงจำนวน 49,755 คน ศาลฎีกาจึงได้ตรวจสอบเรื่องสถานภาพการทำงานของไรเดอร์ และได้ตัดสินให้ไรเดอร์มีสถานภาพเป็นลูกจ้างที่รับเงินเดือนจากบริษัท ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบเฉพาะกับอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารบนแพลตฟอร์ม ได้แก่ โกลโบ (Glovo) เดลิเวอรู(Deliveroo) และอูเบอร์อีทส์ (Uber Eats) แม้จะมีข้อวิพากวิจารณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาที่แคบเกินไป เพราะไม่ครอบคลุมไปถึงอาชีพอื่นๆที่มีลักษณะเป็น Gig worker แต่ไม่ได้เป็นไรเดอร์ส่งอาหาร แต่ก็เป็นกรณีศึกษาที่ทำให้เห็นว่าการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองเฉพาะอาชีพแนวทางที่มีประเทศอื่นได้ริเริ่มไว้แล้ว

นอกจากบริษัทแพลตฟอร์มต้องชี้แจงสถานภาพการทำงานของไรเดอร์ บริษัทต้องส่งมอบสมการและชุดคำสั่งที่อัลกอรึทึมและปัญญาประดิษฐ์ใช้คำนวณที่มีผลต่อสภาพการทำงาน (PÉREZ, 2021) ซึ่งถือว่าประเด็นสำคัญ เพราะระบบอัลกอริทึมของบริษัทแพลตฟอร์มมักให้ผลลัพท์ที่ไม่เท่าเทียม และไม่มีความโปร่งใส ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีการระบุด้วยว่า ทางบริษัทแพลตฟอร์มต้องแจ้งผู้ที่จะเข้ามาเป็นไรเดอร์ถึงสภาพการทำงาน และลักษณะการทำงานของอัลกอริทึมหรือปัญญาประดิษฐ์ที่ส่งผลโดยตรงกับสภาพการทำงานที่ไรเดอร์ต้องเผชิญ เพื่อที่จะให้รู้เท่าทันกลวิธีของบริษัทแพลตฟอร์มากขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและเศรษฐกิจเพื่อสังคมได้ประกาศจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญที่จะศึกษาระบบปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริทึมของบริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยเฉพาะ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลสเปนมีความพยายามที่จะปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล และพยายามปกป้องและรับประกันสิทธิแรงงานของไรเดอร์ที่ต้องประสบกับความเปราะบางจากการที่บริษัทแพลตฟอร์มใช้เทคโนโลยีมาอำพรางนิติสัมพันธ์ และขูดรีดอาชีพไรเดอร์โดยไม่ให้ความคุ้มครองใดๆ

หลังจากการประกาศร่างกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์ บริษัทแพลตฟอร์มก็มีความพยายามในการปรับตัวในวิธีแตกต่างกันไป อาทิ บริษัทโกลโบ ซึ่งเป็นบริษัทแพลตฟอร์มที่ครอบครองส่วนแบ่งการตลาด (Market share) ของบริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารในสเปนมากที่สุด มีแผนการที่จะจ้างไรเดอร์ในรูปแบบแรงงานอิสระ (Freelance) อีกร้อยละ 80 ซึ่งจากผลของร่างกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์ มีไรเดอร์เพียง 2,000 คนเท่านั้นที่จะได้รับสถานะเป็นลูกจ้าง จากไรเดอร์ทั้งหมด 12,000 คนในบริษัท โดยเหตุผลที่โกลโบให้สำหรับเรื่องนี้คือกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์เป็นเพียง "ข้อสันนิษฐานของการจ้างงาน (Presumption of employment)" เท่านั้นและบริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าไรเดอร์เป็นอาชีพอิสระ และพวกเขากำลังแก้ไขระบบอัลกอริทึมตามคำสั่งศาล โดยบริษัทจะมีการปรับตัวตามกฎหมาย 4 ขั้นตอน ดังนี้ ประการแรก บริษัทจะกำหนดช่วงเวลาในการขนส่งอาหาร เช่นเดียวกับอูเบอร์อีท (Uber Eats) ประการที่สอง บริษัทให้ไรเดอร์สามารถกำหนดค่าส่งเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยกลุ่มไรเดอร์จะเป็นกลไกในการควบคุมไม่ให้ไรเดอร์เพิ่มราคาหรือกดราคาค่าส่งมากเกินไป เนื่องจากในหมู่ไรเดอร์จะมีการว่ากล่าวตักเตือนกัน เมื่อมีไรเดอร์บางคนที่เพิ่มค่าส่งมากเกินไป หรือกดราคาจนเกินไป ประการที่สาม พวกเขาสามารถปฏิเสธคำสั่งที่ไม่ต้องการได้ และประการที่สี่ พวกเขาสามารถรับช่วงต่อ (Subcontract) งานของไรเดอร์คนอื่นต่อได้

ในขณะที่บริษัทแพลตฟอร์มขนาดเล็ก เช่น บริษัทเดลิเวอรู ซึ่งเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดน้อยที่สุดในสเปน ได้ประกาศยุติการดําเนินงาน แต่ตามกฎหมาย บริษัทจะต้องจ้างผู้ขับขี่ทุกคนก่อนแล้วค่อยออกคำสั่งเลิกจ้างทั้งหมด (Collective dismissal) ได้ ดังนั้นจึงจะมีไรเดอร์กว่า 3,000 คนที่ต้องตกงาน (Rose, 2021) การที่ต้องจ้างแรงงานและจ่ายค่าจ้างแรงงานจำนวนมากในทีเดียว อาจเป็นสาเหตุให้บริษัทต้องยุติการดำเนินการ เพราะไม่มีต้นทุนในการจ้างไรเดอร์ในสถานะลูกจ้างต่อไป ในส่วนของบริษัทอูเบอร์อีท (Uber Eats) ได้แจ้งไรเดอร์ว่าพวกเขาจะไม่สามารถใช้แอพพลิเคชั่นนี้ในการทำงานได้ต่อไป เพราะระบบการทำงานของแอพพลิเคชั่นที่มีลักษณะเป็นแบบแรงงานอิสระ ดังนั้นไรเดอร์ของบริษัทนี้จึงต้องเปลี่ยนไปทำงานกับบริษัทที่รับช่วงต่อ (Subcontract) ต่อจากจากบริษัทอูเบอร์อีทส์แทน

จะเห็นได้ว่าแต่ละบริษัทยังมีความพยายามที่จะปรับแผนการจ้างงานในรูปแบบที่ไม่ใช่ลูกจ้างต่อไป บริษัทเพียงปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการทำงานให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น และส่งมอบสมการและชุดคำสั่งของระบบอัลกอริทึมและปัญญาประดิษฐ์ต่อศาล การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการโอนอ่อนต่อกฎหมายเพียงครึ่งหนึ่ง เพื่อที่บริษัทจะยังสามารถจ้างงานในรูปแบบแรงงานอิสระต่อไปได้ โดยสาเหตุที่บริษัทหลีกเลี่ยงที่จะจ้างงานในรูปแบบลูกจ้างเป็นเพราะว่า การจ้างไรเดอร์ภายใต้สัญญาการจ้างงานเป็นลูกจ้างประจำจะทำให้บริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้นและต้องมีมาตรการในการคุ้มครองไรเดอร์ในฐานะพนักงานบริษัทของตน ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็จะมองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับบริษัท ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริษัทแพลตฟอร์มขนาดเล็กที่ไม่สามารถจ้างไรเดอร์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างได้ จึงตัดใจเลือกที่จะเลิกธุรกิจ เช่น บริษัทเดลิเวอรูที่ตัดสินใจปิดทำการในสเปน เป็นต้น ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่อย่างโกลโบเลือกที่จะจ้างไรเดอร์เป็นลูกจ้างประจำแค่บางส่วน และปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้มีความอิสระมากขึ้นเพื่อที่จะยังคงจ้างไรเดอร์ในฐานะแรงงานอิสระได้

การออกกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์ (Rider law) ของสเปนต่างจากตัดสินเป็นกรณีของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์จะมีผลบังคับใช้กับกับทุกบริษัทแพลตฟอร์ม โดยบริษัทต้องปรับตัวตามกฎหมายเท่านั้น

ประเทศอิตาลี

ในประเทศอิตาลีมีบริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารขนาดใหญ่ 4 บริษัท ได้แก่ ฟู้ดดอรา (Foodora), เดลิเวอรู (Deliveroo), โกลโบ (Glovo), และ อูเบอร์อีทส์ (Uber Eats) ซึ่งไรเดอร์ในทุกบริษัทแพลตฟอร์มจะมีสถานะเป็นแรงงานอิสระ (self-employment) ซึ่งการเป็นแรงงานอิสระในประเทศอิตาลีจะไม่ค่อยได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองทางสังคมมากนัก ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์จึงมีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้ไรเดอร์มีสถานะเป็นพนักงานประจำมาโดยตลอด

ในปี 2018 กลุ่มไรเดอร์โกลโบได้ร้องเรียนต่อศาลให้ไรเดอร์มีสถานเป็นลูกจ้าง แต่ ศาลการจ้างงาน (Employment tribunal) ได้ปฏิเสธคำร้องขอดังกล่าว และตัดสินว่าไรเดอร์ในเมืองมิลานของบริษัทโกลโบมีสถานะเป็นแรงงานอิสระ (self-employed contractor) โดยศาลให้เหตุผลว่าไรเดอร์มีอิสระในการเลือกช่วงเวลาการทำงานผ่านการล็อกอินเข้าสู่ระบบ อีกทั้งยังสามารถเลือกรับงานที่ตนเองต้องการได้ และสามารถปฏิเสธงานที่ตนไม่ต้องการ ประการที่สอง ระบบการให้คะแนนความซื่อสัตย์ (Fidelity)แก่ไรเดอร์ ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้ให้คะแนน แม้จะมีผลต่อการเลือกช่วงเวลาทำงาน (Slots) ของไรเดอร์ แต่บริษัทจะไม่มีอำนาจทางวินัยในการลงโทษไรเดอร์ที่มีคะแนนน้อย โดยจะไม่สามารถลงโทษ ระงับระบบการทำงาน หรือเลิกจ้างไรเดอร์ได้ ประการที่สาม บริษัทจะไม่สามารถสอดส่องการทำงานของไรเดอร์ได้

ในปีเดียวกันเอง ศาลสูงสุดของอิตาลี (Corte di Cassazione) ก็ได้มีการตัดสินให้ไรเดอร์ของบริษัทฟู้ดดอรามีสถานะการจ้างงานเป็นแรงงานอิสระ (self-employed contractors) เช่นเดียวกัน เนื่องจากไรเดอร์ของฟู้ดดอรามีสัญญาจ้างงานแบบอิสระ (freelance work contract) กับบริษัท แต่สภาพการทำงานกับมีลักษณะแบบลูกจ้างประจำมากกว่า อีกทั้งไรเดอร์ต้องใส่ชุดยูนิฟอร์มของบริษัทซึ่งยิ่งเป็นการเน้นย้ำลักษณะของการเป็นพนักงานของบริษัท ดังนั้นกลุ่มไรเดอร์จึงได้เรียกร้องที่จะเปลี่ยนสัญญาการจ้างงานจากรูปแบบแรงงานอิสระเป็นลูกจ้าง ซึ่งจะทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าแรงให้กับไรเดอร์เพิ่มขึ้น ต้องมีการสมทบประกันสังคมให้กับไรเดอร์ และไรเดอร์จะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (Job Acts) อย่างไรก็ตามศาลก็ตัดสินให้ไรเดอร์ของบริษัทฟู้ดดอรามีสถานะเป็นแรงงานอิสระ โดยให้เหตุผลว่าไรเดอร์สามารถเลือกที่จะรับหรือปฏิเสธงานที่ได้รับจากบริษัทได้ อีกทั้งบริษัทยังไม่มีอำนาจในการกำหนดเวลาและสถานที่ในการทำงานของไรเดอร์ได้ ซึ่งเข้าข่ายสัญญาการจ้างงานแบบอิสระมากกว่า เนื่องจากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (Job Acts) ซึ่งเกิดจากความพยายามในการปฏิรูปกฎหมายแรงงานของอิตาลี ในปี 2015 มีข้อกฎหมายที่ถูกออกมาเพื่อปกป้องแรงงานอิสระ โดยถ้าหากนายจ้างมีอำนาจในการกำหนดสถานที่และระยะเวลาในการทำงานกับแรงงานอิสระได้ แรงงานอิสระจะต้องได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงการจ้างงาน (Subordinate employment agreement) เช่นเดียวกับลูกจ้าง (Employee) ดังนั้นข้อกฎหมายนี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่ศาลใช้ตัดสินให้ไรเดอร์ฟู้ดดอรอเป็นแรงงานอิสระ

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งจากศาลในปี 2020 โดยศาลแห่งโบโลญญา (Court of Bologna) ได้มีการตัดสินว่าระบบอัลกอริทึมการจัดอันดับไรเดอร์ของบริษัทเดลิเวอรู (Deliveroo) มีความไม่เป็นธรรมต่อไรเดอร์ โดยระบบจะมีการการะบุไรเดอร์ที่จองงานแต่ไม่มาทำงาน และไม่ยกเลิกงานตามเวลาที่กำหนดว่า “ไม่น่าเชื่อถือ (unreliable)” โดยไรเดอร์ที่ถูกระบุว่าไม่น่าเชื่อถือ จะขาดโอกาสในการรับงาน เนื่องจากจะต้องรอรับงานที่ไม่ถูกเลือกโดยไรเดอร์ที่ถูกระบุว่าเป็นไรเดอร์ที่น่าเชื่อถือ(reliable) เท่านั้น ศาลแห่งโบโลญญามองว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติกับไรเดอร์อย่างไม่เท่าเทียม (Discrimination) ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายอิตาลีที่ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานหรือแรงงานอิสระคนใดก็ตาม ดังนั้นศาลจึงได้มีการตัดสินให้บริษัทเดลิเวอรูเลิกระบบการจัดลำดับดังกล่าว และจ่ายค่าปรับ 50,000 ยูโรให้กับสหภาพแรงงานซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องดังกล่าว 

จะเห็นได้ว่าทุกกรณีการตัดสินของศาลในประเทศอิตาลี ยังมีผลให้ไรเดอร์ในทุกบริษัทยังคงมีสถานะเป็นแรงงานอิสระ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามการเรียกร้องของไรเดอร์ส่วนใหญ่ที่ต้องการมีสถานะเป็นลูกจ้างแต่ศาลอิตาลีก็อำนวยความยุติธรรมกับสภาพการทำงานของไรเดอร์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทแพลตฟอร์ม ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน เช่น กรณีของระบบอัลกอริทึมการจัดอันดับไรเดอร์ของบริษัทเดลิเวอรู

ดังนั้นเพื่อรักษาซึ่งสิทธิทีแรงงานที่ไรเดอร์พึงมี รัฐบาลอิตาลีจึงได้มีผ่านร่างพระราชกฤษฎีกา 101/2019 (Decree-Law No. 101/2019) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พระราชกฎษฎีกาสำหรับไรเดอร์(Riders Decree)” เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2019 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กันยายน 2019 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถูกออกแบบเพื่อให้การคุ้มครองกับอาชีพไรเดอร์โดยเฉพาะ โดยมีสิทธิที่ไรเดอร์จะได้รับดังนี้

ประการแรก สถานะของไรเดอร์ ไรเดอร์จะมีสถานะเป็นแรงงานอิสระ (Self-employed)

ประการที่สอง ค่าตอบแทน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับอาชีพเดอร์ ได้มีการกำหนด ดังนี้

  1. จำนวนรอบการส่งของไรเดอร์ สามารถใช้เป็นองค์ประกอบในการกำหนดค่าตอบแทนของไรเดอร์ได้ แต่ไม่สามารถเป็นเพียงปัจจัยเดียวในการกำหนดค่าตอบแทน เพราะอาจจะเป็นการบังคับให้ไรเดอร์ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้มีรายได้เยอะขึ้น ซึ่งในแง่นี้เป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ต้องการให้บริษัทแพลตฟอร์มสามารถกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนของไรเดอร์เพิ่มเติมได้ แต่ต้องไม่มีผลให้ไรเดอร์ทำงานหนักจนเกินไป
  2. ไรเดอร์สามารถรับค่าตอบแทนแบบเป็นชั่วโมงได้ หากมีการกดรับงานอย่างน้อย 1 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง ดังนั้นหากชั่วโมงไหนไม่กดรับงาน หรือเป็นช่วงที่กำลังรองาน (Stand-by periods) ไรเดอร์จะไม่ได้รับค่าตอบแทนในชั่วโมงนั้นๆ เว้นแต่ว่าจะมีการเจรจาต่อรองร่วมกันเพิ่มเป็นการเฉพาะ

ประการที่สาม ความคุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไรเดอร์จะได้รับความคุ้มครองจาก INAIL (Istituto Nazionale Per L’assicurazione Contro Gli Infortuni Sul Lavoro) ซึ่งเป็นประกันอุบัติเหตุของสถาบันแห่งชาติเพื่อการประกันภัยต่ออุบัติเหตุในที่ทำงาน องค์กรสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องแรงงานจากการบาดเจ็บทางร่างกายและโรคภัยที่เกิดจากการทำงาน และไรเดอร์จะได้รับการคุ้มครองจาก กฎหมายว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน (Legislative Decree n. 81/2008)

ประการที่สี่ ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายการจ้างงาน (employment legislation) เพื่อที่จะไม่ให้บริษัทเอารัดเอาเปรียบไรเดอร์โดยปฏิบัติกับไรเดอร์แบบลูกจ้าง แต่ไม่ให้ความคุ้มครองใดๆ ดังนั้นหากไรเดอร์มีสภาพการทำงานที่เข้าข่ายดังนี้ ไรเดอร์จะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายการจ้างงาน

  1. ในการปฏิบัติงาน ไรเดอร์มีการดำเนินงานนั้นๆ ด้วยตัวเองคนเดียว (Exclusively personal) โดยไม่มีปัจจัยอื่นมาสนับสนุนหรือช่วยเหลือ
  2. ในการปฏิบัติงานไรเดอร์ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (Ongoing) กล่าวคือมีการกำหนดกรอบเวลาอย่างชัดเจนในการปฏิบัติงานของไรเดอร์ในการบรรลุเป้าหมาย หรือ ส่งของเสร็จ
  3. ในการปฏิบัติงานของไรเดอร์ถูกจัดการและวางแผนโดยบริษัท (Organized) โดยบริษัทมีอำนาจในการระบุสถานที่และเวลาในการทำงานของไรเดอร์ (New legislation in Italy to boost delivery riders' rights, 2019)

จะเห็นได้ว่าการจัดการของประเทศอิตาลีมีความก้าวหน้าจากจุดเริ่มต้นที่มีลักษณะแบบ “ตัดสินเป็นกรณี (Case by case)” เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในยุโรป แต่เมื่อพิจารณาว่ารูปแบบการทำงานผ่านแพลตฟอร์ม กฎหมายที่มีอยู่จึงยังไม่สามารถคุ้มครองได้อย่างเพียงพอ และเป็นช่องว่างที่บริษัทแพลตฟอร์มใช้เอารัดเอาเปรียบไรเดอร์ เช่น กรณีระบบอัลกอริทึมการจัดอันดับไรเดอร์ของบริษัทเดลิเวอรู เป็นต้น ดังนั้นรัฐบาลอิตาลีจึงได้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยการออกกฎหมาย “พระราชกฎษฎีกาสำหรับไรเดอร์ (Riders Decree)” ซึ่งจะเข้ามาช่วยยกระดับสภาพการทำงานของไรเดอร์ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น และมีการคุ้มครองการทำงานไรเดอร์ทั้งในด้านการเกิดอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่สำคัญกับอาชีพไรเดอร์มาก เพราะเป็นอาชีพที่ต้องทำงานอยู่บนท้องถนนตลอดเวลา

การออกกฎหมายเพื่อไรเดอร์ของประเทศสเปน และอิตาลีมีความแตกต่างกัน เพราะสเปนมีการกำหนดชัดเจนให้ไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้าง ในขณะที่อิตาลีกำหนดให้ไรเดอร์ยังคงเป็นแรงงานอิสระ แต่สร้างรูปแบบการคุ้มครองเฉพาะให้ โดยไรเดอร์ในสเปนจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์แบบลูกจ้างแต่ไรเดอร์ในอิตาลีจะได้รับผลประโยชน์บางส่วนที่เหมาะสมกับอาชีพของตน แต่จะไม่ได้รับผลประโยชน์อื่นๆ เช่น เงินชดเชยในกรณีที่เจ็บป่วยและไม่สามารถทำงานได้ หรือเงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออก เป็นต้น

ประเทศเกาหลีใต้

ประเทศเกาหลีใต้มีตลาดการส่งอาหารออนไลน์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก ซึ่งบริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการในประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1-2 ปีนี้ ที่กำลังเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ทั่วโลก แม้ธุรกิจจะขยายตัวแต่ไรเดอร์ในประเทศเกาหลีใต้กับมีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่สวนทางกลับกำไรที่บริษัทได้รับ ซึ่งไม่ต่างจากอีกหลายประเทศทั่วโลก ไรเดอร์ในประเทศเกาหลีใต้ถูกจัดให้เป็นแรงงานอิสระ ทำให้ไรเดอร์ต้องประสบกับปัญหาการขาดความคุ้มครองในอาชีพ และไม่มีการประกันอัตราขั้นต่ำของรายได้ ต้องทำงานหลายชั่วโมงเพื่อที่จะมีรายได้เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำเยอะเกินกว่าชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งไรเดอร์ยังต้องเสียค่าต้นทุนการทำงานต่างๆ ด้วยตัวเอง อาทิ ค่ารถจักรยานยนต์ ค่าเสื้อยูนิฟอร์ม ค่ากระใส่อาหาร และยังต้องจ่ายเงินซื้อประกันภัยให้กับตนเองอีกด้วย

กรณีศึกษาที่น่าสนใจในเกาหลีใต้เป็นเรื่องของการรวมตัวเพื่อต่อรอง ขบวนการแรงงานในเกาหลีใต้มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในการการต่อสู้ต่อรองที่เข้มแข้ง กลุ่มสิทธิแรงงานพาร์ทไทม์วัยหนุ่มสาว (Labor Rights Coalition for Young Part-time Workers) ได้รวบรวมสมาชิกไรเดอร์ก่อตั้งเป็นสหภาพไรเดอร์ (Rider union) และได้ไปชุมนุมร่วมกันหน้ารัฐสภากรุงโซล เพื่อเรียกร้องให้สหภาพไรเดอร์ได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมาย ซึ่งในท้ายที่สุดศาลได้ตัดสินให้สหภาพไรเดอร์มีสถานะทางกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยศาลได้ให้เหตุผลว่าบริษัทแพลตฟอร์มได้มีการกำหนดสัญญาล่วงหน้าเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งปันผลกำไรให้กับไรเดอร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของบริษัทและมีลักษณะเงื่อนไขที่เหมือนลูกจ้างของบริษัท จากสัญญาล่วงหน้าทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์การจ้างระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มและไรเดอร์ และโครงสร้างการทำงานของไรเดอร์ที่มีลักษณะอยู่ใต้บังคับบัญชาของบริษัทแพลตฟอร์มอย่างชัดเจน ดังนั้นไรเดอร์จึงมีสภาพการทำงานเหมือนกับลูกจ้างของบริษัท และสมควรมีสิทธิในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากที่สหภาพไรเดอร์ได้รับการับรองทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ สหภาพจึงเข้าไปเจรจากับแพลตฟอร์มให้ไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้างที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเพราะการรวมตัวในฐานะสหภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ไรเดอร์มีอำนาจในการต่อรองกับบริษัท 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีของประเทศเกาหลีใต้คือการที่แรงงานอิสระสามารถรวมตัวกันจัดสหภาพแรงงานได้เมื่อได้รับคำตัดสินจากศาล สหภาพไรเดอร์จึงสามารถเกิดขึ้นมาได้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่แรงงานนอกระบบไม่สามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เพราะตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไม่ได้ให้สิทธิ์ในการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน

ประเทศญี่ปุ่น

บริษัทแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่น คือ อูเบอร์อีทส์ (Uber Eats) ประกอบไปด้วยไรเดอร์จำนวน 15,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งทุกคนอยู่ในสถานะแรงงานอิสระ (Freelance) และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากบริษัทแพลตฟอร์ม มีเหตุการณ์ที่ไรเดอร์ได้รับอุบัตเหตุในขณะทำงานอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่มีใครได้รับเงินชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุเลยแม้แต่น้อย รวมถึงไม่ได้รับเงินประกันการว่างงานในกรณีที่ไม่มีงานปรากฏบนแอพลิเคชั่น ทำให้ไรเดอร์มีรายได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากสถานะของไรเดอร์เป็นแรงงานอิสระ แต่ญี่ปุ่นมีกฎหมายที่อนุญาตให้แรงงานอิสระสามารถรวมกลุ่มก่อตั้งสหภาพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไรเดอร์ของบริษัทอูเบอร์อีทส์จำนวน 17 คน จึงร่วมกันก่อตั้งสหภาพแรงงานสำหรับไรเดอร์ และได้มีการเปิดรับสมัครมาชิกเพิ่มอยู่ตลอด 

สหภาพไรเดอร์ญี่ปุ่นเรียกร้องให้บริษัทแพลตฟอร์มให้ความคุ้มครองด้านความปลอดภัยในการทำงานแก่ไรเดอร์ Tomio Maeba ประธานของสหภาพแรงงาน ได้นำเสนอคลิปวิดีโอของไรเดอร์คนหนึ่งที่เกือบประสบอุบัติเหตุในขณะทำงาน เนื่องจากมีรถบัสโรงเรียนขับมาเบียดรถของเขา และขวางไม่ให้ไป ก่อนที่จะลงมากระชากกระเป๋าเขา พร้อมตะคอกบอกให้ไปขับบนฟุตบาท คลิปวิดีโอมีคนรับชมมากกว่า 9 แสนครั้งบนทวิตเตอร์ และคลิปดังกล่าวกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่สหภาพใช้เป็นหลักฐานเพื่อเรียกร้องให้บริษัทแพลตฟอร์มรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของไรเดอร์ สหภาพไรเดอร์ญี่ปุ่นร่วมมือกับองค์กรเพื่อความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งโตเกียว (Tokyo Occupational Safety and Health Center) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ในการจัดทำผลสำรวจจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับไรเดอร์ขณะทำงานบนเว็บไซต์ของสหภาพ ระหว่างวันที่ 7 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2020 ซึ่งในเวลาเพียง 1 เดือน มีไรเดอร์แจ้งการเกิดอุบัติเหตุเข้ามาถึง 19 ครั้ง การทำผลสำรวจจะยังคงดำเนินการต่อไป เพื่อจะถูกใช้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องต่อบริษัทแพลตฟอร์มต่อไป 

อย่างไรก็ตามบริษัทอูเบอร์อีทส์ยังไม่ยอมรับการมีอยู่ของสหภาพอย่างเป็นทางการ และไม่ได้ตอบรับข้อเรียกร้องของสหภาพทั้งหมด อันได้แก่ เงินชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และเงินประกันการว่างงาน บริษัทเพียงเสนอจะให้เงินชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สูงสุดถึง 250,000 เยนเพื่อครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล และสูงสุดถึงถึง 10 ล้านเยนในกรณีที่เสียชีวิต แต่สหภาพมองว่าข้อเสนอดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อความมั่นคงของอาชีพไรเดอร์ กระทรวงแรงงานญี่ปุ่น (Japan’s Ministry of Labor) ไม่ได้นิ่งนอนใจกับการต่อสู่ของสหภาพไรเดอร์ โดยกำลังพิจารณามาตรการใหม่เพื่อปกป้องแรงงานอิสระในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มทั้งหมด แต่ทางกระทรวงยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการทั้งหมด ว่าจะเป็นในรูปแบบการปฏิรูปกฎหมายและการเสนอกฎหมายต่อสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงต้องพิจารณาต่อไป

การเรียกร้องของสหภาพไรเดอร์ญี่ปุ่นยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้การคุ้มครองที่เหมาะสม การที่แรงงานอิสระในญี่ปุ่นสามารถตั้งสหภาพได้นับว่าเป็นก้าวสำคัญของแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มทุกคน เพราะกลุ่มแรงงานจะสามารถสร้างข้อต่อรองไม่ให้บริษัทสามารถเอาเปรียบได้

ประเทศเนเธอร์แลนด์

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2021 ศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมได้ตัดสินว่าไรเดอร์ของบริษัทเดลิเวอรูมีสถานเป็นลูกจ้างที่ต้องทำงานภายใต้สัญญาการจ้างงาน ไม่ใช่แรงงานอิสระ โดยศาลได้ให้เหตุผลว่าบริษัทแพลตฟอร์มเดลิเวอรู มีอำนาจในการควบคุมกระบวนการทำงานของไรเดอร์ อีกทั้งบริษัทยังเป็นผู้กำหนดกะเวลาทำงาน (Slots) ที่ไรเดอร์ต้องเลือกทำ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าบริษัทแพลตฟอร์มมีอำนาจบังคับบัญชาไรเดอร์ ไรเดอร์จึงควรได้รับสถานเป็นลูกจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย  อย่างไรก็ตามบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าไรเดอร์มีสภาพการทำงานแบบอิสระ ดังนี้

ประการแรก เรื่องการจ้างงาน เดริเวอรู ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลว่าหลังจากคำตัดสินของศาล ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 บริษัทได้เปลี่ยนแปลงระบบการล็อกอินเข้าทำงานให้มีความอิสระมากขึ้น (Free login system) โดยไรเดอร์ไม่ต้องเลือกกะเวลาในการล็อกอินเข้าระบบการทำงานดังเดิม

ประการที่สอง เรื่องค่าจ้าง บริษัทให้ค่าตอบแทนแก่ไรเดอร์ตามออเดอร์แต่ละรอบ โดยค่าตอบแทนที่ได้ถูกกำหนดโดยแรงผลักดันของตลาด (Market forces) โดยแรงผลักดันของตลาดที่บริษัทกล่าวถึง คือ การสร้างระบบอัลกอริทึมที่จะคำนวณราคาค่าตอบแทนจากระดับความต้องการของลูกค้า (Demand) และจำนวนของไรเดอร์ที่พร้อมทำงานในขณะนั้น (Supply) ดังนั้นถ้ายิ่งมีความต้องการของลูกค้าในปริมาณที่มาก แต่จำนวนไรเดอร์ที่กำลังทำงานในขณะนั้นมีน้อย ค่าตอบแทนก็จะยิ่งสูงมากขึ้น ซึ่งการที่บริษัทแพลตฟอร์มให้เหตุผลแบบนี้ เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าถ้าหากไรเดอร์ต้องการได้ค่าตอบแทนสูง ก็ควรล็อกอินเข้าระบบการทำงานในช่วงเวลาที่มีไรเดอร์อยู่ในช่วงเวลาทำงานน้อย ซึ่งในส่วนนี้ศาลมองว่าไรเดอร์ไม่ได้มีอิทธิพลหรืออำนาจในการกำหนดค่าตอบแทนของตนเองอยู่ดี แต่บริษัทต่างหากที่เป็นผู้กำหนด เพราะระบบอัลกอริทึมที่ใช้คำนวณค่าตอบแทนอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท ดังนั้นหากพิจารณาในส่วนนี้ไรเดอร์ยิ่งมีสภาพการทำงานเหมือนลูกจ้าง

ประการที่สาม เรื่อง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เนื่องจากบริษัทสามารถสอดส่องการทำงานของไรเดอร์ขณะที่ไรเดอร์ล็อกอินในระบบการทำงานได้ตลอดเวลาผ่านระบบ GPS นอกจากนั้นบริษัทยังเป็นผู้กำหนดรูปแบบการจ่ายเงินเพียงฝ่ายเดียว บริษัทจึงถือว่าเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมการทำงานของไรเดอร์ อีกทั้งกิจกรรมหลักของบริษัทคือการส่งอาหาร ซึ่งนับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญมากที่สุดของธุรกิจ ดังนั้นไรเดอร์จึงไม่ต่างจากลูกจ้างที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานบริษัท ในส่วนนี้ศาลจึงตัดสินว่าไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้าง

จากคำวินิจฉัยของศาลทำให้ไรเดอร์ของบริษัทของเดริเวอรูมีสถานะเป็นลูกจ้าง ซึ่งจะมีผลต่อทั้งสัญญาการจ้างงานและกฎหมายด้านภาษี (tax law) แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคำตัดสินของศาลจะมีผลต่อบริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารที่แห่งในประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามบริษัทเดริเวอรูได้ประกาศที่จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาของศาล 

ประเทศไต้หวัน

รัฐบาลไต้หวันต้องกลับมาทบทวนเกี่ยวกับข้อกฎหมายและสภาพการทำงานของไรเดอร์ใหม่ เนื่องจากเมื่อเดือนเมษายน 2021 ที่ผ่านมา กลุ่มไรเดอร์จากบริษัทอูเบอร์อีทส์ (Uber Eats), ฟู้ดแพนด้า (Foodpanda), โกโกเอ็กส์ (GoGoX) และลาลามูฟ (Lalamove) ได้มีการรวมตัวประท้วงที่หน้ากระทรวงแรงงานเพื่อเรียกร้องให้สามารถจัดตั้งสหภาพไรเดอร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ ซึ่งสาเหตุของการรวมตัวเรียกร้องดังกล่าวเกิดจากการที่บริษัทอูเบอร์อีส์และฟู้ดแพนด้าประกาศโครงสร้างการให้ค่าตอบแทนใหม่ โดยลดสัดส่วนของค่าตอบแทนไรเดอร์ลงร้อยละ 10 ถึง 30 ส่งผลให้จากเดิมที่ไรเดอร์จะได้รับค่าตอบแทนจากการส่งสินค้ารอบละ 65 - 75 ดอลลาร์ไต้หวัน จะถูกปรับราคาเหลือเพียงรอบละ 43 – 50 ดอลลาร์ไต้หวันเท่านั้น ไรเดอร์จึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ได้รับรายได้เท่าเดิมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหนึ่งในไรเดอร์ผู้ที่เข้าร่วมการประท้วงกล่าวว่า แต่เดิมตนส่งอาหารให้ได้ 110 รายการ ถึงจะได้เงิน 9600 ดอลลาร์ไต้หวันต่อเดือน แต่โครงสร้างค่าตอบแทนใหม่มีผลให้ต้องเพิ่มการส่งสนค้าเป็น 164 รายการ ตนถึงจะได้รับเงิน 9000 ดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งแม้จะต้องทำงานหนักขึ้น แต่เงินที่ได้รับกลับน้อยลง 

อีกทั้งอัตราการเกิดอุบัติเหตุของไรเดอร์ในไต้หวันสูงขึ้นจากเฉลี่ย 1.4 ครั้งต่อเดือน เป็น 4 ครั้งต่อเดือน ตั้งแต่มีการเปลี่ยนโครงสร้างค่าตอบแทนของไรเดอร์ ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ไรเดอร์ต้องเร่งทำงานมากขึ้น เพื่อที่จะได้รับเงินเท่าเดิม ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ง่าย ในการรวมตัวประท้วงครั้งนี้จึงมีการเรียกร้องให้บริษัทมีมาตรการรับผิดชอบต่อการเกิดอุบัติเหตุของไรเดอร์ โดยต้องมีค่าชดเชยให้ไรเดอร์อย่างน้อย 100,000 ดอลลาร์ไต้หวัน เมื่อไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุ 

นอกจากในประเด็นเรื่องการลดค่าตอบแทน และด้านความคุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุ อีกหนึ่งฉนวนเหตุ คือเหตุการณ์ในอดีตเมื่อปี 2019 เมื่อมีไรเดอร์เสียชีวิตระหว่างการทำงานจำนวน 2 คน โดยทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นภายใน 3 วัน ซึ่งเป็นไรเดอร์จากบริษัทฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) และอูเบอร์อีทส์ (Uber Eats) แต่เนื่องจากอาชีพไรเดอร์กับบริษัทแพลตฟอร์มมีความสัมพันธ์แบบลูกจ้างชั่วคราว (Temporary contractor) บริษัทจึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุดังกล่าว เพราะไรเดอร์ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้าง การเรียกร้องของกลุ่มไรเดอร์กระทรวงแรงงานของไต้หวันต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนและได้สรุปว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราว(temporary contractor) โดยพิจารณาจากข้อปฏิบัติที่บริษัทมีกฎให้ไรเดอร์ต้องชุดยูนิฟอร์มของบริษัท และบริษัทมีอำนาจในการควบคุมและสอดส่องการทำงานของไรเดอร์ บริษัทจึงมีสถานะเป็นนายจ้าง มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยของไรเดอร์ด้วย และต้องจ่ายค่าชดเชยให้ไรเดอร์ที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานเป็นจำนวนเงินสูงสุด 65,000 ดอลลาร์ไต้หวัน อย่างไรก็ตามทั้งบริษัทอูเบอร์อีทส์และฟู้ดแพนด้าไม่ยอมรับกับคำสั่งดังกล่าว จึงได้มีการยื่นฟ้องคดีปกครองต่อฝ่ายรัฐบาลต่อไป

การกำหนดสถานะไรเดอร์ของเนเธอร์แลนด์และไต้หวันมีความแตกต่างกัน เพราะลักษณะข้อกำหนดของไต้หวันไม่เคร่งครัดเท่ากับเนเธอร์แลนด์ ทำให้บริษัทแพลตฟอร์มสามารถแก้ไขสัญญาระหว่างไรเดอร์ได้ง่าย และคงไว้ซึ่งสถานะแบบแรงงานอิสระของไรเดอร์ดังเดิม เช่น รัฐบาลไต้หวันมีการกำหนดไว้ว่าการใส่ชุดยูนิฟอร์มของไรเดอร์แสดงถึงการเป็นพนักงานประจำ บริษัทแพลตฟอร์มก็ได้ทำการตอบโต้กฎหมายดังกล่าว โดยการยกเลิกชุดยูนิฟอร์มของไรเดอร์เท่านั้น หรือการอนุญาตให้ไรเดอร์สามารถทำงานในหลายแพลตฟอร์มได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไรเดอร์มีการทำงานอย่างอิสระ แต่รัฐบาลไต้หวันไม่ได้เข้ามาจัดการแก้ปัญหาความเปราะบางด้านต่างๆ ของไรเดอร์ เช่น เรื่องค่าตอบแทน และเรื่องสวัสดิการทางสังคมต่างๆ นอกจากนั้นรัฐบาลไต้หวันยังไม่ได้เข้าไปจัดการประเด็นเรื่องระบบอัลกอริทึมที่ไม่มีความโปร่งใส ที่ทำให้ไรเดอร์ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยบริษัทผ่านระบบแพลตฟอร์ม

ดังนั้นการกำหนดกฎหมายที่ไม่ได้มองไปที่สาเหตุปัญหาที่แท้จริงของอาชีพไรเดอร์ ทำให้ปัจจุบันไรเดอร์ในไต้หวันส่วนใหญ่ก็ยังคงมีสถานะเป็นแรงงานอิสระ เพราะบริษัทได้ทำการแก้ไขข้อสัญญาให้มีความอิสระมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงคำสั่งของรัฐ นอกจากนั้นยังได้มีการสำรวจความคิดเห็นของไรเดอร์จำนวน 184 คน ที่มีต่อคำตัดสินของรัฐบาลไต้หวันที่ตัดสินว่าไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้าง พบว่าร้อยละ 45 ของไรเดอร์สนับสนุนรัฐบาลไต้หวันที่มีการกำหนดลักษณะของไรเดอร์ที่เป็นลูกจ้าง ขณะที่ร้อยละ 28 ต้องการให้สถานะของไรเดอร์เป็นแรงงานอิสระทั่วไป และร้อยละ 14 ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างการเป็นลูกจ้างและแรงงานอิสระของอาชีพไรเดอร์ การที่มีผู้เห็นด้วยกับกฎหมายของรัฐบาลในครั้งนี้ไม่ถึงครึ่ง สะท้อนให้เห็นปัญหาของข้อกำหนดกฎหมายที่มีปัญหา และไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มไรเดอร์ 

ประเทศนอร์เวย์

บริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารที่ได้รับความนิยมในนอร์เวย์ คือ เดลิเวอรู (Deliveroo), ฟู้ดดอรา (Foodora) และอูเบอร์อีทส์ (Uber Eats) ในปี 2019 ได้เกิดปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ คือ เหตุการณ์ที่ไรเดอร์ของบริษัทฟู้ดดอราได้ทำการประท้วงนัดหยุดงานกับบริษัทแพลตฟอร์มเพื่อเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าตอบแทน และค่าชดเชยสำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน การประท้วงดังกล่าวสามารถบรรลุข้อตกลงได้ จึงนับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่การหารือระหว่างลูกจ้างไรเดอร์กับบริษัทประสบความสำเร็จผ่านวิธีการประท้วง

บริษัทฟู้ดดอราเป็นบริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารสัญชาติเยอรมันที่เข้ามาดำเนินงานใน 15 ประเทศ โดยใช้จักรยานเพื่อส่งอาหารจากร้านอาหาร 36,000 แห่ง บริษัทเริ่มดำเนินการในนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งในช่วงเปิดตัวบริษัทก็ได้ทำสัญญากับไรเดอร์ในฐานะลูกจ้าง (Employee) แต่ไรเดอร์ส่วนใหญ่จะมีสัญญาการทำงานแบบพาร์ทไทม์กับบริษัท ในปัจจุบันบริษัทฟู้ดดอราในนอร์เวย์มีลูกจ้างทั้งหมด 600 คน มีอายุเฉลี่ยราว 25 ปี และทำงานโดยเฉลี่ย 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในหมู่ไรเดอร์ประกอบไปด้วยผู้อพยพจำนวนมาก นอกจากผู้อพยพก็มีไรเดอร์จำนวนหนึ่งที่เป็นนักเรียนนักศึกษาและผู้ทำงานส่งอาหารในลักษณะพาร์ทไทม์ ทำให้ลักษณะของไรเดอร์ในฟู้ดดอรามีความหลากหลายสูง เนื่องจากลักษณะการทำงานของไรเดอร์ที่ความเป็นเอกเทศและโดดเดี่ยว โอกาสที่ไรเดอร์จะได้พบปะพูดคุยกันจึงน้อย เช่น ในกรณีของบริษัทอูเบอร์ ที่เป็นบริการรับส่งลูกค้าผ่านรถยนต์ ทำให้โอกาสที่จะเจอไรเดอร์อื่นๆ น้อย แต่ไรเดอร์ของบริษัทฟู้ดดอราแตกต่างออกไป เนื่องจากต้องรออาหารที่หน้าร้านอาหารด้วยกัน ทำให้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับไรเดอร์คนอื่นๆ นอกจากการพบปะในเวลาทำงานพวกเขายังมีการนัดพบปะกันเป็นประจำที่จัตุรัส Youngstorget ในเมืองออสโล ทั้งการพบกันในระหว่างการทำงาน และนอกเวลาทำงานทำให้ไรเดอร์ของฟู้ดดอราเกิดการรวมกลุ่มกันขึ้น และได้ร่วมพูดคุยถึงปัญหาต่างๆจนนำไปสู่การประท้วงนัดหยุดงานในเวลาต่อมา (Lindahl, 2019)

การประท้วงเกิดขึ้นที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งนอร์เวย์ (Norwegian Confederation of Trade Unions, LO) โดยการประท้วงกินเวลาเกือบ 6 สัปดาห์ พวกเขาปักหลักบริเวณนั้น มีการกางเต็นท์ขนาดใหญ่เพื่อตั้งร้านซ่อมจักรยาน และเสนอบริการซ่อมจักรยานแก่ประชาชนชนฟรี มีการแจกอาหาร อีกทั้งยังมีการจัดสาธิตการปั่นจักรยาน เนื่องจากไรเดอร์มองว่าตนเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับจักรยายนมาก และมีความรู้ในเรื่องจักรยานสูง พวกเขาจึงอยากเผยแพร่ความรู้นี้ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวเมือง และพวกเขายังได้สร้างเพจ Facebook เพื่ออัพเดตสถารการณ์การประท้วง ด้วยเหตุนี้การประท้วงจึงได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนอย่างมาก ทำให้จำนวนสมาชิกของสหภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดการประท้วงนัดหยุดงาน ในท้ายที่สุดการประท้วงของไรเดอร์ก็สามารถบรรลุข้อเรียกร้องของกลุ่มได้ โดยเกิดเป็นข้อตกลงทางภาษี (Tariff agreement) ระหว่างสหพันธ์สหภาพแรงงาน(Fellesforbundet) และบริษัทฟู้ดดอราในนอร์เวย์ ข้อตกลงมีเนื้อหาว่าบริษัทจะต้องขึ้นค่าจ้างให้ไรเดอร์ที่เป็นลูกจ้างประจำ โดยไรเดอร์ต้องได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 15,000 โครนต่อปี  อีกทั้งจะได้รับเงินช่วยเหลือในช่วงฤดูหนาว และค่าชดเชยสำหรับการใช้อุปกรณ์การทำงานของตนเอง อาทิ จักรยาน ชุดยูนิฟอร์ม และสมาร์ทโฟน ในข้อตกลงยังได้ระบุให้ไรเดอร์ที่ออกจากงานก่อนกำหนดต้องได้รับค่าชดเชยอีกด้วย เนื่องจากข้อตกลงนี้ถูกกระทำโดยสหพันธ์สหภาพแรงงาน (Fellesforbundet) ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงมีผลต่อไรเดอร์ทั่วประเทศที่มีสถานะเป็นลูกจ้าง

แม้นอร์เวย์จะไม่ใช่ประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการหาข้อตกลงร่วมกับบริษัท แต่นับว่าเป็นครั้งแรกที่กลุ่มไรเดอร์สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมผ่านวิธีการประท้วงนัดหยุดงานได้สำเร็จ ปรากฎการณ์ครั้งนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform economy) ว่าแรงงานยังสามารถรวมตัวกันเพื่อกำหนดข้อเรียกร้องได้ เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทแพลตฟอร์ม แม้ลักษณะการทำงานที่เป็นอิสระจากกันจะไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการรวมกลุ่มก็ตาม แต่ในกรณีของนอร์เวย์ทำให้เห็นว่าแม้ในกลุ่มไรเดอร์จะมีความหลากหลายสูง แต่ก็ยังสามารถประสบความสำเร็จในการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องได้ ส่วนหนึ่งมาจากแรงสนับสนุนของสื่อและประชาชน ซึ่งเกิดจากการที่กลุ่มไรเดอร์มีการรวมกลุ่มอย่างสร้างสรรค์ ทั้งการเปิดให้ประชาชนมาซ่อมจักรยานฟรี การแจกอาหาร การสาธิตการปั่นจักรยาน เป็นต้น อีกทั้งยังมีการนำเสนอภาพการประท้วงผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้การประท้วงครั้งนี้ได้รับความสนใจในวงกว้าง อย่างไรก็ตามข้อแตกต่างประการสำคัญที่ไรเดอร์ในนอร์เวย์แตกต่างจากประเทศอื่น คือ สถานการณ์จ้างงาน เนื่องจากไรเดอร์ในนอร์เวย์ส่วนใหญ่มีสถานะเป็นลูกจ้าง และอาชีพเดอร์ยังอยู่ภายใต้สหพันธ์สหภาพแรงงาน(Fellesforbundet) ทำให้การเรียกร้องได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

ประเทศสหรัฐอเมริกา

อาชีพส่งอาหารเป็นอาชีพทั่วไปที่พบได้สหรัฐ ในส่วนนี้จะขอยกกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในรัฐนิวยอร์ค ปัจจุบันนิวยอร์คมีพนักงานส่งอาหารทั้งแบบสังกัดร้านอาหารและแพลตฟอร์มจำนวน 65,000 คน บริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารที่ได้รับความนิยม คือ ดอร์แดช(Doordash), อูเบอร์อีทส์ (Uber Eats) และกรับฮับ (Grubhub) ไรเดอร์ในนิวยอร์คต้องเผชิญกับสภาวะการทำงานที่ย่ำแย่ ทั้งค่าแรงที่ต่ำ งานที่หนัก ระบบอัลกอริธึมของแอพลิเคชั่นที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งไรเดอร์ยังต้องประสบปัญหาถูกปล้นจี้ระหว่างการทำงานอยู่บ่อยครั้งและไม่ได้รับการคุ้มครองจากตำรวจอย่างเหมาะสม

จากการสำรวจโดยสถาบันแรงงานแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (The Worker Institute at Cornell University’s School) ร่วมกับกลุ่มผู้อพยพที่เป็นนักเคลื่อนไหว หรือสหภาพไรเดอร์ละติน (Los Deliveristas Unidos) และศูนย์แรงงานเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้อพยพ (The Workers Justice Project) เมื่อต้นเดือนกันยายน 2021 จากกลุ่มตัวอย่างไรเดอร์ในหลายบริษัทแพลตฟอร์มจำนวน 500 คน พบว่าไรเดอร์ในนิวยอร์คกว่าร้อยละ 54 เคยถูกปล้นระหว่างไปส่งอาหาร อีกร้อยละ 30 เคยโดนทำร้ายในขณะถูกปล้น ร้อยละ 42 เคยประสบปัญหาได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนใหญ่จะได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยเพียง 7.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขึ้นต่ำของแรงงานในนิวยอร์คที่จะได้รับเงินเฉลี่ยราว 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง และในบางครั้งก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย เกือบร้อยละ 50 เคยประสบอุบัติเหตุขณะทำงาน และไรเดอร์อีกร้อยละถึง 75 กล่าวว่าพวกเขาต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเองเมื่อเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บ โดยไม่ได้รับค่าชดเชยจากบริษัทเลยแม้แต่น้อย ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสภาพการทำงานที่อันตรายต่อไรเดอร์ นอกจากนั้นไรเดอร์ยังถูกเลือกปฏิบัติจากร้านอาหาร โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องน้ำของร้าน 

สิ่งที่เป็นฉนวนให้กลุ่มไรเดอร์ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง คือ การถูกจี้ปล้นระหว่างทำงาน เพราะบางรายถึงขั้นโดนขโมยจักรยาน ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือการทำงานหลักของไรเดอร์ จักรยานที่ไรเดอร์ในนิวยอร์คใช้เป็นจักรยานไฟฟ้าที่มีราคาค่อนข้างสูง และไรเดอร์ต้องเป็นผู้จัดหามาเอง การถูกขโมยเครื่องมือในการทำงานหลัก เปรียบเสมือนกับฟางเส้นสุดท้ายที่ขาดลง ตามข้อมูลขององค์กรตำรวจแห่งนิวยอร์ค (New York Police Department : NYPD) พบว่าในปี 2020 เหตุการณ์ไรเดอร์ถูกโจรกรรมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65 โดยมีการเข้าแจ้งความทั้งหมด 332 ครั้ง แต่ไรเดอร์บอกว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียนแค่บางส่วนจากเหตุการณ์ทั้งหมดเท่านั้น เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจมักกีดกันพวกเขาไม่ให้แจ้งความ และพบว่าถึงจะแจ้งความไปก็แทบจะไม่มีความคืบหน้าเลย เนื่องจากไรเดอร์ในนิวยอร์คส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองอยากถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากตำรวจ ไรเดอร์หลายคนเริ่มถอดใจไม่พึ่งพาตำรวจอีกต่อไป หลายคนเริ่มประท้วงและทำการล้อบบี้ ร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหากำไรและเจ้าหน้าที่ของเมืองเพื่อเสนอกฎหมายคุ้มครองสิทธิไรเดอร์

ก่อนที่จะเกิดการประท้วง ไรเดอร์มีการรวมกลุ่มขนาดย่อมตามที่จอดรถใต้สะพาน ซึ่งพวกเขาใช้เป็นที่พักผ่อน และชาร์จแบตจักรยานไฟฟ้าและโทรศัพท์ระหว่างวัน เนื่องจากไรเดอร์ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากแถบละตินอเมริกาที่ใช้ภาษาสเปนในการสื่อสารทำให้พวกเขามีค่อนข้างมีความใกล้ชิดกันจนเกิดเป็นชุมชนไรเดอร์ขนาดย่อมในนิวยอร์ค โดยคาดว่าวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด -19 จะทำให้จำนวนผู้อพยพที่เลือกมาทำงานไรเดอร์จะเพิ่มขึ้นถึง 80,000 คน (Dzieza, 2021)

การเรียกร้องของกลุ่มไรเดอร์เริ่มจากการที่มีไรเดอร์คนหนี่ง ที่มีอายุเพียง 17 ปี ถูกขโมยจักรยานไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ กลุ่มไรเดอร์จึงรวมเงินกันเพื่อซื้อจักรยานใหม่ให้กับเขา และเป็นครั้งแรกที่พวกเขาอยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับอาชีพไรเดอร์ พวกเขาจึงรวมตัวกันจำนวนกว่า 30 คน บริเวณสวนสาธารณะถนนสาย 72 และถนนอัมสเตอร์ดัม โดยมีการขับจักรยานและบีบแตรไปทั่วพื้นที่ และทำการปิดถนนบริเวณนั้น การประท้วงในครั้งนี้มีแนวหน้าคนสำคัญที่เป็นผู้ริเริ่มคือ Anthony Chavez และ Eliseo Tohom แต่เดิม Chavez มีเพจ Facebook ในภาษาสเปน ชื่อ Chapín en Dos Ruedas หรือ“Guatemalan on Two Wheels” ซึ่งในทีแรกมีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้และกลยุทธ์ต่างๆในการทำงานกับไรเดอร์ ทำให้เพจได้รับความนิยมสูงในหมู่ไรเดอร์นิวยอร์ค Chavez เริ่มทำเพจตั้งแต่ปี 2019 ทำให้เขากลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในกลุ่มไรเดอร์ด้วยกันเอง และภายหลังได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับการปล้นไรเดอร์และการประท้วงที่เกิดขึ้นทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง การประท้วงยังเกิดขึ้นอีกครั้งในเวลาต่อมา โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์แรงงานเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้อพยพ (The Workers Justice Project) WJP ได้ช่วยยื่นเอกสารให้มีการชุมนุมอย่างเป็นทางการ และ Chavez ได้ประกาศนัดหมายการประท้วงผ่านหน้าเพจ Facebook ทำให้มีผู้มาร่วมชุมนุมในครั้งนี้กว่า 100 คน นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ไรเดอร์มารวมตัวกันมากที่สุด และพวกเขาได้ร่วมกันสร้างเพจ Deliveryboys ซึ่งเป็นพื้นที่ไว้สำหรับการเตือนภัย และแจ้งจับขโมย พวกเขายังมีการรวมกลุ่มผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp และ Telegram เพื่อติดต่อสื่อสารกัน การรวมกลุ่มของไรเดอร์จึงยิ่งเหนียวแน่นมากขึ้น 

การรวมกลุ่มเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการสนับสนุนของศูนย์แรงงานเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้อพยพ และเพจ Facebook ของ Chavez ที่คอยกระจายข่าวแก่ไรเดอร์และชาวเมืองนิวยอร์คเสมอ จึงได้เกิดการรวมกลุ่มอีกครั้งในเดือนตุลาคม และจำนวนไรเดอร์ที่มาเข้าร่วมชุมนุมก็เพิ่มจำนวนไปถึง 1,000 กว่าคน จนนำไปสู่การก่อตั้งสหภาพไรเดอร์ละติน (Los Deliveristas Unidos) จากในทีแรกที่การประท้วงเป็นไปเพื่อการเรียกร้องให้ตำรวจจัดการเรื่องการจี้ปล้นที่เกิดขึ้นกับไรเดอร์ สหภาพไรเดอร์ละตินได้นำพาการประท้วงไปสู่เป้าหมายที่ไกลกว่าเดิม คือ การเรียกร้องสิทธิให้กับอาชีพไรเดอร์ โดยสหภาพได้ประกาศข้อเรียกร้องดังนี้

  1. สิทธิในการเข้าห้องน้ำของร้านอาหารที่ไรเดอร์ไปรอรับอาหารได้
  2. สิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และค่าชดเชยสำหรับงานที่มีความเสี่ยง(Hazard Pay)
  3. สิทธิที่ได้รับการปกป้องจากการโดนโจรกรรมรถจักรยานและเงินค่าจ้าง และได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพและความปลอดภัย
  4. สิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะสำหรับรับประทานอาหาร พักผ่อน และเพื่อป้องกันจากสภาพอากาศที่เลวร้าย
  5. สิทธิในการรวมตัวก่อตั้งสหภาพ (Unidos, 2021)

หลังจากการชุมนุมประท้วงในเดือนตุลาคมประสบความสำเร็จ พวกเขาก็ต้องการขยายการชุมนุมต่อไป คราวนี้เค้าได้รับการสนุบสนุนจากอีกหนึ่งองค์กร คือ สหภาพ SEIU 32BJ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาของสหภาพนานาชาติพนักงานผู้ให้บริการ (Service Employees International Union) สหภาพ SEIU 32BJ เคยประสบความสำเร็จในการเรียกร้องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 15 ดอลล่าร์มาแล้ว เนื่องการชุมนุมของไรเดอร์ในนิวยอร์คได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กร ทำให้การเรียกร้องของพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว (Dzieza, 2021)

จากการชุมนุมประท้วงหลายครั้ง ในที่สุดสภาเมืองนิวยอร์ก (New York’s city council) ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอาชีพไรเดอร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายกเทศมนตรี Bill de Blasio นับว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลในระดับมลรัฐพยายามควบคุมธุรกิจแพลตฟอร์มขนาดใหญ่มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่กำลังขยายการเติบโตอย่างรวดเร็ว  ร่างกฎหมายมีทั้งหมด 6 ชุดคำสั่ง ดังนี้

  1. ร้านอาหารทุกแห่งในนิวยอร์คต้องให้ไรเดอร์สามารถใช้ห้องน้ำของร้านได้
  2. บริษัทแพลตฟอร์มต้องเปิดเผยราคารอบบนแอพลิเคชั่นต่อทั้งไรเดอร์และลูกค้า
  3. บริษัทแพลตฟอร์มต้องเป็นผู้จัดหากระเป๋าใส่อาหารให้กับไรเดอร์
  4. บริษัทแพลตฟอร์มต้องอนุญาตให้ไรเดอร์สามารถกำหนดระยะทางสูงสุดที่ไรเดอร์สามารถไปรับและไปส่งอาหารได้ กล่าวคือไม่ให้แอพลิเคชั่นเป็นคนกำหนดระยะทางเอง เพราะในบางครั้งร้านอาหารหรือจุดส่งอาหารอยู่ห่างจากกันเกินไป ทำไรเดอร์ต้องเร่งความเร็วในการไปส่งอาหาร เนื่องจากแอพลิเคชั่นมีการกำหนดระยะเวลาในการส่งอาหาร การขับขี่อย่างรวดเร็วทำให้ไรเดอร์เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อีกทั้งระยะทางที่ไกลเกินไปยังไม่เหมาะสมกับค่ารอบที่ไรเดอร์ได้รับ
  5. บริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารทุกแห่งนิวยอร์คต้องร่วมกันหารือเพื่อสร้างมาตรฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้กับไรเดอร์
  6. บริษัทแพลตฟอร์มต้องไม่เก็บค่าธรรมเนียมจากไรเดอร์เพิ่มเติม 

อย่างไรก็ตามบริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารในนิวยอร์คยังไม่ยอมรับร่างกฎหมายดังกล่าว และมีความพยายามจะยื่นฟ้องต่อศาลในกรณีค่าธรรมเนียมที่พวกเขาไม่สามารถเก็บได้ และข้อมูลของบริษัทที่จำเป็นต้องเปิดเผยหากร่างกฎหมายผ่าน

ความสำเร็จของกลุ่มไรเดอร์เกิดจากการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งของไรเดอร์ที่เป็นชาติพันธุ์กลุ่มละตินอเมริกาใต้ที่มีความใกล้ชิดกันทางภาษาและวัฒนธรรมจนนำไปสู่การเป็นชุมชนไรเดอร์ในนิวยอร์ค และก่อตั้งสหภาพไรเดอร์อย่างเป็นทางการในที่สุด ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือการที่กลุ่มไรเดอร์ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรและสหภาพเพื่อแรงงานในนิวยอร์คมากมาย ทั้งสหภาพ SEIU 32BJ และศูนย์แรงงานเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้อพยพ (The Workers Justice Project) ทำให้กลุ่มไรเดอร์ประสบความสำเร็จในการชุมนุมประท้วง และการกระจายข่าวสารให้ประชาชนทั่วนิวยอร์คได้ตระหนักรู้ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา แม้ในทีแรกการชุมนุมจะเป็นไปเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจเข้ามาจัดการเรื่องการจี้ปล้นไรเดอร์เป็นหลัก ซึ่งในส่วนนี้นับว่าเป็นปัญหาของชาวเมืองนิวยอร์คเหมือนกัน ทำให้พวกเขาให้การสนับสนุนไรเดอร์จากประชาชนด้วย แต่การชุมนุมไปไกลกว่านั้นเมื่อสหภาพไรเดอร์ได้เสนอข้อเรียกร้องไปที่สภาเมืองนิวยอร์คถึงสิทธิที่พวกเขาพึ่งได้รับ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการได้รับความร่วมมือจากสหภาพ SEIU 32BJ และศูนย์แรงงานเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้อพยพ (The Workers Justice Project) ที่ต้องการให้ไรเดอร์ในนิวยอร์คได้รับสิทธิแรงงานที่เหมาะสม 

ตารางสรุปความสัมพันธ์การจ้างงานและสวัสดิการที่ได้รับของไรเดอร์ในแต่ละประเทศ

ข้อสังเกตที่น่าสนใจกรณีศึกษาจากต่างประเทศ

จากการศึกษาสถานการณ์แรงงานไรเดอร์ในต่างประเทศ พบว่าแต่ละประเทศมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป กรณีศึกษาในทุกประเทศ กลุ่มอาชีพไรเดอร์ซึ่งเป็นอาชีพที่รวมตัวกันได้ยากล้วนได้รับการสนับสนุนจากขบวนการแรงงานในประเทศ ในด้านสวัสดิการพื้นฐานของอาชีพไรเดอร์ทุกประเทศจากกรณีศึกษาได้รับการประกันอุบัติเหตุ และ 7 ประเทศ จากกรณีศึกษา 10 ประเทศ ไรเดอร์ได้รับสวัสดิการประกันสุขภาพ 5 ประเทศจากกรณีศึกษา 10 ประเทศ สามารถรวมตัวตั้งเป็นสหภาพแรงงานตามกฎหมาย และ  สำหรับประเด็นการกำกับดูแลทางกฎหมาย พบว่าประเทศกรณีศึกษา มีแนวทางในการดำเนินการ 2 แนวทาง ได้แก่

  1. การกำกับดูแลโดยใช้แนวทางและกฎหมายที่มีอยู่แล้วเป็นเครื่องมือ โดยพิจารณาเป็นรายกรณีเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น เช่น กรณีศึกษาในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ข้อดีของแนวทางนี้คือเป็นการพิจารณาเฉพาะกรณีไป เนื่องจากรูปแบบการทำงานผ่านแพลตฟอร์มในแต่ละประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้แม้แต่ในกิจกรรมประเภทเดียวกัน แต่ละบริษัทก็มีกระบวนการในการทำงาน ข้อบังคับ และความสัมพันธ์กับคนทำงานที่แตกต่างกันออกไป จึงมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี คำตัดสินของศาลจะเป็นบรรทัดฐานในการกำกับดูแลความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใหม่ ข้อเสียของแนวทางการแก้ปัญหาลักษณะนี้คือการคุ้มครองและความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นแล้วและมีคำตัดสิน กระบวนการพิจารณาอาจจะใช้เวลานาน และบริษัทแพลตฟอร์มมีทรัพยากรในการต่อสู้ทางกฎหมายมากกว่ากลุ่มผู้ร้อง กรณีศึกษาในต่างประเทศพบว่าการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองของกลุ่มอาชีพและการสนับสนุนจากขบวนการแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำอำนวยให้ข้อเรียกร้องของกลุ่มอาชีพเกิดใหม่ที่แรงงานอาจจะยังไม่สามารถรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งเท่าใดนัก เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้
  2. การกำกับดูแลโดยการออกกฎหมายเฉพาะสำหรับกลุ่มอาชีพ เช่น กรณีศึกษาในประเทศสเปน อิตาลี และ รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ข้อดีของแนวทางนี้คือการมีการวางแนวทางที่ชัดเจนเฉพาะสำหรับอาชีพที่มีรูปแบบการทำงานเฉพาะ มีนิยามของความสัมพันธ์การจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานที่ชัดเจน มีความโปร่งใส เช่นกรณีประเทศสเปนที่กำหนดให้บริษัทแพลตฟอร์มต้องส่ง อัลกอริทึ่มของแพลตฟอร์ม ให้กับหน่วยงานกำกับดูแลด้วย อย่างไรก็ตาม พบว่าบริษัทแพลตฟอร์มยังคงหาทางหลีกเลี่ยงด้วยการปรับสถานะของการจ้างงานและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้หลุดจากข้อบังคับ เช่นการปรับสถานะในการจ้างงานทั้งหมดเป็นการจ้างงานแบบพาร์ทไทม์ เพื่อให้พ้นจากข้อผูกพันทางกฎหมาย

นอกเหนือไปจากแนวทางการกำกับดูแลทางกฎหมาย ประเด็นที่เป็นกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่มีนัยสำคัญได้แก่ แนวคิดเรื่องการคุ้มครองคนทำงานในฐานะสวัสดิการพื้นฐานที่ต้องมี อาทิ การประกันอุบัติเหตุที่แม้ในกรณีประเทศที่สถานะของไรเดอร์เป็นแรงงานอิสระหรืองานพาร์ทไทม์ บริษัทแพลตฟอร์มก็ยังจัดให้ได้รับการประกันอุบัติเหตุ และมีการประกันรายได้ขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังมีประเด็นการรวมกลุ่มเพื่อการต่อรองทางสังคม พบว่าการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net