Skip to main content
sharethis

Summary

  • เปิดงานวิจัย 'ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน' โดยสถาบันเอเชียศึกษาและศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาไรเดอร์ 435 คน ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดเมื่อปี 2564 ในประเด็นการเข้าสู่อาชีพและการทำงานของคนส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม
  • พบการเข้าสู่อาชีพไรเดอร์ มีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากงานที่มีรูปแบบความสัมพันธ์การจ้างงานแบบเดิม แม้บริษัทแพลตฟอร์มจะยืนยันจุดยืนของโมเดลธุรกิจที่มองไรเดอร์ในฐานะคู่ค้าค้าหรือลูกค้า แต่รูปแบบวิธีการในการคัดเลือกไรเดอร์เข้าทำงานกับแพลตฟอร์มมีลักษณะเช่นเดียวกับการรับสมัครลูกจ้าง
  • บริษัทแพลตฟอร์มมีอำนาจในการกำหนดค่าตอบต่อครั้งและค่าตอบแทนแบบจูงใจ สามารถเพิ่ม/ลด ได้ตามที่บริษัทเห็นเหมาะสม แพลตฟอร์มกำหนดค่าตอบแทนในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันทั้งที่ต้นทุนในการทำงานที่ไรเดอร์ต้องจ่าย
  • พบไรเดอร์ไม่มีอำนาจในการต่อรอง บริษัทมีบทลงโทษกรณีที่ไรเดอร์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับด้วยการพักงานหรือปิดระบบ ทั้งที่บริษัทยืนยันว่าไรเดอร์มีสถานะเป็นคู่ค้าหรือลูกค้าแต่สามารถลงโทษไรเดอร์ได้ ไม่ต่างความสัมพันธ์การจ้างงานแบบนายจ้าง-ลูกจ้าง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

23 ก.ย. 2565 จากงานวิจัย 'ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19' โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.ค. 2564) ที่ศึกษาไรเดอร์จำนวน 435 คน (ใน กทม. 320 คน และต่างจังหวัด 115 คน) ในช่วงปี 2564 โดยงานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาประเด็นการเข้าสู่อาชีพและการทำงานของไรเดอร์ของแพลตฟอร์มส่งอาหารในประเทศไทย พบ 9 ข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้

แม้แพลตฟอร์มยืนยันว่ามองไรเดอร์ในฐานะ 'คู่ค้า-ลูกค้า' แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับฝั่ง 'ผู้บริโภค'

1. การเข้าสู่อาชีพไรเดอร์ มีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากงานที่มีรูปแบบความสัมพันธ์การจ้างงานแบบเดิม แม้บริษัทแพลตฟอร์มจะยืนยันจุดยืนของโมเดลธุรกิจที่มองไรเดอร์ในฐานะคู่ค้าค้าหรือลูกค้า แต่รูปแบบวิธีการในการคัดเลือกไรเดอร์เข้าทำงานกับแพลตฟอร์มมีลักษณะเช่นเดียวกับการรับสมัครลูกจ้าง ทั้งการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน รวมทั้งมีเก็บสำเนาเอกสารสำคัญ และการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม รวมทั้งมีการฝึกอบรมก่อนทำงาน

2. แม้บริษัทแพลตฟอร์มจะยืนยันจุดยืนของโมเดลธุรกิจที่มองไรเดอร์ในฐานะคู่ค้าหรือลูกค้า แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับฝั่งผู้บริโภค ในขณะที่แพลตฟอร์มสร้างช่องทางในการใช้งานให้ฝั่งผู้บริโภคเพื่อการใช้งานอย่างสะดวกผ่านสมาร์ทโฟนทั้งสองระบบ แต่สำหรับไรเดอร์แพลตฟอร์มไม่ได้อำนวยความสะดวกในลักษณะเดียวกัน บางแพลตฟอร์มพัฒนาช่องทางการใช้งานฝั่งไรเดอร์เพียงแค่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนในการเข้าสู่อาชีพ ทำให้ไรเดอร์ที่ใช้ไอโฟนอาจต้องมีต้นทุนในการซื้อโทรศัพท์แอนดรอยด์มาใช้เพื่อการทำงาน

3. บริษัทแพลตฟอร์มกำหนดให้ผู้สมัครต้องใช้บริการของธุรกิจคู่ค้าเท่านั้น เช่น ข้อกำหนดเรื่องบัญชีธนาคารหรือบัญชีโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นผลจากกรอบคิดเรื่องการสร้างผลกระทบเครือข่าย ซึ่งเป็นการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้ผู้สมัคร

4. การเข้าสู่อาชีพแม้จะไม่มีอุปสรรคในการเข้าสู่อาชีพมากนักแต่ก็มีต้นทุนที่ไรเดอร์ต้องจ่าย ต้องมีเครื่องมือที่ต้องใช้คือรถจักรยานยนต์และสมาร์ทโฟน บางแพลตฟอร์มเสนอการให้เช่าจักรยายนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจคู่ค้า แพลตฟอร์มสร้างข้อบังคับให้ผู้เข้าสู่อาชีพต้องซื้ออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ

'ไรเดอร์' ไม่มีอำนาจในการ 'ต่อรอง'

5. ในส่วนของการทำงาน บริษัทเป็นผู้กำหนดขั้นตอนในการทำงานที่ชัดเจนให้ไรเดอร์ต้องปฏิบัติตาม บริษัทสร้างเงื่อนไขเป็นสภาพการควบคุมการทำงานไม่ต่างจากความสัมพันธ์การจ้างงาน ลูกจ้าง-นายจ้าง และมีบทลงโทษหากไม่ทำตามขั้นตอน ในต่างประเทศการกำหนดขั้นตอนในการทำงานของแพลตฟอร์มให้ไรเดอร์ต้องถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยในการนิยามความหมายของแรงงานตามกฎหมายแรงงาน อาทิ California Assembly Bill 5 (AB5) ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

6. ในการทำงานบริษัทกำหนดให้ไรเดอร์ต้องเตรียมเงินสดและการเติมเครดิตในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อที่แพลตฟอร์มจะสามารถหักค่าอาหาร ค่าบริการ และค่าคอมมิสชั่นของบัญชีผู้ใช้ของไรเดอร์ หรือกำหนดให้ไรเดอร์ต้องนำเงินเข้าบัญชีธนาคารให้เพียงพอต่อการหักบัญชีเมื่อสรุปบัญชีในแต่ละวัน ขณะที่การเบิกเงินออกจากบัญชีสำหรับบางแพลตฟอร์มสามารถทำได้ทันที แต่หลายแพลตฟอร์มมีเงื่อนไขขั้นต่ำและข้อกำหนดด้านเวลา บางแพลตฟอร์มจ่ายค่าตอบแทนไรเดอร์เป็นรายอาทิตย์ ข้อกำหนดและวิธีการดำเนินงานของแพลตฟอร์มเผยให้เห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมและไรเดอร์ไม่มีอำนาจในการต่อรอง

7. ระบบการป้อนงานให้ไรเดอร์มี 2 รูปแบบ คือระบบการป้อนงานโดยตรง ซึ่งสัมพันธ์กับคะแนนที่ผู้บริโภคประเมิน และระบบการป้อนงานที่ให้ไรเดอร์กดแย่งงาน สำหรับระบบแรกคือการป้อนงานผ่านอัลกอริทึมที่สัมพันธ์กับคะแนนทำให้ไรเดอร์ต้องทำงานตามข้อกำหนดที่แพลตฟอร์มสร้างสภาพควบคุม บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคใช้การให้คะแนนเป็นเครื่องต่อรองให้ไรเดอร์ต้องจำใจทางงานนอกขอบเขต เช่นการฝากซื้อของอื่น แม้ไรเดอร์มีสิทธิปฏิเสธ แต่หากผู้บริโภคให้คะแนนต่ำหรือกลั่นแกล้งแพลตฟอร์มจะทำโทษไรเดอร์ก่อน แม้จะมีช่องทางร้องเรียนแต่ภาระในการพิสูจน์ตกเป็นของไรเดอร์แต่เพียงผู้เดียว ขณะที่บางแพลตฟอร์มใช้ระบบการกดแย่งงานทำให้เครื่องมือที่ไรเดอร์ใช้คือสมาร์ทโฟนและความเร็วของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีผลต่อการได้ทำงาน ซึ่งไรเดอร์ต้องลงทุนเพื่อให้มีโอกาสที่จะได้รับงานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องแย่งกดรับงานจึง ไม่มีเวลาได้พิจารณารายละเอียดของคำสั่งซื้อ บางครั้งจุดที่ไรเดอร์อยู่ห่างจากร้านอาหารเป็นระยะทางไกล แต่ค่าตอบแทนที่ได้ระบบคิดจากระยะทางระหว่างร้านค้าไปยังผู้บริโภค การเดินทางไปยังร้านอาหารจึงเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงและเวลาทำงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนของไรเดอร์  

8. บริษัทแพลตฟอร์มมีอำนาจในการกำหนดค่าตอบต่อครั้งและค่าตอบแทนแบบจูงใจ สามารถเพิ่ม/ลด ได้ตามที่บริษัทเห็นเหมาะสม แพลตฟอร์มกำหนดค่าตอบแทนในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันทั้งที่ต้นทุนในการทำงานที่ไรเดอร์ต้องจ่ายเช่น ค่าเชื้อเพลิง ค่าสึกหรอ ค่าอินเทอร์เน็ต ไม่ได้แตกต่างกันตามพื้นที่บางแพลตฟอร์มแม้จะทำงานในพื้นที่เดียวกัน บริษัทก็กำหนดค่าตอบแทนที่ไม่เท่ากัน ใช้กลไกในการให้ค่าตอบแทนให้ไรเดอร์ทำงานมากขึ้น

9. ไรเดอร์ไม่มีอำนาจในการต่อรอง บริษัทมีบทลงโทษกรณีที่ไรเดอร์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับด้วยการพักงานหรือปิดระบบ ทั้งที่บริษัทยืนยันว่าไรเดอร์มีสถานะเป็นคู่ค้าหรือลูกค้าแต่สามารถลงโทษไรเดอร์ได้ ไม่ต่างความสัมพันธ์การจ้างงานแบบนายจ้าง-ลูกจ้าง

เสียงจาก 'ไรเดอร์'  

มีชัย อายุ 52 ปี

มีชัย (นามสมมติ) อายุ 52 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลำปาง การศึกษาสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปัจจุบันอาศัยอยู่กับภรรยาและบุตรชายอีก 1 คนที่เขตสัมพันธวงศ์ เดิมประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เริ่มเข้ามาประกอบอาชีพบริการส่งอาหารบนแพลตฟอร์มหนึ่ง ช่วงกลางปี 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากว่างงาน รวมถึงเห็นว่าอาชีพนี้มีค่าตอบแทนค่อนข้างน่าพึงพอใจ สามารถเลือกเวลาทำงานได้ตามสะดวก รายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน พร้อมทั้งแบ่งรายได้ให้ภรรยาและบุตรชายที่กำลังเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษา

ทุกวัน มีชัยจะเดินทางออกจากบ้านตั้งแต่ 8 โมงเช้าเพื่อจอดรถรอออเดอร์จากร้านอาหารบริเวณข้างห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์เพราะบริเวณนี้มีร้านอาหารอยู่มาก มักมีระยะทางในการจัดส่งที่ไม่ไกล ทำให้สามารถจัดส่งได้อย่างรวดเร็วและขับรถรับส่งอาหารได้หลายรอบต่อวัน โดยปกติก็จะได้รับออเดอร์แรกภายในครึ่งชั่วโมง ขับไป-กลับประมาณ 10-15 รอบ ก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านในเวลา 2 ทุ่ม

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ทำการสัมภาษณ์ เป็นเวลากว่าชั่วโมงแล้วที่มีชัยยังคงนั่งอยู่ที่เดิมโดยที่ยังไม่มีออเดอร์เด้งเข้ามาในโทรศัพท์ของเขาแม้แต่ออเดอร์เดียว ช่วงหลายเดือนให้หลังที่มีการประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด บางวันเขาก็อาจโชคดีที่ได้ออเดอร์แรกเร็ว ทว่าส่วนใหญ่ก็ต้องนั่งรอเป็นเวลานานเช่นวันนี้ บางครั้งโชคไม่ดีก็ต้องรอออเดอร์แรกไปจนถึงบ่ายเลยทีเดียว มีชัยได้ให้ความเห็นว่า “ส่วนนี้อาจเป็นเพราะจำนวนของไรเดอร์ที่มีอยู่ในระบบมากขึ้นด้วย พวกคนหนุ่ม ๆ ที่เห็นก็ตกงาน เลยมาขับนี่แหละ” เมื่อมีคนเข้ามาทำงานในระบบเยอะ จึงส่งผลให้แพลตฟอร์มลดค่าวิ่งต่อรอบลงและต้องแบ่งออเดอร์ให้ไรเดอร์คนอื่นรับงาน ดังที่มีชัยได้เปรียบเทียบให้ผู้วิจัยฟังถึงช่วงที่เพิ่งเข้ามาประกอบอาชีพจนถึงการระบาดระลอกแรกของโควิดว่าตนขับรถส่งอาหารได้ถึงรอบละ 50-60 บาท และขับไป-กลับได้ 15-20 รอบต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียงรอบละ 30 บาท และส่งอาหารเฉลี่ย 10-15 รอบต่อวันเท่านั้น ในตอนนี้รายได้ของมีชัยจึงลดลงกว่าครึ่ง พร้อมแถมมาด้วยความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

มีชัยยอมรับว่าค่อนข้างมีความกังวลกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พอสมควร ด้วยความที่มีอายุค่อนข้างมาก สภาพการทำงานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการเป็นเสาหลักเพียงหนึ่งเดียวของครอบครัว รายได้ที่ลดลงกว่าครึ่งทำให้ครอบครัวของมีชัยต้องนำเงินที่เก็บไว้บางส่วนออกมาใช้จ่าย ภรรยาของเขาก็กำลังหางานเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ ในส่วนของการป้องกันเชื้อโรค เขากล่าวว่าทางบริษัทฯ ก็ได้ออกมาตรการรักษาความปลอดภัยเวลาส่งอาหารของพนักงานรับส่ง ตัวมีชัยเองก็มีการป้องกันร่างกายโดยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ทำงาน ล้างมือด้วยเจลแอลกฮอลล์บ่อย ๆ ทำความสะอาดเสื้อแจ็กเก็ตของตนเองทุกวัน อย่างไรก็ดี เขาได้กล่าวว่าตนนั้นไม่เคยได้รับอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค (หน้ากากอนามัย,เจลแอลกฮอลล์ เป็นต้น) จากบริษัทฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว ตั้งแต่การระบาดของโควิดครั้งแรกในประเทศไทยจวบจนถึงตอนนี้

นอกจากนี้ มีชัยได้เล่าให้ผู้วิจัยทราบว่าตนเคยประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้มศีรษะแตกระหว่างขับรถไปส่งอาหารลูกค้าแพลตฟอร์มช่วงเดือน พ.ย. 2563 แต่ไม่สามารถรับค่ารักษาพยาบาลจากแพลตฟอร์มได้เนื่องจากช่วงที่เกิดอุบัติเหตุตนไม่ได้กดเข้าไปที่หน้าแอปพลิเคชัน อีกทั้งไม่ได้ถือครองสิทธิ์ประกันสังคมตามมาตราใดเลย จึงต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมดและหยุดทำงานไปหลายวันโดยไม่มีค่าชดเชย

“ผมว่ารัฐบาลควรกระตุ้นให้แอปมีมาตรการคุ้มครองคนขับที่ชัดเจนกว่านี้” คือประโยคหลังจากที่มีชัยได้เล่าประสบการณ์ข้างต้นไป เขามองว่าแพลตฟอร์มค่อนข้างเอาเปรียบแรงงานในระบบอยู่หลายด้าน ทั้งการลดค่าส่งอาหารต่อรอบ การแจกจ่ายออเดอร์ รวมไปจนถึงสวัสดิการ ความคุ้มครองตามกฎหมายที่ชัดเจน หากเลือกได้ก็อยากให้ภาครัฐเข้ามาจัดระเบียบให้ตนและเพื่อนร่วมอาชีพได้เป็นแรงงานในระบบ และอยากให้ความสัมพันธ์ของตนกับแพลตฟอร์มเป็นอย่างลูกจ้าง-นายจ้าง อย่างน้อยก็ก่อนที่ตนเองจะเกษียณอายุการทำงาน

“หนูอยากสัมภาษณ์พวกไรเดอร์อีกเยอะมั้ยล่ะ เดี๋ยวจะไปเรียกมาให้” มีชัยถาม ผู้วิจัยตอบตกลงและขอบคุณยกใหญ่ เขาเดินไปยังฝั่งตรงข้ามที่มีไรเดอร์จอดรดนั่งรอกันอยู่หลายคน พูดคุยทักทายกับไรเดอร์คนอื่นสักพัก ก่อนที่จะเดินกลับมาหาผู้วิจัยพร้อมกับไรเดอร์อีก 4-5 คน ต่อแถวเรียงกันมา มีชัยกล่าวว่าคนเหล่านี้เขากำลังนั่งรอออเดอร์สั่งอาหารอยู่ แต่ตอนนี้ยังว่าง ไม่มีออเดอร์เข้ามา ดังนั้นพูดคุยกันได้ตามสบาย ก่อนที่จะขอตัวไปขับรถวนรอบ ๆ สามย่านเพื่อหาออเดอร์แรกของวันให้ตนเองต่อไป

ยุทธนันท์ อายุ 34 ปี

ยุทธนันท์ (นามสมมติ) อายุ 34 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี การศึกษาสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เดิมประกอบอาชีพเกษตรกร เพิ่งเข้ามาทำงานในจังหวัดกรุงเทพมหานครได้ราวครี่งปี ปัจจุบันอาศัยอยู่คนเดียวในห้องเช่าฝั่งธนบุรี เริ่มประกอบอาชีพบริการส่งอาหารให้แพลตฟอร์มหนึ่งตั้งแต่กลางปี 2563 เนื่องจากมีเพื่อนที่เป็นไรเดอร์แนะนำมาว่าเป็นอาชีพที่รายได้ดี (ปัจจุบันเพื่อนคนนั้นกลับภูมิลำเนาไปแล้ว) ประกอบกับความอยากลองเข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร รายได้เฉลี่ย 25,000 บาทต่อเดือน มีการส่งเงินกลับไปให้บิดามารดาที่ภูมิลำเนาใช้ทุกเดือน

โดยปกติแล้วยุทธนันท์จะเริ่มทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 1 ทุ่มตั้งแต่วันอังคารถึงวันอาทิตย์ วันจันทร์จะเป็นวันพักผ่อนและวางแผนการทำงานในอาทิตย์ถัดไป เขาเผยว่าช่วง 2-3 เดือนแรกที่เริ่มเข้าสู่การประกอบอาชีพไรเดอร์นั้นภูมิใจมาก เนื่องจากก่อนหน้านั้นถึงขั้นต้องทะเลาะกับมารดาที่ทัดทานไม่ให้เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความดื้อรั้น ตนก็สามารถเข้ากรุงเทพฯ สร้างโอกาสหาเงินและส่งกลับไปให้บิดามารดาที่บ้านเกิดได้ในที่สุด ส่วนช่วงหลังนั้นกลับกัน รายได้ที่ได้มาแทบจะไม่พอใช้สำหรับตนเองด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี ตัวยุทธนันท์ก็ยังพยายามส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวอยู่เสมอ แม้ต้องแลกกับการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยกว่าเดิม ดังที่ยุทธนันท์ได้กล่าว “หลัง ๆ ผมได้ค่าวิ่งน้อยลงมาก ลดลงเกือบครึ่ง ต้องขับส่งหลายรอบกว่าเดิมถึงจะได้เงินเท่ากับในช่วงแรกที่มาขับ”

การเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ครั้งแรกด้วยอาชีพไรเดอร์ในช่วงโควิดทำให้ยุทธนันท์ต้องปรับตัวอยู่หลายด้าน ทั้งการขับขี่ การดูแผนที่จัดส่งระหว่างขับรถ การบริหารจัดการเงิน หรือการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ยุทธนันท์กล่าวว่าตอนที่ลองขับรถมอร์เตอร์ไซค์รับออเดอร์ครั้งแรก เขาฉงนกับเส้นทางในเมืองแห่งนี้เป็นไก่ตาแตก ต้องคอยเหลือบตามองแผนที่อยู่ตลอด แต่ด้วยความไม่คุ้นชินกับตรอกซอกซอยก็ทำให้เลี้ยวผิดบ้าง เลี้ยวถูกบ้าง ต้องโทรไปถามลูกค้าจนลูกค้าเริ่มมีน้ำเสียงไม่ค่อยพอใจ เป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้งกว่าจะขับรถในกรุงเทพฯ ได้คล่องขึ้น

นับว่าเขายังเก่งมากที่สามารถประคองสุขภาพกายไม่ให้เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ และพอมีเงินยังชีพเหลืออยู่บ้างเล็กน้อยได้จนถึงตอนนี้ ทว่าอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ คือ การรับมือกับความรู้สึกโดดเดี่ยว หากพูดถึงในเชิงกายภาพ ยุทธนันท์แทบจะอยู่ตัวคนเดียวในห้องเช่ามาตลอด เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ เขาเอ่ยออกมาด้วยซ้ำว่าตอนนี้รู้สึกคิดถึงบ้านมากกว่าที่จะเกรงกลัวโรคระบาดเสียอีก การโทรผ่านแอปพลิเคชันไลน์หาพ่อแม่ เพื่อน กับการถ่ายรูปส่งให้ดูกันทุกวันก็พอช่วยคลายความเหงาไปได้บ้าง แต่ก็ยังคงคิดถึงบ้านเสมอมา ชั่วครู่ยุทธนันท์ก็ยกโทรศัพท์มือถือให้ผู้วิจัยดูอัลบั้มผลผลิตเกษตรจากบ้านของเขาที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีทั้งกล้วย สับปะรด มันสำปะหลัง รวมไปจนถึงบ่อเลี้ยงปลาและไร่ที่เคยทำไว้ก่อนเข้ามากรุงเทพฯ พร้อมกับเล่ารายละเอียดของแต่ละภาพให้เห็นได้อย่างมีชีวิตชีวา ผิดกับตอนที่เล่าเกี่ยวกับการประกอบอาชีพไรเดอร์กรุงเทพฯ พร้อมกับเล่ารายละเอียดของแต่ละภาพให้เห็นได้อย่างมีชีวิตชีวา ผิดกับตอนที่เล่าเกี่ยวกับการประกอบอาชีพไรเดอร์

“ผมว่าจะอยู่ที่นี่อีกสักเดือนสองเดือนแล้วก็คงจะกลับบ้านที่ไทรโยคไปยาว ๆ แล้วล่ะ” ยุทธนันท์ดูรูปในโทรศัพท์ ยิ้มจาง ๆ “ไม่รู้ผมมาทำอะไร กรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายแพงมาก มาอยู่คนเดียวเหงา อยู่ที่บ้านเดิมเราสบายใจกว่า มีพ่อมีแม่ ได้ทำสวน เลี้ยงปลา ตกเย็นก็ขับรถออกไปนั่งกินข้าวที่บ้านเพื่อนได้” ชีวิตที่บ้านของเขาน่าอภิรมย์กว่าการมาอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นไหน ๆ และกรุงเทพมหานครก็ยังไม่ใช่เมืองแห่งโอกาสสำหรับใครหลายคน

ณัฐ อายุ 22 ปี

ณัฐ (นามสมมติ) อายุ 22 ปี เกิดและโตที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร บัณฑิตจบใหม่จากสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่านดุสิต อาศัยอยู่กับบิดามารดาและน้องสาว เริ่มเข้ามาประกอบอาชีพบริการส่งอาหารบนแพลตฟอร์มช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 เนื่องจากยังไม่สามารถหางานที่ตรงกับสาขาที่สำเร็จการศึกษา ปัจจุบันมีรายได้ประมาณ 25,000 บาทต่อเดือน นำรายได้มาดูแลตนเองและแบ่งให้น้องสาวบ้างตามโอกาส

ณัฐจะเริ่มออกมาทำงานตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มของทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์กับวันอาทิตย์จะเป็นวันพักผ่อน ผู้วิจัยสังเกตว่าเขามีวันหยุดพักผ่อนมากกว่าไรเดอร์ท่านอื่นแต่กลับมีรายได้ค่อนข้างสูงกว่าเพื่อนร่วมอาชีพ จึงลองให้เขาช่วยขยายความว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น “เอาตรง ๆ เราก็งงกับแอปฯ เหมือนกัน ทั้งที่เราหยุดงาน 2 วัน แต่เราดันไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องออเดอร์ไม่เข้าเท่ากับพี่คนอื่นนะ” ณัฐตอบตามจริง “แล้วก็เราอาจจะยังไม่เคยแคนเซิลออเดอร์” หลายคนเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นไรเดอร์ที่ดีในแอปพลิเคชัน คือการพร้อมกดรับทุกออเดอร์ที่สุ่มเข้ามาในหน้าจอให้ได้อย่างสม่ำเสมอ (การต้องออกมาทำงานทุกวันจึงเป็นเงื่อนไขอยู่กลาย ๆ) เพราะหากเราไม่ได้กดรับออเดอร์ที่เข้ามาอย่างรวดเร็วก็อาจมีไรเดอร์คนอื่นแย่งรับออเดอร์ตัดหน้าไป และหลังจากนั้นออเดอร์อาจจะสุ่มเข้ามาให้เราน้อยลงจนกระทั่งไม่สามารถรักษาระดับของไรเดอร์ไว้เหมือนเดิม อย่างไรก็ดี ความยุติธรรมและความโปร่งใสของการสุ่มออเดอร์ให้กับไรเดอร์จากระบบอัลกอริธึมของแอปพลิเคชันก็ยังคงเป็นเรื่องยากจะหยั่งถึง กรณีของณัฐแสดงให้เห็นความกำกวมของการอธิบายแบบข้างต้นอยู่หลายประการ เพราะไรเดอร์บางคนออกมาทำงานทุกวัน ไม่เคยแคนเซิลออเดอร์ แต่ต้องรอจนถึงเกือบเที่ยงกว่าจะได้ออเดอร์แรก กลับกัน ไรเดอร์บางคนไม่ได้ทำงานทุกวัน แม้จะไม่เคยแคนเซิลออเดอร์เช่นกัน แต่ก็ได้ออเดอร์เร็วกว่าคนอื่นและมีรายได้ที่ค่อนข้างน่าพึงพอใจได้

ณัฐเล่าให้ฟังว่าตนเป็นคนที่ชอบทำงาน เริ่มหาค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่ตอนยังเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษา ช่วงเรียนปริญญาตรีก็ทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านสะดวกซื้อ ช่วยเพื่อน ช่วยรุ่นพี่ออกกองไปถ่ายงานเพื่อนำเงินไปซื้อของกินของใช้เอง ไม่ต้องรบกวนครอบครัว และตอนนี้ที่กำลังประกอบอาชีพไรเดอร์เป็นหลักก็ยังเป็นเช่นนั้น ทว่าณัฐกล่าวว่าความภูมิใจที่เลี้ยงตนเองได้กับความพอใจในงานเป็นสิ่งที่แตกต่างกัน “เราก็อยากไปทำงานสายบันเทิงที่เราเรียนมามากกว่านะ แต่ช่วงนี้ถ่ายงานอะไรไม่ได้เลย รัฐบาลให้ออกกองแค่ห้าคนงี้ ตลกหรอ มันไม่มีใครจ้างได้หรอก” เขาเอ่ยค่อนแคะถึงมาตรการการป้องกันโรคระบาดของรัฐบาลที่ค่อนข้างเป็นที่พูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์

แต่เมื่อผู้วิจัยลองถามว่า หากสมมติว่าตอนนี้ได้งานสายนิเทศฯ ที่อยากทำ จะออกจากการเป็นไรเดอร์บนแพลตฟอร์มหรือไม่ อย่างไร ณัฐก็แสดงความไม่แน่ใจออกมา “ลังเลอยู่นะ เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรแน่นอนเลย สมมติถ้าเราเท(ทิ้ง)งานนี้ไปหางานที่อยากทำ อีกเดือนนึงเราอาจจะตกงานแล้วต้องกลับมาขับใหม่ก็ได้” ก่อนที่จะว่าต่อ

แต่เมื่อผู้วิจัยลองถามว่า หากสมมติว่าตอนนี้ได้งานสายนิเทศฯ ที่อยากทำ จะออกจากการเป็นไรเดอร์บนแพลตฟอร์มหรือไม่ อย่างไร ณัฐก็แสดงความไม่แน่ใจออกมา “ลังเลอยู่นะ เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรแน่นอนเลย สมมติถ้าเราเท(ทิ้ง)งานนี้ไปหางานที่อยากทำ อีกเดือนนึงเราอาจจะตกงานแล้วต้องกลับมาขับใหม่ก็ได้” ก่อนที่จะว่าต่อ “จริง ๆ เป็นไรเดอร์มันไม่ได้เลวร้ายที่สุดหรอก บางจุดเราก็ชอบนะ แต่อยากให้มันมีการคุ้มครองอะไรที่ชัดเจนกว่านี้จริง ๆ” โชคดีที่ยังไม่เคยประสบอุบัติเหตุใด ๆ แต่ด้วยความที่ณัฐมีอาการภูมิแพ้อยู่เป็นทุนเดิม อากาศเปลี่ยนหน่อยเดียวก็ทำให้ไม่สบาย ไข้ขึ้น ก็มีช่วงแรกที่เพิ่งเข้ามาประกอบอาชีพไรเดอร์ อาการภูมิแพ้ของณัฐกำเริบจนต้องหยุดทำงานเนื่องจากกลัวว่าจะติดโควิดแล้วจะแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิด คนที่บ้านต้องออกไปหาซื้อยาให้ ระหว่างที่หยุดงานก็กังวลว่าหากกลับไปทำงานไรเดอร์จะต้องเริ่มไต่ระดับใหม่หมด ช่วงเวลาที่เปราะบางทำให้เขาค้นพบว่าชีวิตของเขาไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐและแพลตฟอร์มเลย ซึ่งหากติดโควิดขึ้นมาจริง ๆ ตนคงต้องคิดหนักกว่านี้อีก ซึ่งเราคงเคยพบเห็นข่าวไรเดอร์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต หรือติดเชื้อโควิด-19 มาอยู่บ้าง โดยที่ไม่รู้เลยว่าเขาเหล่านั้นได้รับการเยียวยารายได้จากแพลตฟอร์มบ้างหรือไม่

ณัฐได้ติดตามเพจของไรเดอร์แพลตฟอร์มต่าง ๆ บนเฟซบุ๊กอยู่หลายเพจ จึงค่อนข้างทันต่อข่าวสารในวงการอยู่เสมอ จนถึงขั้นไปเข้าร่วมการประท้วงที่หน้าสำนักงานของแพลตฟอร์มหนึ่งเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา “หลาย ๆ อย่างในสังคมนี้มันอาจต้องอาศัยการประท้วง” ณัฐกล่าว “ถ้ามีนัดประท้วงอีกแล้วไม่ติดอะไรเราก็ไปนะ ถึงเราจะไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด แต่ไม่งั้นก็คงอยู่กันแบบนี้แบบไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย” อย่างไรก็ดี เขาได้ให้ความเห็นว่าชะตาความเคลื่อนไหวของไรเดอร์บนแพลตฟอร์มแขวนอยู่กับการถูกมองเห็นบนหน้าสื่อสังคมออนไลน์อยู่ค่อนข้างมาก “ในเน็ตอะ ฮิตอะไรแปปเดียวเดี๋ยวก็เรื่องก็ซา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่เรียกร้องกันไปมันจะสำเร็จมั้ย แต่ถ้ามูฟเมนต์ของไรเดอร์มันโอเค มันก็น่าจะเป็นตัวเริ่มให้อาชีพอื่นเขารู้ว่าเขาก็ทำได้แล้วลุกขึ้นมาบ้าง ก็อยากให้มันไปต่อได้” ชายหนุ่มหวังเช่นนั้น

สุรศักดิ์ อายุ 51 ปี

สุรศักดิ์ (นามสมมติ) อายุ 51 ปี เกิดและโตที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร การศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรี สถานะโสด อาศัยอยู่คนเดียว เดิมประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย มีรายได้ดี แต่เข้ามาประกอบอาชีพขับรถส่งอาหารบนแพลตฟอร์ม เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากได้ลาออกจากบริษัทและต้องการออกมาใช้ชีวิต ทำงานที่มีอิสระมากขึ้น มีรายได้ประมาณ 15,000-18,000 บาทต่อเดือน

สุรศักดิ์บอกว่าการประกอบอาชีพไรเดอร์ของเขาในตอนนี้เหมือนเป็นการแก้ความเบื่อบ้านเสียมากกว่า เนื่องจากมีเงินเก็บสำหรับตัวเองไว้จำนวนหนึ่งแล้ว แต่การตัดสินใจทำกิจกรรมฆ่าเวลานี้ก็ทำให้สุรศักดิ์ได้คำนึงถึงหลายปัญหาที่เกิดขึ้น ดังที่จะสาธยายต่อไป เบื้องต้นเขาจะเริ่มทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม ในวันพุธถึงอาทิตย์ ส่วนวันจันทร์และอังคารเป็นวันที่ไว้พักผ่อน ทำกิจกรรมผ่อนคลาย “มาขับเอาเงินนิดหน่อยก็จริง แต่ช่วงแรกที่เขาประกาศปิดเมืองนี่ผมมีรายได้ดีกว่านี้พอสมควรเลยนะ คนสั่งอาหารเยอะ” สุรศักดิ์กล่าว “แต่พอผ่านไปสักพักคนสั่งก็เริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ” ตามความเข้าใจของสุรศักดิ์ การประกาศปิดเมืองทำให้ผู้คนต้องบริหารเงินอย่างรัดกุมมากขึ้น รวมถึงตัวเขาเอง บางคนเลือกเอางบที่จะใช้สั่งอาหารไปไว้ยังส่วนอื่นของชีวิตที่มีความสำคัญกว่า หากสั่งอาหารข้างนอกมากินทุกมื้อเงินก็คงร่อยหรอ

สุรศักดิ์ตระหนักถึงความเสี่ยงในการประกอบอาชีพไรเดอร์ในช่วงการระบาดของโควิดดี “เราอายุเยอะ เสี่ยงตายกว่าคนอื่น ตอนนี้ผมเลือกวิ่งรับออเดอร์แค่ในโซนใกล้บ้านพอ ลดความเสี่ยงของตัวเองที่จะติดเชื้อด้วย ลดการเอาเชื้อไปติดคนอื่นด้วย” พร้อมเผยวิธีการป้องกันความเสี่ยงจากการติดโรคในขั้นเบื้องต้น นอกจากการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ “ลูกค้าหลายคนก็มีการป้องกันตัวเองดี ผมว่าโอเคนะ กับการที่เขาให้เราเอาอาหารวางไว้ที่โต๊ะหน้าบ้านแล้วเตรียมเงินทิ้งไว้ บางคนก็โอนจ่าย ก็เซฟทั้งเราและเขา” ทว่าในบางครั้งก็เจอเหตุการณ์ที่สะดุดใจอยู่บ้าง “เคยเจอแบบที่เอาไม้สอยมะม่วงมารับอาหาร จะว่าตลกก็ตลก ผมเข้าใจว่าคุณกลัว ผมก็กลัวคุณเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ก็ทำซะเหมือนเราเป็นตัวเชื้อโรค”

เมื่อกล่าวถึงลูกค้า สุรศักดิ์มีประสบการณ์ที่เจอมากับตัวไม่นานมานี้ คือ “ลูกค้าบางคนไม่น่ารัก ตั้งใจปักแมพให้มันผิด เพื่อที่จะได้ลดค่าส่งของตัวเอง” ผลกระทบก็ตกที่อยู่ที่ไรเดอร์อย่างสุรศักดิ์ เมื่อไปถึงจุดหมายตามหมุดที่ปักไว้กลับเป็นพงหญ้ารก ๆ ไร้เงาผู้คนจนต้องโทรไปหาลูกค้า สรุปแล้วก็ต้องขับคดเคี้ยวไปต่ออีกสักระยะหนึ่งกว่าจะไปถึงมือลูกค้า มิหนำซ้ำยังโดนแสดงท่าทีไม่พอใจใส่ ทั้งที่ความผิดไม่ได้อยู่ที่เขาเลย “ผมลองติดต่อกับทางตัวระบบแชทให้ความช่วยเหลือ แต่มันช้ามาก ต้องรอคิวเยอะ แล้วเขาก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือที่มีประโยชน์เท่าไร ตอนนั้นเลยรู้แล้วจริง ๆ ว่าเรากำลังถูกผลักภาระ” สุรศักดิ์ว่าต่อ “เหมือนไรเดอร์เป็นตัวรองรับ ทุกฝ่ายจัดการกันเอง ส่วนแอปฯ ก็ลอยตัวเหนือปัญหา” บางครั้งเขาต้องไปรอออเดอร์จากร้านอาหารชื่อดัง ร้านอาหารใช้เวลาประกอบอาหารนาน แต่ลูกค้ากลับไม่พอใจที่เขาไปส่งอาหารช้าเสียอย่างนั้น

“จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่เคยทำงานบริษัท จ่ายประกันสังคมมาตรา 33 มาก่อน แล้วออกจากงานมาขับผ่านแอปพลิเคชันขอบอกเลยว่าสวัสดิการจากการขับรถให้แอปพลิเคชันแย่กว่ามาก”

"ในฐานะที่เคยเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบมาเป็นเวลานาน ทำให้สุรศักดิ์สามารถเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน “เหมือนเราทำงานให้มันงก ๆ แต่เราจะไม่ได้อะไรเลยนอกจากเงินแค่นิดเดียว มันไม่ใช่การทำงานที่มีอิสระอย่างที่หลายคนคิด”

สุรศักดิ์ทิ้งท้ายความเห็นที่อยากฝากไปให้ถึงสังคม รัฐ และแอปพลิเคชัน “คืองี้นะครับ สังคม คุณจะมาบอกไม่ได้ว่าเพราะเราเลือกที่จะทำงานแบบนี้เอง หลายคนเขาตกงาน หางานอื่นไม่ได้ เลยต้องมาทำอาชีพนี้ ยิ่งตอนนี้ก็ยิ่งเสี่ยงติดเชื้อ อย่างน้อยผมว่าผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ กรมแรงงาน [คำที่สุรศักดิ์ใช้ ซึ่งน่าจะหมายถึงกระทรวงแรงงาน] อะไรก็ว่าไปก็ควรเข้ามาดูหน่อย รีบออกกฎหมายหรือมาตรการอะไรสักอย่างที่ให้ตัวแอปคุ้มครองไรเดอร์ได้แล้ว”

พิพัฒน์ อายุ 26 ปี

พิพัฒน์ (นามสมมติ) อายุ 26 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดราชบุรี การศึกษาสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อาศัยอยู่กับคนรัก เริ่มเข้ามาประกอบอาชีพขับรถบริการส่งอาหารบนแพลตฟอร์มหนึ่งช่วงกลางปี 2563 เนื่องจากบริษัทอื่นที่เคยไปสมัครไม่รับเข้าทำงานเพราะค้นเจอประวัติเคยติดคุกคดีชิงทรัพย์ และเห็นว่ามีรายได้พอเลี้ยงชีพได้ ปัจจุบันมีรายได้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน แบ่งกันใช้กับคนรัก

พิพัฒน์จะออกมาขับรถรับออเดอร์ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม ทุกวันจันทร์ถึงวันเสาร์ วันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อน ออกไปรับประทานข้าวนอกบ้านกับคนรักบ้างตามโอกาส คนรักของพิพัฒน์ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเล็ก ๆ และแบ่งเงินร่วมกันใช้ ในตอนนี้ถือว่ายังมีรายได้ที่พออยู่ได้สำหรับคนสองคน แต่ในอีกแง่หนึ่งเขาก็ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถประคับประคองไปได้อีกนานเท่าใด เพราะหากสักวันแพลตฟอร์มรู้ประวัติคดีขึ้นมา ต้องโดนลงโทษอย่างแน่นอน การลงโทษขั้นต่ำที่สุดก็คงเป็นการให้ออกจากงาน และการหางานใหม่ของผู้ที่มีประวัติคดีติดตัวก็ถือเป็นเรื่องยากมาก

“ตอนนี้ก็พยายามทำงานให้ได้ชั่วโมงเยอะ ๆ เอาเงินมาก่อน ออกจากบ้านเกือบทุกวัน รับทุกออเดอร์ ถามตัวเองบ่อยมากว่า กูติด(โควิด)รึยังวะ? (หัวเราะ) ก็กลัวนะ แต่ถ้าไม่ออกมาก็ไม่ได้เงิน” ในฐานะที่ชีวิตของเขากำลังขึ้นอยู่กับตัวแพลตฟอร์ม การไม่มีเงินบางทีอาจจะน่ากลัวกว่างานหนักและโควิด เบื้องต้นพิพัฒน์ก็พยายามป้องกันตนเองจากเชื้อโรคขณะปฏิบัติงานโดยการล้างมือบ่อย ๆ พกสเปรย์แอลกฮอลล์ติดตัวไว้ฉีดทั้งมือ โทรศัพท์ รวมไปจนถึงธนบัตรและเหรียญที่แลกเปลี่ยนกับลูกค้า แฟนของเขาจะทำกับข้าวใส่กล่องให้นำไปรับประทานมื้อกลางวัน ปกติช่วงกลางวันพิพัฒน์ก็จะจอดรถรับประทานข้าวตามริมทางคนเดียว

“วันนึงผมวิ่งส่งอาหารได้ประมาณ 15 รอบ ส่วนใหญ่ก็จะได้ออเดอร์จากร้านดัง ๆ ไปส่งไม่ไกลมาก” พิพัฒน์กล่าว พร้อมเล่าประสบการณ์คับข้องใจที่เคยพบเจอจากร้านอาหาร “เคยเจอบางร้าน คนสั่งเยอะ ต้องรอหลายนาที แต่ไม่มีที่สำหรับให้ไรเดอร์รอรับอาหาร เราก็ยืนกอง ๆ กันอยู่หน้าร้านแล้วก็โดนเขามองแบบเหยียด ๆ อะ ผมก็งงนะ คนทำงานเหมือนกันทั้งนั้น” ทั้งที่อาชีพไรเดอร์เป็นตัวกลางในการส่งต่อความอร่อยจากร้านอาหารไปยังมือลูกค้า แต่ไรเดอร์มักจะเป็นอาชีพที่โดนดูถูกและมองข้ามเสมอ “เหมือนบางทีเขาก็ลืมคิดกัน ไม่มีพวกผมนี่ร้านจะขายได้มั้ย ลูกค้าจะได้กินอาหารมั้ยล่ะ ช่วงนี้ก็ลำบากกันหมด”

“จริง ๆ เรื่องเหยียดอะไรแบบนี้ผมโดนมาหลายรอบ ชินแล้วแหละ ผมแค่อยากทำงานต่อไป” อย่างที่ได้พูดไว้ตั้งแต่เริ่มสัมภาษณ์ว่าในตอนนี้การไม่มีเงินบางทีอาจจะน่ากลัวกว่างานหนักและโควิด “ผมเองก็ไม่รู้ว่าทางแอปจะเจอคดีในประวัติผมเมื่อไร ถ้าโดนให้ออกแล้วมีโทษอีกก็คงแย่ ไม่รู้จะมีงานอีกมั้ย” พิพัฒน์ทิ้งท้ายเกี่ยวกับการให้โอกาสผู้เคยกระทำผิดกลับคืนสู่สังคม “หลายคนทำผิดมา พยายามกลับตัวกลับใจ แต่เรากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้เลย จะให้ทำยังไง สมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ บางคนก็จบที่เลือกไปทำผิดอีก ให้เข้าคุกซ้ำ เพราะอย่างน้อยก็มีข้าวกิน อยากฝากสังคมให้โอกาสคนที่เคยติดคุกกว่านี้”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net