Skip to main content
sharethis

อิศรา รายงานผลประชุมอนุกรรมการเนื้อหารายการฯ ‘กสทช.’ มีมติ ‘เตือน’ 8 ทีวีดิจิทัล ถูกร้องเรียนรายงานข่าวโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภูไม่เหมาะสม-จิตแพทย์แนะรายงานข่าวคำนึงกลุ่มเปราะบาง-เลี่ยงสัมภาษณ์ญาติ ผู้รอดชีวิตซ้ำๆ มองสื่อมีพัฒนาการที่ดีขึ้น 


12 ต.ค. 2565 สำนักข่าว อิศรา รายงานวานนี้ (11 ต.ค.) สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (11 ต.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) คณะอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่มี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. เป็นประธาน ได้เรียกตัวแทนผู้รับอนุญาตสถานี โทรทัศน์ดิจิทัล 8 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 HD 2.ไทยรัฐทีวี 3.อมรินทร์ ทีวี HD 4.สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 5.เนชั่นทีวี 6.เวิร์คพอยท์ 7. สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(NBT) 8.ช่องวัน (ONE) เข้าชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าวการสังหารหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน อบต.อุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งมีเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและกระทบต่อความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง 

ข่าวเกี่ยวข้อง

แหล่งข่าวในคณะอนุกรรมการฯ กล่าวภายในการประชุมว่า คณะอนุกรรมการฯ มีมติเตือนผู้รับอนุญาตสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 8 สถานี นอกจากนั้น ให้เป็นการดำเนินตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 

1. กำหนดเงื่อนไขให้แต่ละสถานีทำแผนเผชิญเหตุในการทำข่าวและให้ถือปฎิบัติ

2. หากฝ่าฝืนแผนที่จัดทำขึ้นถือผิดเงื่อนไขการรับใบอนุญาต

3. ส่งเรื่ององค์กรวิชาชีพสื่อดำเนินการสอบสวนทั้ง 8 สถานีว่า มีการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่

4. ติดตามตรวจสอบให้นำเนื้อหา ที่ไม่เหมาะสมรุนแรงออกจากช่องทางต่างๆ

จิตแพทย์นำเสนอข่าวคำนึงกลุ่มเปราะบาง

สำหรับบรรยากาศในการประชุมนั้น ทางคณะอนุกรรมการฯ เชิญ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตแสดงความเห็นโดย นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวเหตุการณ์ โศกนาฏกรรม ที่หนองบัวลำภู ส่งผลกระทบกับคน 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก ผู้รับข่าวสาร โดยเฉพาะต่อกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มที่มีปัญหาทางจิตใจ คนที่มีความคิดอยากก่อเหตุอันตรายอยู่แล้ว ถ้าติดตามข่าวมากๆ ทำให้เกิดการเลียนแบบ ขณะที่กลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้รู้สึกชินชา เกิดการลดความยับยั้งชั่งใจในการแยกแยะสิ่งไหนควรทำ อันไหนไม่ควรทำ

“ดังนั้น การนำเสนอขอให้คำนึงถึงกลุ่มคนเปราะบางที่จะมีผลกระทำต่อสังคม เช่น ภาพความรุนแรง ภาพผู้กระทำ การบรรยายเหตุการณ์อย่างละเอียด การใช้อินโฟกราฟฟิก และการให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวคนกระทำมากเกินไป ไม่ควรทำ ที่แย่ที่สุด คือการไปส่งเสริม ด้วยการหาเหตุผลการก่อเหตุความรุนแรงมานำเสนอ มีการสืบค้นที่ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะการหาเหตุผลให้ผู้กระทำผิด ถือว่าเป็นการสนับสนุนให้ก่อเหตุ ในมุมจิตวิทยา ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะนำเสนอเรื่องนี้ อย่า ทำให้เป็นเรื่องดราม่า สร้างการเร้าอารมณ์" 

เลี่ยงสัมภาษณ์ญาติ คนรอดชีวิตซ้ำ

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่สอง กลุ่มญาติ คนรอดชีวิต จากการไปสัมภาษณ์ซ้ำบ่อยๆ ทำให้เกิดจินตนาการภาพเหตุการณ์ปรากฏซ้ำๆ ที่ส่งผลให้เกิดบาดแผลทางใจ ตอกย้ำการสูญเสียคุณค่าความเป็นมนุษย์ การถ่ายภาพญาติผู้เสียชีวิตที่มีอาการชัก โศกเศร้าเสียใจอย่างมาก ที่ทำให้เกิดการสะเทือนใจ ทำให้มีการติดตามประเด็นดราม่า ส่วนการติดตามเข้าไปในงานศพ ขอร้อง ให้ระมัดระวังในการเคารพศพและครอบครัว ต้องไม่รบกวนจนเกินไป

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การนำเสนอข่าวและภาพข่าวความรุนแรง หากยึดตามหลักจิตวิทยา จะเกิดการเรียนรู้-คนจะเลียนแบบวิธีการทางสังคม ขณะเดียวกัน ส่วนตัวรู้สึกสังคมเฉยชากับเหตุการณ์มากขึ้น ทำให้เกิดความหดหู่สิ้นหวัง และการนำเสนอ ยังไปกระตุ้นคนที่มีอาการทางจิตที่มี 10 ล้านคนทั่วประเทศ

“แต่สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ ยอมรับว่าสื่อมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าการนำเสนอเหตุการณ์ที่นครราชสีมา ส่วนการวิเคราะห์ผู้กระทำผิดนั้น ที่ควรเลิกวิเคราะห์แรงจูงใจ เพราะคนที่มาฟังท่อนเดียว หรือฟังด้วยความรู้สึกของตนเอง เพราะกลุ่มคนที่เผชิญปัญหาคล้ายกัน จะยึดเหตุผลนี้ในการเลียนแบบหรือก่อเหตุเพื่อให้ตนเองเป็นตำนาน"

พักการแข่งขันข่าว

สำหรับข้อแนะนำ นพ.วรตม์ กล่าวว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ใหญ่ระดับชาติ ขอให้พักการแข่งขันในการนำเสนอข่าว ถ้าไม่มีเรื่องนำเสนอจริงๆ คิดว่าให้นำเสนอเท่าที่มี ไม่ต้องสร้างภาพจำลอง เพราะกระตุ้นอารมณ์ไม่แตกต่างกับภาพเหตุการณ์จริง

นพ.วรตม์กล่าวว่า สำหรับภาพคนตายที่ส่งต่อมาจากคนในที่เกิดเหตุผ่านมาไลน์กู้ภัยมูลนิธิต่างๆ ทางกรมสุขภาพจิตพยายามคุยกับมูลนิธิ แต่ต้องใช้เวลา ขอให้สื่อมวลชนอย่าเอามาขยายในจอใหญ่

ยกกรณีต่างประเทศ

ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต ยกตัวอย่าง การรายงานข่าว กรณีกราดยิง ไครสต์เชิรช์ ประเทศนิวซีแลนด์ มีการนำเสนอที่เกิดเหตุด้วยคำบอกเล่า มีภาพสถานที่แบ็กกราวน์ (พื้นหลัง) กับตำรวจทำหน้าที่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ครั้งนี้ดีกว่าที่นครราชสีมาถือว่าไม่ร้ายแรง แต่ที่เรียกมาพบ คือตอบสนอง เพราะมีคนร้องเรียนมา ซึ่งบ่ายนี้จะหารือกับองค์กรวิชาชีพ 3 องค์กรหาแนวทางปฏิบัติต่อไป

ไทยรัฐ-ช่อง 3 แจงไม่ได้ขยี้เอาเรตติ้ง ยังคงยึดหลักปฏิบัติ

ด้านตัวแทนไทยรัฐ ทีวีชี้แจงว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนเที่ยงวันที่ 6 ตุลาคม นักข่าวเข้าพื้นที่บ่ายสาม เข้าไปสัมภาษณ์ ต้องคุยกับคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ คือครู และสามีครูที่เสียชีวิต ต้องรายงานตามข้อเท็จจริง เพราะตอนนั้นคนร้ายหลบหนี นำภาพคนร้ายขึ้นเพื่อช่วยทางการติดตามคนร้าย ต่อมา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งข้อความ ให้หยุดรายงานข่าวภาพความรุนแรง ทุกสถานีก็หยุด ยึดหลักปฏิบัติ เพียงแต่เหตุที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงเวลาที่ชุลมุน หลังองค์กรหลายแห่งชี้แนวปฏิบัติ ทุกสถานีก็ดำเนินการ

ขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ชี้แจงว่า ช่วงที่เกิดเหตุ หลายช่องตั้งตัวไม่ทัน แต่หลัง 18.00 น. ทางสถานีตั้งตัวได้ทัน ยืนยันเราปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง ส่วนที่รายการวันนั้นเรตติ้งข่าวขึ้น เป็นเพราะว่า คนอยากรู้เหตุการณ์ สื่อไม่ได้ขยี้เอาเรตติ้งเลย ทุกช่องนำเสนอตามข้อเท็จจริง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net