Skip to main content
sharethis

อดีตรองเลขาธิการ กสทช. ยื่นร้องเรียนถึงนายกฯ กรณีการขาดคุณสมบัติของ นพ.สรณ ประธาน กสทช. หลังจากที่ได้ส่งเรื่องถึงประธานวุฒิสภาไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

5 ก.ค. 2567 มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เดินทางนำเอกสารและหนังสือเข้าร้องเรียนต่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ติดตามการพิจารณาในกรณีการขาดคุณสมบัติของนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.

หลังจากที่คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา หรือ กมธ.ไอซีที มีความเห็นว่า นพ.สรณ ขาดคุณสมบัติการเป็นประธานและกรรมการ กสทช. ตามระเบียบกฎหมาย พร้อมได้ส่งเรื่องไปยัง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นานนับเดือน

ภูมิศิษฐ์ กล่าวว่าที่จริงแล้วรายงานดังกล่าวควรส่งถึงนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้าที่วุฒิสภาชุดนี้จะหมดวาระด้วยซ้ำ ตนจึงเดินทางเข้ายื่นหนังสือ โดยมีสมพาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาปลัดสำนักนายกฯ เป็นตัวแทนรับเอกสาร ทั้งนี้ ช่วงเดือนกันยายน 2566 ตนมีหนังสือไปยังวุฒิสภา เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ นพ.สรณ ประธาน กสทช. ว่ามีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 8 และมาตรา 18 รวมทั้งมิได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาตามมาตรา 26 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2553

โดยยื่นตรวจสอบ 3 กรณี ประกอบด้วย

1.ประธาน กสทช.ยังมีสถานะ “เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย” ทำหน้าที่ตรวจและรักษาคนไข้ผู้ป่วยได้รับค่าตอบแทนรายชั่วโมง ของคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

2.ประธาน กสทช.ยินยอมให้เสนอชื่อตนเองต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของธนาคารกรุงเทพ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเลือกและยอมรับการเป็นกรรมการของธนาคารดังกล่าว พร้อมทั้งมิได้ลาออกจากตำแหน่ง ถึงแม้จะได้รับการโปรดเกล้าฯรับตำแหน่ง กรรมการ กสทช.ก็ตาม

3.ประธาน กสทช.ยังคงมีสถานะเป็นผู้บริหารหรือพนักงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ช่อง รามาชาแนล ก่อนเข้ารับตำแหน่งกรรมการ กสทช.

ภูมิศิษฐ์ระบุต่อไปว่า จากบันทึกการประชุม กมธ.ไอซีที เลขที่ 17/2567 วันที่ 28 พ.ค.2567 ตาม https://www.senate.go.th/v2/files/commission/report/25670614_133058.pdf

ปรากฏเอกสารการพิจารณาข้อมูลและพยานหลักฐานประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วนั้นมีความเห็นว่า ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ มีลักษณะเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 มาตรา 18 มาตรา 20 และมาตรา 26

นอกจากนี้ ยังมีมติให้กราบเรียนประธานวุฒิสภาพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ภายหลังที่ทราบความเห็นและมติของ กมธ.ไอซีที ตนจึงทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการพิจารณาคุณสมบัติของประธาน กสทช. แต่จนถึงปัจจุบัน ยังมิได้ดำเนินการตามอำนาจผูกพันตามกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 มาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 18 และมาตรา 20

ภูมิศิษฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากกราบเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โปรดดำเนินการตามอำนาจผูกพันตามกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 มาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 18 และมาตรา 20 เพราะการนิ่งเฉยดังกล่าวอาจจะส่งผลเสียต่อประโยชน์สาธารณะและการดำเนินกิจการโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้

และในระหว่างนี้ขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้โปรดมีคำสั่งให้ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานและกรรมการ กสทช. ไว้ก่อน เนื่องจากศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กสทช. ตั้งแต่วันที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 7 หรือการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หากยังคงให้ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ ปฏิบัติหน้าที่ กสทช.ต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคตเพราะการอนุมัติต่างๆ อาจจะถือเป็นโมฆะได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net