Skip to main content
sharethis
  • คณะหลอมรวมประชาชนมีเป้าหมาย 3 ข้อคือหยุดอำนาจ 3 ป. หยุดรัฐประหาร และนับหนึ่งประเทศไทยด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าใครหรือกลุ่มใดเห็นด้วยกับแนวทางนี้ก็สามารถเข้าร่วมได้
  • จตุพรฟันธงว่าการเลือกตั้งในปีหน้าจะไม่เกิดขึ้นเนื่องจากการวางยาในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งให้ขัดรัฐธรรมนูญ
  • ประเด็นการปฏิรูปสถาบัน จตุพรพูดถึงเพียงมาตรา 112 ที่เคยวางแนวทางแก้ไขไว้ แต่ถูกประยุทธ์ จันทร์โอชานำกลับมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ส่วนหัวข้ออื่นๆ ในการปฏิรูปสถาบัน เขากล่าวว่าเป็นภารกิจของคนรุ่นใหม่ที่เพดานความเร็วไปไกลเกินกว่าเป้าหมายของคณะหลอมรวม?

‘ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร’ สัจธรรมการเมืองที่เชยแต่ไม่เคยเปลี่ยน ปี 2535 เส้นทางการเมืองของจตุพร พรหมพันธุ์และนิติธร ล้ำเหลือหรือทนายนกเขาเคยบรรจบกัน ณ ราชดำเนินในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

“ผมกับทนายนกเขารู้จักกันมานาน เพียงแต่ว่าเดินคนละเส้นทาง แต่เคารพหัวจิตหัวใจกัน ตั้งแต่พฤษภา 35 ผมอยู่บนเวที เขาก็ทำงานเรื่องการข่าวให้กับผู้ชุมนุม พอหลังเวทีพฤษภาก็เป็นเวทีความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไม่ว่าส่วนไหนก็ตาม ไม่ว่าเกษตรกร เรื่องที่ทำกิน สารพัดเรื่องที่เป็นปัญหาของชาวบ้าน ทนายนกเขาเขาก็ช่วยชาวบ้าน ผมก็ไปปราศรัย เราก็อยู่ในสนามแบบนี้กันมา ท้ายที่สุด ในช่วงกว่า 10 ปี เราก็ไปสู้ตามวิถีทาง”

ช่วงปี 2548 ถึงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งสองเดินคนละเส้นทาง คนละอุดมการณ์

ถึงปี 2565 พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้งในนาม ‘คณะหลอมรวมประชาชน’ สงวนความต่างและเก็บประวัติศาสตร์เอาไว้ชั่วคราวโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

ที่มาภาพ เพจประชาชนคนไทย (ปท.)

‘ประชาไท’ ชวนจตุพรสนทนาถึงการเคลื่อนไหวรอบนี้และคำถามบางประการต่อตัวเขาและคณะหลอมรวมประชาชน

หยุด 3 ป. หยุดรัฐประหาร นับหนึ่งประเทศไทย เป้าหมายคณะหลอมรวม

นับจากการขึ้นสู่อำนาจของประยุทธ์ จันทร์โอชา สถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพลุ่มๆ ดอนๆ จตุพรขับเคลื่อนกลุ่มไทยไม่ทน นิติธรทำกลุ่มประชาชนคนไทย เป้าหมายเดียวกันคือขับไล่ประยุทธ์ ก่อนที่ทั้งสองกลุ่มจะเลิกรากันไป จวบจนกรณีบันทึกข้อตกลงอินโดแปซิฟิกซึ่งจตุพรและนิติธรเห็นตรงกันว่าอันตรายต่อประเทศไทย ทั้งสองจึงมีโอกาสจับเข่า เปิดใจพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอีกครั้ง เป็นที่มาของคณะหลอมรวมประชาชนที่ยึดแนวทางว่า ประชาชนต้องมาก่อน

จตุพรอธิบายว่าเป้าหมายหลักของคณะหลอมรวมฯ มี 3 ข้อ ประกอบด้วยหยุด 3 ป. หยุดรัฐประหาร และนับหนึ่งประเทศไทยด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เป้าหมายชัดเจน แต่ยากที่สังคมจะไม่คลางแคลง เกือบ 2 ทศวรรษของความขัดแย้งทางการเมือง พวกเขาเดินสวนทางกันมาตลอด กลับมารวมกันรอบนี้มีหรือจะไม่ต้องประนีประนอมกันทางความคิด แล้วเส้นแบ่งไหนที่ยอมรับได้ เส้นแบ่งไหนที่ยอมรับไม่ได้ จตุพรตอบว่า

“ทุกหัวข้อเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคฝั่งประชาธิปไตยหรือฝั่งไหนก็ตาม ก็ย้ายสลับกันไปมาจากฝั่งสืบทอดอำนาจก็ย้ายเข้าฝั่งประชาธิปไตยเต็มไปหมด นี่คือซีกพรรคการเมือง แต่ในซีกประชาชน เราตกผลึกเช่นเดียวกันว่า 90 ปีมานี้ระหว่างประชาชน พรรคการเมือง ทหาร พรรคการเมืองกับทหารสลับกันมีอำนาจ แต่ประชาชนไม่เคย มีแต่สลับเจ็บ สลับตาย สลับเดือดร้อน เราไม่เคยได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงแม้แต่เพียงวันเดียว ในชั่วชีวิตเราอยากเห็นอำนาจเป็นของประชาชนสักครั้ง

“ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องอุดมคติ แต่เราสู้กันมายาวนาน เตะหมูเข้าปากหมานับครั้งไม่ถ้วนในชีวิต ตระเวนสายทั้งท้องถนน ทั้งภาคพรรคการเมือง จนกระทั่งวันหนึ่งผมก็ตกผลึกเหมือนกันว่าในช่วงท้ายที่เรายังมีเรี่ยวแรงเหลืออยู่ เราเองก็เลยใช้คำว่าคณะหลอมรวม เปิดประตูทุกบานใน 3 หัวข้อนี้ เมื่อเราเดินไปทิศทางนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้มีอำนาจกลัวมากที่สุดคือประชาชนแต่ละฝ่ายจับมือกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ประชาชนก็ไม่พร้อมจะจับมือกันและชุดปฏิบัติการของรัฐก็ไม่ต้องการใช้ประชาชนจับมือกัน ผมก็บอกเสมอว่าหลักการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างที่เป็นปรัชญาของเหมาเจ๋อตุง ถ้าประชาชนแต่ละฝ่ายไม่พร้อมเปิดใจเข้าหากัน เราก็ยกแผ่นดินให้คณะ 3 ป. ต่อไป เขาอาจจะอยู่เกิน 20 ปีก็ได้ เพราะประชาชนอ่อนแอเอง ไม่พร้อมที่จะปรับวิธีในการต่อสู้กับอำนาจนี้”

จตุพร พรหมพันธุ์ และนิติธร ล้ำเหลือหรือทนายนกเขาจัดรายการร่วมกัน

จตุพรฟันธง จะไม่มีการเลือกตั้ง

เหตุผลที่ต้องหยุด 3 ป. เพราะถ้าทำไม่ได้ ปัญหาจะไม่มีวันจบ จตุพรอธิบายว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้องค์กรอิสระ ยุทธศาสตร์ชาติ กลไกตามรัฐธรรมนูญ และสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในมือของ 3 ป. ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด เขาวิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งที่ถูกโหมประโคมอยู่ในเวลานี้จะเกิดขึ้นช้ากว่าที่ควรจะเป็นหรือเลวร้ายกว่านั้นคือไม่เกิดขึ้น

“การเรียนรู้กับระบอบ 3 ป.นี้ ในช่วง 8 ปีเราเห็นว่าเขาดำรงความมุ่งหมายชัดเจนต่างจากพรรคการเมือง แตกต่างจากภาคประชาชน เราเห็นวิธีการเอาดีเลย์แท็กติกมาใช้ การเลือกตั้งจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย ให้บวรศักดิ์ (อุวรรณโณ) เขียนรัฐธรรมนูญ แล้วเสนอบางมาตราที่ประชาชนไม่พอใจ ท้ายที่สุดพลเอกประยุทธ์ก็จับอารมณ์คนได้ แล้วก็ให้ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) คว่ำ ถือว่าโล่งอกได้เวลาไปฟรีๆ ปีกว่า แล้วก็มาคุณมีชัย จากกฎหมายแม่รัฐธรรมนูญจนถึงกฎหมายลูกมีการทำประชามติก็กินเวลาไปกว่า 3 ปี จนกระทั่งถึงขณะนี้ที่ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ประกาศวันเลือกตั้งสมมติ ถ้าพลเอกประยุทธ์อยู่ครบวันที่ 24 มีนาคม 2566 กกต. ก็ประกาศวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 7 พฤษภา เพราะประเทศไทยเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ยังโมฆะได้ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เลือกตั้ง ที่มันแยบยลกว่านั้นคือ ทำให้กฎหมายลูกเป็นปัญหา ให้รัฐธรรมนูญเป็นปัญหา”

จตุพรฉายภาพย้อนกลับไปที่การแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยตั้งคำถามว่าทำไม 3 ป. จึงยอมให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบและใช้สูตรหาร 100 ซึ่งเป็นสูตรที่พรรคเพื่อไทยได้เปรียบที่สุด คำตอบคือการหลอก

เนื่องจากประเด็นบัตร 2 ใบแม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 91 แต่มาตราที่เกี่ยวข้องอีกสองมาตราคือมาตรา 93 และมาตรา 94 ไม่มีการแก้ไข จตุพรคาดว่าท้ายที่สุดทั้งหมดนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

“ผมก็บอกว่าท้ายที่สุดก็ต้องไปตายที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศ 400 เขต 100 หาร วาระแรกรับพรึ่บและวาระ 2 ก็เป็น 400 เขต 500 หาร แล้วสุดท้ายก็มีปัญหา ปล่อยให้เวลาครบ 180 วันก็ส่งกลับรอกราบบังคมทูลถ้าไม่มีใครยื่นตีความ ผมเองยังไงก็เห็นว่ามีการยื่นตีความ มีพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม คุณหมอรวีและคณะก็ยื่นตีความผ่านประธานสภาว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมเชื่อเลยว่ายังไงก็ขัด ศาลรัฐธรรมนูญประกาศรับคำฟ้องนี้ในวันที่ กกต. ประกาศวันเลือกตั้งสมมติ แต่ข่าวการเลือกตั้งดังกว่ากลบเรื่องนี้

“ต่อมาคือว่าสภาสมัยสุดท้ายจะเปิดประชุมวันที่ 1 พฤศจิกา แล้วก็ไปปิดท้าย 28 กุมภา ดังนั้นสาระหลักคือ ต้องกลับมาแก้ไข ถ้าถูกชี้ว่าเป็นโมฆะ ซึ่งผมเห็นว่ายังไงก็โมฆะ ต้องกลับมาแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ แก้ไขกฎหมายลูกใหม่ ในเวลา 4 เดือนและต้องพึ่งมือวุฒิสภา 1 ใน 3 เพราะฉะนั้นในโลกแห่งความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นนักการเมืองก็อาจจะบอกว่าตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา ผมก็ไปรื้อค้นความจริงว่าพรรคฝ่ายค้านทำไมไม่แก้สองมาตรานี้ที่เป็นหัวใจหลักของบัตรใบเดียว ยอมให้แก้ไขจากบัตรใบเดียวมา 2 ใบ ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้แก้ไขในมาตราที่เป็นหัวใจหลักของบัตรใบเดียว

“คนที่มีบทบาทสำคัญในฝ่ายค้านเล่าให้ฟังว่าตอนจะโหวตมีตัวแทนพรรคพลังประชารัฐคนหนึ่งยื่นคำขาดว่า ถ้าไปแตะต้องมาตรา 93 และ 94 จะคว่ำทั้งหมด ท้ายที่สุดฝ่ายค้านก็ยอม ผมถามว่ารู้ไหมว่าเป็นปัญหา เขาก็รู้ว่ามีปัญหา และท้ายที่สุดจะจบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่าถ้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเสร็จไม่ทัน 24 มีนาคมที่จะเป็นวันครบวาระของสภาผู้แทนนี้ ไม่มีกฎหมายลูกจะเลือกตั้ง ถามว่าแล้วจะยังไงต่อ บอกว่าพลเอกประยุทธ์ก็รักษาการณ์ ถามว่ารักษาการณ์นานเท่าไหร่ ไม่จำกัดอายุ”

ประเมินร่วมกับการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ส.ส.ปัดเศษ และบัตรเขย่งจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคพลังประชารัฐยังได้เสียงปริ่มน้ำ กับครั้งนี้ที่ผลงานการบริหารของรัฐไม่เป็นที่ชื่นชอบ จตุพรจึงฟันธงว่า 3 ป. จะไม่ยอมเล่นในเกมที่ตนเองแพ้ การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้น

มีหน้าที่แค่ประกาศสัจธรรม

การกลับมาเคลื่อนไหวของจตุพรรอบนี้เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกถามเกี่ยวกับอดีตของเขาในฐานะประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มวลชนเสื้อแดงมาร่วมกับคณะหลอมรวมฯ หรือไม่ อย่างไร เพราะหลังปี 2553 ผ่านรัฐประหาร 2557 คนเสื้อแดงอยู่ในสภาพแตกกระสานซ่านเซ็น นี่ดูจะเป็นคำถามที่ทำให้เขาไม่สบอารมณ์เล็กน้อย เขาตอบว่า

“ผมไม่สนใจว่าใครเป็นใคร ตราบใดถ้าประชาชนเขารักในความถูกต้อง เชื่อมั่นในประชาธิปไตย ต้องการขับไล่เผด็จการ เราก็เห็นว่าประชาชนเปลี่ยนไปมาตลอดเวลาในการต่อสู้แต่ละยุคสมัย เหมือนเราถามหาคนเดือนตุลา ไม่ว่าจะ 14 หรือ 6 ตุลา ถามว่าไปอยู่ไหนกันที่ออกมาวันนั้น เช่นเดียวกัน กลุ่มพันธมิตร กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) นปช. หรือน้องๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราก็เจอคำถามแบบนี้ที่ทำลายกำลังใจกันเสียเปล่า ผมไม่ได้คิดว่าเราต้องไปตามพี่น้องเสื้อแดงที่ใดที่หนึ่งมา”

จตุพรเห็นว่าหน้าที่ของเขาเพียงแค่ประกาศสัจธรรมตามเป้าหมาย 3 ข้อและใช้คำว่าประเทศไทยต้องมาก่อน ใครเห็นด้วยก็เข้ามาร่วมมือกัน และต้องยอมรับความเป็นจริงว่าไม่มีใครในฝ่ายไหนที่อยู่สภาพเดิม

“ผมนี่คิดข้ามไป ผมบอกอย่าไปตามพี่น้องเรามา เรามีหน้าที่ประกาศหลักสัจธรรม ถ้าคุณไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องออกมา ถ้าเห็นด้วยก็ออกมา ผมไม่ได้บอกว่าเป็นใคร ไปตามใคร ใครเป็นพวกอยู่บ้าง ผมไม่ใช่คนพรรค์อย่างนั้น ไม่ว่าตอนผมอยู่พรรคการเมืองหรือไม่อยู่แล้ว ผมก็ไม่อินังขังขอบ ผมเห็นอย่างไรก็พูดอย่างนั้น พูดเพื่อไม่ได้ต้องการให้ดูดี ดูหล่อ ใช่คือใช่ ดังนั้นวันนี้ก็เช่นเดียวกัน

“การระดมพล คนที่ผ่านการเมืองมามันไม่ยากหรอก ทุกคนทำเป็นทั้งนั้น เพียงแต่ ณ ขณะนี้เราต้องการขนาดที่พอดี วันนี้ก็เช่นเดียวกัน เราเองก็เห็นว่าสถานการณ์ไม่ได้จุดแค่หนึ่งสองวันแล้วจะพรวดพราด ตอนเสื้อแดงเราเดินทัพกันเป็นปีๆ กปปส. จัดรายการผ่าความจริงร่วมปี จนไปเจอสุดซอยเข้า ถูกหวยรางวัลที่หนึ่งเข้า ก่อนหน้านั้นไม่มีคน วันนี้เช่นเดียวกัน ผมจะไปวิตกทำไม ผมคุยกับทางนกเขาว่าเราอย่าไปวิตกเรื่องคน เพราะถ้าเราเดินในสิ่งที่ถูกต้องไม่ต้องวิตกอะไร วันไหนก็วันนั้น ไม่รีบร้อน

“คนเสื้อแดงนี่ก็ต้องเคารพว่าเขาไม่ใช่ของตาย ตอนอยู่ผมพรรคการเมืองก็พูดว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่ของตายของพรรคนะ เขามีความเป็นมนุษย์ ถ้าเขาเห็นว่าสิ่งที่ทำถูกต้องเขาก็ออกมาเอง ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพียงแต่ว่าตอนนี้ประชาชนหมดสภาพ ไม่มีแรง อ่อนล้าเต็มที คิดมื้อต่อมื้อกันแล้วในโลกความเป็นจริง ผมก็ประกาศว่าไม่เน้นว่าใครเป็นใคร คือเราใช้หลักยืนมันจีรังกว่าใช้คนยืน เมื่อหลักมันถูก ผมก็ไม่วิตกอะไรเลย ผมไม่เคยไปตามคนเสื้อแดงแม้แต่คนเดียว”

ขีดเส้นเพดานความเร็วไว้แค่อำมาตย์

จะเห็นได้ว่าเป้าประสงค์ 3 ข้อของคณะหลอมรวมฯ ไม่มีประเด็นการปฏิรูปสถาบันที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เสนอ ชวนให้ตั้งคำถามว่าคณะหลอมรวมฯ จะหลอมรวมประเด็นนี้อย่างไร จตุพรเท้าความว่าเขาเองก็เคยผ่านการต่อสู้คดี 112 มาก่อน โดยประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้ฟ้องร้อง เคยเจอกับผู้ต้องขังคดี 112 สมัยที่เขาอยู่ในเรือนจำ

“เราเองก็พูดมาตั้งแต่ต้นว่าบ้านเมืองต้องยอมรับความเป็นจริงว่ามันมีปัญหา แล้วชนวนใหญ่ก็มาจากผู้นำรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จะไม่เอาเรื่องถ้ามีคนพูดถึงสถาบัน 112 จะไม่เอาความผิด แล้วก็มีคนหลงเชื่อ ไม่เชื่อไปดูเทปเก่า แล้วพลเอกประยุทธ์ก็มาดำเนินคดี ทีนี้เราเองก็เห็นมาตั้งแต่ต้น คดีในลักษณะนี้เป็นปัญหา มีความพยายามแก้ไข เดิมได้แก้ไขไปแล้วในเรื่องวิธีการที่จะไม่ดำเนินคดีกับใครในเรื่องนี้ ท้ายที่สุดก็ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจในเรื่องนี้คนเดียว เรื่องนี้ก็ถูกล้มไปโดยปริยาย ความจริงมีกฎหมายแต่ไม่ได้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ปกป้องตน ทำลายคนอื่นเหมือนที่รัฐบาลชุดนี้ทำ ความจริงไปได้ด้วยดี เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหา ดังนั้นผมเองที่ตกเป็นจำเลยเรื่องนี้กันมา แล้วก็สู้คดีกันมา ผมก็มองด้วยมิติที่เข้าใจ และถ้าจะต้องตำหนิใครมากที่สุดในเรื่อง 112 ก็ต้องตำหนิตัวพลเอกประยุทธ์

“นปช. ขีดเส้นไว้ที่อำมาตยาซึ่งเป็นปลายทาง แล้วเราก็ขีดเส้นไว้ตรงนั้น แต่ข้อเรียกร้องมันไปไกลเกินกว่าแล้ว ที่ผมเสนอว่าให้ยุติ นปช. แล้วให้คณะราษฎรเขานำต่อไปเพราะว่าเราวิ่งได้เท่านี้ เพดานความเร็วรถไฟเราได้เท่านี้ มอบภารกิจให้คนหนุ่มสาวไป เพราะว่าเราเหมือนรถไฟวิ่งได้ 180 แต่เขามาใหม่วิ่งได้ 280 เราก็ต้องให้เขาไป ภารกิจนี้ก็เป็นของเขา แต่คนไม่เข้าใจ ก็อยู่กันไปแบบนี้ ผมไม่มีปัญหา ก็หมิ่นน้ำใจกัน อ้างว่าย้ายขั้วสลับข้างบ้าง แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันผมก็ถูกจับกุมคุมขังและคดีก็โดนหนัก ผมรู้เลยว่าเรื่องนี้ตราบใดยังถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอำนาจของผู้มีอำนาจ และทำลายผู้ที่ออกมาต่อต้าน บ้านเมืองนี้จะหาความสงบสุขไม่ได้ สถาบันจะได้รับผลกระทบไปโดยปริยาย”

จตุพรย้ำในฐานะเป็นนักเคลื่อนไหวมานานว่า แต่ละคนแต่ละกลุ่มต่างมีความเชื่อของตน ต่างฝ่ายก็ปฏิบัติ ผลักดันไปตามความเชื่อนั้น แต่อย่าทำลายความเชื่อของคนอื่นว่าเป็นเรื่องที่ผิด หากต้องเคารพกันและกัน คณะหลอมรวมฯ มีเป้าหมายชัดเจนก็จะเคลื่อนไหวตามเป้าหมายของตน กลุ่มอื่นก็ขับเคลื่อนตามประเด็นที่ตั้งไว้ จุดไหนที่เห็นเหมือนกันก็มาร่วมกัน จุดที่เห็นต่างก็สงวนไว้

“อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้ยังต้องมีหวังกับคนรุ่นใหม่ เพราะเขาคืออนาคตของชาติ ผมผ่านเส้นทางนี้ ผมเข้าใจเขาว่าคนที่เรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยต้องรับใช้ประชาชน ประเทศใดถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ประเทศนั้นจะหาอนาคตไม่ได้ ใครจะเชื่ออย่างไรก็ตาม แต่เขาคืออนาคต เขายังเป็นความหวัง คนรุ่นเราไม่กี่ปีก็ต้องไปตามสังขาร ตามเวลา เพราะฉะนั้นเขาอยู่นานกว่า อนาคตของประเทศนี้ต้องฝากไว้กับเขา”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net