สอบ.จ่อขอศาลปกครอง คุ้มครองฉุกเฉิน 'ควบรวมทรู-ดีแทค'-ฟ้อง ป.ป.ช. เหตุ กสทช.ละเว้นปฏิบัติหน้าที่

'ยังไม่จบ' สภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค-พรรคก้าวไกล แถลงจ่อฟ้องร้อง ศาลปกครอง คุ้มครองฉุกเฉิน กรณีควบรวมบริษัท ทรู-ดีแทค และฟ้อง ป.ป.ช.เหตุ กสทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ด้านศิริกัญญา ก้าวไกล เผยกำลังรอคำวินิจฉัยเต็ม เพื่อประกอบคำร้อง

 

21 ต.ค. 2565 เพจเฟซบุ๊ก “สภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค” เผยแพร่ไลฟ์สดวันนี้ (21 ต.ค.) ที่อาคารจีทาวเวอร์ แกรนด์ พระราม 9 ชั้น 31 สภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค และพรรคก้าวไกล แถลงข่าวเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอคุ้มครองฉุกเฉินการควบรวม 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และจะฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เหตุ กสทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

โดยการแถลงข่าววันนี้ (21 ต.ค.) สืบเนื่องจากวานนี้ (20 ต.ค.) กสทช. เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่ประชุม กสทช.มีมติเสียงข้างมาก "รับทราบแบบมีเงื่อนไข" กรณีการควบรวมทรู-ดีแทค

ถ่ายทอดสดงานแถลงข่าวโดยสภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค และพรรคก้าวไกล

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. กำลังทำให้สาธารณะเข้าใจผิดจากการออกข่าวว่า สำนักงานกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า กสทช.ไม่มีอำนาจตามกฏหมายในการพิจารณาประเด็นควบรวมค่ายมือถือ หลังจากที่สำนักงาน กสทช. ได้ส่งหนังสือขอความเห็นกฤษฎีกาผ่านรักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้รับความเห็นกลับมาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565

สารี อ๋องสมหวัง เลขาฯ สภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค

“หากอ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า คำวินิจฉัยคล้ายกับศาลปกครองที่ออกมาก่อนหน้า คือ กสทช.มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคม แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาอาจจะเขียนออกมาไม่ชัดเจนเท่าไร จึงทำให้สำนักงาน กสทช.ตีความผิด และปล่อยข้อมูลไปว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว

ทั้งนี้ การตีความของกฤษฎีการะบุออกมาชัดเจนว่า ประกาศฯ กสทช. ปี 2561 ยังมีผลใช้บังคับและหากผู้ประกอบการมือถือต้องการรวมธุรกิจเข้าด้วยกันจะต้องทำตามประกาศฯ กสทช. ปี 2561 หมายความว่า การรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคเป็นการรวมธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งเป็นอำนาจของ กสทช. ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าอำนาจในการพิจารณาควบรวมกิจการครั้งนี้เป็นอำนาจของ กสทช. เต็มขั้น

“สิ่งที่สำนักงาน กสทช. เข้าใจผิดว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคม ถือว่าส่งผลเสียต่อสาธารณะมากและอาจเข้าข่ายว่าสำนักงาน กสทช. กำลังให้ข้อมูลเท็จกับสาธารณะใช่หรือไม่” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคตั้งคำถาม

ในส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม หากดูตามมาตรา 21 และ 22 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ระบุว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค กำกับกิจการโทรคมนาคม ทำให้กิจการโทรคมนาคมเกิดการแข่งขัน ลดการผูกขาด และกำกับดูแลการกระทำดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคมและประชาชนผู้ใช้บริการ

ส่วนหน้าที่การพัฒนากิจการโทรคมนาคมไม่ได้เป็นหน้าที่ของ กสทช. แต่เป็นบทบาทของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีเพียง กสทช. เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นประธานกองทุน อีกทั้งการกล่าวอ้างว่า กสทช. สามารถใช้วิธีการกำกับราคาได้นั้นไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะการใช้ค่าเฉลี่ยจากแพกเกจที่ไม่มีผู้บริโภคใช้งานหรือจำกัดการขายแพกเกจต่างๆ มาคิดเหมารวมด้วย ขณะที่ราคาส่วนเกินโปรโมชันไม่ได้คิดรวม จะทำให้ราคาที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายแพงขึ้น

สารี กล่าวเสริมว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค อยากเห็น กสทช.ออกมายับยั้งสำนักงาน กสทช. ทันที ในการให้ข้อมูลที่อาจเข้าข่ายการให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เช่นเดียวกับกรณีเมื่อครั้งที่ กสทช.ออกมายับยั้งกรณีข้อเท็จจริงห้าประการที่ส่งผลกระทบหากมีการควบรวมกิจการ

“สภาองค์กรของผู้บริโภคยังมีความคาดหวังเป็นอย่างมากที่จะไม่เห็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งนี้ เนื่องจากในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีประธาน กสทช. เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ด้วย ดังนั้นจึงขอให้ กสทช. ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ” สารี กล่าว

อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภคพร้อมร่วมฟ้องคดี กสทช. ร่วมกับพรรคการเมืองต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นที่ กสทช. ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในขณะที่ทั้งศาลปกครองและกฤษฎีกายืนยันแล้วว่า กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคม

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคชวนผู้บริโภคทุกคนร่วมฟ้องคดีกับสภาองค์กรของผู้บริโภค อีกทั้งร่วมแสดงพลังให้ กสทช. รู้ว่าประชาชนไม่เอาควบรวมทรู-ดีแทค ผ่านการร่วมลงชื่อรณรงค์ต่อต้านการผูกขาดทางการค้ากรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค ได้ที่ Change.org/TrueDtac และร่วมกันติดแฮชแท็ก #หยุดผูกขาดมือถือ ในทุกช่องทาง

3 ประเด็น ‘ก้าวไกล’ ฟ้อง กสทช.

ศิริกัญญา กล่าวว่า พรรคก้าวไกล มีมติเข้าร่วมกับทาง สคบ. ยื่นฟ้องร้องศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน และยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช. กรณี กสทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 40 มาตรา 60 มาตรา 71 และมาตรา 75 ตลอดจน พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ การประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ ว่าให้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และผู้บริโภค ป้องกันการผูกขาดธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม แต่วันนี้ กสทช. กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยบอกว่าไม่มีอำนาจ

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล

ส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า วานนี้ (20 ต.ค.) ที่ประชุมเสียงข้างมาก กสทช. มีความผิดปกติ เพราะเป็นการลงมติแบบ 2 ต่อ 2 ต่อ 1 หรือ 2 เสียงบอกว่ามีอำนาจ อีก 2 เสียงบอกว่าไม่อำนาจในการอนุญาตและไม่อนุญาต และสุดท้าย 1 เสียงคืองดออกเสียง และเป็นประธาน กสทช. ชี้ขาดมาลงอีกเสียง

แต่เมื่อไปค้นเอกสารข้อบังคับของ กสทช.พบว่า การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม มีการพูดถึงว่าเป็นแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ โดยเป็นการใช้เสียงข้างมากของคณะกรรมการที่มาประชุม แต่กรณีการลงมติที่ประชุมวานนี้ เข้าข่ายกรณีที่ 2 เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากประเด็นตามความในวรรค 1 ต้องได้รับสิทธิพิเศษ หรือต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด หรือ 3 ต่อ 5 

“แต่เมื่อวานนี้ เสียงที่ลงมติมีเพียงแค่ 2 เสียงเท่านั้น มันจึงเท่ากับว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการของทั้งหมด เท่ากับว่ามตินี้จำเป็นที่จะต้อง ไม่ผ่าน หรือตกไป อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจดูคำวินิจฉัยเต็มของการประชุมอีกครั้ง

“ดังนั้น กระบวนการการลงมติครั้งนี้มันมีปัญหาแน่ๆ และก็ กสทช. จำเป็นที่จะต้องให้ความเห็นให้ความกระจ่าง ในเรื่องนี้กับประชาชนในเบื้องต้น ก่อนจะไปขึ้นกระบวนการศาลปกครอง ป.ป.ช.ด้วยซ้ำ” ศิริกัญญา กล่าว 

ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า ประเด็นที่ 3 ที่จะมีการยื่นฟ้องร้อง คือ ผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด หรือไม่ เนื่องจากฟินันซ่าฯ ถือหุ้นโดยบริษัท ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (Finansia Cyrus Securities - FSS) ซึ่งประธานบอร์ดของฟินันเซียฯ เป็นผู้บริหารของทรู อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่เป็น ความผิดพลาดในเรื่องของกระบวนการ ซึ่งอาจจะนำพาให้คำสั่งปกครองในครั้งนี้ เป็นโมฆะได้ 

อย่างไรก็ตาม ทางศิริกัญญา ระบุว่า ขณะนี้ทางพรรคกำลังรอคำวินิจฉัยดังกล่าวฉบับเต็มเผยแพร่ เพื่อดูว่า กสทช. ทั้ง 2 คนที่ออกเสียงว่าทรูและดีแทคไม่ได้เป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน  มีเหตุผลมาสนับสนุนเรื่องนี้อย่างไร และทางพรรคจะนำไปประกอบสำนวนคำร้องว่ามตินี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

พื้นที่สีเทาของ กสทช.

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า มติ กสทช.วานนี้ (20 ต.ค.) ไม่ชอบธรรม เพราะว่าเป็นมติที่คลุมเครือ และมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะการที่บอกว่า “รับทราบ แบบมีเงื่อนไข” ถือเป็นมติที่คลุมเครือ และทำให้ กสทช.เป็นแดนสนทยาอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากกระบวนการที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ขาดความโปร่งใส และไม่ชัดเจน และไม่มีการอธิบายว่าทำไมมติ 2 ต่อ 2 ต่อ 1 ถึงกลายเป็น 3 ต่อ 2 

สุภิญญา กลางณรงค์ (ที่มา: iLaw)

“เพราะว่าถ้าตีความแบบนี้ มันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กรณีนี้ทรูกับดีแทค แต่มันจะส่งผลต่อกรณีจากนี้ไป หลายท่านที่ห่วงกรณี AIS และ 3BB หรืออาจจะห่วงประเด็นอื่นๆ ในอนาคต อันนี้มันก็เหมือนกับว่า ต่อไป กสทช.ก็จะรับทราบๆ อย่างเดียวรึเปล่า เคสหน้าไม่รับทราบ เคสนี้รับทราบ สะท้อนให้เห็นการเลือกปฏิบัติ ดับเบิลสแตนด์ดาร์ดรึเปล่า แต่ถ้ารับทราบไปตลอด กสทช.มันก็ลดอำนาจ และก็ลดศักดิ์ศรีของความเป็นองค์กรอิสระลงโดยสิ้นเชิง” สุภิญญา กล่าว

ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ กล่าวต่อว่า การไม่มีทางเลือกมันส่งผลต่อสิทธิทางการเมือง เพราะว่าถ้ากลุ่มทุนโทรคมนาคม 2 รายยักษ์ใหญ่ มีความผูกพันธ์กับกลุ่มทางการเมืองด้วย มันจะทำให้รู้สึกขาดความมั่นคงทั้งในแง่ของสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร สิทธิพลเมือง และข้อมูลส่วนบุคคล ความเชื่อมั่นจะลดลงไปอีก สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาล และ กสทช. จะรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างไร

“สุดท้าย ก็อยากจะเรียนวิงวอน ส่งข้อความไปยังกระบวนการยุติธรรม เพราะดูเหมือนว่าตอนนี้หลายคนสิ้นหวังกับ กสทช.แล้ว แต่ว่ากระบวนการยังไม่จบ เรื่องจากนี้เผือกร้อนก็จะไปอยู่ที่ศาล ก็ฝากวิงวอนศาลปกครองให้ท่านรับเรื่องนี้ไปพิจารณา และก็ถ่วงดุลผลประโยชน์ของสาธารณะ เพราะที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่า กสทช.แทบไม่นำเสียงคัดค้านหรือเอาประโยชน์สาธารณะมาพิจารณาเลย แต่พยายามจะหาแง่มุมในแง่กฎหมาย เพื่อที่จะเลี่ยงบาลี และก็หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังตั้งคำถามถึงสภาพบังคับทางกฎหมายว่า แล้วตกลงยังไง รับทราบแต่ให้มีเงื่อนไขนั่นคือ เอกชนต้องทำอย่างไร แค่ไหน อย่างไร”

“อยากจะรอดูท่าทีทรู และดีแทค เหมือนกันว่า คิดยังไงกับมติ กสทช.เมื่อวานนี้ AIS ด้วย อยากให้ทุกฝ่ายแถลงต่อท่าทีและจุดยืนของตัวเอง เปิดเผยความคิดเห็น สังคมจะได้ประโยชน์ในแง่ของการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป และข้อมูลทั้งหมดจะไปที่ศาล เพื่อให้ศาลเป็นด่านสุดท้ายเพื่อที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคม และปกป้องประโยชน์ของประชาชนที่ กสทช. ละเลย และก็ละเว้นที่จะทำหน้าที่นี้ ” สุภิญญา ทิ้งท้าย 

ย้อนดูมติ กสทช. ปรากฏเป็น 2 ต่อ 2 ต่อ 1 เสียง ก่อนประธานชี้ขาด

การแถลงของ สคบ. เกิดขึ้น หลังจากวานนี้ (20 ต.ค.) กสทช. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่ประชุม กสทช. พิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) เนื่องจากกรณีการควบรวมธุรกิจดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผลกระทบต่อสาธารณชน โดยหลังใช้เวลาการประชุมนานถึง 11 ชั่วโมง ที่ประชุม กสทช. มีมติเสียงข้างมาก ‘รับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทค แบบมีเงื่อนไข’ ด้วยมติ 2 ต่อ 2 ต่อ 1 ก่อนประธานที่ประชุมชี้ขาดเป็นมติเสียงข้างมาก

มติที่ประชุมเห็นชอบประเด็นการพิจารณาว่ารวมธุรกิจกรณีนี้ถือเป็นการครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกับตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยนัยผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 หรือไม่ โดยมีผลการลงมติดังนี้ 

โดยที่ประชุมเสียงข้างมาก ได้แก่ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ ต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มองว่า ไม่ได้เป็นการครอบครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกับตามข้อ 8 ของประกาศ กทช.  เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศฉบับปี 2549) โดยนัยของข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแล การรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศปี 2561) และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศปี 2561 รับทราบผลการรวมธุรกิจ ทรู-ดีแทค และเมื่อ กสทช. รับทราบแล้ว ให้ กสทช.มีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561  

ขณะที่เสียงข้างน้อย ได้แก่ ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ และพิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ เห็นแย้งโดยมองว่า การควบรวมระหว่าง ทรู กับดีแทค เป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน ตามข้อ 8 ของประกาศฉบับปี 2549 ซึ่ง กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการ หรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าว  

สุดท้าย ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง งดออกเสียง โดยให้ความเห็นว่า ประเด็นการควบรวม ทรู-ดีแทค ยังมีปัญหาการตีความในแง่กฎหมาย จึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน จึงงดขอออกเสียง และจะขอทำบันทึกในภายหลัง 

ทั้งนี้ เนื่องจากผลมติออกมาเท่ากัน 2 ต่อ 2 เท่ากัน ประธานในที่ประชุม จึงอ้างอำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด และทำให้ มติ รับทราบแบบมีเงื่อนไข ‘การควบรวม ทรู-ดีแทค’ เป็นมติเสียงข้างมากดังที่รายงานข้างต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท