เสียงประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การรับฟังเสียงประชาชนเป็นมงกุฎเพชรของการมีส่วนร่วม ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้เป็นการรับฟังที่แท้จริง ดังที่ทฤษฎีการพัฒนาเรียกว่า “deepening public participation” เพราะมีปัญหาทั้งทางวัฒนธรรม ความรู้ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ต่างจากครูกับนักเรียน เช่น ครูบอกนักเรียนว่า “วิชานี้มี  ปาติสิเปรต!! สิบคะแนน พอครูสอนแล้ว พวกเธอต้องถาม” แต่นักเรียนไม่รู้เอาอะไรไปถาม ไม่เคยอ่านอะไรมาและที่ผ่านมาไม่ได้ถามสักที มีแต่ครูพูดๆๆๆ อยู่คนเดียว พอครูเห็นนักเรียนนิ่งไป เลยย้ำว่ามีคะแนน นักเรียนเงียบกริบ จนที่สุดครูทนไม่ได้พูดด้วยเสียงอันดังว่า “ถ้างั้น ครูหักสิบคะแนนหมดทุกคน” เล่นเอานักเรียนตกใจ!! โชคดี คนหนึ่งยกมือ ครูใจชื้นขึ้น “เอ้า ถามมา” นักเรียนคนนั้นพูดว่า “ครูครับ ครูลืมรูดซิปกางเกงครับ!!”

ส่วนกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนจริงก็ไม่ต่างกัน ชาวบ้านฟังแล้วก็เฉย วิทยากรพูดละม้ายกับโทรทัศน์ เหมือนจะรู้เรื่อง แต่ไม่เข้าใจ ใจนึกห่วงแต่เรือกสวนไร่นา มานี่ไม่มีคนดูแล โชคดี ผู้ใหญ่บ้าน   บอกว่ามีค่าเสียเวลาให้ห้าร้อย กลับไปคงไปเซ็นเบิกแบ่งไปซื้อสมุดหนังสือให้ไอ้หนูไปโรงเรียนแล้วเก็บไว้ใช้อีกหลายวัน ส่วนราชการที่ต้องจัดทำเวทีรับฟังชาวบ้าน ก็เพราะมีระเบียบอะไรแปลกๆ ว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ถามแล้วไม่มีใครรู้ว่าทั้งหมดมีกี่ขั้นตอน เลยจัดไปแกน ๆ ครั้งเดียว เงินหมดไปกับค่าจัดเวที กับเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พัก!! 

ทุกคนรู้ว่าการรับฟังเสียงประชาชนมีความสำคัญ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ลึก ๆ หลายคนรู้ว่าอาจไม่ได้อะไร สุดท้ายต้องเอาตามระดับนโยบายที่คิดมาก่อนแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ประเทศอื่นเขารับฟังเสียงประชาชนอย่างไร??  ทำอย่างไรให้เสียงประชาชนมีความหมาย?? โดยเฉพาะสมัยใหม่ที่เน้นนวัตกรรมท้องถิ่น (local innovation) เนื่องจากเชื่อว่ามาจากการถกเถียงกันของประชาชนในท้องถิ่น

เอกสารรายงานของ OECD ได้พูดถึงแนวทางการเปลี่ยนจากการรับฟังเสียงเรียกร้องจากประชาชนบางส่วนเป็นการรับฟังเสียงเรียกร้องจากประชาชนทุกส่วน ตามหลักการของนโยบายการพัฒนาทุกส่วน เขาได้เสนอหลักการและวิธีการมีส่วนร่วมอย่างน่าสนใจ 

หลักการ คือ รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างน้อยสามประการ ประการที่หนึ่ง ใช้กลไกการสื่อสารทุกช่องทาง ประการที่สอง ทำให้การรับฟังเสียงเรียกร้องง่ายขึ้น และประการที่สาม ให้มีส่วนร่วมและรับฟังเสียงจากคนที่ไม่เคยใช้บริการ 

ส่วนวิธีการในแต่ละประเทศ ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและต้องใช้วิธิการเชิงรุก ตัวอย่างเช่น 

(1) สำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐเยอรมนีใช้วิธีทำความเข้าใจเหตุการณ์ในชีวิตจริงของประชาชน (real life events) สำรวจว่าประชาชนและนักธุรกิจรับรู้คุณภาพของการบริหารภาครัฐและกฎหมายอย่างไร โดยดูจากเหตุการณ์จริงสามสิบเหตุการณ์ เช่น การจดทะเบียนบุตร การยื่นคำขอจดทะเบียนธุรกิจ การจ่ายภาษีหรือการจ้างพนักงาน 

(2) ในอังกฤษ จัดทำโครงการท้าทายปัญหาความล่าช้าของระบบราชการ (The Red Tape Challenge) เพื่อรับฟังความเห็นจากคนจำนวนมากจากธุรกิจ หน่วยงานและประชาชนทั่วไปเพื่อหาทางปรับปรุงกฎระเบียบ เก็บไว้บางส่วนและโละทิ้งไปบางส่วน หรืออีกโครงการหนึ่งในอังกฤษ สภายุวชน (the Youth Parliament) ให้สมาชิกสภาออกเสียงและแสดงความเห็นว่าสภายุวชนจะรณรงค์ในเรื่องอะไรบ้าง 

(3) ในระดับกลุ่มประเทศ OECD ก่อนถึงวันที่รัฐมนตรีประชุม ได้ให้ตัวแทนเยาวชนและรัฐมนตรีมาอภิปรายร่วมกันเพื่อรับฟังเสียงเยาวชนและนำไปเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีในวันต่อมา 

(4) ในหน่วยงานระดับท้องถิ่นในไอร์แลนด์ ให้เยาวชนแสดงบทบาทสมมติเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจแทนผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ 

(5) ในฝรั่งเศส องค์กรภาคประชาสังคม ชื่อ “Democratie Ouverte” จัดทำเวทีสาธารณะออนไลน์ ชื่อ “Parliament and Citizens platform” ให้ ส.ส.ทำคลิปหรือเขียนข้อความมาลงว่าตนจะโหวตหรือเสนออะไร ด้วยเหตุผลใด แล้วให้ประชาชนวิจารณ์ พอครบสามสิบวัน แอดมินรวบรวมข้อมูลแล้วสรุปว่าประชาชนคิดยังไง เวลา ส.ส.ลงมติจะได้คิดถึงประชาชน ส่วนรัฐบาลก็ไม่น้อยหน้าจัดทำข้อมูลสรุปเป็นระยะ ๆ ว่ามีเวทีสาธารณะที่ไหน เมื่อไหร่ และให้ประชาชนแสดงความคิดเรื่องอะไร นอกจากนี้รัฐบาลยังมีระบบนิเวศดิจิทัล เช่น “DataConnextions” เชื่อมฐานข้อมูลจากเครือข่ายจำนวนมากเพื่อให้ประชาชนนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ จนเกิดนวัตกรรมที่ต่อเนื่อง

(6) ในฟินแลนด์ จัดทำโครงการนำร่องออนไลน์ให้ประชาชนวิจารณ์ อภิปราย เสนอแนะเพื่อประเมินและปรับปรุงกฎระเบียบ 

(7) ในแลตเวีย มีเวทีสาธารณะที่แสดงให้เห็นถึงการริเริ่มการปกครองแบบเปิด อนุญาตให้ประชาชนยื่นคำร้องออนไลน์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมากลั่นกรองและนำเสนอต่อรัฐบาลอีกทอดหนึ่ง

ในทางปฏิบัติ ต้องระบุให้ชัดลงไปว่าต้องการฟังเสียงใคร เมื่อใด และเรื่องอะไร ตัวอย่างเช่น

ประเด็นแรก กลุ่มเป้าหมายที่ต้องรับฟังเพื่อให้เกิดความทั่วถึง อาจได้แก่ (1) เด็กและเยาวชน เช่น ลิธัวเนีย สภาความก้าวหน้าแห่งรัฐ (State Progress Council) ออกไปฝึกอบรมเด็กที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ ส่วนไอร์แลนด์ ใช้ยุทธศาสตร์การปกครองข้ามพรมแดนระดับชาติ (Ireland’s cross-Government National Strategy) เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วม และอังกฤษที่ได้กล่าวแล้วมีระบบรัฐสภายุวชนที่มีบทบาทสำคัญในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ (2) ผู้สูงอายุ เทศบาลเดนมาร์กทุกแห่งมีสภาพลเมืองอาวุโส (Senior Citizen’s Council) ซึ่งมีระเบียบกำหนดว่าสภาเมืองมีพันธกิจที่จะต้องปรึกษากับสภาพลเมืองอาวุโสก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้าย และ (3) ผู้ใช้บริการ (end-users) ในเดนมาร์ก มีระเบียบกำหนดว่าต้องปรึกษาผู้ใช้บริการ 

ประเด็นที่สอง รับฟังเสียงเมื่อใด โดยหลักแล้ว ต้องรับฟังทุกขั้นตอนของวงจรนโยบาย ได้แก่ ขั้นออกแบบ ตัดสินใจ นำไปปฏิบัติและประเมินผล เพื่อให้ประชาชนเข้ามาร่วมเสนอประสบการณ์ของตน ตลอดจนวิธีการและหลักการร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปปรับปรุงการให้บริการและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น รัฐบาลโปแลนด์ เชิญกลุ่มต่าง ๆ ที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และประชาสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนา การนำไปปฏิบัติ และการกำกับดูแลโครงการปฏิรูปแห่งชาติประจำปีเพื่อให้มั่นใจว่าการนำยุทธศาสตร์ยุโรป 2020 (Europe 2020 Strategy) ไปปฏิบัติในโปแลนด์จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุด 

ประเด็นที่สาม รับฟังเสียงเรื่องอะไรบ้าง เนื้อหาการรับฟังเสียงประชาชนอาจต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น อังกฤษรับฟังเรื่องความล่าช้าของระบบราชการ และการจัดทำข้อมูลเปิด (open data) ที่ให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เยอรมนีรับฟังเรื่องเหตุการณ์ในชีวิตจริงของประชาชน แลตเวียรับฟังเรื่องการให้บริการ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปการบริหารของรัฐบาล แต่ยังมีตัวอย่างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอีกจำนวนมาก เช่น การรับฟังการปฏิรูปสวัสดิการ ระบบสังคม และการเมือง

สำหรับบ้านเรา หากเราต้องการให้การรับฟังเสียงประชาชนเกิดขึ้นจริง ประการแรกสุด รัฐบาลและข้าราชการต้องก้าวหน้า ใจกว้างและยอมรับว่าการรับฟังเสียงประชาชนเป็นกระบวนการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการบริหารภาครัฐระบบเปิด และอาจมีนวัตกรรมที่เกิดจากการมีส่วนร่วม อย่างน้อยก็ทำให้ตัวเองคิดรอบคอบและไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ประการที่สอง ต้องปรับเอานวัตกรรมของประเทศที่ประสบความสำเร็จมาใช้ และประการที่สาม ต้องพัฒนาความเป็นตัวแทนขององค์กรชุมชน หมายความว่า รัฐบาลต้องยอมรับฐานะขององค์กรภาคประชาสังคมทำนองเดียวกับประเทศอารยะอื่น เช่น บทบาทคู่ขนานในการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน การประเมินผลการพัฒนาตามเป้าหมาย SDGs และการรายงานข่าวสารอื่น ขณะเดียวกันองค์กรภาคประชาสังคมต้องไม่ใจแคบ ผูกขาดฐานะความเป็นตัวแทนองค์กรชุมชนและมุ่งแสวงหาเฉพาะความอยู่รอดของตน ทั้งต้องเพิ่มช่องทางของการขยายตัวแทนชุมชนไปสู่ท้องถิ่นให้มากกว่าเดิม ประการที่สี่ ประเทศไทยต้องมีค่านิยมและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนถึงการให้กลุ่มคนจนและผู้เสียเปรียบในสังคมได้มีส่วนร่วม เช่น มีแนวทางมีส่วนร่วมจน มีผลให้รัฐบาลนำเอาไปดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง และสุดท้าย เลิกเอาคนมาคอย “ด่าคืน” เสีย มันไม่สร้างสรรค์ การบริหารประเทศมันต้อง “ใจใหญ่” กว่านั้นมาก!!!

0000
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท