‘ผู้สูงอายุ’ ผ่าน ‘โควิด-19’ มาได้อย่างไร? และความท้าทายหลังจากนี้

  • มีการประเมินว่าผู้สูงอายุในประเทศรายได้ต่ำหลายล้านคนที่เสียชีวิตไปเพราะโควิด-19 แต่ไม่ถูกเก็บตัวเลขสถิติ เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้ สะท้อนความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม
  • โควิด-19 ยังเพิ่มช่องว่างความเข้าใจระหว่างวัย องค์การอนามัยโลกออกรายงานมาเตือนว่าในช่วงโควิด-19 มีการเหยียดอายุเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุทั่วโลก ด้วยความกลัวที่จะไม่ได้รับการรักษา และการเลือกปฏิบัติทางการแพทย์
  • ถึงแม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 โดยเฉลี่ยทั่วโลกจะลดต่ำลง แต่ตัวเลขการเสียชีวิตของผู้สูงอายุกลับไม่ได้ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น สาเหตุหนึ่งมาจากอัตราการรับวัคซีนที่ต่ำ โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้น กลายโจทก์สำคัญในโลกหลังโควิด-19
  • ความกังวลใจของคนรอบข้างผู้สูงอายุตลอดช่วงโควิด-19 ก็มีมากมาย ทั้งการดูแลสุขภาพ การพาไปฉีดวัคซีน และความกลัวที่จะนำโรคนี้มาแพร่ให้ผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งความท้าทายหลังไทยได้ลดระดับ ‘โควิด-19’ จาก 'โรคติดต่ออันตราย' ลงมาเป็น 'โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง' ก็ยังมีอยู่ในหลายครอบครัว

 

ผู้สูงอายุถูกจัดให้เป็นประชากรกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงจะเสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 ตลอดช่วงการแพร่ระบาด มีการเสียชีวิตของผู้สูงอายุหลายล้านคนที่ตกหล่นไม่ได้ถูกนำไปรายงาน เพราะจากความเหลื่อมล้ำด้านต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ นอกจากนั้นแล้วการแพร่ระบาดยังแพร่กระจายการเหยียดผู้สูงอายุ และการเลือกปฏิบัติที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอีกด้วย

ถึงนานาประเทศจะเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการต่างๆ กลับเข้ามาสู่ภาวะปกติมากขึ้นเรื่อยๆ จากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น การกลายพันธุ์ของเชื้อที่ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดต่ำลงไปด้วย แต่กับพบว่าตัวเลขการเสียชีวิตในผู้สูงอายุไม่ได้ลดต่ำลงตามไปเท่าที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งมาจากตัวเลขการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ยังคงน้อย ซึ่งเป็นโจกทก์ใหม่ของโลกหลังโควิด-19 อันท้าทายสำหรับหลายๆ ประเทศ

การสูญเสียที่ ‘ไม่ถูกนับเป็นตัวเลขสถิติ’ ของผู้สูงอายุหลายล้านคน

มีการประเมินว่าผู้สูงอายุในประเทศรายได้ต่ำหลายล้านคนที่เสียชีวิตไปเพราะโควิด-19 แต่ไม่ถูกเก็บตัวเลขสถิติ | ที่มาภาพ: UN

อย่างที่รู้กันดีว่าอายุเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเสียชีวิตจากโควิด-19 กลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงและอ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดที่สุด เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วผู้สูงอายุจึงมีความต้องการบริการทางการแพทย์มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ แต่เป็นเรื่องน่าแปลกเพราะมีงานศึกษาในปี 2564 จัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งใช้ข้อมูลตัวเลขจากปี 2563 พบว่าในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและปานกลาง เมื่อดูตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งหมดแบ่งตามช่วงอายุ จะพบว่ามีสัดส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้สูงอายุน้อย เมื่อเทียบกับสัดส่วนของกลุ่มประเทศรายได้สูง

ซึ่งเป็นการศึกษาที่สร้างความประหลาดใจเป็นอย่างมาก เพราะประเทศรายได้สูงน่าจะมีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่า ทำให้ผู้สูงอายุสามาถเข้าถึงการรักษาได้และมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าในประเทศรายต่ำหรือปานกลาง จึงมีการตั้งสมมุติฐานว่าอาจจะมาจากการที่ประเทศกำลังพัฒนามักจะมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่สูงกว่า ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเปิดเผยการประมาณการว่า 85% ของการเสียชีวิตที่ตกสำรวจอยู่ทั้งหมดของโลกอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางและน้อยรวมแล้วราว 13 ล้านคน

ทำให้คาดการณ์ได้ว่ามีผู้สูงอายุในประเทศรายได้ต่ำหลายล้านคนที่เสียชีวิตไปโดยไม่ได้รับการรักษา โดยมาจากความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมต่างๆ ไม่จะเป็นการเข้าถึงระบบสาธารณสุขในประเทศด้อยพัฒนา ไม่ใช่แค่เพียงการที่ระบบสาธารณสุขที่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบขนส่งสาธารณะในการเข้าถึงโรงพยาบาล รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ก็เป็นตัวแปรสำคัญในการไม่สามารถเข้าถึงการรักษาและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนของประเทศยากจน

โควิด-19 ทำช่องว่างของวัยขยับห่าง สุขภาพจิตผู้สูงอายุย่ำแย่

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ทำให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุย่ำแย่ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งจากวิกฤตโรคระบาดและการเหยียดผู้สูงอายุในช่วงเวลาที่ผ่านมา | ที่มาภาพ: Pxhere (CC0)

เมื่อทั้งโลกรักษาระยะห่างกัน เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ก็ส่งผลให้ช่องว่างความเข้าใจระหว่างวัยก็ยิ่งถอยห่างออกไปด้วย ก่อนการเข้ามาของโควิด-19 คงเคยได้เห็นคำว่า “Ok boomer” ที่เป็นมีมในอินเทอร์เน็ต ที่มาจากมีคลิปวิดีโอของชายสูงวัยคนหนึ่งในแอพพลิเคชั่น Tik Tok ที่วิจารณ์กลุ่มคนรุ่นใหม่ว่าเป็นพวกคนที่ไม่รู้จักโต ทำให้มีคนนับพันตอบกลับด้วยวลีเชิงประชดประชันว่า OK boomer จนเลยเถิดเป็นกระแสในโลกโซเชียลติดเป็นแฮซแท็กดังไปทั่วโลกที่สื่อถึงอึดอัดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องอยู่กับความล้าหลังของคนรุ่นเก่า

ในช่วงที่การแพร่ระบาดเกิดขึ้นช่วงเริ่มแรก มีมีมในโลกอินเทอร์เน็ตที่คล้ายๆ กันคือ การให้ชื่อเล่นกับโควิด-19 ว่าเป็น “Boomer Remover” หรือแปลเรียบๆ ว่า “ตัวกำจัดคนแก่” กลายเป็นแฮซแท็กติดเทรนด์อยู่ระยะหนึ่ง เป็นการระบายความอัดอั้นที่ของวัยรุ่นต้องถูก Lock down ติดอยู่กับบ้านทั้งที่พวกเขาแทบไม่ได้มีความเสี่ยงต่อโรค แต่เป็นคนสูงอายุที่เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า หรือความที่อยากให้ไวรัสกวาดล้างคนรุ่นเก่าหัวโบราณให้หมดไป

ดูเหมือนว่ามันจะเป็นเพียงไวรัลทางออนไลน์ที่มาไวไปไว แต่หลายคนก็มองว่ามันแสดงให้ถึงทัศนคติของคนจำนวนมากที่มีต่อผู้สูงอายุในสังคมเดียวกัน เช่นเดียวกับความขัดแย้งในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง วัฒนธรรม ความเชื่อศาสนา ช่องว่างระหว่างวัยก็เช่นกัน ที่ดำรงมีอยู่ในทุกยุคสมัย แต่การแพร่ระบาดครั้งนี้ทำให้ช่องว่างความขัดแย้งนี้ยิ่งขยายตัวออกไป ถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกรายงานมาเตือนว่าในช่วงโควิด-19 นี้ ทำให้เกิดมีการเหยียดผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

ไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพร่างกายที่พรากชีวิตผู้สูงอายุมากมาย มาตรการควบคุมโรคที่ทำให้ต้องอยู่ห่างจากลูกหลานและครอบครัว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุทั่วโลก ในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดที่สื่อต่างๆ เสนอข่าวตลอดเวลาว่าสูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิต มีงานศึกษามากมายที่บอกว่า ในช่วงการแพร่ระบาดสุขภาพทางจิตของผู้สูงอายุแย่ลง ไม่ใช่แค่จากความเครียดที่จะติดโควิด-19 แต่ยังมีความกลัวที่จะไม่ได้รับการรักษา เพราะในช่วงเกิดความตึงเครียดทางสาธารณสุขที่สูง หลายประเทศมีแนวปฏิบัติทางการแพทย์ให้เลือกให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ที่อายุน้อยที่มีโอกาสรอดมากกว่า ผู้สูงอายุหลายคนจึงมองว่าตัวเองเป็นภาระทางสังคม และในหลายประเทศผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่เลือกแยกตัวออกจากสังคมมากขึ้น แม้จะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แล้ว

ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีแนวโน้มจะฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจได้ดีกว่า

คำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” มักจะถูกพ่วงสร้อยมากับคำว่า “วิกฤต” หรือ “ปัญหา” จากการนำเสนอของสื่อให้ถูกมองในแย่ลบมาเสมอ แต่ในความเป็นจริงนั้น การที่เด็กเกิดใหม่น้อยลง ประชากรลดลง มีผู้สูงอายุมากขึ้น ก็มีผลในทางบวกอยู่มากมาย ถึงกับที่บางคนบอกว่าเป็นโอกาสของบางประเทศ ท่ามกลางความถดถอยทางเศรษฐกิจจากโควิด-19

ปัญหาในทางเศรษฐกิจ เป็นผลกระทบที่ดูเหมือนว่าประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกังวลมากที่สุด อย่างปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมีงานศึกษาที่เริ่มออกมาโต้แย้ง อย่างงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศนอร์เวย์ ร่วมกับนักวิชาการจากอีกหลายประเทศ ชี้ว่าไม่ได้มีหลักฐานยืนยันที่ภาวะสังคมผู้สูงอายุหรือการชะลอตัวของประชากร จะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่ในทางกลับมีความเป็นได้ที่จะสามารถเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรในสังคมได้

ในแง่ดีสังคมที่ประชากรลดลงและหรือคงที่ นั้นเหมาะกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะไม่ต้องเผชิญกับความตึงเครียดทางทรัพยากร จากความหนาแน่นของผู้คน สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้ดีกว่า ในโลกโลกาภิวัตน์การเคลื่อนย้ายของแรงงานไม่ใช่สิ่งที่ยากเหมือนเมื่อก่อน เมื่อมีประชากรที่ยืดหยุ่นสามารถเปิดรับแรงงานข้ามถิ่น ไปจนถึงเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยได้อีกด้วย

ในหลายประเทศโดยเฉพาะหลายประเทศในเอเชีย ที่เข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างเข้มข้นรวมไปถึงประเทศไทย การเข้ามาแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะทำให้ประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงในการเผชิญกับความตึงเครียดทางสาธารณสุข แต่ในอีกแง่นึงก็ถูกมองว่าเป็นโอกาสในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจากพิษของโควิด -19

อย่างบทความหนึ่งของ Asian Development Bank ที่มองว่าเพราะปัญหาเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องของการขาดแคลนแรงงาน แต่คือการปัญหาการว่างงานของคนจำนวนมาก ในสังคมที่สัดส่วนประชากรวัยทำงานลดลงหรือไม่ขยายตัว จะสามารถตอบสนองกับภาวะตำแหน่งงานที่หดตัวลงได้ดีกว่า ผู้คนสามารถกลับมาหางานทำได้หลังการแพร่ระบาดผ่านพ้นไป และเมื่อผู้คนมีรายได้ในการเดินหน้าเศรษฐกิจ

‘วัคซีน’ กับ ‘ผู้สูงอายุ’ โจทย์ใหญ่ของโลกและไทย

สัดส่วนการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นของผู้สูงอายุในหลายประเทศรวมทั้งไทย ไม่ได้มีมากนักอย่างที่ควรจะเป็น | แฟ้มภาพ สปสช.

ปี 2565 เหมือนจะเป็นปีเริ่มต้นของโลกหลังโควิด-19 อย่างแท้จริง นานาชาติต่างปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด หลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม การกลายพันธุ์ของเชื้อนำไปสู่ความอันตรายที่น้อยลง ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่หากมองลึกลงไปในหลายประเทศ ตัวเลขการเสียชีวิตที่ลดลงมาก ส่วนใหญ่จะเป็นสัดส่วนของวัยกลางคน หรือกลุ่มประชากรกลุ่มอื่น ในกลุ่มประชากรสูงอายุนั้นมีตัวเลขการเสียชีวิตลดลงไม่มากนัก อย่างในสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงอย่าต่อเนื่อง แต่เมื่อดูตัวเลขแล้วในปี 2564 ช่วงเวลาการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธ์เดลต้าที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเสียชีวิตคิดเป็นราว 60% ของทั้งหมด แต่ในปี 2565 ในช่วงการแพร่ระบาดของ โอไมครอน สัดส่วนนี้กลับสูงขึ้นถึงราว 66% ทั้งที่เป็นสายพันธ์ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า

ถึงแม้ตัวเลขการรับวัคซีนจะครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตต่ำลง แต่เชื้อสายพันธุ์โอไมครอนนั้นสามารถเอาชนะวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้สูงอายุยังคงมีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงไม่มาก เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ ที่ลดลงมาก เรื่องวัคซีนกับผู้สูงอายุจึงเป็นโจทย์สำคัญของหลายประเทศในยุคโลกหลังโควิด-19 โดยเฉพาะวัคซีนเข็มบูสเตอร์ที่ทั่วโลกยังมีสัดส่วนการรับวัคซีนที่น้อย แม้จะมีคำแนะนำอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นมีจำเป็นต่อการป้องกันโรค โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ ซึ่งจากตัวเลขในโลกมีเพียง 30.6% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศรายได้สูง

ในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่ที่ 44.6% โดยผู้สูงอายุมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพียง 50.6 % ต่ำลงมากเมื่อเทียบเข็ม 2 ที่สูงอยู่ที่ 80.7% จึงเป็นโจทก์สำคัญของประเทศไทยเช่นกัน ที่ถึงแม้มีการเปิดประเทศผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคต่างๆ แต่ยังคงต้องพยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุออกมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยมีการเปิดเผยจากกระทรวงสาธารณสุขว่ามียังมีความกังวลกับตัวเลขการเสียชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุ และยังออกประกาศให้กลุ่มผู้สูงอายุออกมารับวัคซีนอยู่บ่อยครั้ง โดยตั้งเป้าให้มีผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากกว่า 70%

“เราต้องลงไปคุยกับเขาว่ามีเหตุผลอะไรกลัวอะไร” อุทุมพร อายุ 57 ปี อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ในชุมชนเทพารักษ์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เล่าให้ฟังถึงการทำงานที่ต้องเข้าไปเชิญชวนผู้สูงอายุในชุมชนให้ไปรับวัคซีน

“บางคนเขาไม่รู้ไม่เข้าใจ กลัวหลายอย่างที่ฟังข่าวจากหลายทาง เราต้องเข้าไปอธิบายให้เข้าใจ บางคนต้องพาขับรถไปฉีด” อุทุมพร กล่าว

อุทุมพร มองว่าสาเหตุที่หลายคนไม่ได้ออกมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพราะความไม่เข้าใจ ผู้สูงอายุไม่ได้ติดตามข่าวสาร ซึ่งกุญแจสำคัญคือการทำงานเชิงรุกลงพูดคุยทำความเข้าใจ “บางทีเขาก็ยังไม่มีใครพาไป หลังจากโควิดผ่านไปหลายคนก็ยุ่งๆ กันอยู่”

ทั้งนี้ชุมชนเทพารักษ์ ถูกจัดนิยามให้เป็นชุมชนแออัด ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย หลายคนขาดรายได้ในช่วงการแพร่ระบาด เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างก็ต้องทำงานหนักหารายได้มาชดเชย ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนหลายคนยังไม่มีคนพาไปรับวัคซีน

คนรอบข้างผู้สูงอายุก็สำคัญ และความกังวลหลังการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

ความเปราะบางต่อเชื้อโควิด-19 ของผู้สูงอายุ นอกจากจะส่งผลด้านสุขภาพจิตของผู้สูงอายุเองแล้ว ภาวะความเครียดต่างๆ ยังตกถึงผู้ดูแลที่ต้องกังวลกับความเสี่ยงต่างๆ ที่มากขึ้น มีงานศึกษามากมายที่อธิบายว่าผู้ทำงานดูแลผู้สูงอายุต้องมีภาระหน้าที่ และความเสี่ยงที่ต้องแบกรับมากยิ่งขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้นยังมีผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ อย่างลูกหลานหรือญาติที่ต้องดูแลผู้สูงอายุภายในบ้าน ก็ยังพบว่าคนเหล่านี้ก็มีภาวะความเครียดสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ส่วนมากจะได้รับหน้าที่นี้

“ช่วงระบาดเยอะๆ เราก็เครียดว่าถ้าติดมาจะทำยังไง จะกักตัวที่ไหน แกมีโรคประจำตัวต่างๆ ปอดไม่ดีด้วยด้วย” จุฑามาศ อายุ 45 ปี เจ้าของร้านคาเฟ่ อาหาร และเครื่องดื่ม บริเวณรอบข้างมหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าให้ฟังถึงความกังวลในการที่ต้องดูแลคุณแม่วัย 69 ปี และจัดการร้านในช่วงการแพร่ระบาด “เราก็ทำเท่าที่ทำได้ พยายามไม่ให้แม่เจอคนเยอะ แต่มาหลังๆ แม่ฉีดวัคซีน 3 เข็มแล้ว เชื้อก็เบาลง ก็คลายกังวลไปได้เยอะ”

โดยปกติแล้วคุณแม่ของจุฑามาศ จะเข้ามาช่วยงานต่างๆ ภายในร้านอย่างการเสิร์ฟอาหาร ในที่มีการแพร่ระบาดหนักๆ จุฑามาศ ต้องเปลี่ยนให้คุณแม่เข้ามาทำงานในครัว เพื่อหลีกเลี่ยงการเจอผู้คน แต่หลังจากที่ได้รับวัคซีนครบแล้วทำให้ความกังวลต่างๆ ดีขึ้นมาก แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างในการที่ลูกชายวัย 22 ปี ของเธอ ต้องเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากที่มหาวิทยาลัยเริ่มกลับมามีการเรียนการสอนในห้องอีกครั้ง

“เราก็ต้องให้เขาระวังหน่อยเพราะมีคุณยายอยู่ด้วย อย่างล้างมือให้บ่อยๆ แต่ก็ไม่กังวลมากแล้ว สภานการณ์ดีขึ้น” จุฑามาศ กล่าว

ด้าน นันทนา อายุ 42 ปี อาชีพผู้รับเหมาทำอาหารในโรงเรียน มีคุณแม่วัย 62 ปี ก็มีความกังวลด้วยเช่นเดียวกัน เพราะคุณแม่ของเธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เลยสักเข็มตั้งแต่โรคนี้ระบาด เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพเพราะมีประวัติเคยแพ้วัคซีน เธอและคุณแม่เป็นผู้รับเหมาทำอาหารให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกสัปดาห์จะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี ATK แต่หลังจากวันที่ 1 ต.ค. 2565 นี้เป็นต้นไป มาตรการต่าง ๆ น่าจะลดความเข้มข้นลงเนื่องจาก ไทยได้ลดระดับโควิด-19 จาก 'โรคติดต่ออันตราย' ลงมาเป็น 'โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง' (Post-Pandemic) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นมา

“สำหรับคนใกล้ชิดผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย เราต้องกังวลใจเป็นธรรมดาอยู่แล้ว จากนี้ไปคงต้องตรวจ ATK เองให้แม่ไปตลอด เพราะไม่มั่นใจว่าโรคนี้มันจะหายไปจริงไหม ยิ่งแม่ไม่ได้รับวัคซีนแบบคนอื่น เราต้องจับตาและดูแลเป็นพิเศษ” นันทนา กล่าว

ที่มาข้อมูลเพิ่มเติม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท