เอียงข้างรัฐเผด็จการ คือ ‘ผลงานชิ้นโบว์ดำ’ มองเอเปค 2022 ผ่านสายตา ‘ข้าราชการปลดแอก’

คุยกับ ‘หยง’ (นามสมมติ) ข้าราชการผู้คลุกคลีกับการจัดประชุมเอเปค คอนเทนต์ ครีเอเตอร์จากกลุ่มข้าราชการปลดแอก ผู้เขียนโพสต์วิจารณ์การทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องเอเปค 2022 ไล่เรียงตั้งแต่บทบาทของไทยในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในรอบสองทศวรรษ ‘ความเงียบ’ เรื่องจุดยืนของไทยต่อสงครามในยูเครน และการดำเนินนโยบาย ‘เอียงจีน’ ที่เขาอาจรวมถึงใครหลายคนมองว่าเป็น 'ผลงานชิ้นโบว์ดำ'  

  • ในห้วงสัปดาห์นี้ (14-19 พ.ย.) คงไม่มีอะไรที่น่าจับตามองไปกว่าการประชุมเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ประจำปี พ.ศ.2565 หรือ  ‘APEC 2022 Thailand’ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่ครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบไปด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ รวมถึงหลายประเทศมหาอำนาจเช่น จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และรัสเซียเป็นสมาชิกอยู่ 
  • ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล หรือ Open. Connect. Balance.” โดยในวันที่ 14-16 พ.ย. จะเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ส่วนวันที่ 17 พ.ย. จะเป็นระดับรัฐมนตรี และวันที่ 18-19 พ.ย. เป็นระดับผู้นำ นี่ถือเป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศที่จะแสดงศักยภาพในระดับนานาชาติ และเป็นผลงานระดับอินเตอร์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเป็น ‘ชิ้นโบว์แดง’ ทิ้งทวนก่อนหมดวาระในปีหน้า 
  • โอกาสนี้ ประชาไทคุยกับ ‘หยง’ (นามสมมติ) ข้าราชการผู้คลุกคลีกับการจัดประชุมเอเปค หนึ่งในคอนเทนต์ ครีเอเตอร์จากกลุ่มข้าราชการปลดแอก ผู้เขียนโพสต์วิจารณ์การทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องเอเปค 2022 ไล่เรียงตั้งแต่บทบาทของไทยในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในรอบสองทศวรรษ ‘ความเงียบ’ เรื่องจุดยืนของไทยต่อสงครามในยูเครน และการดำเนินนโยบาย ‘เอียงจีน’ ที่เขาและอาจรวมถึงใครหลายคนมองว่าเป็น 'ผลงานชิ้นโบว์ดำ'

หยง เปิดบทสนทนาด้วยการเล่าว่า เขาเป็นข้าราชการในกระทรวงหนึ่ง และอยู่ในทีมที่คลุกคลีในกระบวนการจัดประชุมเอเปคมาโดยตลอด ในระดับปลัดกระทรวงและอธิบดีนั้นไม่มีการแทรกแซง แต่ในระดับรัฐมนตรีที่ต้องมีการออกแถลงการณ์ พบว่ามีความพยายามแทรกแซงจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อปรับแก้แถลงการณ์ ‘ไม่ให้ขัดใจจีน’

“ตามสิทธิกต.มีสิทธินะ แต่เขามีสิทธิแค่การให้ความเห็น เพราะแถลงการณ์ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน เราก็ต้องส่งไปขอความเห็นกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แต่เราก็มีสิทธิเลือกว่าเราจะทำตามความเห็นของกระทรวงนั้นหรือไม่”

“ถ้าอ่านจากโพสต์ ความเห็นของกต.มีไม่มีความเป็นกต. คือว่า ห้ามพูดถึงสถานการณ์ความขัดแย้ง ห้ามพูดถึงสันติภาพ เราก็เลยงงไง นี่มึงเป็นนักการทูตไม่ใช่เหรอ ทำไมมึงห้ามพูดถึงสันติภาพล่ะ มันไม่ใช่สิ่งที่มึงเชื่อเหรอ” 

“ในมุมของกต. เขาอ้างว่าเขากลัวจีน ถ้ามีคำนี้หลุดออกไปนะ จีนจะตามมาราวี ถ้าเป็นในกรอบการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงอื่น เขาบอกว่าจีนจะบอกให้แก้เลย เหมือนตามมาเช็ค ตามมาดู” คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กลุ่มข้าราชการปลดแอกกล่าว

‘ความเงียบ’ ของไทย ในกรณียูเครน

“ผมไม่แน่ใจว่าการที่กต.ต้องไล่ตามจีนทุกอย่างเนี่ย เป็นเพราะว่าไทยกลัวจีนหรือไทยต้องการเลียจีนกันแน่”

หยง ยกตัวอย่างเหตุการณ์ความขัดแย้งในยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 8 เดือนแล้วซึ่งมีความสำคัญในแง่ประเด็นการเมืองสำคัญระดับโลก ไทยในฐานะเจ้าภาพจะไม่พูดถึงสิ่งนี้คงไม่ได้ เพราะสงครามมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเอเปคแน่นอน ด้านรัสเซียในฐานะผู้ก่อสงครามยังไม่มีปัญหากับการใช้คำว่า ‘ความขัดแย้ง’ แต่ไทยและจีนกลับเลือกที่จะไม่พูดถึงไปเลย 

“ประเด็นที่เขาห่วงกันคือ…ในแถลงการณ์มีพูดถึงยูเครนไหม พูดแรงแค่ไหน ซึ่งประเทศตะวันตก ฝั่งแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เขาก็จะค่อนข้าง… อันนี้คุณเขียนไม่แรงพอ คุณเขียนว่าเป็นความขัดแย้งในยูเครนไม่ได้นะ ต้องบอกว่ารัสเซียมีบทบาทเป็นผู้บุกรุก-รุกราน แต่รัสเซียจะไม่เรื่องมาก แก้เป็นคำว่า ‘ความขัดแย้ง’ แล้วกัน อย่างน้อยก็ไม่ได้ตำหนิฉันแรงๆ ส่วนจีนกับกต.เนี่ย เหมือนกันเลย คือห้ามพูดถึงว่ามีสงคราม ซึ่งอันนี้ผมว่ามันไม่ได้ เราพูดให้มันเบาได้ แต่การไม่พูดถึงเลยเนี่ย คือคุณทำอะไรอยู่”     

คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กลุ่มข้าราชปลดแอกมองว่า ไม่ว่าไทยจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสงครามยังไงก็ตามแต่ อย่างน้อยต้องพูดถึงมันได้ ที่เวทีเอเปคในทุกระดับหาข้อสรุปกันไม่ได้ ก็เป็นผลมาจากเรื่องนี้ พร้อมขยายความต่อว่า ไทยกับจีนชอบแก้ปัญหาด้วยการไม่พูดถึงปัญหา ถ้ามีสงครามแล้วไม่รู้จะแก้อย่างไรก็เลี่ยงไม่พูดถึงไปเลย ซึ่งในเรื่องนี้มีความเหมือนกันอยู่ แต่ไม่ใช่สิ่งดีที่ควรจะเลียนแบบกัน 

“รัสเซียมีความกล้าทำกล้ารับ พูดง่ายๆ คือฉันเลวฉันก็ยอมรับว่าฉันเลว  แต่จีนกับไทยจะเป็นประเภทเดียวกัน คือเป็นเผด็จการหน้าบางเหมือนกัน”

โดยมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ จุดยืนของไทยที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ดังจะเห็นได้จากการโหวตที่ประชุมด่วนสมัชชาสหประชาชาติ หรือ UNGA (United Nations General Assembly) ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมี.ค.ผู้แทนไทยกล่าวประณามรัสเซียและระบุว่าคณะผู้แทนไทยจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพลเมืองชาวยูเครน 

แต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ประเทศไทยงดออกเสียงประณามรัสเซียในมติสหประชาชาติ ต่อกรณีรัสเซียพยายามผนวกดินแดนอย่างผิดกฎหมายในยูเครน ซึ่งถือว่าเป็นการสวนกระแสของเสียงส่วนใหญ่ของโลก มีมากถึง 143 ประเทศที่สนับสนุนมติดังกล่าว โดยไทยเป็น 1 ในเพียง 35 ประเทศที่งดออกเสียง ทำให้มีเสียงวิจารณ์หนาหูว่าไทยกำลังพยายามเอาใจรัสเซียหรือเปล่า เพื่อหวังให้วลาดิเมียร์ ปูติน เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 

ฝ่าย ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย' รมว.ต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสถึงเหตุผลในการงดออกเสียงไว้ว่า "ถ้าเราลงคะแนนเสียงเห็นด้วยกับมตินี้ เราก็จะเป็นเพียงหนึ่งในเสียงของ 143 ประเทศที่เห็นด้วย แล้วมันก็จะไม่มีความหมายอะไรมาก" 

“ท่าทีแรกสุดเราประณามสงครามนะ ตอนรัสเซียบุกยูเครนใหม่ๆ เราประณามนะ ซึ่งพอรู้เบื้องหลังจากคนในกต.ว่าจริงๆ ตอนนั้นไทยจะตีเนียนงดออกเสียง แต่ว่ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรปส่งผู้แทนในไทยมาที่กต.แล้วก็เหมือนกับบอกว่า คุณเลือกเอาแล้วกันว่าจะยอมเสียประโยชน์กับรัสเซียประเทศเดียว หรือจะเสียประโยชน์กับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปทั้งแผง ตอนนั้นไทยก็เลยเลือกที่จะประณาม แต่ว่ารอบหลังผมไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราก็ทำเป็นตีเนียนงดออกเสียง ผมว่าการกลับไปกลับมาแบบนี้มันก็ไม่ค่อยดีในทางการทูตอยู่แล้วแหละ มันดูว่าเราไม่มีจุดยืน” คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กลุ่มข้าราชปลดแอกกล่าว

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 หลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่า ปธน.รัสเซียจะไม่เข้าร่วมประชุมเอเปคด้วยตนเอง โดยจะส่งอันเดรย์ เบลูซอฟ รองนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้แทน 

ผู้แทนไทยพูดอย่างไรในการประชุมด่วน UNGA เพื่อหาทางออกปัญหารัสเซีย-ยูเครน

รมว.ต่างประเทศ เผยเหตุผลไทยงดออกเสียงประณามรัสเซีย

ไผ่ลู่ลมและนโยบายต่างประเทศ คสช. | หมายเหตุประเพทไทย #226

 หยง กล่าวเพิ่มเติมถึง กัมพูชาในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าไทย แต่มีการแสดงจุดยืนประณามรัสเซียในทั้งในสหประชาชาติและในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงพนมเปญ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-13 พ.ย.) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไทยแล้วรู้สึกอาย เพราะของเราเหมือนพยายามจะบอกว่าเป็นกลาง แต่จริงๆ แค่เลือกข้างเผด็จการ

“กัมพูชา ตอนแรกก็จะตีเนียนงดออกเสียงเวลามีประเด็นรัสเซีย ล่าสุด (ต.ค. 65) ในตอนที่โหวต UNGA เขาให้ประณามในกรณีที่รัสเซียบุกยึด 4 เมืองของยูเครน”

“ช่วงนี้มีการประชุมอาเซียนซัมมิท ฮุนเซน มีความพยายามให้เซเลนสกี้ ประธานาธิบดีของยูเครน วิดีโอคอลเข้ามาในการประชุมสุดยอด แต่เขาบอกว่าอาเซียนตกลงกันไม่ได้ ความเป็นอาเซียน ทำอะไรสิบประเทศต้องเห็นพ้องตรงกันหมด ซึ่งผมก็ไปตามในทวิต เขาก็บอกว่ามันไม่น่าใช่ปัญหาอาเซียนนะ น่าจะเป็นเวียดนามที่อาจจะไม่เอาด้วย แต่ผมมองว่าไทยนี่แหละที่ไม่เอาด้วย เพราะว่าถ้าเอายูเครนเข้ามา เดี๋ยวปูตินโกรธอีก” คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กลุ่มข้าราชปลดแอกกล่าว  

ถ้าบอกว่ามีความพยายามลดทอนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในยูเครน แล้วท่าทีของไทยต่อในกรณีเมียนมาบ้างเป็นอย่างไร

หยง สะท้อนว่าเมื่อสงครามเกิดขึ้นในประเทศตะวันตกอย่างยูเครนก็มักจะได้ความเห็นใจจากชาวตะวันตกมากกว่า ทำให้ดูเป็นกระแสมากกว่าเหตุนองเลือดที่เกิดในเมียนมา ความโชคร้ายของเมียนมาอีกส่วนคือเมียนมาไม่ได้อยู่ในเอเปค เพราะฉะนั้นสถานการณ์เหล่านี้มันไม่สามารถถูกหยิบยกขึ้นมาพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะมันไม่ได้ความเกี่ยวข้องในเขตเศรษฐกิจ ส่วนท่าทีของไทยนั้นสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าอย่างชัดเจน ด้วยสายสัมพันธ์นายพลไทย-พม่ามีต่อกันมายาวนาน

“มันก็ไม่แปลกเพราะว่ามินอ่องหล่าย ก็เป็นลูกบุญธรรม ‘ป๋าเปรม’ (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ) แต่ว่าแบบ โห อันนี้คือแบบ อันนี้มันไม่ใช่แค่ downplayed อะ แต่เราแทบจะโอบอุ้มเขาเลย  โอบอุ้มพม่าเลย”

“แผมมองว่ากต.ไม่ได้พยายาม downplayed แหละ แต่กต.แสดงท่าทีชัดเจนว่า ฉันอยู่ข้างรัฐบาลเผด็จการ ฉันอยู่ข้าง SAC (สภาบริหารแห่งรัฐ ของกองทัพพม่า ประธานคือพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย) ไม่ได้อยู่ข้าง NUG (รัฐบาลเงาเมียนมา)”

“ขอเอ่ยชื่อเลยละกัน คนนี้ตัวแสบ ‘พรพิมล’ (พรพิมล กาญจนลักษณ์) ที่ปรึกษาของดอน เขาเป็นผู้แทนพิเศษของรมว.กต.ด้านเมียนมา เขาบอกว่า ที่บอกว่าเมียนมาไม่สงบ ไม่ใช่เพราะทหารยึดอำนาจ แต่เป็นเพราะค้ายา” คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กลุ่มข้าราชการปลดแอกกล่าว

ตั้ง ‘พรพิมล กาญจนลักษณ์’ เป็นผู้แทนพิเศษของ รมว.กต. ด้านเมียนมา-มีผลทันที

'ก้าวไกล' สับ 'ประยุทธ์' หนุนเผด็จการพม่า ใช้สัมพันธ์ส่วนตัว 'มิน อ่อง หล่าย' กำหนดนโยบาย ตปท. เอียงข้างพม่า

จากเหตุยิงเรือ ตชด. สู่คำถามความสัมพันธ์แห่งนายพลไทย-พม่า ผ่านสายตา ดุลยภาค ปรีชารัชช

นัยยะของ ‘แขกพิเศษ’ 

หยงพูดว่า การเลือกเชิญประเทศใดเข้ามาเป็นแขกพิเศษเป็นการเชิญเพื่อมาอยู่ในบรรยากาศและสังเกตการณ์เฉยๆ โดยมองว่าที่กัมพูชาได้มาเป็นแขกพิเศษในเอเปคอาจจะเป็นเพราะว่าเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทย แต่ในกรณีของซาอุดิอาระเบียนั้นชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับวาระ BCG ที่เป็นเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืน อย่างไรก็ดีคงมีผลประโยชน์ต่อกันในมิติอื่นๆ แต่ก็อาจกระทบต่อประเด็นหลักที่ไทยต้องการผลักดัน

สมมติฐาน: ‘เอียงจีน’ เพราะ ‘งอนอเมริกา’ ?

คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กลุ่มข้าราชปลดแอก มองว่าเป็นสมมติฐานที่ก็อาจเป็นไปได้แต่ไม่คุ้มค่าต่อไทย เพราะความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้นไม่มีความสมดุล ถ้าดูจากการค้าขาย ไทยก็ขาดดุลการค้ากับจีนเสมอ หรือต่อให้ไทยไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน การดำเนินนโยบายเอียงข้างจีนหรือรัสเซียก็ไม่คุ้มอยู่ดี ถ้าต้องแลกกับการเสียผลประโยชน์จากประเทศมหาอำนาจอื่นๆ และสหภาพยุโรป 

“รัฐบาลชุดนี้ตอนนั้นมันก็มาแบบไม่ถูกวิธี มาแบบรัฐประหาร มีไม่กี่ประเทศหรอกที่จะรับรอง อยากคุยกับเราต่อ ก็จะเป็นพวกรัสเซีย จีน เผด็จการด้วยกัน แต่อย่างสมัยก่อนที่ไทยก็เป็นเผด็จการ ผมก็ยังมองว่าฝั่งกต. พยายามจะเข้าหาทุกฝั่ง พยายามรักษาความสัมพันธ์กับตะวันตกเอาไว้ แต่ในยุคนี้เบ้จีนหนักมาก”

“มันมีสมมติฐานหนึ่งเหมือนกันที่บอกว่า ทำแบบนี้เพื่อให้ตะวันตกมาง้อ ฉันก็หนีไปคบตะวันออกแทนเลย เขาไม่ง้อคุณหรอก คือเขาก็อาจไม่ถึงกับตัดสัมพันธ์ แต่เขาก็ไม่จำเป็นต้องแคร์เราขนาดนั้นไง” 

จากนั้น เขาเล่าประสบการณ์ช่วงหนึ่งที่เตรียมการจัดประชุมกรอบความร่วมมือกับผู้แทนแต่ละประเทศในเขตเศรษฐกิจ แม้โฟกัสจะอยู่ที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่เรื่องการจุดยืนการเมืองก็ถือเป็นปัจจัยที่มหาอำนาจให้ความสำคัญ

“ในขั้นตอนการร่างแถลงการณ์ เราก็จะมีการคุย ประเทศในเอเปคนัดมาคุยตลอด นัดคุยออนไลน์เนี่ยแหละ เคยคุยกับรัสเซีย เขาก็บอกร่างแถลงการณ์ก็ดูสงบสุขเพียงพอนะ ตอนนั้นเราใช้คำว่า ‘Conflict in Ukraine’ ซึ่งก็คือความขัดแย้ง รัสเซียรับได้ แต่ญี่ปุ่นเคยนัดประชุมออนไลน์ ญี่ปุ่นไม่อะไรเลย แค่บอกว่าร่างแถลงการณ์เนี่ย ขอให้เน้นว่าสงครามนี้รัสเซียเป็นคนก่อ คือเหมือนแจ้งเพื่อทราบ มาเป็นโทนค่อนข้างแข็ง อย่างของอเมริกาก็บอกว่า ถ้าคุณไม่ได้พูดถึงบทบาทรัสเซียให้ชัดเจนกว่านี้ เราคงต้องออกแถลงการณ์ของเราเองนะ”

“อย่างเคสรัสเซีย ตอนผมทำประชุมของกรอบผม มันจะมีผู้แทนของบางประเทศส่งอีเมลมาเลยนะ แคนาดาบอกมาว่าถ้ารัสเซียมาที่กทม.แล้วต้องอยู่ในรูปเดียวกันในการถ่ายรูป แคนาดาไม่ถ่ายด้วยนะ ญี่ปุ่นบอกว่าถ้ามาแล้วมีงานกาลาดินเนอร์ ขอไม่นั่งติดรัสเซียนะ ซึ่งสุดท้ายรัสเซียก็ไม่มาประชุมกรอบผมนะ เขาก็ประชุมออนไลน์เอา เขาก็มีความอายแหละ ถ้ามาก็คงไม่มีใครคุยกับเขา” หยงยกตัวอย่าง

‘ผลงานชิ้นโบว์ดำ’ ของรัฐบาล

คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กลุ่มข้าราชการปลดแอกมองว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคต้องใช้งบประมาณของประเทศ คนไทยคงเข้าใจได้ถ้าใช้งบแล้วผลที่ได้กลับมามันคุ้มค่า สามารถแสดงศักยภาพของไทยต่อชาวโลกได้จริง โดยเปรียบเทียบกับครั้งที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ในปี 2003 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้เขารู้สึกภูมิใจว่าเราเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นการประกาศต่อชาวโลกว่าประเทศไทยมีของดี ต่างจากในตอนนี้ที่ถือว่าล้มเหลว

“โอ้โห ขายหน้า ขายขำอะดิ ผมยังมานั่งคิด ถ้าอย่างงี้เราสู้ไม่จัดดีกว่าไหม เราใช้โอกาส 19 ปีมีครั้งนึง แต่พอจัดแล้วทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาโลก… โลกเสรี ที่ไม่ใช่โลกเผด็จการแย่ลง ดูปวกเปียก ไม่มีจุดยืน ประเทศตะวันตกก็ดูออกว่าเราเอาใจจีน รัสเซีย แต่เขาแค่ไม่พูดตรงๆ”

 หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท