ปดิพัทธ์ ส.ส. ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจสับ ‘ประยุทธ์’ ใช้สัมพันธ์ส่วนตัว ‘มิน อ่อง หล่าย’ กำหนดนโยบายการต่างประเทศตีมึนเอียงข้างรัฐบาลทหาร หนุนเผด็จการพม่า เครื่องบินรบพม่าเข้ามาในน่านฟ้าไทยก็ไม่ตอบโต้ ทำการต่างประเทศไทยตกต่ำในเวทีโลก
22 ก.ค. 2565 จากทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีการกำหนดนโยบายการต่างประเทศโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีต่อสถานการณ์ในพม่า พร้อมกล่าวหาว่าเป็นการทำให้สถานะการต่างประเทศของไทยตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์
ปดิพัทธ์ ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ปล่อยปะละเลยให้สถานการณ์ในฝั่งประเทศพม่าส่งผลกระทบมาถึงคนไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณี “น้องปลื้ม” ปัณณทัต ขจรศักดิ์อุดม ถูกระสุนปืน M16 ยิงจากฝั่งแม่น้ำเมยเสียชีวิต เมื่อเช้าวันที่ 28 มิ.ย. 2563 โดยรัฐบาลมิได้ติดตามอำนวยความยุติธรรมให้ ตามมาด้วยกรณีวันที่ 30 มิ.ย. 2565 เมื่อเครื่องบินรบของพม่า MIG-29 บินเข้ามาในน่านฟ้าไทย ในพื้นที่หมู่ 3 ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก ทำการยิงใส่กองกำลังต่อต้านรัฐบาลจากน่านฟ้าไทย ซึ่งรัฐบาลระบุว่า “ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต” และเป็นเพียงกรณี “เพื่อนบ้าน เดินลัดสนามหญ้าบ้านเรา” เท่านั้น
ปดิพัทธ์ ยังระบุว่าจากเหตุการณ์ทั้งสองนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่ารัฐบาลประยุทธ์รู้เห็นเป็นใจกับรัฐบาล มิน อ่อง หล่าย อำนวยความสะดวกให้แก่กองทัพพม่าปราบปรามกองกำลังต่อต้านรัฐบาล และเมื่อมองไปถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีต่อผู้ลี้ภัยแล้ว ก็ยิ่งเป็นที่ชัดเจน ว่ารัฐบาลประยุทธ์มีแนวทางที่ชัดเจนในการผลักดันผู้ลี้ภัยไม่ให้ข้ามมาฝั่งไทย และยังสกัดกั้นการส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นโดยองค์กรระหว่างประเทศ เป็นการสนับสนุนการปราบปรามประชาชนโดยรัฐบาลเมียนมาในทางอ้อม
เมื่อดูจากท่าทีการแสดงออกของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ก็ยิ่งเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลประยุทธ์มีจุดยืนเลือกข้างเผด็จการพม่าตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่การเอ่ยปากสนับสนุนของนายกรัฐมนตรีตอบจดหมายจากมิน อ่อง หล่าย, การเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่ามาเยือนประเทศไทยหลังรัฐประหาร, การส่งเสบียงให้แก่กองทัพพม่า, การปฏิเสธผู้ลี้ภัย, และการงดออกเสียงในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในมติการคว่ำบาตรการขายอาวุธให้กับพม่า
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการแต่งตั้งบุคคลที่มีเรื่องอื้อฉาว พรพิมล กาญจนลักษณ์ หรือ พอลลีน ให้มาเป็นผู้แทนพิเศษด้านพม่า โดยพรพิมลเคยเป็นอดีตล็อบบี้ยิสต์ที่เคยบริจาคเงินอย่างผิดกฎหมายให้แก่พรรคเดโมแครตของอเมริกา ให้นำเจ้าสัวคนไทยตระกูลใหญ่คนหนึ่งเข้าพบประธานาธิบดีบิล คลินตัน เพื่อล็อบบี้นโยบายด้านการค้าให้แก่รัฐบาลจีน พรพิมล ยังเคยถูกศาลในสหรัฐอเมริกาตัดสินลงโทษในคดีนี้ ให้ต้องโทษรอลงอาญา 3 ปี และให้คุมขังในเคหสถาน 6 เดือนพร้อมติดกำไลติดตามตัว
พรพิมลหลังจากรับตำแหน่ง ก็ได้แสดงบทบาทในเวทีการประชุมนานาชาติด้านความมั่นคง “แชงกรี-ลา ไดอะล๊อค” ปกป้องรัฐบาลเผด็จการพม่าสวนทางกับทุกประเทศในเวทีโลก ในฐานะจุดยืนของประเทศไทยต่อประชาคมโลก นำมาสู่คำถามว่าพรพิมลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการล็อบบี้ ได้รับการแต่งตั้งเพื่อมารับงานพิเศษด้านใดให้กับใครหรือไม่
ปดิพัทธ์ยังอภิปรายต่อไปว่า นโยบายต่างประเทศของไทยต่อกรณีพม่า ถือเป็นจุดยืนที่แทงไปข้างเดียวคือข้างเผด็จการทหาร ไม่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ จนนำมาสู่ทศวรรษแห่งความสูญเปล่าทางการต่างประเทศของไทย
ปดิพัทธ์ ย้ำว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเลือกข้างใครอย่างชัดเจน แต่ต้องสร้างสมดุลในด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะในกรณีวิกฤตการณ์รัฐประหารพม่า สามารถเป็นโอกาสให้ไทยมีบทบาทในการคลี่คลายสถานการณ์และแสวงหาสันติภาพ ยุติความขัดแย้งในพม่า จากความนับถือส่วนตัวระหว่างผู้นำสองประเทศ
มหาอำนาจล้วนอยากให้สงครามกลางเมืองในพม่ายุติลง ไม่ว่าจะเป็นเหตุพลของแหล่งพลังงานธรรมชาติ ความต้องการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หรือเหตุผลด้านมนุษยธรรม ซึ่งประเทศไทยควรเล่นเกมอย่างชาญฉลาดกับมหาอำนาจทั้งหลาย มีภาวะผู้นำในการประสานแก้ไขปัญหา พบกับผู้นำของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นมิน อ่อง หล่าย หรือกองทัพประชาชน และ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
แต่รัฐบาลประยุทธ์กลับเลือกเดินหมากที่เสียเปล่าที่สุด คือการอุ้มชู มิน อ่อง หล่าย ตั้งแต่ต้น ทำให้ขาดอำนาจในการถ่วงดุลกับประเทศมหาอำนาจทุกประเทศ จนกลายเป็นประเทศที่ไม่มีใครอยากคบหาเหมือนพม่าไปโดยปริยาย
“การทำนโยบายต่างประเทศแบบไม่มีนโยบาย ตีมึนไม่รู้ไม่ชี้ คนไทยโดนลูกหลงตายก็ไม่เป็นไร เครื่องบินรบพม่าเข้ามายิงในน่านฟ้าไทยก็ไม่เป็นไร ถูกประชาคมโลกกดดันในท่าทีเรื่องพม่าก็ไม่เป็นไร เพราะนโยบายมีอย่างเดียว เพื่อนแท้เผด็จการฝาแฝด ประยุทธ์ มิน อ่อง หล่าย จะต้องอยู่ต่อไป” ปดิพัทธ์ กล่าว