Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมการเมือง-ปชช.ยื่นหนังสือชี้แจงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ไม่ถึงมือผู้แทนเอเปค 2022 อย่างที่ตั้งใจ เจอตำรวจสกัดที่แยกอโศกตั้งแต่ไก่โห่ แสดงเชิงสัญลักษณ์ฉีก จม.-สาดสีเขียว สะท้อนการประชุมฟอกเขียวกลุ่มทุน

 

17 พ.ย. 2565 ประชาไท ประมวลกิจกรรม 'What happend in Thailand' จัดโดยนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยหลายกลุ่ม เช่น ทะลุวัง สหภาพคนทำงาน คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) วีโว่ และอื่นๆ ที่แยกอโศก เมื่อ 17 พ.ย.นี้ พร้อมเชิญชวนประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมแต่งตัวสะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและสิ่งที่อยากให้ประชาคมโลกได้รับทราบ และจะมีการยื่นหนังสือถึงผู้แทนการประชุม 'APEC 2022' ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เวลาราว 10.00 น. ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม ‘Mobdata’ รายงานว่าที่แยกอโศกมนตรี ตำรวจวางกำลังและสิ่งกีดขวางปิดแยกทั้งหมด กำลังตำรวจบริเวณนี้ผสมระหว่างตำรวจตระเวนชายแดนที่เป็นแนวกำลังยืนหลัก มีอุปกรณ์เช่น โล่ และกระบอง บางนายมีปืนสำหรับยิงกระสุนยาง ขณะที่ตำรวจนครบาลเป็นชุดจักรยานยนต์เคลื่อนที่เร็ว

ภาพบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่แยกอโศก (ถ่ายโดย Chana_La)

สำหรับบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยวันนี้ ไทยพีบีเอส รายงานเมื่อ 8.30 น. ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมด้านการรักษาความปลอดภัยสำหรับการจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2022 หรือ APEC 2022 พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการวางกำลังเพื่อคุมเข้มมาตรการในการรักษาความปลอดภัย พร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอย่างโล่ และกระบอง โดยรอบพื้นหน้าทางเข้าถนนรัชดาภิเษก แยกอโศกมนตรี

ขณะที่ พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า หากมีผู้ไม่หวังดีพยายามฝ่าแนวตำรวจเข้ามา เจ้าหน้าที่ก็มีมาตรการรองรับไว้แล้ว พร้อมยืนยันว่า ไม่สามารถเข้าไปในจุดสำคัญที่ใช้ในการประชุมถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ถ้าจะมา จะอยู่ได้แค่แนวหลังแบริเออร์แยกอโศกมนตรีเท่านั้น

เวลา 11.00 น. ตำรวจนำแบร์ริเออร์มากั้นเพิ่มเติมที่บริเวณทางม้าลายแยกอโศกมนตรี ระหว่างนี้มีประชาชนมาคอยสอบถามการเดินทางเข้าพื้นที่ที่ปิด

เวลา 11.29 น. ประชาชนเริ่มเข้าพื้นที่ตามที่นัดหมาย ขณะที่ตำรวจปิดสกายวอล์คข้ามแยกอโศก ทหารนำสุนัขดมกลิ่นมาเตรียมพร้อมบนสถานีบีทีเอสอโศก

เวลา 11.30 น. ประชาชนมาชูป้ายที่แยกอโศกมนตรี แต่จากนั้น มีตำรวจมาพาตัวออกไปทางสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท ฝั่งเทอร์มินอล 21 ระบุว่ากีดขวางทางจราจร  จากนั้นตำรวจเริ่มวางกำลังบนฟุตบาทด้านหน้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบีทีเอส

ตร.แย่งป้ายประชาชน-เตรียมขบวนยื่น จม.

เวลา 11.43 น. ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท ตำรวจเข้ายึดป้ายของผู้ชุมนุมรายหนึ่ง ปรากฏข้อความว่า ‘ตำรวจต้องปกป้องเสรีภาพพลเมืองประชาชน’ ทำให้เกิดการปะทะคารมระหว่างกัน ผู้ชุมนุมโต้เถียงว่าเป็นเพียงแค่ป้ายข้อความเอง พวกเราประชาชนต้องการไปยื่นหนังสือเท่านั้น 

เวลา 11.48 น. ผู้สื่อข่าวรายงานที่บริเวณบันไดทางขึ้น-ลงบนสถานีรถไฟฟ้า BTS อโศก เกิดเหตุตำรวจแย่งยึดป้ายของประชาชน ทางกลุ่มผู้จัดงานจึงประกาศว่า เพื่อให้ได้เกิดความไม่สงบ ขอให้ตำรวจถอยออกไป และไม่เข้ามาใช้กำลังกับประชาชนที่เพียงแค่ป้ายและไม่ได้ใช้ข้อความรุนแรง พวกเขามาเพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเท่านั้น และขอให้ประชาชนมารวมตัวกันที่จุดรถเครื่องเสียง เพื่อเตรียมตัวเดินขบวนไปที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทีม Mobdata รายงานต่อว่า เวลา 11.51 น. ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า เราจะไม่ปะทะ เจตนาของเราต้องการไปยื่นหนังสือเรียกร้องเกี่ยวกับมาตรการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การประชุมของเอเปคเป็นการรวมตัวที่ไม่ฟังเสียงประชาชน รัฐบาลประยุทธ์เป็นเผด็จการและพวกเราไม่ได้ยินดีเลยที่จะได้ประยุทธ์เป็นตัวแทนของเรา นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลยังปราบปรามเสรีภาพไม่ว่าจะใช้กฎหมายปิดปากอย่างมาตรา 112 พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าทำไมต้องปิดถนนขนาดนี้ ทั้งที่เราต้องการส่งเสียงของเราออกไป ขอให้ตำรวจอย่าทำร้ายประชาชน ถ้าอยากจะคุยกันอยากจะเจรจากันมาคุยกันและให้พวกเราเขาไปยื่นหนังสือก็จบ เราไม่ได้ก่อความวุ่นวายหรือความรุนแรง หากจะมีคือ เกิดจากตำรวจ วันนี้จะมีชุดนำขบวนไปที่ที่ประชุมเอเปค

เวลา 11.58 น. ตำรวจเข้ามาพูดคุยกับธนพร โดยสมาชิกเครือข่ายสิทธิแรงงานฯ แจ้งต่อประชาชนว่า เดี๋ยวจะมีตำรวจเข้ามาเจรจา และเธอยืนยันว่าการที่กลุ่มทุนคุยกันต้องมีเสียงประชาชนด้วย ไม่ใช่มีแค่รัฐบาล เจตนาของผู้ชุมนุมคือ ต้องการนำเสนอความเดือดร้อนเท่านั้น ผู้ชุมนุมเริ่มชูป้าย เช่น ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง

เวลา 12.26 น. ตำรวจลงมาตั้งแนวบนผิวจราจรฝั่งมุ่งหน้าไปทางสถานี BTS พร้อมพงษ์ ถนนสุขุมวิท พยายามกันให้ประชาชนอยู่บนทางเท้า การจราจรไม่สามารถสัญจรได้ทางฝั่งช่องซ้ายสุดและยังคงมีการประกาศผ่านลำโพงของตำรวจให้ประชาชนและสื่อมวลชนขึ้นบนทางเท้า

เวลา 12.48 น. ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม 'Mobdata' และผู้สื่อข่าว รายงานว่า ประชาชนเริ่มตั้งขบวนบนพื้นผิวจราจร เพื่อเดินไปยื่นหนังสือถึงผู้แทนเอเปคที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (ศูนย์ฯ สิริกิติ์) ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และควบคุมฝูงชน ลงมาล้อมปิดกั้นหัวขบวนไม่ให้ขบวนประชาชนสามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้  

เวลา 12.55 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจบนบีทีเอสสั่งให้ประชาชนที่ขึ้นไปบนบันไดทางขึ้น ลงมาที่ด้านล่าง ทำให้เกิดการโต้เถียงระหว่างประชาชนกับตำรวจ ประชาชนไม่พอใจและมีการต่อว่าตำรวจ

 

จนท.ไม่อนุญาตให้ตัวแทนไปยื่นหนังสือ

สถานการณ์ล่าสุด ขบวนเดินประชาชนยังคงอยู่บริเวณแยกอโศกมนตรี บริเวณหน้าศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ถนนสุขุมวิท จนกระทั่งเวลา 13.05 น. ‘บอย’ ชาติชาย แกดำ จากกลุ่ม Supporter Thailand ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือแก่ผู้แทนทูตที่เข้าร่วมประชุม และติดต่อไปยังตัวแทนเอเปคว่า เราจะยื่นหนังสือวันนี้ เขาตอบรับและให้เราส่งตัวแทนเข้าไปไม่เกิน 5 คน แต่มีปัญหาว่าตำรวจไม่ยอมให้ประชาชนส่งตัวแทนเข้าไป ตกลงตำรวจใหญ่กว่าผู้แทนเอเปคหรือ เพื่อให้เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ขอให้ตำรวจปล่อยตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือ

ขณะที่ ‘ไหม’ ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุว่า ต้องการไปยื่นหนังสือด้วยตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าหนังสือถึงมือผู้แทนประเทศต่างๆ เจตนาเราไม่ได้ต้องการบุกรุกหรือเกิดสถานการณ์ไม่เรียบร้อย เราต้องการยื่นหนังสือเท่านั้นเอง ขอให้ตำรวจอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เราประกาศแล้วว่า เราจะไม่ไปทั้งหมด เราจะส่งตัวแทนเข้าไปเท่านั้น

ด้านตำรวจแจ้ง 'บอย' ชาติชาย ตัวแทนเจรจาว่ามีตัวแทนมารอรับแล้วตรงบริเวณทางลงสถานี MRT สุขุมวิท โดยตัวแทนที่มารอรับหนังสือคือ 'สมพาศ นิลพันธ์' ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

(คนซ้าย-สวมเสื้อกั๊ก) สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ตัวแทนประชาชน 5 ราย เข้าไปยื่นหนังสือถึงผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค 2022 ธนพร กล่าวปราศรัยระบุว่า ประชาชนจะสื่อสารข้อความถึงผู้แทนการประชุมเอเปค 2022 ในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยการอ่านแถลงการณ์ทั้งภาษาไทย และอังกฤษ พร้อมประณามการประชุมเอเปคครั้งนี้เป็นการประชุมอัปยศที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน 

ในเวลาเดียวกับที่ประชาชนอ่านแถลงการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้ประชาชนขึ้นไปอยู่บนทางเท้า มีการแจ้งว่าการแสดงออกต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น และอ้างว่าประชาชนกำลังทำให้จราจรติดขัด จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนขึ้นไปบนทางเท้า และอ้างว่าประชาชนที่ร่วมชุมนุมอาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร เนื่องมาจากกีดขวางการจราจร นอกจากนี้ ตำรวจอ้างว่าการชุมนุมวันนี้อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การชุมนุมอีกด้วย 

จดหมายที่จะยื่นถึงผู้แทนเอเปค 2022

เรียน สมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกและสมาชิกที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม APEC 2022
 
เราประชาชนมีความยินดีอย่างยิ่งในวาระโอกาสที่พวกท่านเหล่าสมาชิกอันทรงเกียรติเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ท่านจะได้รับการต้อนรับเข้าสู่เทศกาลแห่งการโกหกครั้งใหญ่ ตั้งแต่ความปลอมเปลือกของบริเวณที่ประชุม ถนนหนทางที่ท่านใช้จราจรมายังที่ประชุมที่ถูกซุกขยะไว้ใต้พรมแดงและโรยด้วยผักชีที่กลิ่นแรงยิ่งกว่ากุหลาบใดๆ การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเสแสร้งนี้เป็นเครื่องมือที่ให้พวกท่านในฐานะสมาชิกรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลเผด็จการอัปลักษณ์ในผ้าคลุมของการเลือกตั้งตามกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับโจร

พวกท่านอาจสงสัยว่าประเทศนี้ก็เป็นประชาธิปไตยแล้วมิใช่หรือ หลังจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 แต่ภายใต้ผ้าคลุมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเงามืดของกองทัพไทยและสถาบันกษัตริย์ยังคงทำให้ประเทศนี้เป็นได้แค่ประเทศเสมือนประชาธิปไตย เป็นลิเกโรงใหญ่ที่ถูกกำกับโดยองค์กรเหนือรัฐธรรมนูญทั้งหลาย
 
เงามืดเหล่านี้มองเห็นเป็นรูปธรรมได้จากการที่ประเทศไทยยังบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม. 112) อย่างเข้มข้นด้วยวิธีเหวี่ยงแหอย่างเกินขอบเขตของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร เจตนาทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เหตุเพราะไม่แน่ใจเส้นแบ่งที่ชัดเจนของกรอบกฎหมายที่พึงกระทำได้หลายคดียังดำเนินอยู่ มีผู้ได้รับความเจ็บปวดและผลกระทบจากการถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมทางความคิด มีนิสิต นักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักสิทธิมนุษยชนพบว่าถูกรัฐซึ่งใช้เพกาซัสสปายแวร์แอบสอดส่องการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และละเมิดความเป็นส่วนตัว ด้วยเหตุเพราะมั่วสุมกันคุยเรื่องการส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน

ประเทศนี้ยังปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมที่กำลังทางกายภาพมีค่าเหนือสิ่งอื่นใด ปืนมีค่ามากกว่ากฎหมาย รัฐธรรมนูญเป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึกที่พร้อมจะทิ้งขยะแล้วเขียนใหม่ตามแต่ผู้ถืออำนาจต้องการไม่ต่างอะไรกับการจดใส่กระดาษชำระที่นำไว้ใช้เพียงชั่วครู่ยามเท่านั้น

หลังรัฐประหารในปี 2557 คณะรัฐประหารและรัฐบาลจำแลงภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้มีการขยายพระราชอำนาจให้สถาบันกษัตริย์ เริ่มจากการมีรับสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์หลังจากที่ผ่านการทำประชามติรับรองแล้ว ในปี 2559 อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรรมนูญ

นอกจากนั้นแล้ว ในระหว่างการเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการออกประกาศโดยสถาบันกษัตริย์ วินิจฉัยการกระทำของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เมื่อมีประกาศดังกล่าวลงมา ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรอิสระก็รับลูกด้วยการวินิจฉัยให้พรรคไทยรักษาชาติต้องถูกยุบไป โดยใช้ข้ออ้างว่าเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งที่ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ลงสมัครในตำเเหน่งนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรไทยเเละ กรรมการการเลือกตั้งเองก็ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ก่อนพระบรมราชโองการดังกล่าวจะถูกเผยเเพร่ต่อสาธารณะ ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงการใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

รัฐบาลนี้ยังได้ขยายอำนาจ เปิดช่องโหว่ให้สถาบันกษัตริย์รับเงินจากเหล่าพ่อค้านักธุรกิจ อันนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการรับเงินเพื่อสร้างเครือข่ายทุนศักดินาและอำนวยความราบรื่นของการประกอบการณ์
นอกจากนี้ รัฐบาลประยุทธ์ยังได้สั่งให้มีการแก้กฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

อันเป็นการเปิดช่องให้กษัตริย์เป็นคนร่วมลงทุนถือหุ้นส่วนผลประโยชน์ ในขณะที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆก็ตาม ซึ่งครอบคลุมกรณีการพิพาทในการประกอบธุรกิจ ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงการลงทุนที่สถาบันกษัตริย์ได้รับผลประโยชน์ โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ หากมีการกระทำผิดหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนนั้นๆ 

การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐไทยยังคงดำเนินต่อไปเเม้ในขณะที่พวกท่านเดินอยู่ในศูนย์ประชุม เเละมันจะเกิดขึ้นอีกเรื่อยไปหากพวกท่านเเสดงท่าทีเป็นมิตรกับผู้นำที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหารฉบับนี้

โปรดพิจารณาถึงสาส์นฉบับนี้ที่มอบให้ท่านในฐานะเหรียญอีกด้านที่ถูกคว่ำไว้เเละปัญหามากมายที่รัฐบาลซุกไว้จนไม่พอจะปิดไว้ใต้ใบบัว โปรดได้ยินเสียงของผู้คนที่อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่จัดเจนเรื่องการตลบเเตลงเเละปลิ้นปล้อนอยู่เป็นนิจ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ประชาชน  

ฉีก จม.-สาดสี 'ฟอกเขียว' ประณาม APEC 2022

'ใบปอ' ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ กล่าวหลังยื่นหนังสือว่า วันนี้ประชาชนไม่ได้ยื่นหนังสือถึงผู้แทนการประชุมเอเปค 2022 ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ด้วยตัวเอง เธอจึงขอฉีกหนังสือและแถลงการณ์ เพื่อประณามเจ้าหน้าที่รัฐ

ธนพร กล่าวปราศรัยเชิญชวนว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่าให้องคาพยพเผด็จการเข้ามาสมสู่ใช้ทรัพยากรของประเทศไทยอีกต่อไป พร้อมตะโกนว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ ประยุทธ์ ออกไป และ ยกเลิก 112 

ธรพร ระบุว่า ประชาชนจะไม่หยุดแค่นี้จะมีการจับตาการประชุมอย่างใกล้ชิดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นอย่างที่รัฐบาลโฆษณาและมาพูดคุยหรือไม่ เธอประกาศยุติกิจกรรมเมื่อเวลา 13.43 น. 

ทั้งนี้ หลังยุติกิจกรรม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการสาดสีเขียวใส่ป้ายผ้า "หยุดฟอกเขียวทุนเจ้า"

นักกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการสาดสีเขียวใส่ป้ายผ้า 'ฟอกเขียวทุนเจ้า' (ถ่ายโดย Zee AI)

โฆษก สตช. ลั่นเตรียมเอาผิดม็อบแยกอโศก 

สื่อ The Reporters รายงานวันนี้ (17 พ.ย.) พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมเอเปค 2565 และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์าการชุมนุมทั้ง 2 แห่ง

กลุ่มที่ 1 กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ที่ปักหลัก พักค้างชุมนุมที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม. (หลังเก่า) ยอดผู้ชุมนุมประมาณ 120 คน มีการชุมนุมค้างแรม และจัดปราศรัย ได้แจ้งการชุมนุมที่ สน.สำราญราษฎร์ ตั้งแต่วันที่ 16-18 พ.ย. 2565 แต่ประชาชนบางส่วนแยกไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการติดป้ายข้อความบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปห้ามปรามตามหลักยุทธวิธี แต่มีการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย จนแยกย้ายกันไป  จากนั้นกลุ่มได้กระจายตามสถานที่ต่างๆ 5 จุด และยุติกิจกรรม เมื่อเวลา 12.45 น.

กลุ่มที่ 2 กลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่ม เช่น ทะลุวัง Supporter Thailand วีโว่ สหภาพคนทำงาน และอื่นๆ บริเวณแยกอโศก ยอดผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน มีการชูป้าย แต่งกายชุดไดโนเสาร์ และรวมกลุ่มทำกิจกรรมบริเวณแยกอโศก ตั้งแต่เวลาประมาณ 11.30 น. และยุติการชุมนุมเวลาประมาณ 14.30 น. มีบางช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปขอความร่วมมือกับกลุ่มผู้ชุมนุม และเกิดการโต้เถียงกระทบกระทั่งกัน ตามที่ปรากฎตามข่าว แต่ไม่ได้มีความรุนแรง ทุกอย่างดำเนินการตามหลักยุทธวิธี หลักความได้สัดส่วน เน้นการเจรจาต่อรอง พูดคุยทำความเข้าใจเป็นหลัก   

สำหรับบริเวณแยกอโศกนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมบางคนได้สาดสี พ่นสีสเปรย์ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัย มีการทำร้ายทรัพย์สิน และขีดเขียนบนถนน ทางสาธารณะที่ใช้สัญจร  อีกทั้งการชุมนุมก็มิได้แจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด 

อาชยน กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน คลิปที่เกิดเหตุ เพื่อสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีความผิดที่เกิดขึ้น ในความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2552 พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา 

โฆษก กอ.ร่วมฯ ยังกล่าวอีกด้วยว่า “สถานการณ์การชุมนุมในวันนี้ ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรที่น่าเป็นห่วง เจ้าหน้าที่สามารถดูแลภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สร้างความมั่นใจในการดูแลความปลอดภัยการประชุมเอเปคได้”

โดยในช่วงเวลา 15.30 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์  ผบ.ตร. ได้เดินทางไปประชุมติดตามสถานการณ์ ที่ ทก.ชุมนุมสาธารณะ ได้รับทราบว่า  มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนสาดสีใส่เครื่องแบบของตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ตร.ได้สั่งให้ตัดเครื่องแบบใหม่ให้ตำรวจทันที และได้กล่าวชมเชย ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกนาย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป 

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก สตช.

โฆษก สตช. ย้ำเตือนว่า การชุมนุมในพื้นที่ห้ามเป็นความผิดตามกฎหมาย ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  ที่ห้ามมิให้มีการชุมนุมกีดขวางทางเข้า-ออก รบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการของสถานที่ดังกล่าว หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเจ้าพนักงานฯ อาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งให้ถือปฏิบัติ หากฝ่าฝืนโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

โดยผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมฯ ต้องแจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่นั้นล่วงหน้าฯ นอกจากนี้ ฝากขอประชาสัมพันธ์ แจ้งไปยังผู้ที่จะเข้าร่วมการชุมนุม ให้คำนึงถึงภาพลักษณ์ประเทศ ควรไปใช้สิทธิยื่นข้อเรียกร้องในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ โดยสามารถประสานตำรวจเพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นได้”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net