Skip to main content
sharethis

กระแสคนมาเลย์รุ่นใหม่เน้นการเมืองอิสลามมากกว่าชาตินิยมมลายู ไม่เลือกอัมโนเพราะคดีทุจริตกองทุน 1MDB  ไม่ซึมซับนโยบายภูมิบุตร เผยผลกระทบต่อไทยอาจเป็นแรงงานเถื่อนจากชายแดนใต้ ข้องใจทำไมไม่มีนักการเมืองไทยไปคุยหาทางออก

21 พ.ย. 2565 ประเด็นที่น่าสนใจในการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศมาเลเซียครั้งที่ 15 หรือ GE15 เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมาการลดอายุของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็น 18 ปี (UNDI-18) จากเดิมอายุ 21 ปี ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมากถึงกว่า 5 ล้านคน ทว่าเสียงของคนกลุ่มนี้อาจไม่ได้ช่วยให้แนวร่วมบาริซาน เนชันแนล หรือ BN (Barisan National) ซึ่งนำโดยพรรคเก่าแก่อย่าง UMNO (United Malay National Organisation) ที่มีนายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ รักษาการนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ชนะการเลือกตั้งเพียง 30 ที่นั่งจากทั้งหมด 222 ที่นั่ง 

ขณะเดียวกันเสียงของคนรุ่นใหม่ยังอาจมีส่วนทำให้ แนวร่วมเปอรีกัตตัน เนชันแนล หรือ PN (Perikatan National) ที่มีพรรค Bersatu ของอดีตนายกรัฐมนตรีมุห์ยิดดีน ยาซซีน และพรรค PAS (Malaysian Islamic Party) พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมทางศาสนาอิสลามที่มีฐานที่มั่นในรัฐกลันตันและเป็นพรรคที่ชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยรู้จักดี PAS นำโดยฮาดี อาหวัง (Hadi Awang) ครูสอนศาสนาสายอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ถึง 73 ที่นั่งและมีโอกาสสูงที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล

ส่วนขั้วการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมาที่สุดครั้งนี้ที่มีแกนนำที่คนไทยรู้จักดีก็คือ ‘พันธมิตรแห่งความหวัง’ หรือ PH (Pakatan Harapan) นำโดยอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) หัวหน้าพรรค PKR (People’s Justice Party) ซึ่งเคยพลาดหวังจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ต่ำกว่าสองครั้งในชีวิต ได้ไป 82 ที่นั่ง 

โดยอันวาร์ อิบราฮิม จับมือกับพันธมิตรเดิมคือพรรค DAP (Democratic Action Party) พรรการเมืองของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนที่มีฐานที่มั่นที่ปีนัง และพรรค AMANAH (National Trust Party) ของโมฮัมหมัด ซาบู (Mohamad Sabu) อดีตสมาชิกพรรค PAS และอดีตนักกิจกรรมขบวนการยุวชนมุสลิม ABIM (Muslim Youth Movement) และมีพรรค MUDA ของไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq) วัย 28 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬาในรัฐบาลที่แล้วที่ประกาศตัวเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่เป็นแนวร่วมอย่างหลวมๆ

ทว่า องค์ประกอบบางอย่างของพันธมิตรแห่งความหวัง’ หรือ PH (Pakatan Harapan) ของอันวาร์ อิบราฮิมอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ก็เป็นได้เช่นกัน 

กระแสคนมาเลย์รุ่นใหม่เน้นการเมืองอิสลามมากกว่าชาตินิยม

นายทวีศักดิ์ ปิ นักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้หนึ่งที่เข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐกลันตันที่ติดชายแดนจังหวัดนราธิวาสของไทย เขาเล่าว่า ชาวมาเลเซียมีความตื่นตัวในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรก

“ผลการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ากระแสความนิยมการเมืองอิสลามในกลุ่มคนมุสลิมรุ่นใหม่มีสูงมากนำหน้าเรื่องชาตินิยมมลายูไปแล้ว เห็นได้จากที่กลุ่มเปอริกัตตันของนายมูห์ยิดดินได้ถึง 73 ที่นั่งอย่างคาดไม่ถึงมาก่อน ในจำนวนนี้เป็นคะแนนของพรรค PAS ที่ชนะเลือกตั้งในรัฐกลันตันและตรังกานูทุกที่นั่งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนรวม 22 ที่นั่ง ขณะที่พรรคอัมโน (UMNO) ที่เน้นเรื่องชาตินิยมมลายูกลับแพ้เลือกตั้งอย่างราบคาบ” นายทวีศักดิ์ กล่าว

นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนพันธมิตรแห่งความหวังของอันวาร์ อิบราฮิม แม้จะได้ที่นั่งมากที่สุด แต่ก็ได้จากกลุ่มคนในเขตเมือง นักธุรกิจและกลุ่มคนเชื้อสายจีน โดยเฉพาะในรัฐปาหัง ปีนังและกัวลาลัมเปอร์ แต่ไม่ได้คะแนนเสียงจากกลุ่มคนมลายูรุ่นใหม่มากนัก แม้แต่พรรคของไซด์ ซาดีค อดีตรัฐมนตรีเยาวชนและกีฬาวัย 28 ปีที่ประกาศตัวเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่คล้ายๆ กับพรรคก้าวไกลในไทยก็ได้มาเพียงหนึ่งที่นั่งเท่านั้น

ไม่เลือกอัมโนเพราะคดีทุจริตกองทุน 1MDB

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนพรรคอัมโนที่ได้คะแนนลดลงมาก เป็นผลมาจากคดีทุจริตในกองทุน 1MDB ที่ศาลได้ตัดสินจำคุกนายนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคอัมโนก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่อย่างมาก ขณะเดียวกันผู้สมัครบางคนก็มีคดีทุจริตติดตัวโดยที่พรรคไม่ยอมเปลี่ยนตัว ส่วนฐานเสียงเดิมของอัมโนเทไปให้พันธมิตรแห่งความหวังของอันวาร์ อิบราฮิม

“ชาวมาเลเซียมุสลิมรุ่นใหม่ไม่ได้มองเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักมากนัก แต่มองเรื่องการปกป้องศาสนาเป็นหลัก จึงไม่แปลกที่ที่จะไม่เลือกพรรคของที่มีคนโกง” นายทวีศักดิ์ กล่าว

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ยิ่งพันธมิตรแห่งความหวังของอันวาร์ มีพรรค DAP (Democratic Action Party) ของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนมลายูรุ่นใหม่ต่อต้านอันวาร์มากขึ้น ถึงขนาดมีการโจมตีกันก่อนเลือกตั้งว่าเป็นพรรคที่จะให้มุสลิมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของคนจีน เพราะอันวาร์จะให้คุมกระทรวงสำคัญๆทางเศรษฐกิจ แต่ฝ่ายอันวาร์มองว่า การให้คนมีความสามารถมาดูแลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก็เท่ากับการพัฒนาเศรษฐกิจของมุสลิมด้วยเช่นกัน

“แต่หาก PN ของอดีตนายกรัฐมนตรีมุห์ยิดดีนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แม้จะเน้นเรื่องศาสนา แต่การที่มีฐานเสียงที่อยู่ในรัฐชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายูที่ล้าหลังกว่าพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกก็เป็นไปได้ว่ามุห์ยิดดีนจะมีนโยบายพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันออกให้เจริญขึ้นได้ แต่ถ้าอันวาร์เป็นนายกรัฐมนตรีพื้นที่ฝั่งนี้ก็คงจะเหมือนเดิม” นายทวีศักดิ์กล่าว

พรรคการเมืองอิสลามเข้มแข็งขึ้น

ด้านนายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน หัวหน้าศูนย์นูซันตาราศึกษา อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโลกมลายูและรู้จักนักการเมืองมาเลเซียหลายคน กล่าวว่า เป็นไปได้ยากที่นายอันวาร์จะจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากทั้ง BN ที่นำโดยพรรค UMNO และ PN ของนายมุห์ยิดดีนไม่เอานายอันวาร์ และไม่แน่ใจว่านายอันวาร์จะสามารถโน้มน้าวกลุ่มอื่นๆเข้ามาร่วมได้มากน้อยเพียงใด

ส่วนกรณีที่ชาวมาเลเซียมีแนวโน้มในการเลือกพรรคที่มีแนวอนุรักษ์นิยมทางศาสนาอิสลามมากขึ้นนั้น นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาแสการเมืองสีเขียวมีมากขึ้น หมายถึงความนิยมในพรรค PAS ซึ่งเป็นพรรคการเมืองในสายศาสนาที่ใช้สีเขียวเป็นสีประจำพรรคมีมากขึ้น และพรรค PAS ก็มีความเข้มแข็งมาในระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู 

“เมื่อกลุ่มของนายมูห์ยิดดีนได้ร่วมกับพรรค PAS ก็ยิ่งทำให้กระแสสีเขียวเข้มแข็งมากขึ้นไปอีก และยังสามารถแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกด้วยได้ด้วยโดยเฉพาะพื้นที่ชนบททำนา ประกอบกับกระแสต่อต้านพรรค DAP ของคนมาเลเซียเชื้อสายจีน ยิ่งทำให้ฐานเสียงของอันวาร์เหลืออยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและเขตเมืองหลวง” นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าว

นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าวว่า แม้พรรค PAS จะเป็นพรรคศาสนาแต่ก็ได้ปรับรูปแบบการทำงานที่พัฒนามากขึ้นกว่าในอดีต มีวิธีการทำงานแบบใหม่ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น เช่น การใช้โซเซียลมีเดียว ทำให้ได้ใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษามุสลิม

ไม่ซึมซับนโยบายภูมิบุตร

นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าวด้วยว่า อีกปัจจัยคือ ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันกับพรรคอัมโนเหมือนคนรุ่นพ่อแม่แล้ว เพราะไม่ได้ซึมซับเกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษาและการให้สิทธิต่าง ๆ แก่กลุ่มคนมลายูดั้งเดิมที่เรียกว่า ภูมิบุตร (Bumi Putra) ของพรรคอัมโน แต่กลับได้ข้อมูลข่าวสารเรื่องการทุจริตในคดีกองทุน 1MDB มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เลือกพรรอัมโน

นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่น่ากระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย เนื่องจากที่ผ่านมามาเลเซียได้ดำเนินการตามวิสัยทัศน์ 2020 ที่มีเป้าหมายการเป็นประเทศมีรายได้สูงในปี 2020 แม้จะช้าไป 2 ปีกว่า เพราะรัฐเพิ่งเปิดเผยรายได้เฉลี่ยต่อประชากร (GDP Per Capita) ประจำปี 2565 ตามเกณฑ์การจัดอันดับประเทศที่มีสถานะรายได้ของโลกเมื่อไม่นานมานี้ แม้ว่าขณะนี้ค่าเงินริงกิตอ่อนแต่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าหลังโควิดค่าเงินริงกิตจะแข็งขึ้นและการส่งออกจะเพิ่มขึ้น

ผลกระทบต่อไทย แรงงานเถื่อนจากชายแดนใต้

นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าวด้วยว่า ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ในกรณีการพูดคุยเพื่อสันติสุขเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้นไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักเพราะเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว ปัญหาน่าจะอยู่ที่ฝ่ายไทยมากกว่า

นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าวว่า ผลกระทบจริงๆก็อาจจะเป็นเรื่องแรงงานไทยในมาเลเซีย เนื่องจากในช่วงโควิดที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียพยายามจัดการแรงงานต่างชาติให้เข้าระบบมากขึ้น หลังจากนี้ทางมาเลเซียจะเข้มงวดมากขึ้นซึ่งอาจจะกระทบกับแรงงานจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าไปทำงานร้านอาหารในมาเลเซียซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานเถื่อนเพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน 
ข้องใจทำไมไม่มีนักการเมืองไทยไปคุยหาทางออก

“ปัญหาเหล่านี้ทางมาเลเซียรู้ดีแต่ก็ไม่เคยมีนักการเมืองหรือตัวแทนรัฐบาลที่มีอำนาจจริงเข้าไปพูดคุยเจรจากับรัฐบาลมาเลเซีย ทั้งที่ฝ่ายมาเลเซียต้องการให้เข้าไปพูดคุยอย่างเช่นกรณีที่มาเลเซียมีข้อตกลงเรื่องแรงกับประเทศเวียดนามมาแล้ว แต่กับฝ่ายไทยมีเคยมีโดยเฉพาะเรื่องแรงงานจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งผมเองก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่าทำไมไม่มีนักการเมืองในพื้นที่ดำเนินการเรื่องนี้”นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าว 

“กรณีตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ การช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซียในช่วงที่มาเลเซียปิดประเทศช่วงโควิด-19 กลุ่มที่เข้าไปช่วยกลับเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ซึ่งพยายามช่วยเหลือโดยประสานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในมาเลเซีย ส่งนผมเองก็มีส่วนช่วยโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักการเมืองในมาเลเซีย จึงไม่เข้าใจว่าทำไมนักการเมืองไทยจึงไม่เข้ามาช่วย” นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net