Skip to main content
sharethis

แม้ฟุตบอลโลกเริ่มต้นมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว แต่ยังคงมีรายงานเหตุเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติในกาตาร์ โดยศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (BHRRC) ระบุถึงตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่ถูกกดขี่และเสียชีวิตในช่วงฟุตบอลโลกเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น สำหรับกรณีการกดขี่-ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในกาตาร์

สนามกีฬา Lusail Sports Arena ที่กาตาร์ ขณะกำลังก่อสร้าง ภาพถ่ายปี 2020 (ที่มา: Wikipedia/Codas)

ศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (BHRRC) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ยังคงมีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติในกาตาร์เกิดขึ้นอยู่ในช่วงที่กำลังมีการแข่งขันฟุตบอลโลก

นับตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ มีกรณีในการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในกาตาร์ที่ได้รับรายงาน 26 กรณี โดยที่องค์กรที่ติดตามในเรื่องนี้บอกว่า 26 กรณีที่พวกเขาตรวจสอบพบนี้เป็นแค่ "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" เท่านั้น

ซึ่งหมายความว่า ตัวเลข 26 กรณีจากรายงานของ BHRRC เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ที่แสดงออกมาให้เห็นเท่านั้น เป็นไปได้ที่ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิถูกซ่อนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนทำงานต้องเผชิญข้อจำกัดในตอนที่มีการรายงานเรื่องนี้

ในจำนวนนี้มีอยู่ 15 กรณีที่เป็นการละเมิดเงื่อนไขสภาพการจ้างงาน มีอยู่ 9 กรณีที่รายงานว่าถูกจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการรวมกลุ่ม มีอยู่ 16 กรณีที่เป็นการละเมิดในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงาน มีอยู่ 6 กรณีที่พูดถึงการที่พวกเขามีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เลวร้ายและไม่ปลอดภัย มีอยู่ 2 กรณีที่บอกว่าพวกเขาเผชิญกับการข่มเหงรังแกทางวาจาและถูกทำร้ายร่างกาย

นอกจากนี้ยังมีอีก 11 กรณีที่เป็นการถูกเบี้ยวค่าจ้าง มีอยู่ 6 กรณีที่ถูกเก็บค่าธรรมเนียมสมัครงาน มีอยู่ 8 กรณีที่แรงงานข้ามชาติกาตาร์เสียชีวิต สำหรับกรณีการเสียชีวิตที่ได้รับรายงานนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในช่วงฟุตบอลโลกเสมอไป

มีอยู่ 17 กรณีที่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นแรงงานก่อสร้าง มีอยู่ 6 กรณีที่ผู้ไดรับผลกระทบเป็นแรงงานที่ทำงานพื้นที่โดยรอบของสนามกีฬา อัล เบย์ท, สนามกีฬาคาลิฟา อินเตอร์เนชันแนล และสนามกีฬาลูซาอิล

กรณีเหล่านี้มีการเก็บรวมรวมข้อมูลไว้ในช่วงที่กำลังมีการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยที่ทาง BHRRC ได้เก็บรวบรวมกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานรวมแล้ว 863 กรณี ในประเทศ บาห์เรน, คูเวต, โอมาน, กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีอยู่ 433 กรณีที่เกิดขึ้นในกาตาร์ และมี 227 กรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐนอาหรับเอมิเรตส์

ฮัสซัน อัล ทาวาดี เลขาธิการคณะกรรมาธิการระดับสูงด้านการส่งทอดปัจจัยและทรัพย์สิน (SC) ของรัฐบาลกาตาร์ยอมรับว่ามีแรงงานข้ามชาติหลายร้อยรายเสียชีวิตจากการทำงานก่อสร้างให้กับมหกรรกีฬาฟุตบอลโลก โดยมีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อด้วยตัวเลขอยู่ที่ "ระหว่าง 400 และ 500 ราย" ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ทางการกาตาร์เคยให้ไว้ก่อนหน้านี้มาก

ทางการกาตาร์เปิดเผยว่าพวกเขากำลังสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ หลังจากที่ได้รับรายงานเรื่องการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในระหว่างการทำงานซ่อมบำรุงที่รีสอร์ทที่เป็นสถานที่ฝึกซ้อมสำหรับทีมซาอุดิอาระเบียในฟุตบอลโลกครั้งนี้

กาตาร์ยืนยันกำลังสอบสวนการเสียชีวิตของแรงงานฟิลิปปินส์

กระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ยืนยันในแถลงการณ์ว่ามีชาวฟิลิปปินส์หนึ่งรายที่เป็นแรงงานข้ามชาติในกาตาร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่กำลังทำงานอยู่ที่รีสอร์ทในกาตาร์

กรณีการเสียชีวิตของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ผู้นี้ยังทำให้กาตาร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่หัวหน้าผู้จัดฟุตบอลโลกของกาตาร์พูดถึงการเสียชีวิตของแรงงานในแบบที่ไม่แยแส

นาสเซอร์ อัล คาเตอร์ ประธานบริหารฟุตบอลโลก 2022 ที่กรุงโดฮา กล่าวยืนยันว่าแรงงานชาวฟิลิปปินส์เสียชีวิตจริง และได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของแรงงานผู้นี้ แต่ก็ตอบคำถามนักข่าวแบบบอกปัดไม่แยแสต่อชีวิตของแรงงานโดยได้กล่าวว่า "ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน หรือในช่วงยามหลับของคุณ"

"พวกเรากำลังอยู่ท่ามกลางมหกรรมฟุตบอลโลก และพวกเราก็มีการจัดฟุตบอลโลกที่ประสบความสำเร็จ แล้วนี่ก็เป็นสิ่งที่พวกคุณควรจะต้องพูดถึงกันในตอนนี้" คาเตอร์กล่าว

HRW ผิดหวังคำแถลงซีอีโอจัดฟุตบอลโลกกาตาร์ "ไม่แยแส" ชีวิตแรงงาน

ก่อนหน้านี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มเคยกล่าวหากาตาร์ว่าทำการละเมิดสิทธิแรงงานหลังจากที่มีข่าวเรื่องที่กาตาร์ปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในช่วงที่กำลังสร้างและจัดเตรียมสิ่งต่างๆ สำหรับฟุตบอลโลก ในกรณีล่าสุดนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ก็ประณามคำกล่าวของคาเตอร์ว่าเป็น "การพูดถึงอย่างไม่แยแส" ต่อชีวิตของแรงงานที่สูญเสียไป

รอธนา เบกัม นักวิจัยอาวุโสจากฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า "คำแถลงของคาเตอร์กล่าวในทำนองว่าความตายก็แค่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่พวกเขาละเลยความจริงที่ว่าการเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติจำนวนมากสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้"

ทางฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเคยออกแถลงการณ์เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาเรียกร้องให้รัฐบาลกาตาร์มีการชดเชยให้กับแรงงานข้ามชาติและครอบครัวของพวกเขา ทั้งในเรื่องที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและในเรื่องที่โรงงานบางส่วนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่อธิบายไม่ได้

มีการยกตัวอย่างแรงงานข้ามชาติจากเนปาลที่ต้องเผชิญกับการใช้แรงงานหนักเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกันท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดเพื่อเตรียมการสำหรับฟุตบอลโลก มีแฟนบอลรายหนึ่งในเนปาลกล่าวว่าแรงงานข้ามชาติเนปาลไม่เพียงแค่เป็นเสาหลักที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจเนปาลจากการส่งเงินกลับประเทศเท่านั้น แต่พวกเขายังเป็นเสาหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจกาตาร์ด้วย เพราะแรงงานข้ามชาติในกาตาร์เป็นกลุ่มคนที่ทำให้ฟุตบอลโลก 2022 เกิดขึ้นได้

มีแรงงานข้ามชาติรายหนึ่งที่ชื่อฮารีเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาทำงานในกาตาร์เป็นเวลา 14 ปี เคยทำงานในไซต์ก่อสร้างต่างๆ รวมถึงสนามกีฬา อัลจานูบ เขาบอกว่าก่อนหน้านี้พื้นที่รอบสนามกีฬาลูซาอิลในกรุงโดฮายังว่างเปล่าไม่มีอะไร แต่ในตอนนี้มีตึกสูงเต็มไปหมด "พวกเราคือผู้ก่อสร้างตึกสูงเหล่านี้" ฮารีกล่าว เขาเล่าอีกว่าพวกเขาทำงานอยู่ภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนจัดจนถึงชั้นว่าพวกเขาต้องเทเหงื่อที่ไหลเป็นน้ำออกจากรองเท้าของพวกเขา

ทั้งนี้ยังเคยมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องที่แรงงานในกาตาร์ถูกเบี้ยวค่าแรงจำนวนมาก มีแรงงานที่ทำการหยุดงานประท้วงในเรื่องนี้ รัฐบาลกาตาร์โต้ตอบรายงานเรื่องนี้ด้วยการจัดหาเงินค่าชดเชยแรงงานที่ถูกเบี้ยวค่าแรงเหล่านี้ผ่านทาง "กองทุนช่วยเหลือและการประกันแรงงาน" แต่กองทุนดังกล่าวนี้ก็เพิ่งจะสามารถเปิดให้ใช้งานได้เมื่อปี 2563 เท่านั้น สำหรับแรงงานจำนวนมากพวกเขาไม่ได้ค่าจ้างและไม่ได้ค่าชดเชยใดๆ

อัด FIFA คาดหวังแต่เม็ดเงิน แต่ละเลยแรงงานที่สูญเสีย

นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเคยวิพากษ์วิจารณ์ฟีฟ่าไว้ว่า ในขณะที่ฟีฟ่าคาดหวังว่าจะทำรายได้เป็นหลายพันล้านดอลลาร์จากฟุตบอลโลกในครั้งนี้ รวมถึงมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่พวกเขากลับไม่มีพันธกรณีต่อการจัดตั้งกองทุนชดเชยให้กับแรงงานที่ได้รับความสูญเสีย ไม่เพียงเท่านั้น ฟีฟ่ายังโต้ตอบสมาคมฟุตบอลอื่นๆ และโต้ตอบนักกีฬาที่เรียกร้องในเรื่องแรงงานข้ามชาติให้เงียบเสียงและ บอกให้พวกเขา "ไปเน้นเรื่องฟุตบอลดีกว่า"

สำหรับกรณีแรงงานฟิลิปปินส์ที่เสียชีวิตล่าสุดนี้ ทางการกาตาร์อ้างว่า "อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับงานในกาตาร์ ลดลงอย่างคงเส้นคงวา นับตั้งแต่ที่มีการวางมาตรฐานด้านสุขภาพและความปลอดภัยและมีการบังคับใช้อย่างจริงจังมากขึ้น"

ทางการฟิลิปปินส์แถลงว่า สถานทูตของฟิลิปปินส์จะคอยติดตามผลในเรื่องนี้โดยการทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านกฎหมายในกาตาร์เพื่อให้สามารถรับทราบถึงรายละเอียดการเสียชีวิตมากกว่านี้

ทางฟีฟ่าแถลงว่าพวกเขา "เสียใจอย่างยิ่ง" เมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของแรงงานและบอกว่านับตั้งแต่ที่ฟีฟ่าได้รับรู้เรื่องอุบัติเหตุในครั้งนี้ พวกเขาก็ได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในกาตาร์เพื่อขอรายละเอียดมากกว่านี้ และระบุว่าทางฟีฟ่าจะอยู่ในสถานะที่สามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้ก็ต่อเมื่อ "กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของแรงงานรายนี้เสร็จสิ้นลงแล้ว" เท่านั้น

นอกจากเรื่องแรงงานแล้วกาตาร์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการกดขี่ข่มเหงและปิดกั้นผู้ความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเรื่องสิทธิสตรีด้วย

เคยมีสื่ออังกฤษที่ระบุว่ามีตัวเลขแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตในกาตาร์นับตั้งแต่ปี 2553-2564 รวมแล้วอย่างน้อย 6,500 ราย พวกเขาคำนวณตัวเลขนี้โดยอาศัยสถิติของทางการกาตาร์เอง

เรียบเรียงจาก

Cases of migrant worker abuse in Qatar continue to be reported during World Cup, The Independent, 10-12-2022

Qatar 2022: Since tournament kicked off there have been 26 cases of abuse of migrant workers incl. wage theft, says BHRRC, BHRRC, 09-12-2022

FIFA/Qatar: Migrant Workers Call for Compensation for Abuses, Human Rights Watch,  17-11-2022

Qatar World Cup chief criticized for 'callous' remarks about migrant worker's death, CBC, 08-12-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net